xs
xsm
sm
md
lg

“Green Network” โครงข่ายมือถือลดโลกร้อนของเอไอเอส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยุคนี้ไม่ว่าคนชาติไหนประเทศไหน ต่างรวมใจหันมาให้ความสำคัญร่วมมือรณรงค์ลดโลกร้อนเพื่อยืดอายุโลกของเราให้นานขึ้น เพราะมนุษย์โลกต่างได้สัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นถี่ทุกขณะ

ปรากฏการณ์น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น ปริมาณน้ำในทะเลเพิ่มสูงขึ้น แถมอากาศของโลกยังแปรปรวนอย่างน่ากลัว เมื่อบางพื้นที่ที่ไม่เคยมีหิมะตก ก็กับมีหิมะตกจน เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ชาวโลกทุกคนหันมาใส่ใจพิทักษ์โลกกันอย่างพร้อมใจ

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ เอไอเอส ขอเกาะติดเทรนด์ รณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ด้วยการ พัฒนาเครือข่ายมือถือสู่ “Green Network”สรรหาเทคโนโลยีประหยัดพลังงานพัฒนาเครือข่ายมือถือ ด้วยเทคโนโลยีพลังงานทดแทน พลังงานไฟฟ้าปกติ ที่ในกระบวนการการผลิตอาจก่อให้เกิดมลพิษ และเพื่อเป็นการลดการใช้งานไฟฟ้าให้น้อยลงด้วย

“สิ่งที่เป็นประโยชน์ในขณะเดียวกันก็อาจมีโทษด้วย เช่นเดียวกับเทคโนโลยีต่างๆที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน อาทิ พลังงานจากไฟฟ้า ที่ในกระบวนการผลิตอันอาจก่อให้เกิดมลภาวะ ดังนั้นแนวคิดของเอไอเอส จึงสนใจที่จะศึกษาการนำพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนจากธรรมชาติมาผสมผสานใช้งาน รวมถึงการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินความจำเป็น ซึ่งในภาพรวมล้วนมุ่งไปสู่การรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนนั่นเอง”นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการเอไอเอสระบุ

เอไอเอสนำสื่อมวลชนขึ้นดอยเยี่ยมชมโครงข่ายประหยัดพลังงานที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ บ้านขุนแปะ หมู่ 2 ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ห่างความเจริญของตัวเมืองเชียงใหม่ถึง 103 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน สูงจากระดับน้ำทะเล 1,035 เมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง เนื่องจากเส้นทางไปสู่โครงการหลวงขุนแปะยังเป็นทางลูกรัง

วิเชียร ต้นคิดเจ้าของไอเดียนี้เนื่องจากเอไอเอสต้องการเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งช่วยลดสภาวะโลกร้อนเพื่อยืดอายุโลกให้ยาวขึ้น เอไอเอสได้เข้าไปพัฒนาโครงข่าย“Green Network” กับโครงการหลวงทั้งหมด 38 แห่ง โดยสาเหตุที่เข้าติดตั้งในพื้นที่โครงการหลวง ก็เพราะพื้นที่โครงการหลวงทั้งหมดตั้งอยู่บนดอยสูงห่างไกลจากตัวเมือง และเกือบทั้งหมดไม่มีกระแสไฟฟ้าลากสายไปถึง เช่นโครงการหลวงขุนแปะที่พามาเยี่ยมชม

ทั้งนี้มูลนิธิโครงการหลวงได้อนุญาตให้เอไอเอสเข้าไปดำเนินการขยายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในพื้นที่โครงการหลวงทั้ง 38 โครงการทั่วภาคเหนือ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเส้นทางคดเคี้ยวบนเทือกเขาสูง ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมากกับเกษตรกรชาวเขาและบุคลากรของโครงการเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้สามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย ส่งผลทำให้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ปัจจุบันเอไอเอสมีสถานีฐานอยู่ในโครงการหลวงแล้ว 35 แห่ง (อีก 3 แห่งอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ)

“โครงการหลวงขุนแปะไม่มีไฟฟ้าลากสายถึง ไฟฟ้าที่ใช้ในโครงการต้องอาศัยใช้เครื่องปั่นไฟใช้งานเฉพาะช่วงกลางคืน เราจึงมีไอเดียติดตั้งสถานีฐานขุนแปะด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยการติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์ สร้างพลังงานไฟฟ้าเลี้ยงสถานีฐานแทนไฟฟ้าจากสาย ซึ่งการพลังไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดความร้อนของสถานีฐานได้เป็นอย่างดี”

ปัจจุบันพลังงานทดแทนที่เอไอเอสเอามามาใช้ในการพัฒนาเครือข่ายประกอบด้วย 1.พลังงานจากแสงอาทิตย์ จากการใช้โซลาร์เซลล์ เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์สื่อสารที่ติดตั้งภายในสถานีฐาน โดยปัจจุบันได้เริ่มนำแนวทางดังกล่าวมาใช้งานแล้วกว่า 11 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มอีก 4 แห่งในปีนี้

