xs
xsm
sm
md
lg

...ใต้ควันสีขาว บารากุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตาบารากุหลายขนาด วางขายย่านตลาดนัดสะพานพุทธ
ทันทีที่กลิ่นหอมหวานคล้ายเปลือกผลไม้หลากรสลอยพวยพุ่งมาตามแรงลมในอากาศ สายตาทั้งคู่จับจ้องไปที่วัตถุโลหะทรงยาวที่ดูแล้วแปลกตา ด้านบนของวัตถุมีถาดบรรจุถ่านร้อนๆ เมื่อเลื่อนระดับสายตาลงมาวัตถุนั้นมีรูปทรงที่แคบลงและเปลี่ยนเป็นทรงโค้งคล้ายโถขนาดเล็ก ภายในโถนี้เองที่บรรจุสิ่งที่ให้ควันหอมหวน ในวินาทีนั้นต่อมความสงสัยก็เริ่มทำงานไปโดยไม่รู้ตัว

"พี่ๆ ขอโทษนะคะ ที่พี่วางขายอยู่และมีกลิ่นหอมๆ ลอยออกมานี่เขาเรียกว่าอะไรคะ" ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเธอจึงเดินเข้าไปสอบถาม

"เขาเรียกว่า บารากุ หรือ บารากู่ ก็ได้ แต่ชื่อจริงๆ คนอาหรับเขาเรียกกันว่า มอระกู่ เรียกกันไปมาเลยเพี้ยนไป" พ่อค้าย่านสะพานพุทธตอบอย่างอารมณ์ดี

"ขายยังไงคะ"

"ไอ้ที่เห็นอยู่นี่มันเป็นเตา มีด้วยกันหลายราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน ส่วนไอ้ที่มีกลิ่นหอมๆ มันเป็นกากผลไม้มีด้วยกันหลายกลิ่น ขายกล่องละ 500 บาท แล้วแต่ว่าน้องจะชอบกลิ่นไหน"

หลังจากที่ได้คุยกับเจ้าของร้านขายบารากุ ทำให้เกิดข้อสงสัยหลายอย่างตามมา จึงพยายามสอบถามจากเพื่อนและหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต จึงทราบว่าบารากุไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับประเทศไทย มีการนำเข้ามาพร้อมๆ กับชาวอาหรับหรือตะวันออกกลาง ต้นกำเนิดมาจากประเทศตุรกี การสูบบารากุเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวอาหรับที่ไม่นิยมสูบบุหรี่ และจะนิยมสูบกันเมื่อมีการรวมกลุ่มสังสรรค์และสนทนากันระหว่างเพื่อนฝูง ญาติมิตร และไม่เฉพาะชาวอาหรับเท่านั้นที่นิยม ชาวมุสลิมแถบมาเลเซียก็นิยมด้วยเช่นกัน

ชื่อของการสูบยาประเภทนี้มีเรียกหลายชื่อตามดินแดนต่างๆ เช่น ในอียิปต์และแถบเปอร์เซียจะเรียกชิชา ส่วนในปากีสถานเรียก ฮูกาห์ (hookah) ในภาษาอังกฤษเรียก "Water pipe" และชื่ออื่นๆ อีกมากมาย ยาเส้นที่ใช้สูบจะนำมาบดผสมกับเนื้อผลไม้ที่นำมาทำให้แห้งแล้ว มีลักษณะการเสพต่างกับบุหรี่คือใช้วิธีสูดดมกลิ่นควันแทน กลิ่นผลไม้ที่ใช้ก็มี แอปเปิล สตรอเบอรี องุ่น มินต์ เป็นต้น

บารากุในประเทศไทยจะได้รับความนิยมจากกลุ่มคนเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น เนื่องจากหาสูบยาก แต่ที่คนไทยเพิ่งมารู้จักจริงจังก็ในช่วงที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าช่วยล้างสารพิษได้และช่วยชูกำลัง มีกระบวนการผลิตที่เหมือนบุหรี่คือมียาเส้นเป็นส่วนผสม แต่พิเศษตรงที่มีกลิ่นหอมจากเปลือกผลไม้ และหาได้เฉพาะตามที่หรือแหล่งเฉพาะเท่านั้น เช่น ย่านถนนข้าวสาร ย่านซอยนานา จะพบเห็นร้านบารากุได้ทั่วไป เนื่องจากมีชาวต่างชาติและชาวอาหรับอยู่เป็นจำนวนมาก อีกแหล่งคือตามร้านอาหารอาหรับ

แต่เมื่อเวลาผ่านไปร้านสูบบารากุเริ่มอันตรธานหายไปจากถนนข้าวสาร แต่กลับได้รับความนิยมสูบบารากุในผับบาร์แทน อาจจะเป็นเพราะบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จนกระทั่งเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน วิถีการสูบบารากุก็เปลี่ยนไปอีก จากนิยมสูบที่ผับบาร์ ก็กลับกลายมาเป็นการซื้อเตาเอาไว้ในความครอบครองโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางท่องเที่ยวไปตามแหล่งบันเทิงให้เสียเวลาอีกแล้ว เพียงแค่ซื้อเตาสูบและเปลือกผลไม้ตามกลิ่นที่ชอบมา เท่านี้เราก็สามารถทำการสูบที่บ้านได้เลย

คำยืนยันจากผู้สูบบารากุ ความพิเศษอยู่ที่กลิ่นหอมหวาน

น้องกั้ง นามสมมติ อายุ 17 ปี นักเรียนโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เคยสูบบารากุเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยจะมีพี่ชายเป็นคนที่สูบอยู่ก่อนแล้ว ครั้งแรกที่สูบก็ไม่ต่างอะไรกับการสูบบุหรี่ แต่ความพิเศษของบารากุอยู่ตรงที่มีกลิ่นหอม ซึ่งแต่ละกลิ่นก็จะให้ความรู้สึกที่ต่างกันออกไป เช่นหากเรารู้สึกว่าอากาศร้อนอยากสูบบารากุดับร้อนก็ลองสูบบารากุกลิ่นมินต์ดู เวลาที่เราสูบผ่านช่องปากและไล่ไปที่ลำคอทำให้เกิดความรู้สึกเย็นๆ ส่วนกลิ่นแอบเปิลก็จะมีกลิ่นของแอบเปิล ขณะที่กลิ่นอื่นเมื่อสูบแล้วก็จะมีกลิ่นตามธรรมชาติของมัน แต่กลิ่นผลไม้รวมสูบมากๆ ก็จะออกเลี่ยนๆ คงเพราะผสมตัวยาหลายชนิดเลยบอกไม่ได้ว่าเป็นกลิ่นไหนบ้าง

ครั้งแรกที่สูบก็ที่บ้านเลย เพราะพี่ชายเขาซื้อเตามาแถวเยาวราชราคา 2,000 บาท เป็นเตาขนาดกลางมีสายสูบสายเดียวซื้อมาได้ 1 เดือนแล้ว แต่เขาจะขายกันเยอะที่สะพานพุทธ ขณะที่ราคาจะถูกจะแพงอยู่ที่ขนาดของเตามีทั้งใหญ่ กลาง และเล็ก โดยเตาใหญ่จะมีมากกว่าหนึ่งสาย ราคาเริ่มตั้งแต่ 1,800 จนถึง 7,500 บาท แล้วแต่คุณภาพของเตา เตาที่มีราคาแพงจะเป็นเตาใหญ่ มีลวดลายที่สวยงาม

วิธีการสูบทำได้โดยเอาตัวยาไปใส่ในเตาตรงกลาง เอาฟอยล์หุ้มด้านบนแล้วเจาะรู จากนั้นเอาถ่านร้อนๆ จุดไฟย่างบนฟอยล์ ต้องมีการวัดน้ำด้วยซึ่งจะใส่ตัวยาด้านบนมีถ่านรองอยู่ พอเกิดควันก็ค่อยสูบ ควันจะลงไปผ่านน้ำก่อนแล้วก็เข้าปาก

"ผมสูบมาได้สักระยะแล้วรู้สึกว่ามันไม่ติดนะ ที่ลองสูบเพราะเห็นเขาสูบกันและมีกลิ่นหอมๆ ก็เลยลองดู แม่ก็ไม่ว่าอะไรเขาไม่ยุ่งผมจะไปดื่มเหล้าเขาก็ให้ไป แต่จะสูบที่บ้านอย่างเดียวไม่สูบที่อื่นเพราะรูสึกปลอดภัยกว่า" น้องกั้งกล่าว

นัท นามสมมติ อายุ 23 ปี กล่าวว่า เคยสูบบารากุมาได้ 4-5 ปีแล้ว โดยมีชาวมุสลิมเป็นผู้ริเริ่มนำเข้ามา เขานำเปลือกผลไม้ที่หมักหรือแบบที่มีเนื้อยาหยาบๆ เป็นชิ้นๆ มาเป็นตัวยาในการสูบ ขายกล่องละ 500 บาท แล้วแต่ว่าเราจะสูบกลิ่นไหนซึ่งมีหลากหลายกลิ่นให้เลือก โดยหนึ่งกล่องสามารถสูบได้ถึง 10 ครั้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณที่สูบในแต่ละครั้ง

"ผมสูบมาตั้งแต่เขายังไม่ฮิตกันเลย ซึ่งก็กินเวลามาหลายปีแล้ว ผมก็ไม่ติดนะอยากสูบเมื่อไหร่ค่อยสูบไม่ได้สูบทุกวันเหมือนคนสูบบุหรี่ เพราะมันไม่มีอาการอยากเลย" นัท กล่าวอย่างสบายใจ

จากคำบอกเล่าของ ตี๋ นามสมมติ อายุ 25 ปี กล่าวว่ารู้จักบารากุมานานมากแล้ว นับดูก็ราวๆ 10 กว่าปีได้ บารากุเป็นสมุนไพรที่ไม่ใหม่แล้วในบ้านเราเพราะใครๆ ก็รู้จัก ครั้งแรกที่สูบคือตอนที่เดินไปเที่ยวที่ข้าวสาร ครั้งนั้นจะมีร้านให้สูบโดยเฉพาะ สนนราคาอยู่ที่ 30-40 บาทต่อ 1 เตา แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีขายเป็นร้านแล้ว แต่ก็พอมีตามผับ แต่ราคาจะสูงมาก

"ผมมองว่าการสูบบารากุจะมีโทษน้อยกว่าการสูบบุหรี่ถึง 10 เท่า โดยชาวอาหรับจะใช้การสูบบารากุ เป็นเหมือนการรักษาโรคบางอย่าง ส่วนชาวมุสลิมก็จะใช้การสูบบารากุแทนการสูบบุหรี่ โดยการสูบบารากุจะมีกรรมวิธีกรองโดยผ่านน้ำอีกชั้นหนึ่งซึ่งจะทำให้เราได้รับสารที่ปนเปื้อนมาน้อยลง ที่ผมชอบบารากุก็ตรงที่มีกลิ่นหอมมากๆ และมีโทษน้อยกว่าบุหรี่ แต่ที่ไม่ชอบคือราคาค่อนข้างแพงกว่าบุหรี่" ตี๋กล่าวอย่างผู้เชี่ยวชาญ

บารากุขายเกลื่อนย่านตลาดนัดสะพานพุทธ

หากท่านเคยเดินจับจ่ายซื้อของย่านตลาดนัดสะพานพุทธในช่วงปลายปีที่ผ่านมาคงจะเคยเห็นพ่อค้าขายเตาบารากุวางขายอยู่ข้างริมถนน บนแผงที่วางมีเตาบารากุหลายขนาด หลายราคาวางเรียงรายอวดโฉมล่อตาล่อใจให้นักสูบบารากุเดินเข้าไปสอบถามราคาไม่ขาดสาย มีทั้งลูกค้าที่เป็นหญิงและชายในปริมาณเท่าๆ กัน มีราคาตั้งแต่ 400 บาท ไปจนถึง 2,000 กว่าบาท หรือแล้วแต่จะตกลงราคากับพ่อค้าได้

พ่อค้าขายเตาบารากุ กล่าวว่าแต่ก่อนที่สะพานพุทธก็เคยมีร้านที่ให้บริการสูบบารากุอยู่ 2 ร้าน แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ขายแล้วเพราะว่าคนนิยมซื้อเตาไปสูบที่บ้านมากกว่า ธุรกิจการขายเตาบารากุกำลังได้รับความนิยมเพราะไม่ผิดกฎหมายอะไร วางขายทุกวันเว้นวันจันทร์ ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครมาจับ มีขายทั้งที่บางลำพู ตลาดนัดคลองถม เยาวราช เป็นต้น ส่วนตัวยาที่เป็นเปลือกผลไม้ก็มีขายพร้อมกับเตด้วย โดยจะแบ่งขายถุงละ 100 บาท ซึ่งกลิ่นสตรอบอรี และแอปเปิล จะขายดีที่สุดในย่านนี้

หน่วยพิสูจน์หลักฐานเผย บารากุยังไม่มี พ.ร.บ. ใดๆ ระบุว่าเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย

นายอมรชัย ไตรคุณากรวงศ์ นักวิทยาศาสตร์ ของสำนักงานตรวจและพิสูจน์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า จากที่เคยตรวจพิสูจน์ชิ้นส่วนบารากุที่เคยมีเจ้าหน้าที่นำมาให้ตรวจพิสูจน์นั้น มีลักษณะคล้ายสมุนไพร จะหนืดๆ เหลวๆ และมีชิ้นส่วนของพืชบางชนิดผสมอยู่ จากการตรวจสอบพบว่าในชิ้นบารากุนั้นมีส่วนผสมของสารนิโคตินซึ่งคล้ายๆ กับยาสูบ และยังพบสารคูมารีนที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติ ซึ่งตัวคูมารีนจะทำให้เกิดกลิ่นหอม นอกจากจะมีสารทั้งสองชนิดที่กล่าวมา ในบารากุอาจจะมีกากหมักของผลไม้บางชนิด แบ่งเป็นกลิ่นได้หลายกลิ่นไม่ว่าจะเป็นทั้งกล้วยหอม สตรอเบอรี มินต์ เป็นต้น

จากองค์ประกอบที่ตรวจพบ ไม่ได้มีการระบุในพระราชบัญญัติใดๆ เลยว่าบารากุเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะสิ่งที่พิสูจน์ไปนั้นไม่มีสารเสพติดใดๆ ผสมอยู่ แต่ถ้าหากผู้บริโภคผสมสารเสพติดชนิดใดเข้าไป ถ้าตรวจพบจึงจะถือว่าบารากุเป็นสารเสพติดที่ผิดกฎหมาย จะเป็นสารเสพติดประเภทที่ 1, 2, 3 ก็แล้วแต่ทางพิสูจน์หลักฐานจะตรวจพบ ซึ่งในกรณีตัวอย่างที่เคยตรวจไม่มีสารเสพติดใดที่ให้โทษต่อร่างกาย ไม่มีองค์ประกอบของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านิโคตินจะให้ประโยชน์ต่อร่างกาย

กรณีดังกล่าวเป็นแค่กรณีเดียวที่เคยตรวจ บารากุน่าห่วงตรงที่มีนิโคตินผสมอยู่ แม้ว่าตาม พ.ร.บ.ไม่ได้จัดว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์กดระบบประสาท แต่ก็มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง หากเสพบ่อยๆ ก็อาจติดได้ แต่ไม่มีฤทธิ์รุนแรงเหมือนยาบ้าที่เมื่อเสพเพียงครั้งหรือสองครั้งก็ติดแล้ว แม้ว่านิโคตินจะไม่มีประโยชน์อันใดต่อร่างกาย แต่นิโคตินสามารถนำมาบำบัดผู้ป่วยที่ติดบุหรี่ให้เลิกบุหรี่ได้ เหมือนหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง คือจะรักษาโดยวิธีการ แปะสารนิโคตินไว้ที่ใต้ท้องแขน หรือที่ต้นคอเพื่อให้ร่างกายดูดซับนิโคตินทีละนิดทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาไม่ขาดบุหรี่ รักษาไปนานๆ เข้าก็จะสามารถบำบัดผู้ป่วยได้

ขณะที่ร่างกายได้รับนิโคตินมากถึงจำนวนหนึ่ง จะเปลี่ยนจากการกระตุ้นสมองเป็นการกดสมอง เมื่อเสพในขนาดที่ต่ำๆ จะกระตุ้นระบบประสาททำให้รู้สึกมีความสุข แต่ถ้าเสพในขนาดสูงผลที่แสดงออกทางร่างกายที่พบก็คือ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เกิดการทนต่อยาทำให้ต้องการเสพยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และเมื่อหยุดยาจะทำให้เกิดการถอนยา จากการทดลองในสัตว์พบว่าการได้รับนิโคตินในระยะยาวจะมีผลต่อเซลล์สืบพันธุ์ของมนุษย์ และสามารถทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติได้

"น่าเป็นห่วงในเรื่องของการใช้สารปรุงแต่งกลิ่นต่างๆ มาผสม ซึ่งมั่นใจไม่ได้ในมาตรฐานของสารที่นำมาใช้ในเครื่องดังกล่าว ขณะนี้ยังไม่มีรายงานการศึกษายืนยันที่ชัดเจนว่ามีอันตรายมากกว่าการสูบบุหรี่หลายเท่าหรือไม่ ซึ่งหากเรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเช่นนี้หากเลี่ยงได้ก็ไม่ควรสูบ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้สูบและคนใกล้เคียงที่จะรับควันบุหรี่มือสองเข้าไป นอกจากนี้ยังเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการที่วัยรุ่นอาจนำเอาสารเสพติดประเภทกัญชา ยาอี ยาไอซ์ หรือสารเสพติดชนิดอื่นเข้าไปผสมเพื่อสูบได้ง่าย เปิดโอกาสให้นักเที่ยวตามสถานบันเทิงนำยาเสพติดเข้าไปใช้ร่วม" นายอมรชัย กล่าว

ประธานภาคีกฎหมายบุหรี่โลก ระบุบารากุให้โทษมากกว่าบุหรี่

จากการตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีการอ้างอิงข้อมูลจาก นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานภาคีกฎหมายบุหรี่โลกและประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยระบุว่า มีความเข้าใจผิดว่าการสูบยาเส้นผ่านน้ำจะทำให้ปลอดภัยมากขึ้น แต่มีการวิจัยและพิสูจน์แล้วว่า ยาเส้นประเภทสูบผ่านน้ำหรือฮูกาห์นั้นมีอันตรายมากกว่า เพราะมีสารนิโคตินและสารทาร์มากกว่าบุหรี่ทั่วไป รวมทั้งวิธีการสูบผ่านน้ำ และการปรุงแต่งรสของยาเส้นกับผลไม้หรือกลิ่นต่างๆ ทำให้ความเข้มข้นของควันจางลง ทำให้สูบได้ลึกมากขึ้น และสูบจำนวนมาก ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก (อ้างอิงมาจาก www.thaihealth.or.th)

มีการวิจัยพบว่า ผู้สูบมักใช้เวลาในการสูบบารากุ นานกว่าการสูบบุหรี่หนึ่งมวน มหาวิทยาลัยจักรภพเวอร์จีเนีย ได้ทำการวิจัยออกมาว่าการสูบบารากุ 45 นาที จะมีปริมาณฝุ่นละอองมากกว่า 36 เท่าคาร์บอนมอนอกไซด์ 15 เท่า และมีนิโคตินสูงขึ้น 70% เมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่หนึ่งมวน นอกจากนี้ยังมีการพบว่าบางครั้งมีการใช้สารเคมีอันตรายบางตัวเพื่อให้ตัวทำความร้อนติดไฟได้ง่ายขึ้นอีกด้วย 30% ของผู้ที่สูบบารากุมีโอกาสจะติดโรคร้ายแรงในช่องปาก ขณะที่ผู้สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคในช่องปาก 24% ส่วนคนที่ไม่สูบอะไรเลย 8 % สามารถติดโรคทางช่องปากได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีนิโคตินหรือใบยาสูบอยู่เลย แต่ก็ยังมีสารพิษตัวอื่นทำร้ายเราได้

รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเร่งรณรงค์ ให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของการสูบบารากุ

ด้าน นพ. เสรี หงษ์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการตรวจสอบบารากุมีส่วนประกอบของยาเส้นจึงอยู่ในความคุ้มครองของ พ.ร.บ. ยาสูบ และยังมีส่วนผสมของน้ำผึ้ง สมุนไพรที่มีกลิ่นต่างๆ โดยตัวยาเรียกว่า "ชิชา" ส่วนอุปกรณ์คล้ายๆ ตะเกียงซึ่งเป็นของชาวอาหรับเรียกว่า "ฮูกาห์" ที่นิยมกันในตะวันออกกลางและอียิปต์ ส่วนผสมในยาเส้นมีนิโคตินและทาร์สูงซึ่งทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ ซึ่งมีอันตรายมากกว่าการสูบบุหรี่เพราะใช้เวลาสูบนานกว่า โดยมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ในสมัยก่อนจะเอามาฝากญาติ และรู้จักกันเฉพาะกลุ่ม ซึ่งภายในประเทศยังไม่อนุญาตให้ทำการผลิตตัวยาเลย

ปัจจุบันมนุษย์เราเสพสิ่งเสพติดที่ถูกกฎหมายหลายอย่าง เช่น กาแฟ บุหรี่ เหล้า ทั้งสามอย่างเป็นสิ่งเสพติดทั้งหมดแต่ถูกกฎหมาย บารากุก็เป็นกรณีเดียวกัน แต่บารากุจะผิดกฎหมายการนำเข้า พ.ร.บ.ยาสูบของสรรพสามิต เนื่องจากยาเส้นนั้นถือเป็นสิ่งต้องห้ามไม่อนุญาตให้นำเข้า ผิด พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากยาสูบที่นำเข้ามานั้นต้องมีความสด

ขณะนี้ได้ดำเนินการตักเตือนประชาชนก่อนที่จะทำการจับกุมเพราะบางทีประชาชนก็ไม่รู้จริงๆ ว่าผิดกฎหมาย พอประกาศตักเตือนแล้วจึงลงมือจับจริง และในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ จะมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในห้องแอร์ ตามผับบาร์ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบกันอย่างจริงจัง

ส่วนเรื่องการนำเข้าบารากุต้องทำการขออนุญาต ตามข้อตกลงของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการคลัง โดยในต้นปี 2551 การให้บริการสูบยาเส้นบารากุดังกล่าวถือว่ามีความผิดตามกฎหมายแสดงฉลากเตือน เช่น ต้องระบุชื่อผู้นำเข้าและมีการติดคำเตือน และยังผิด พ.ร.บ.ศุลกากร ซึ่งเป็นสินค้าที่นำเข้ามาโดยไม่ขออนุญาตเสียภาษีการนำเข้า ยาเส้นดังกล่าวจะต้องมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องผ่านกระทรวงการคลังก่อน หากฝ่าฝืนมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มีโทษ ทั้งจำและปรับ และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ส่วนเตาบารากุ ยังไม่มีกฎหมายตัวใดออกมาคุ้มครองว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

นพ.เสรี กล่าวอีกว่า บารากุเป็นสินค้าที่ไม่มีองค์การอาหารและยาควบคุม และยังเป็นการจูงใจวัยรุ่น ซึ่งผลการสำรวจพบว่า คนในประเทศที่สูบบุหรี่เหลือแค่ 9 ล้านคนก็จริง แต่โดยภาพรวมก็มีวัยรุ่นที่สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น ผู้สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะมีอายุน้อยลงไปอีก สูญเสียภาวะเศรษฐกิจ เมื่อป่วยก็ดูแลรักษายาก ขณะนี้ได้วางแผนการปราบปรามไว้ดังนี้ ให้สำนักงานควบคุมโรคทั้ง 12 เขต โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน กรมสาธารณสุขแต่ละจังหวัดทำการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในทุกๆ พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพื่อทำการรณรงค์ โดยภายหลังค่อยทำการจับกุม คิดว่าเมื่อประชาชนรู้ว่าผิดกฎหมายจะต้องถูกจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การสูบบารากุน่าจะลดลง

"ผมคิดว่าความร่ำรวยของใครบางคนไม่คุ้มค่ากับสุขภาพของประชาชนที่เสียไป ผู้ขายบารากุต้องการจูงใจให้วัยรุ่นเข้ามาสูบโดยมีการปรับยุทธวิธีใหม่ๆ จากการรณรงค์ของทั้งภาครัฐและเอกชนก็พยายามเต็มที่เพื่อที่จะให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพ และคิดว่าบุหรี่เป็นสินค้าที่ไม่น่าอยู่ในข้อตกลงการค้าระดับโลก FTA และไม่ควรให้อยู่ในข้อตกลงการค้าระหว่างภูมิภาค โดยบุหรี่ไม่ควรเป็นสินค้าในร้านปลอดภาษีของท่าอากาศยาน เพราะสินค้าปลอดภาษีจะมีราคาถูก ส่วนการรณรงค์ควรจะเพิ่มภาษี ลดผู้บริโภค ห้ามโฆษณาสินค้าเพื่อลดแรงจูงใจ และจำกัดบริเวณสูบบุหรี่ เพราะคนสูบบุหรี่มีน้อยกว่าคนไม่สูบบุหรี่ จากกรณีที่กล่าวมาผมเชื่อว่าน่าจะทำให้คนอยากเลิกสูบบุหรี่ไปหลายรายเลยทีเดียว" นพ. เสรี กล่าว

แม้สถานการณ์สูบบารากุในหมู่วัยรุ่นจะยังไม่แพร่หลายเหมือนการสูบบุหรี่ แต่กลิ่นหอมหวานกลับเป็นสิ่งเย้ายวนใจวัยรุ่นซะเหลือเกิน แม้โทษที่ได้รับจะมีมากมาย หรือแม้กระทั่งภาครัฐและกระทรวงสาธารณสุขจะออกมาบอกว่าบารากุผิดกฎหมายการนำเข้า แต่ทำไมถึงได้เห็นบารากุอยู่เต็มท้องถนน ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพฯ เท่านั้นในเชียงใหม่และพัทยายังมีบารากุระบาดหนักเสียยิ่งกว่า หากมัวนิ่งเฉยไม่มีหน่วยงานใดออกมาปราบปรามบารากุก็ยังคงมีอยู่เกลื่อนเมือง

วอนหน่วยงานที่รับผิดชอบ ออกมาทำการตักเตือนหรือรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างจริงจัง หากยังชักช้า เด็กวัยรุ่นซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ของชาติอาจจะหันมาสูบบารากุในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้นมันก็อาจจะสายเกินแก้

****************

เรื่อง-ออรีสา อนันทะวัน
ร้านขายเตาบารากุย่านสะพานพุทธ
ตัวยาบารากุที่ทำจากเปลือกผลไม้มีหลากหลายกลิ่นให้เลือก เมื่อจะสูบก็แกะเอาตัวยาไปใส่ไว้บนเตาบารากุ
เตาบารากุที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรคนำมาให้ดู

กำลังโหลดความคิดเห็น