ในปีที่ผ่านมา ข่าวคราวด้านสุขภาพที่ถือเป็นเรื่องทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวของไข้หวัด 2009 ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาแพร่ระบาดในไทย จนทำให้คนไทยหวั่นผวาไปตามๆ กัน แต่พอล่วงเลยเข้าสู่ปี 2010 ก็ดูเหมือนว่าข่าวคราวเรื่องหวัดสายพันธุ์ใหม่ จะลดดีกรีความน่ากลัวลงไป ไม่ร้อนแรงเหมือนเมื่อก่อน ทั้งๆ ที่มันก็ยังระบาดอยู่เหมือนเดิม ทว่า ไม่กี่วันที่ผ่านมาก็มีเหตุที่ทำให้เรื่องราวของหวัด 2009 นั้น ก็กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง
เพราะในการชุมนุนมของกลุ่มเสื้อแดงนั้นมีนักข่าวคนหนึ่งซึ่งฝังตัวอยู่เกิดป่วยเป็นหวัด 2009 ขึ้นมา ซึ่งนพ.เหวง โตจิราการ ก็รีบออกมาโต้ตอบกับเหตุการณ์นี้อย่างทันควันว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันว่านักข่าวคนนี้ติดหวัด 2009 มาจากม็อบ
แต่แม้ว่านักข่าวคนนั้นจะติดหวัดจากที่ไหนมาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ นักข่าวคนนั้นเป็นหวัด 2009 จริง และในขณะที่เป็นก็อยู่ในม็อบจริง ดังนั้นเรื่องของการแพร่เชื้อไปสู่ผู้ชุมนุมรายอื่นๆ และคนในชุมชนนั้น ก็มีโอกาสเป็นไปได้
และอีกไม่กี่วันถัดมา ชายวัย 40 ปีคนหนึ่งจากจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นอาสาสมัครของกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ในม็อบ ก็ล้มหมอนนอนเสื่อไปอีกราย ด้วยไข้หวัด 2009 เช่นกัน จนทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องของการแพร่ระบาดของไข้หวัด 2009 ในการชุมนุม
ซึ่งเหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยในม็อบทั้ง 2 กรณีนี้ เป็นเสมือนตัวจุดประกายให้สังคมหันมามองเรื่องราวการระบาดของหวัด 2009 อีกครั้งหนึ่งว่ามันยังมีอยู่จริง
แต่ถึงกระนั้น คนในสังคมก็อาจจะโล่งใจไปได้เปลาะหนึ่ง เพราะในทุกๆ วันนี้เรามีวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 กันแล้ว
แต่ปัญหาก็คือเจ้าวัคซีนที่ว่านี้ มันไม่มีใครยอมไปฉีดกันนี่สิ!!!
หวัด 2009 ในปี 2010
ที่ผ่านมา ไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้มีการระบาดอยู่ในประเทศไทยในอัตราที่สม่ำเสมอ แต่ชาวบ้านตาดำๆ ทั่วไป กลับเริ่มเคยชินกับข่าวที่ถูกนำเสนออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนทำให้ความรู้สึกของคนในสังคมเดินทางมาถึงจุดที่เกือบจะไม่ยี่หระกับการแพร่กระจายของไข้หวัดใหญ่ 2009 อีกต่อไป
แต่การที่ไม่สนใจ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ได้มีอยู่...
นพ. คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ในประเทศไทยว่า แบ่งออกเป็น 2 ระลอก คือ ระลอกที่ 1 ช่วงเดือนมิถุนายน 2552-ธันวาคม 2552 และระลอกที่ 2 เดือนมกราคม 2553-กุมภาพันธ์ 2553
โดยช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552- มีนาคม 2553 มีผู้ป่วยตรวจพบเชื้อที่ยืนยันแล้วว่าเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 35,975 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 219 ราย (อ้างอิงจากที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลไว้)
แม้นพ. คำนวณ จะบอกว่า ช่วงเดือนมีนาคมนี้ ถือเป็นช่วงขาลงของการแพร่ระบาดแล้ว แต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ถือเป็นโมงยามแห่งความสุขสนุกสนานของคนไทยทั้งประเทศนั้น ‘เชื้อโรค’ ไข้หวัดใหญ่ 2009 จะพร้อมใจกันออกมาพาเหรดเพื่อแพร่เชื้อโรคร้ายกันอีกรอบ
“กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ช่วงสงกรานต์ผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะกลับบ้านต่างจังหวัด ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อสู่คนในหมู่บ้านได้”
ตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข น่าจะมีผู้ป่วยมากถึง 10-15 ล้านคนเลยทีเดียว
ปัญหาและอุปสรรคอันใหญ่หลวงในการดำเนินการเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ของกรมควบคุมโรค คือ ผู้ป่วยนั้นไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ให้แยกตัวจากผู้อื่นประมาณ 3-4 วัน อีกทั้งกลุ่มที่มีความเสี่ยงทั้งหญิงตั้งครรภ์และคนอ้วน เมื่อรู้ตัวว่าอาจได้รับเชื้อฯ มักไปรับการรักษาช้าเกินแกง และถึงแม้จะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 คนก็ไม่ยอมไปฉีดเพราะหวั่นเกรงผลข้างเคียง
และจากการสำรวจในหัวข้อ ‘แบบสำรวจช่วยบอกสถานการณ์และแนวโน้มการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009’ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักระบาดวิทยาและสวนดุสิตโพล ที่เพิ่งจัดแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ก็มีข้อมูลที่ยืนยันถึงเรื่องที่ นพ. คำนวณ กล่าวไว้ เพราะมีคนถึงเกือบร้อยละ 70 ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้วไม่ยอมไปหาหมอที่โรงพยาบาล อีกทั้งวัคซีนป้องกันหวัด 2009 ที่สั่งซื้อมาจำนวน 2 ล้านโดสนั้น ทุกวันนี้ มีการใช้ออกไปเพียงแค่ 5 แสนโดสเท่านั้น ทั้งที่มีการรณรงค์เรื่องการฉีดวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง
แล้วอะไรกันหนอที่ทำให้คนในบ้านเราหันหลังให้กับวัคซีน? เพราะคนไทยคิดว่าหวัด 2009 เป็นโรคที่ไม่อันตราย? หรืออาจจะเป็นเพราะความกลัวอันตรายที่เกิดจากผลข้างเคียงของวัคซีน ที่มีข่าวแพลมออกมาให้เห็นกันอยูเนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวของหญิงมีครรภ์ในจังหวัดสตูล ที่แท้งหลังจากได้รับวัคซีนหวัด 2009 หรือข่าวของเด็กที่คลอดออกมาผิดปกติ ซึ่งเกิดจากแม่ที่ไปฉีดวัคซีนไข้หวัดมาก่อนหน้านี้
ทำอย่างไร? เมื่อใครๆ ก็ไม่ฉีดวัคซีน
“ผมยืนยันว่าเราไม่นำชีวิตคนมาเป็นตัวประกันแน่นอน วัคซีนที่เรานำเข้ามา 2 ล้านโดส มีความปลอดภัยมาก เป็นวัคซีนตัวเดียวกับที่ใช้ในฝรั่งเศส อเมริกา และหลายประเทศในยุโรป”
แม้คนในสังคมจะมีความกังขา ไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันไข้หวัด 2009 แต่นายแพทย์ นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็เน้นย้ำหนักแน่นถึงความปลอดภัยของวัคซีนดังกล่าว ก่อนเผยถึงสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ประชาชนไม่เข้ารับการฉีดวัคซีน นั่นคือ
“ประการแรกเลยนะครับ ผมมองว่า เกิดจากความเชื่อของประชาชนที่มีต่อไข้หวัด 2009 นั้นเปลี่ยนไป จากเดิมที ไม่ว่าในไทย หรือต่างประเทศ รวมถึงมาตรการขององค์การอนามัยโลกเอง ต่างมองว่า สถานการณ์ของไข้หวัดชนิดนี้มีความรุนแรงสูงมาก หากเป็นกัน 10 คน จะมีคนตาย 5 – 7 คน แต่ระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดขึ้น และเริ่มยับยั้งการระบาดได้แล้ว ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ลดน้อยลง ทำให้เกิดความคิดว่า หวัด 2009 ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด”
ส่วนอีกประเด็นก็คือ ความไม่มั่นใจต่อวัคซีน ที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้ได้รับผลข้างเคียง โดยเฉพาะในกรณีของหญิงมีครรภ์ ซึ่ง นพ. นพพร อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า
“ข่าวครึกโครมเกี่ยวกับผู้แพ้วัคซีน ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ แต่ผมยืนยันนะครับ ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการเข้าใจผิด อย่างกรณีของหญิงตั้งครรภ์ที่ จ. สตูล ผมก็ลงพื้นที่ ไปถามข้อเท็จจริงด้วยตนเอง ทำให้ทราบว่า ผู้รับวัคซีน ที่มีปัญหาแท้ง หรือเด็กในครรภ์ผิดปกตินั้น ไม่ได้เกิดจากการรับวัคซีน เช่น รายหนึ่ง ก่อนหน้าที่จะมาโรงพยาบาล หลังจากได้รับวัคซีนไป 3-5 วัน ก็ยังปกติดีอยู่ แต่เขาหกล้ม หัวฟาดพื้น มีเลือดออกในสมอง จึงต้องเข้ารับการผ่าตัด”
ด้วยเหตุนี้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบถึงทารกในครรภ์ ส่วนเรื่องของผลข้างเคียง เช่น การปวดเมื่อยตามร่างกายนั้น รองอธิบดีกรมฯ อธิบายว่า เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้
แต่เมื่อความไม่เชื่อมั่นได้ก่อตัวขึ้นแล้ว จะทำอย่างไรกับวัคซีน 2 ล้านโดสที่นำเข้ามากันเล่า?
“ฉีดไม่หมดก็ไม่เป็นไรครับ เราก็กำลังคิดเอาไว้ว่า จะใช้วิธี 'ป่าล้อมเมือง' คือ รณรงค์ให้คนรอบตัวของผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มาเข้ารับการฉีดวัคซีน เช่น ถ้าเป็นหญิงมีครรภ์ เราก็จะฉีดให้กับ สามี หรือลูกๆ เมื่อคนรอบตัวปลอดภัยจากเชื้อหวัด หญิงมีครรภ์ก็จะปลอดภัยไปด้วย”
ซึ่งการฉีดวัคซีนให้แก่คนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงนั้น ก็ไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ
“ไม่มีอันตรายแน่นอน เพราะวัคซีนที่เรานำเข้ามา คือวัคซีนแบบเชื้อตาย ไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็น ซึ่งวัคซีนเชื้อตายนั้น มีความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงใดกับคนทั่วไป”
ณ ปัจจุบัน นพ. นพพร บอกว่า มีคนปรกติทั่วไป ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ขอแสดงความจำนงรับวัคซีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่รับวัคซีน การฉีดวัคซีนให้คนปกติ ก็เป็นหนทางหนึ่งในการยับยั้งการระบาดของเชื้อหวัดมรณะนี้ได้
แต่ถ้าหากประชาชน มีความเชื่อมั่น และยินยอมเข้ารับการฉีดวัคซีน นพ.นพพร ก็หวังอยากให้วัคซีนได้ทำหน้าที่ป้องกันการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ที่อาจจะมาเยือนในช่วงหน้าฝน หรือเดือน กรกฎาคมนี้
อยากฉีดก็ไม่ได้ฉีด
ถึงแม้ว่ากรมควบคุมโรคจะกล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นมีการรณรงค์ในเรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างกว้างขวาง แต่เมื่อถามไปยังคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หลายคนก็ตอบว่าเคยได้ยินเรื่องนี้มาบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปฉีดวัคซีนที่ว่านี้ที่ไหนกันแน่
“จริงๆ ผมก็เคยได้ข่าวเรื่องหวัด 2009 มาพอสมควร เพราะมันเป็นเรื่องที่คนทั่วไปตื่นตกใจมากในช่วงแรก ต่อมาก็ได้ข่าวเรื่องวัคซีนเหมือนกัน แต่ก็ไม่แน่ชัด รู้เพียงเลาๆ ว่าคนที่จะฉีดได้ก็จะเป็น คนท้อง คนแก่ คนที่มีน้ำหนักมาก ตัวเราเองก็มีน้ำหนักมากอยู่แล้วด้วย ก็สนใจนะ แต่ไม่หารายละเอียดเพิ่มเติม”
สิริวิทย์ สุขกันต์ อาจารย์หนุ่มร่างใหญ่ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง บอกกับเราว่าได้รับข่าวคราวเรื่องของวัคซีนมาบ้าง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ไปฉีด เพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปติดต่อใครที่ไหนอย่างไร แต่แล้ว เขาก็โดนแจ๊กพอตเข้าจนได้
“วันหนึ่งเราก็เกิดป่วยขึ้นมา พอเราเป็นไข้ ก็ไปตรวจที่โรงพยาบาล กลัวจะเป็นไข้หวัด 2009 เพราะมีอาการครบเลย ทั้งไข้สูง ท้องเสีย แต่ยังไม่มีอาการอาเจียน หลังจากที่เขาเอาเสมหะไปตรวจทางพยาธิวิทยา ก็ปรากฏว่าเราเป็นจริงๆ อาจจะเป็นเพราะเราเดินทางไปสอน เราต้องนั่งรถเมล์ไปไกล กลับมาที่บ้าน ซึ่งตอนนั้นก็น่าจะมีวัคซีนเข้ามาแล้วนะ แต่เรื่องของการฉีดเราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าต้องไปที่ไหน”
แต่สุดท้ายแล้ว สิริวิทย์ ก็รอดพ้นจากเงื้อมมือของโรคร้ายมาได้เพราะเขาได้เข้าไปสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที
“มาถึงทุกวันนี้ เราก็ไม่ได้คิดจะฉีดวัคซีนแล้วนะ เพราะเขาว่ากันว่า คนที่เป็นมาแล้วจะไม่เป็นอีกเพราะมีภูมิคุ้มกัน แต่สำหรับคนที่อยากฉีด ผมก็ยังเชื่อว่า พวกเขาน่าจะขาดข้อมูลที่ชัดเจน อาจจะรู้เหมือนผมเมื่อก่อนว่าใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่สุดท้ายแล้วจะต้องไปที่ไหนหรือติดต่อใครก็ไม่รู้เลย อีกอย่าง ยิ่งมีข่าวว่ามีคนไปฉีดแล้วเป็นอันตรายก็ยิ่งกลัวกันไปใหญ่”
ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้ ก็เป็นโจทย์ข้อใหญ่ ที่กรมควบคุมโรคจะต้องแก้ให้ตก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ และการทำความเข้าใจถึงผลกระทบข้างเคียงจากวัคซีน ที่ไม่ได้มีอันตรายมากมายอย่างที่เข้าใจกัน
….......
เรื่อง : ทีมขาว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK