xs
xsm
sm
md
lg

โครงการ EYH ปี 2 ปั้นนักวิทย์หญิงไทยรุ่นใหม่สู่โลกอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (ขวา) ร่วมเล่าประสบการณ์ชีวิตและเส้นทางสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงก่อนก้าวเข้าสู่นักการเมืองที่มีพื้นฐานความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ในระหว่างการจัดกิจกรรมโครงการอีวายเอช เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 52 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร (ซีเกท/เนคเทค)
ซีเกทจับมือเนคเทค สานต่อโครงการอีวายเอช ครั้งที่ 2 จุดประกายความคิดวิทยาศาสตร์ ให้เยาวชนนักเรียนหญิงของไทยผ่านการทดลองแสนสนุกในเรื่องใกล้ตัว หวังปั้นนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ให้วงการวิทยาศาสตร์โลกของที่มีประชากรหญิงมากกว่าชายแต่เข้าทำงานสายวิทยาศาสตร์ในสัดส่วนน้อยกว่ามาก

บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมโครงการอีวายเอช (Expanding Your Horizons: EYH) ขยายขอบข่ายความรู้สู่ความคิดวิทยาศาสตร์ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 14 พ.ย.52 ที่ผ่านมา เพื่อจุดประกายความสนใจของนักเรียนหญิงในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานเปิดงานพร้อมเปิดเวทีให้สัมภาษณ์พิเศษเรื่อง "แรงบันดาลใจจากหนึ่งหญิงที่ควรภาคภูมิ"

นายรุ่ง ศิวารัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิศวกรรม ซีเกท กล่าวว่า โครงการอีวายเอชจัดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อหลายปีมาแล้วโดยองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนหญิง และกระตุ้นให้มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะในปัจจุบันผู้หญิงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลก แต่ผู้หญิงยังสนใจและทำงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย โครงการนี้จึงช่วยจุดประกายความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับนักเรียนหญิง เพื่อให้เห็นโอกาสและความน่าสนใจของการทำงานในด้านนี้

ในส่วนของประเทศไทย ซีเกทได้ร่วมกับเนคเทคจัดโครงการอีวายเอชครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยคัดเลือกนักเรียนหญิงชั้น ม.3 จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 157 คน จาก 20 โรงเรียน โดยนักเรียนจะได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ผ่านกิจกรรมการทดลองอย่างง่ายร่วมกับนักวิจัยพี่เลี้ยงที่มีทั้งนักวิจัยของ สวทช. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งเรียนรู้การทำงานด้านวิทยาศาสตร์จากประสบการณ์จริงของนักวิจัย

สำหรับกิจกรรมที่เยาวชนจะได้เรียนรู้ประกอบด้วย กิจกรรมเวิร์กช็อปด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม โดยหยิบยกเอาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในเรื่องใกล้ตัวมาให้เด็กๆ ได้ทำการทดลองและพิสูจน์ความจริงกันด้วยตัวเอง ได้แก่

คณิตศาสตร์มหัศจรรย์ - เป็นการพิสูจน์ทฤษฎีเรขาคณิตของปีทาโกรัสด้วยภาพจิ๊กซอว์รูปเรขาคณิต เพื่อให้เห็นชัดเจนและเข้าใจทฤษฎีได้ง่ายยิ่งขึ้น

คณิตศาสตร์กับการวางแผนการเงิน - ให้เยาวชนได้เข้าใจถึงการนำคณิตศาสตร์ไปใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการเงินด้านต่างๆ เช่น การออม หุ้นกู้ กองทุน สินเชื่อบ้านและรถยนต์

ความน่าจะเป็น...คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน - ในชีวิตประจำวันล้วนเกี่ยวข้องกับความน่าจะเป็น เช่น โอกาสที่ฝนจะตกในวันนี้ โอกาสที่จะถูกลอตเตอรีรางวัลที่ 1 เหล่านี้อธิบายได้ด้วยทฤษฎีความน่าจะเป็น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ช่วยในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราได้ดียิ่งขึ้น

เยลลี่กับแสง - นำเยลลี่มาประยุกต์ใช้แทนเลนส์หรือปริซึมเพื่อให้แสงส่องผ่าน แล้วสังเกตการเดินทางของแสงว่าความหนาของเยลลีจะมีผลต่อการหักเหแสงอย่างไร แล้วสีและรสของเยลลีจะมีผลต่อการดูดกลืนหรือสะท้อนของแสงหรือไม่ เป็นต้น แล้วความรู้เรื่องแสงเหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง

ภาพลวงตา - สนุกสนานและประหลาดใจกับการสร้างภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวจากกระดาษและแผ่นใส จากภาพ 2 มิติธรรมดา ทำให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวหรือ 3 มิติ ได้อย่างไรกันแน่

น้ำกลิ้งบนใบบัว - ทำความรู้จักกับคุณสมบัติพิเศษของใบบัวที่ทำให้ใบบัวไม่เปียกน้ำ สู่การเลียนแบบธรรมชาติของใบบัวด้วยการประดิษฐ์คิดค้นเสื้อกันน้ำและกระดาษกันน้ำ

เปิดโลกเคมี ตอน ลูกบอลกาวมหัศจรรย์ - สิ่งต่างๆ รอบตัวเราล้วนแต่เป็นเคมีทั้งสิ้น เยาวชนจะได้ทดลองผสมสารเคมีแต่ละชนิดเข้าด้วยกันพร้อมศึกษาคุณสมบัติทางเคมีที่เปลี่ยนแปลงไปผ่านลูกบอลกาวมหัศจรรย์

หมู่เลือด...บอกที่มา - ทำความรู้จักกับหมู่เลือด ประโยชน์ของการหาหมู่เลือด พร้อมทดลองตรวจหาหมู่เลือดจากเลือดตัวอย่าง

DNA...รหัสลับของชีวิต - ล้วงลึกข้อมูลลับของสิ่งมีวิต ทดลองสกัดดีเอ็นเอด้วยเทคนิคง่ายๆ จากหัวหอมและมะเขือเทศ

พลังงานทางเลือกเพื่อโลกสดใสใส่ใจโลกร้อน - รู้จักหลักการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ พร้อมฝึกคิดการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิดอีโคดีไซน์ (Eco Design)

ทั้งนี้ เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ฝึกทักษะกระบวนการคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์ มีหลักการ และมีเหตุผล สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และในอนาคตเยาวชนเหล่านี้อาจเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ที่มีส่วนช่วยสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ให้กับมนุษยชาติได้
เยาวชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรม ขอถามปัญหาคาใจกับรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ (ซีเกท/เนคเทค)
โครงการอีวายเอชเน้นจุดประกายและกระตุ้นความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับนักเรียนหญิง (ซีเกท/เนคเทค)
นักวิจัยพี่เลี้ยงสอนน้องแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิด (ซีเกท/เนคเทค)
น้องๆ เรียนรู้ความน่าจะเป็น ทฤษฎีคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราโดยที่หลายคนคาดไม่ถึง (ซีเกท/เนคเทค)
อนาคตนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ของไทย (ซีเกท/เนคเทค)
กำลังโหลดความคิดเห็น