xs
xsm
sm
md
lg

ด้วยแสงแห่งความตั้งใจ จุดไฟนำทางนักวิทย์รุ่นจิ๋ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แสงสะท้อนให้เราเห็นสิ่งที่ซ่อนเร้นและเมื่อผ่านละอองน้ำก็คลี่สเปกตรัมออกเป็น "รุ้งงาม" หากแต่แสงยังมีประโยชน์มากกว่าที่ตาเห็นและเป็นมากกว่าแค่ลำแสง บางครั้งเราประยุกต์ใช้แสงเลเซอร์เพื่อตัดเหล็ก บางครั้งใช้เพื่อบันทึกข้อมูลลายนิ้วมือหรือใช้แสงยูวีเพื่อพิสูจน์สลากกินแบ่งรัฐบาลว่าเป็นของจริงหรือไม่ การส่งข้อมูลในยุคอินเทอร์เน็ตที่แสงเข้ามามีบทบาทสำคัญ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างก็เกิดขึ้นได้ด้วยแสง

คลุกวงในกับงานวิจัยด้านแสงจนเป็นนักวิจัยแถวหน้าของประเทศ อดีตเด็กราชบุรีอย่าง ดร.ศรันย์ สัมฤทธิ์เดชขจร แห่งหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ แห่งชาติ(เนคเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยา-ศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงอยากแบ่งปันประสบการณ์และยื่นโอกาสให้แก่เยาวชนผู้ห่างไกลได้มีโอกาสสัมผัสโลกแห่งงานวิจัยผ่าน "แสง" บ้าง

เมื่อครั้งเป็นนักเรียนทุนระดับปริญญาเอกอยู่ที่สหรัฐฯ เขาได้เห็นภาพของการสร้างความตระหนักด้านวิทยา-ศาสตร์ให้กับเยาวชนที่นั่น ภาพนักเรียนตัวเล็กๆ เดินเข้าไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทันสมัยที่สุดในประเทศและมีนักวิทยาศาสตร์อธิบายถึงงานวิจัยในภาษาที่เด็ก 5-6 ขวบจะเข้าใจได้ จุดประกายให้เขาอยากเห็นภาพเหล่านั้นที่เมืองไทยบ้าง

โครงการ "ส่องแสงสู่สังคม" หรือในชื่อย่อ "สสส" ที่ละม้ายคล้ายกับหน่วย งานที่รณรงค์เรื่อง "เมาไม่ขับ" และกิจกรรม ส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ จึงเกิดขึ้นและผันให้นักวิจัยหนุ่มผู้ได้รับรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ รุ่นใหม่" เมื่อปี 2547 กลายเป็น "ครูอาสา" ในยามที่ปลีกตัวจากการภาระในห้องปฏิบัติการขององค์กรวิจัยระดับชาติ การรับหน้าที่อันต่างออกไปนี้คือการจุดประกายให้นักเรียนทั้งในระดับประถมและมัธยมได้เห็นความมหัศจรรย์ของแสงซึ่งเกิดขึ้นได้จาก "งานวิจัย" และลงท้ายด้วยการขันอาสาเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เด็กๆ ผู้รับรู้ได้ถึงสิ่งที่เขาพยายามสื่อ

ดร.ศรันย์เดินทางไปยังโรงเรียนเป้าหมายพร้อมด้วยคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่เก็บความรู้เรื่องแสงมากมายสำหรับถ่ายทอดและกล่องดำขนาดเหมาะมือที่บรรจุอุปกรณ์ไฮเทคมูลค่าหลายแสนซึ่งมีประโยชน์ต่อการวิจัยแต่อาจไม่มีประโยชน์เลยสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ทราบว่าจะนำ "ปริซึม" อันเล็กๆ ไปทำอะไร หรือไม่เข้าใจว่าจะประยุกต์ใช้อุปกรณ์ตีฉากด้วยแสงเลเซอร์กับชีวิตประจำวันอย่างไร รวมถึงเลนส์เฟรสเนล (fresnel lens) ซึ่งดูไม่ต่างไปจากแผ่นพลาสติกทั่วๆ ไป แต่อุปกรณ์เหล่านี้มีค่ายิ่งที่จะนำเยาวชนไปพบกับภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจ

เช้าๆ ก่อนไปโรงเรียนหรือไปทำงานเราใช้ประโยชน์จากการสะท้อนแสงของกระจกเงาเพื่อสำรวจความเรียบร้อยของตัวเอง แต่เมื่อนำหลักการนี้มาใช้กับกระจกโค้งสองใบที่รูปร่างคล้ายชามใบใหญ่วางประกบกันโดยที่ใบหนึ่งถูกเจาะเป็นรูตรงกลาง จะทำให้เกิดภาพคล้ายมีวัตถุลอยอยู่เหนือชามกระจกทั้งสอง เป็นปรากฏการณ์ที่ ดร.ศรันย์อธิบายว่าคือการเกิด "ภาพจริง" ที่ไม่ต้องอาศัยฉากรับจากการสะท้อนแสงของกระจกโค้ง

แสงเลเซอร์ถูกฉายออกจากเครื่องกำเนิดระหว่างการบรรยายของนักวิจัยอาชีพหากแต่เป็นครูสมัครเล่นซึ่งเผยให้เห็นลำแสงสีแดงเป็นเส้นตรงไม่บิดเบี้ยวที่มีความเข้มสม่ำเสมอ ท่ามกลางสีหน้างงงันของเด็กๆ ผู้ยังไม่เข้าใจว่าแสงแปลกตาที่เห็นนั้นมีความหมายอย่างไร ดร.ศรันย์ก็หยิบอุปกรณ์รูปแปลกตาแล้วฉายให้เห็นลำแสงเลเซอร์ที่ตัดกันอย่างได้ฉาก ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายตั้งแต่การจัดบอร์ดนิทรรศการไปจนถึงงานโยธา

ส่วนเลนส์เฟรสเนลที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ไม่ใช่เพียงแผ่นพลาสติกทั่วไป หากแต่มีรอยร่องวงกลมขดเป็นชั้นๆ ซึ่งช่วยให้ผลิตเลนส์ที่มีกำลังขยายขนาดใหญ่ได้บางขึ้นและประหยัดวัสดุ อันเป็นการลดข้อจำกัดในการทำเลนส์กระจก เดิมเลนส์ชนิดนี้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้กับประภาคารให้ส่องสว่างได้ไกลขึ้น ต่อมาได้ประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ทางแสงอีกหลาย ชนิดซึ่งรวมถึงโปรเจกเตอร์ที่ ดร.ศรันย์ฉายสไลด์ให้ความรู้เยาวชนเกี่ยวกับเรื่องแสงด้วย

การส่งตรงความรู้จากห้องปฏิบัติการสู่ห้องเรียนของ ดร.ศรันย์บางครั้งก็ฉายเดี่ยว แต่บางครั้งมีนางสุวรรณี ผู้เจริญชัยชนะ ผู้ช่วยนักวิจัยด้านแสงในศูนย์เดียวกันร่วมเดินทางไปด้วย โดยเป็นการเกื้อกูลในลักษณะที่คนหนึ่งรับหน้าที่บรรยายและอีกคนช่วยหยิบจับอุปกรณ์ส่งต่อให้นักเรียน และก่อนหน้านี้พวกเขาเคยส่งผ่านความรู้ลักษณะเดียวกันให้แก่นักเรียนประถมใน จ.พะเยา และ จ.ราชบุรี หากแต่รูปแบบจะเน้นความสนุกสนานมากกว่า

"แค่มีนักเรียนสักคนอยากทำวิจัยก็นับว่าประสบความสำเร็จ" ดร.ศรันย์กล่าวถึงความคาดหวังหลังจากตระเวนให้ความรู้แก่เยาวชนในโรงเรียนที่ห่างไกลจากเมืองกรุงซึ่งเต็มไปด้วยโอกาสมากมายอยู่แล้ว และนอกจากการให้ความรู้เยาวชนแล้ว "คุณครู" คืออีกเป้าหมาย ที่เขาต้องการถ่ายทอดความรู้เพื่อให้เหล่าแม่พิมพ์ของชาติได้นำความรู้นั้นส่งต่อลูกศิษย์แต่ละคนอีกทอดหนึ่ง ด้วยเขาเองต้องทำวิจัยจึงไม่สามารถแบกรับภาระครูอาสาได้อย่างเต็มไม้เต็มมือนัก

ความต้องการให้โอกาสเยาวชนได้เข้าร่วมทำวิจัยกับนักวิจัยของประเทศส่งไปถึงอาจารย์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ต้นแบบแห่งเดียวของไทย ปรากฏว่ามีนักเรียนแสดงความสนใจกลับมาหลายสิบคน นับเป็นภาพที่ต่างจากการเดินสายให้ความรู้เด็กๆ ในโรงเรียน ทั้งนี้เขาให้ความเห็นว่าเป็นไปได้ว่านักเรียนบางคนอาจยังไม่แน่ใจในความสนใจของตัวเอง บางคนอาจจะไม่ได้สนใจวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง

"ใจจริงเราอยากได้นักเรียนจากโรงเรียนที่ด้อยโอกาสมากกว่าเพราะเด็กเหล่านี้รวมทั้งนักเรียนในกรุงเทพฯ ก็มีโอกาสมากอยู่แล้ว อยากให้เด็กตามชนบทได้โอกาสในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ได้ฝึกกระบวนการคิด ซึ่งอาจไม่ต้องทำวิจัยแต่เพียงการเข้ามาดูศูนย์วิจัยเพื่อซึมซับบรรยากาศของการทำงานก็ได้" ดร.ศรันย์เผยถึงความตั้งใจ

การเดินทางของแสงจากดวงอาทิตย์ มาถึงโลกอาจใช้เวลาเพียง 8 นาที หากแต่ การเดินทางของ ดร.ศรันย์เพื่อเผยให้เยาวชนของชาติได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์อาจต้องใช้เวลามากกว่านั้นหลายพันหลายหมื่นเท่า ทั้งนี้เชื่อว่าอาจมีเด็กที่เห็นค่าใน "ความตั้งใจดี" และพร้อมก้าวสู่โลกแห่งวิทยา-ศาสตร์ในสักวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น