xs
xsm
sm
md
lg

All LIGHT มันสมองไทยในปักกิ่ง 2008

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับถอยหลังจากวันนี้การแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 29 หรือ ปักกิ่ง 2008 จะเหลือเวลาอีกเพียง 209 วันและจีนคือประเทศที่สามในภูมิภาคเอเชียที่กลายเป็นเจ้าภาพของกีฬาแห่งมนุษยชาติรายการนี้ต่อจาก ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ แน่นอนว่านอกจากชาวจีนที่เตรียมพร้อมรับงานใหญ่ระดับโลกรายการนี้แล้ว ผู้คนในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมหรือวัฒนธรรม ต่างรู้สึกร่วมไปด้วยกับมหกรรมกีฬาที่กำลังจะเกิดขึ้น

การเป็นเจ้าภาพของประเทศที่มีประชากรเป็นอันดับที่หนึ่งของโลกในครั้งนี้คือการแสดงศักยภาพและภาพลักษณ์ของสังคมจีนยุคใหม่หลังจากเปิดเสรีทางการค้ามาได้จนเกือบครบหนึ่งทศวรรษนี่คือโอกาสสำคัญของ พวกเขาที่จะแสดงให้สาธารณชนโลกได้เห็นว่าได้ก้าวกระโดดมาเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจเพียงใด สิ่งที่ตามมาคือการจัดเตรียมงานอย่าง มโหฬารชนิดเปลี่ยนแปลงทั้งเมืองไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่นครปักกิ่งลงทุนสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่เพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ หรือแม้แต่การปรับลักษะนิสัยของคนจีนให้มีระเบียบวินัยมากขึ้น

เช่นเดียวกับสนามกีฬาทั้ง 35 แห่งที่ได้มีการเตรียมงานทั้งสร้างใหม่และปรับปรุงให้มีความพร้อมมากที่สุดซึ่งการดำเนินงานที่ต้องใช้ช่างฝีมือผู้ชำนาญการนั้นมี ในส่วนงานนี้เองที่คนไทยกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญของ “ปักกิ่ง 2008” ในฐานะบริษัทที่ทำหน้าที่ดูแลระบบควบคุมไฟฟ้าในสี่สนามสำคัญของการแข่งขันด้วยระบบที่คิดค้นและออกแบบโดยคนไทยภายใต้ชื่อ All Light ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการทางด้านนี้มากว่าสิบปี

1.

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 29 หรืออีกชื่อที่หลายคนในเมืองไทยน่าจะเริ่มคุ้นเคยจากสื่อโฆษณาภายใต้ชื่อ “ปักกิ่ง 2008” มีกำหนดเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 เดือน 8 (สิงหาคม) ปี 2008 ถือเป็นมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติรายการใหญ่