xs
xsm
sm
md
lg

แม่รำพึง (1) ความตายที่แม่รำพึง เราต่างเป็นเหยื่อของการพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สายลมแห่งแม่รำพึงพัดตึงตังคล้ายคนร้องไห้ เมื่อกระแสความเปลี่ยนแปลงนำพาคนบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงสู่กับดักการพัฒนา การพัฒนาประเภทที่ดูดดึงทรัพยากรจากท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลาง โดยไม่เคยไยดีวิถีชีวิตและทรัพยากรของชาวบ้านที่ต้องล่มสลาย มันไม่ใช่คำพูดลอยๆ แต่มีกรณีตัวอย่างเกลื่อนกลาดทั่วประเทศ ชาวบ้านแม่เมาะ ลำปาง, ชาวบ้านปากมูน อุบลราชธานี, ชาวมาบตาพุด ระยอง ฯลฯ

แล้วบางสะพานก็ก้าวเข้าสู่วงจรนี้เช่นที่อื่นๆ เมื่อเครือสหวิริยาเริ่มเดินหน้าโครงการโรงถลุงเหล็กครบวงจรมูลค่าหลายแสนล้านบาท ขณะที่ชาวบ้านในตำบลแม่รำพึงซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานต่างออกมาคัดค้าน เพราะมองเห็นชะตากรรมของตนและลูกหลานในอนาคตว่าถ้าปล่อยให้โรงงานเกิดขึ้น วิถีชีวิต-การหาอยู่หากินดังที่เคยเป็นมาแต่ครั้งปู่ย่าตายายคงมีอันล่มสลาย และจะต้องประสบปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากมลพิษ

ชาวบ้านจึงรวมตัวกันก่อตั้ง ‘กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง’ ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านและดำเนินกิจกรรมเรื่อยมา หากนับถึงตอนนี้ก็ร่วมปีเศษแล้ว โดยมีเสื้อและธงสีเขียวที่มีรูปป่าพรุแม่รำพึงเป็นสัญลักษณ์

...เป็นเรื่องปกติที่ว่าเมื่อมีคนคัดค้านก็ต้องมีคนที่เห็นด้วย หลังจากที่กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงเคลื่อนไหวคัดค้านอยู่หลายเดือน ในวันที่ 26 ตุลาคม 2550 จึงมีประชาชนชาวบางสะพานอีกกลุ่มหนึ่ง นำโดย บุญใกล้ ส่งกลิ่น และ ไวพจน์ สิงคะเสลิต รวมกันภายใต้ชื่อ ‘กลุ่มพัฒนาบางสะพาน’ ใช้เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม และเริ่มเคลื่อนไหวตอบโต้กลุ่มอนุรักษ์บางสะพานเรื่อยมา จนเกิดการกระทบกระทั่งกันหลายครั้ง โดยครั้งแรกที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์คือเหตุการณ์ที่กลุ่มเสื้อแดงกว่าร้อยรุมทำร้ายกลุ่มเสื้อเขียวที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่รำพึง

แต่แล้วเรื่องราวก็บานปลายจนถึงขั้นเสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะกันในวันที่ 24 มกราคม 2551 เมื่อ รักศักดิ์ คงตระกูล คนงานของเครือสหวิริยาถูกยิงเสียชีวิต นำไปสู่การออกหมายจับ บำรุง สุดสวาท ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลแม่รำพึง

ทั้งหมดนี้กลายเป็นจุดบรรจบของโศกนาฏกรรมการพัฒนา ที่แค่เพียงเริ่มต้นก็ทำลายเกลียวสัมพันธ์ของผู้คนให้สึกกร่อนจนยากจะประสานเสียแล้ว

1

ที่ ศูนย์เฝ้าระวังป่าพรุแม่รำพึง 2 ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงใช้ศาลากลางบ้านหรือศาลาประชาคมเป็นที่ตั้งศูนย์ สุภาพ สุดสวาท วัย 56 ปี แม่ของบำรุงผู้ต้องสงสัย บอกเล่าความเป็นมาเป็นไปแต่ดั้งเดิมกับเราว่าเข้าร่วมคัดค้านตั้งแต่เริ่มต้น ไปๆ มาๆ กินนอนที่ศูนย์นี้มาปีกว่า

“เขาว่าโรงงานมีสารพิษก็กลัว ลูกหลานตัวเล็กๆ เดี๋ยวเกิดเป็นอะไร”

ป้าสุภาพเล่าว่าข่าวที่ออกไปว่าลูกชายของตนเป็นแกนนำไม่เป็นความจริง เพราะแม้ว่าทางบ้านทุกคนจะไม่เห็นด้วยกับโรงถลุงเหล็ก แต่บำรุงซึ่งมีอาชีพรับเหมาก็พยายามรักษาระยะห่างเนื่องจากกลัวกระทบกับอาชีพ และในวันที่เกิดเหตุบำรุงก็ตามมาทีหลังด้วยความเป็นห่วงแม่เท่านั้น

“ตอนแรกเสื้อแดงก็ตั้งขบวนมาตรงรถแบ็กโฮ เขามีอาวุธเยอะมาก มีดสปาร์ตา มีปืน ทางนี้ก็มีหนังสติ๊กดีด ตอนหลังเขาก็ถอยขึ้นไปที่บ้านพักแถวนั้น (ชาวบ้านบอกว่าเป็นบ้านของสมาชิก อบต. คนหนึ่ง) ชุมนุมอยู่ตรงนั้น ตำรวจก็อยู่ตรงนั้นแต่ไม่ช่วย เราก็ไปอยู่บ้านอีกฝั่งหนึ่ง แล้วตรงนั้นมีแบ็กโฮเยอะ มีรถไปชุมนุมกัน 4-5 คัน เข้าไปจอดซ้อนๆ กันเป็นกำบัง มันก็แกว่งมีดกันขาวไปหมดเลย น่ากลัว

“เรามีเป็นร้อย ฝั่งนั้นก็เป็นร้อย พอๆ กัน ลูกชายยังไม่ได้มา เขาเป็นห่วงแม่ เขาก็ลงไปทีหลัง คอยกันแม่ กลัวโดนดีดด้วยลูกเหล็ก เป็นเหล็กตัด เรากินข้าวพัก มันก็กินเหล้ากัน พักหนึ่งตำรวจก็ถอยออก เหมือนกับนายสั่งที่บ้านนี้ว่าให้ออกมาให้หมด พอตำรวจถอยมาหมด มันมีปืน ก็ยิงปืนขึ้นหนึ่งนัดว่าเอาเลย หัวละหมื่น วันนี้ตายให้หมด มันก็วิ่งกรูเข้ามา ก็วิ่งแอบ กลัว เราก็มีหนังสติ๊กก็ดีดบ้าง หลบบ้าง

“มันให้เข้าไปอยู่กับพวกเสื้อแดง แต่ลูกชายไม่เอาไง” ป้าสุภาพอธิบายด้วยน้ำตาคลอว่าเหตุใดฝ่ายเสื้อแดงจึงไม่พอใจลูกชาย “ทางนี้ไม่เอา เขาไม่ชอบ ธรรมดาตอนแรกก็ไม่เป็นพวกเขา เขาก็เขม่นมานานแล้ว เขาไม่ชอบ แล้วกระสุนก็ยิงข้างหลังทะลุข้างหน้า ถ้าลูกชายป้ายิงนะ มันต้องเข้าข้างหน้า เราก็เป็นห่วง เมียมันร้องจะตาย ลูกอ่อนด้วย ไม่โทร.เลย หายไปตั้งแต่วันนั้นเลย ข่าวลือออกมาว่าเขาเป็นคนยิง ก็กลัวจะถูกอุ้มฆ่า”

นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยข่าวโดยตลอดว่าจับตัวบำรุงได้แล้วและถูกนำไปสอบสวนในเกตส์เฮ้าส์แห่งหนึ่ง หรือปืนที่ค้นจากบ้านป้าสุภาพเป็นปืนเถื่อนขนาด .38 ซึ่งเป็นขนาดเดียวกันกับกระสุนที่พบในศพ แต่จากรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของทางตำรวจกลับพบว่าอาวุธปืนที่ค้นได้จากบ้านป้าสุภาพไม่มีขนาด .38 ตามที่มีข่าว จึงทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการปล่อยข่าวเพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงข่าว โดยน่าจะมีตำรวจบางคนให้ข่าวกับนักข่าว ซึ่งทาง พันตำรวจโท จรูญศักดิ์ โต๊ะถม พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางสะพาน เจ้าของคดียืนยันว่าไม่เคยให้ข่าวกับสื่อมวลชนเช่นนั้น

แต่แล้ววันที่ 30 มกราคม วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) ก็ได้นำตัวบำรุงเข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และ ดร.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นนายประกัน

“ที่ไม่ยอมมอบตัวแต่แรก เพราะกลัวความไม่ปลอดภัย ซึ่งในท้องที่มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลกำกับอยู่ จึงเดินทางมาขอความช่วยเหลือจากคุณวีระเพราะเชื่อว่าจะปลอดภัยมากกว่ามอบตัวที่อำเภอบางสะพาน ผมไม่รู้จริงๆ ว่าใครเป็นคนยิง ผมเองก็ไม่เคยมีเรื่องทะเลาะกับผู้ตาย” บำรุง บอกกับผู้สื่อข่าว

2

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วิชิต กงภูเวช กรรมการและเลขานุการคณะทำงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เครือสหวิริยา กล่าวว่ารู้สึกเสียใจและไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อีก ส่วนทางด้านครอบครัวของผู้ตาย วิชิตยืนยันว่าจะให้ความช่วยเหลือและทุนการศึกษาแก่บุตรสาวจนกว่าจะเรียนจบในระดับชั้นสูงสุด สำหรับความขัดแย้งเรื่องการก่อสร้างโรงถลุงเหล็ วิชิต กล่าวว่า

“เราถือมั่นในความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม เพราะฉะนั้นเราจะดำเนินโครงการใดๆ ในพื้นที่โครงการ สิ่งสำคัญที่สุดคือกระบวนการการรับฟังจากชุมชน จะเห็นว่าในการดำเนินโครงการเราไม่ได้ทำอะไรโดยพลการ เรามีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น”

เขายังได้อธิบายต่อด้วยว่าคลองระบายน้ำที่จะขุดภายในพื้นที่ของบริษัทนั้นเป็นคลองระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นความต้องการของชาวบ้านเอง

กรณีนี้ ทางฝั่งชาวบ้านบอกว่าไม่เป็นความจริง และได้อธิบายว่าพื้นที่ป่าพรุที่เครือสหวิริยาจะทำการสร้างโรงงานนั้น เดิมทีเป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติที่คอยรับน้ำมาแต่ดั้งเดิม ดังนั้น การขุดคลองดังกล่าวจึงไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมแต่อย่างใด อีกทั้งคลองดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอยู่แล้ว ชาวบ้านคนหนึ่งเปรียบเทียบให้ฟังว่าแต่เดิมเป็นอ่าง และอยู่ๆ จะมาทำหลอดกาแฟให้น้ำไหลผ่าน ยังไงน้ำก็ต้องท่วม

แม้ว่าปัจจุบันรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอของโครงการโรงถลุงเหล็กจะยังไม่ผ่าน ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะต้องหยุดการดำเนินการใดๆ ไว้ก่อน แต่เมื่อถามว่าจะมียุติการขุดคลองเป็นการชั่วคราวก่อนหรือไม่ เพื่อระงับเหตุขัดแย้งเอาไว้ก่อน วิชิตตอบเพียงว่าทางบริษัทได้ปฏิบัติตามกรอบกฎหมายทุกประการ

วิชิตเล่าต่ออีกว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางกลุ่มเสื้อเขียวใช้ความรุนแรง แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ เขาได้ยกกรณีต่างๆ มาเล่าให้ฟังว่ากลุ่มเสื้อเขียวใช้ความรุนแรงอะไรบ้าง และยังได้ตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าย่อหย่อนในการปฏิบัติหน้าที่ เราจึงถามว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตรวจหรือเปล่า วิชิตตอบว่า

“ผมทำหนังสือถึงท่านผู้การและผู้กำกับถึงเหตุการณ์ที่เกิดในวันที่ 22 มกราคม โดยนำหนังสือไปยื่นในวันที่ 23 ขอให้ท่านเข้ามาช่วยดูแลความเรียบร้อย อย่าให้เกิดการปะทะและขอให้ตรวจค้นอาวุธทุกชนิด ขอให้ประท้วงอยู่ในสันติ ผมเองก็เสียใจนะที่คนต้องมาตาย ปล่อยให้ยิงหนังสติ๊กและปะทะกันได้ยังไงกัน แค่ยิงหนังสติ๊กนัดแรกก็ต้องหยุดแล้ว ต้องปลดอาวุธทั้งสองฝ่ายแล้ว”

ทางด้านชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ เองก็ไม่ค่อยไว้วางใจเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกัน เพราะชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้าราชการ ผู้มีอิทธิพล และนักการเมืองท้องถิ่น มีการจับมือกันกับเครือสหวิริยาและปฏิบัติหน้าที่เอียงข้างกลุ่มเสื้อแดง

อย่างไรก็ตาม การที่มีภาพเหตุการณ์ยืนยันว่าในวันที่ 19 ธันวาคม 2250 ที่กลุ่มเสื้อแดงพร้อมอาวุธในมือได้ไปรวมตัวกันที่ อบต.แม่รำพึง ซึ่งวันนั้นทางเครือสหวิริยาได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็น และปรากฏเป็นข่าวว่ากลุ่มเสื้อแดงรุมทำร้ายชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงจนได้รับบาดเจ็บ ทำให้ถูกมองว่ากลุ่มเสื้อแดงกับทางเครือสหวิริยามีความเกี่ยวข้องกัน ประเด็นนี้วิชิตยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น

“มีคนพยายามจะโยงเสื้อแดงว่ากลุ่มนี้เป็นคนของบริษัท ขอเรียนตามตรงว่าเราไม่ได้เข้าไปโยงหรือเกี่ยวข้อง ความคลาดเคลื่อนตรงนี้อยากให้ไปดูว่าชุดเวิร์กชอปของบริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง (บริษัทในเครือสหวิริยา) เป็นชุดแดงชุดหมี คนก็เลยมองว่าเสื้อแดงคงเป็นคนในเครือบริษัท ถ้าพูดไปเดี๋ยวจะกระทบกระเทือนกับกลุ่มคนที่สนับสนุนนะครับ แต่ขอเรียนว่าเราไม่เกี่ยวข้อง แต่คนที่เกี่ยวข้องน่าจะเป็นกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์จากธุรกิจ เข้าใจว่าเป็นธุรกิจที่จะเสียผลประโยชน์จากบริษัท เรายืนยันว่ากลุ่มเสื้อแดงไม่ใช่กลุ่มจัดตั้งของบริษัทและไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราด้วย ซึ่งกลุ่มพัฒนาบางสะพานนั่นแหละครับคือกลุ่มเสื้อแดง”

เรากล่าวกับวิชิตว่าการได้พูดคุยกับกลุ่มเสื้อแดงน่าจะทำให้ได้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจ ดังนั้น ในช่วงสุดท้ายของการพูดคุย วิชิตจึงได้อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ของทางบริษัทติดต่อประสานกับไวพจน์ สิงคะเสลิต แกนนำกลุ่มเสื้อแดง เพื่อให้ข้อมูลกับเราที่สำนักงานของบริษัท บางปะกงการโยธา จำกัด ในวันรุ่งขึ้น

ไวพจน์เล่าความเป็นมาของกลุ่มพัฒนาบางสะพานหรือกลุ่มเสื้อแดงว่า

“เรามาก่อตั้งกลุ่มอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2550 เนื่องด้วยการกระทำของกลุ่มเสื้อเขียวเริ่มใช้ความรุนแรงและกักขฬะขึ้น ถ้าจะถามว่าใส่ร้ายหรือเปล่า เรื่องนี้ถามประชาชนที่นี่ได้ ไม่ต้องถามผม เพราะผมจะพูดยังไงก็ได้

“พวกเสื้อเขียวเขาทำตัวยิ่งใหญ่เกินไป เบี่ยงข่าว เบี่ยงประเด็น ผมไม่ชอบใจตรงนี้ เพราะว่าผมอยากเห็นโครงการนี้ ผมชอบบริษัทแล้วยังไง ผมเป็นลูกแม่ค้า ตอนนี้ญาติๆ พี่น้องผมก็มีงานทำ เศรษฐกิจบางสะพานฟื้นฟูตั้งแต่โรงงานเข้ามา

“ผมเป็นคนบางสะพาน พวกเขาเป็นคนที่อื่น ชุดเขียวเป็นคนบางสะพานไม่ถึง 20 คน พวกเขาเหยียบย่ำพวกผมมากไป ใช้สิทธิมากไป ผมก็มีการศึกษา ไม่ใช่คนโง่ พวกเขาทำเพื่ออุดมการณ์จริงหรือเปล่า ทุกข่าวที่เขาพูดไปก็บิดเบือน โกหกทั้งนั้น เช่น ฝ่ายเสื้อแดงยิงกันตายเอง แล้วที่ออกข่าวว่าตำรวจเช็กตรวจทั้งสองฝั่ง ไม่จริงหรอกครับ ตำรวจตรวจแต่ชุดแดง เขาไปขุดคลองนะครับ ไม่ได้ทำที่ทิ้งสารผิดจะได้ไปต่อต้านเขา คลองนี้ก็คลองที่คุณเรียกร้อง”

ส่วนเหตุการณ์ในวันที่ 19 ธันวาคม 2550 ที่มีภาพถ่ายกลุ่มเสื้อแดงถืออาวุธและมีข่าวว่าทำร้ายกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ไวพจน์ อธิบายว่า

“ถ้าคุณอยู่ในสงครามแล้วจะไม่ถือไม้ติดมือบ้างหรือ ที่เอาประเด็นถือไม้ขึ้นมา แต่เราโดนยิงด้วยหนังสติ๊กที่ใช้ลูกตะกั่ว มันรุนแรงพอๆ กับลูกปืนเลย ตอนนั้นอย่าว่าแต่ไม้เลยครับ ถ้ามีเอ็ม 16 ก็คงต้องถือครับ แล้วตรงนั้นไม่ได้แค่กลุ่มพัฒนาบางสะพานอย่างเดียว เขามีพนักงาน ลูกจ้างอยู่ด้วย แน่นอน เขาต้องใช้มีดถางตรงนั้น ถางตรงนี้ให้รถแบ็กโฮ ไม่มีมีดแล้วจะไปตัดไม้ได้ยังไง พูดง่ายๆ คือเราไปปกป้องเขา”

ไวพจน์บอกว่าเขาอยากให้เรื่องทุกอย่างจบลงอย่างสมานฉันท์ และเรียกร้องที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกับแกนนำกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง เพียงแต่ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงกลับใช้ความรุนแรงมาโดยตลอดและรับเงินผู้อื่นเพื่อมาประท้วง เขายังยืนยันด้วยว่ากลุ่มพัฒนาบางสะพานหรือกลุ่มเสื้อแดงจะยุติบทบาททันที่ถ้ากลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงยุบสลายไป


3

หากแต่ตัวละครที่เศร้าโศกที่สุดในโศกนาฏกรรมเรื่องนี้อย่าง ผิว คงตระกูล และ ลำพู แสงทอง แม่และภรรยาของผู้ตายก็ดูจะสามารถทำใจยอมรับกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ป้าผิวเล่าว่า เช้าวันที่เกิดเหตุหนุ่ม (ชื่อเล่นของรักศักดิ์) ขี่รถเครื่องออกไปทำงานตามปกติ กระทั่งเวลาบ่ายคล้อย โทรศัพท์ก็ดังขึ้นขณะที่ป้าผิวกำลังกรีดทางมะพร้าว เสียงตามสายส่งข่าวการจากลับของลูกชายป้าผิว ทั้งป้าผิวและลำพูบอกเล่าถึงความรู้สึกที่นอกเหนือไปจากความเสียใจว่ารู้สึกงงและแปลกใจ เพราะไม่รู้ว่าทำไมรักศักดิ์จึงไปอยู่สถานที่นั้น ทั้งที่แต่ไหนแต่ไรรักศักดิ์ไม่เคยแสดงท่าทีใดๆ ให้คนในครอบครัวเห็นเลยว่าสนับสนุนการสร้างโรงถลุงเหล็ก

“ไม่มีเลย ไม่เคยไปเลย ไม่เคยพูดถึงด้วย แม่ก็บอกเขาแต่ว่าอะไรจะเกิดก็อย่าให้เกิดตามเขาแล้วกัน ให้เป็นคนทำมาหากิน”

ป้าผิวพูดกับเราด้วยสีหน้าเรียบนิ่ง แต่ที่ดวงตายังมีประกายโศกจางๆ แฝงอยู่ว่าวันที่ไปรับศพจากทางตำรวจ สภาพศพของลูกชายถูกตกแต่งอย่างดี รายงานของตำรวจแจ้งว่ากระสุนถูกยิงมาจากข้างหลังทำลายปอดและหัวใจ

“แม่นะจะไม่โกรธ ไม่แค้นใคร กลุ่มเสื้อเขียวจะมาช่วยแม่รับทุกคน ไม่ได้แบ่งว่าเสื้อแดง เสื้อเขียว คนที่มาในงานมีทั้งเสื้อเขียว เสื้อแดง แม่ต้องรับเขาหมดทุกคน แม่ไม่เกี่ยวกับเสื้อเขียว เสื้อแดง คนบ้านเดียวกัน แม่ต้องรับแขกทุกคน แม่ไม่รู้ว่าคนไหนเสื้อเขียว เสื้อแดง ไม่เคยแบ่งแยก แม่จะเกลียด จะโกรธ เขาได้ยังไงก็บางคนก็เป็นพี่น้องกัน บางคนก็เป็นเพื่อนสนิทกัน แม่เราก็ดีกัน พ่อเราก็ดีกัน เราจะโกรธเคืองเขาได้ยังไง ลูกทำ ลูกไม่ได้บอกพ่อแม่นี่ว่าจะทำอะไร

“อย่างตอนที่จะทำโรงไฟฟ้านะ ฝ่ายที่ค้านโรงไฟฟ้าเคยมาว่าแม่นะ แม่ว่าไม่เกี่ยว ถึงเราใส่เสื้อสีขาว สีอะไร นั่นแค่สีเสื้อ แต่เราต้องดีกันเหมือนเดิม คนคนนั้นก็ต้องดีกับแม่ตลอดไป ไม่โกรธเคืองกัน จะโกรธกันทำไม ที่ตายก็ตายไป ที่ดีเราก็ต้องดีกันอยู่ เรามันคนหมู่บ้านเดียวกัน เราจะโกรธแค้นกันได้ยังไง”

พูดตามตรงว่าเรานับถือหัวใจของหญิงชราผู้นี้เหลือเกิน อาจเพราะวันเวลายาวนานบนโลก ต้นมะพร้าว และคลื่นลมท้องทะเลกระมัง จึงขัดเกลาให้ป้าผิวเข้าอกเข้าใจและเปิดกว้างยอมรับองศาที่โหดร้ายของชีวิตได้อย่างแข็งแรงมั่นคงเช่นนี้

บทสนทนาสุดท้ายป้าผิวฝากขอผ่านมาทางเราถึงทุกฝ่ายว่า อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกเลย และพูดอย่างกลางๆ ต่อต้นเหตุความขัดแย้งว่า

“ก็ไม่น่าจะมาสร้าง ถ้าสร้างแล้วทำให้ชาวบ้านเขาขัดแย้งกัน แต่ว่าสร้างมันก็มีผลดีเพราะว่าลูกหลานเราได้ทำงาน ไม่ต้องไปไกลบ้าน จะได้ดูแลพ่อแม่ จะได้มีงานทำ”

4

มีข่าวออกมาหลังเกิดเหตุไม่กี่วันว่าลำพูให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อด้วยท่วงทำนองที่ว่า ‘ถ้าคนที่ตายเป็นฝ่ายเสื้อเขียวก็คงจะมีนักวิชากาและคณะกรรมการสิทธิฯ ลงมาดูแลให้ความช่วยเหลือแล้ว’ ซึ่งทางลำพูบอกกับเราว่าไม่เคยให้สัมภาษณ์ด้วยถ้อยคำดังกล่าวเลย เพราะหลังเกิดเหตุก็มีแค่ทางเครือสหวิริยาเชิญไปร่วมแถลงข่าวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ลำพูจะไม่ได้เอ่ยคำนั้นออกมา แต่เมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นแล้วก็น่าตั้งคำถามตัวโตๆ ว่าเหตุใดจึงยังไม่มีภาครัฐหรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงไปเยียวยาความบอบช้ำที่เกิดขึ้นกับครอบครัวคงตระกูลและชุมชนแม่รำพึง

คำถามตัวที่โตกว่า-เราจะปล่อยให้การพัฒนาที่รัฐจับมือกับทุน ทำร้าย ทำลายชีวิตผู้คน ตักตวงประโยชน์จากทรัพยากรของชาวบ้านสู่นายทุนเพียงหยิบมือ หรืออย่างที่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าการพัฒนาที่ไม่เห็นหัวคนจน เรื้อรังอยู่ในสังคมไทยไปอีกนานแค่ไหน จงเชื่อเถิดว่านี่จะไม่ใช่เครื่องเซ่นสังเวยการพัฒนาศพสุดท้าย และถึงที่สุดแล้ว เราทุกๆ คนต่างก็เป็นเหยื่อของการพัฒนาเหมือนๆ กัน ใช่หรือไม่?

ท้องทะเลของชาวแม่รำพึงยังคงงดงามอย่างขมขื่น

สายลมแห่งแม่รำพึงยังพัดตึงตังคล้ายคนร้องไห้...

*************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, ออรีสา อนันทะวัน

สรุปเหตุการณ์
24 มกราคม-เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงกับกลุ่มพัฒนาบางสะพานในบริเวณพื้นที่ของเครือสหวิริยา เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน ซึ่งเป็นคนของกลุ่มพัฒนาบางสะพาน
28 มกราคม-วีระ สมความคิด ลงพื้นที่เพื่อรับทราบข้อมูลและเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้ต้องหาคือบำรุง สุดสวาท
ช่วงบ่าย วีระได้เสนอเป็นคนกลางให้ทุกฝ่ายร่วมพูดคุยไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง แต่ทางเครือสหวิริยาและนายก อบต.แม่รำพึง ไม่ได้เข้าร่วม
“ท่านนายก อบต. อ้างว่าได้เดินทางออกไปข้างนอกและเขามีสิทธที่จะไม่เข้ามาพบ และบอกว่าหากตนทำผิดก็ให้ดำเนินคดีได้เลย ผมจึงจะเดินทางไปสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับ นายก อบต.ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” วีระ กล่าว และได้เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายก อบต.แม่รำพึง ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางสะพาน สาขาย่อยกำเนิดนพคุณ
29 มกราคม-ช่วงเช้า ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้รวมตัวไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อประเมินราคาที่ดินที่ชาวบ้านรวบรวมกันมา เพื่อเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวบำรุง สุดสวาท
30 มกราคม-เวลา 07.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงกว่า 50 คน เดินทางมาที่ สภาทนายความ เพื่อขอให้สภาทนายความตรวจสอบความประพฤติของ สุวรรณ ทองกราว ประธานสภาทนายความจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านได้ หลังจากนั้นชาวบ้านเดินทางมาที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิม์แห่งประเทศไทย เพื่อร่วมเสวนาเรื่อง ‘โรงเหล็กสหวิริยา vs ป่าพรุแม่รำพึง ทำไมต้องมาถึงวันนี้?’
14.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าแม่รำพึง พร้อมกับวีระ, บำรุง, ไกรศักดิ์ ชุนหวัณ และ ดร.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.จังหวัดนครราชศรีมา พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเดินทางมาเพื่อใช้ตำแหน่งค้ำประกันบำรุง สุดสวาท โดยมีพลตำรวจโท ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้ลงมารับการมอบตัว



ไวพจน์ สิงคะเสลิต รองประธานกลุ่มพัฒนาบางสะพาน
วิชิต กงภูเวช กรรมการและเลขานุการคณะทำงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เครือสหวิริยา




กำลังโหลดความคิดเห็น