2.พลังงานจากแรงลม ด้วยการติดตั้งกังหันลมแบบติดตั้งแนวนอน เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เชื่อมเข้ากับระบบไฟฟ้าหลักจากการไฟฟ้านครหลวง ปัจจุบันเริ่มดำเนินการแล้วในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

3.พลังงานจากน้ำมันไบโอดีเซล โดยจะนำน้ำมันไบโอดีเซลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ที่ติดตั้ง ณ สถานีฐาน

4.ชุมสายพลังงานต่ำ ด้วยการติดตั้งผนังประหยัดพลังงาน (Insulated Wall) เพื่อให้สามารถรักษาอุณหภูมิในชุมสายได้นานกว่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ๆอีกต่อไป รวมถึงเปลี่ยนจากการใช้เครื่องปรับอากาศเป็นพัดลมคุณภาพสูงในบางพื้นที่ ซึ่งสามารถใช้ระบายความร้อนและรักษาการทำงานของอุปกรณ์เครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้เอไอเอสจะเลือกใช้พลังงานทดแทนกับสถานีฐานตามความเหมาะสม สำหรับโครงการ

“เรากล้าพูดได้ว่าโครงข่าย Green Network เอไอเอสเป็นเจ้าเดียวที่กล้าลงมืออย่างจริงจังในขณะที่คู่แข่งรายอื่นได้เพียงแต่พูดถึงเท่านั้น สาเหตุหนึ่งที่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดกล้าลงทุนทำเนื่องจากเป็นเพราะต้นทุนลงทุนโครงข่ายสูงกว่าโครงข่ายปกติที่ใช่ไฟฟ้าปกติเลี้ยงหลาย เท่า และเอไอเอสคงจะทำเฉพาะกับโครงการหลวงเท่านั้น เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีความต้องการใช้งานโทรศัพท์มือถือสำหรับการติดต่อส่งพืชผลทางการเกษตร แต่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงจึงจำเป็นต้องใช้โครงข่ายGreen Network ที่ใช้พลังงานทดแทนเลี้ยงสถานีฐาน”

บิ๊กบอส เอไอเอสยอมรับว่าการทำโครงข่าย“Green Network” ส่วนหนึ่งเป็นการสร้างแบรนด์เช่นเดียวกับโครงการถังน้ำใจ เพราะจะทำในพื้นที่ห่างไกลไฟฟ้าไม่สามารถเข้าถึงและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในชนบทห่างไกล เนื่องจากเอไอเอสไม่สามารถลงทุนสร้างโครงข่าย“Green Network” จำนวนมากได้เพราะมีต้นทุนสูงกว่าโครงข่ายปกติ อย่างการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 4 ล้านบาท ต่อ 1 สถานีฐาน ในขณะที่โครงข่ายปกติมีต้นทุนการลงทุนหลักหมื่นบาท

ผศ.ดร.โชค มิเกล็ด ผู้ช่วยมูลนิธิโครงการหลวงขุนแปะ เล่าว่าที่ผ่าน การติดต่อสื่อสารของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนขุนแปะ เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านตั้งอยู่บนดอยสูง ดังนั้นการลากสายโทรศัพท์บ้าน ขึ้นไปให้บริการแก่ชุมชนกลุ่มนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะลำพังสายไฟฟ้ายังไม่สามารถลากขึ้นไปติดตามบ้านเรือนได้ และโครงการหลวงก็ต้องอาศัยปั่นไฟฟ้าใช้

ต่อมาเอไอเอสผู้ให้บริการมือถือเจ้าใหญ่ เข้ามาติดต่อขอตั้งติดสถานีฐานเพื่อให้บริการในพื้นที่ขุนแปะ ซึ่งส่งผลให้การติดต่อสื่อสารของชาวบ้านบริเวณโครงการหลวงสามารถติดต่อสื่อสารเพื่อจำหน่ายพืชผลกับพ่อค้าในเมืองได้ง่ายขึ้น และโครงการหลวงเองก็สามารถระบายผลิตผลของโครงการหลวงได้รวดเร็วขึ้น

“การเข้ามาติดตั้งโครงข่าย Green Network นอกจากเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน ยังเป็นประโยชน์มหาศาลสำหรับชุมชนบ้านขุนแปะ จำนวน 300 หลังคาเรือนสามารถติดต่อสื่อสารกับคนพื้นที่ได้ง่ายขึ้น จากเดิมชาวบ้านต้องใช้เวลาลงจากดอยขุนแอปะไปติต่อขายพืชผลกับพ่อค้านานนับชั่วโมง “

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ ก่อตั้งขึ้นเมืองปี 2527 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงและม้งให้พ้นจากความยากจน โดยได้รับการดูแลในด้านสาธารณูปโภคที่พอเพียง หลีกเลี่ยงปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย และขจัดปัญหาการปลูกฝิ่นโดยสร้างอาชีพหลักทดแทน พระองค์ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้มูลนิธิโครงการหลวงโดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงเสด็จสำรวจพื้นที่และสภาพความเป็นอยู่เพื่อให้ความช่วยเหลือ


กำลังโหลดความคิดเห็น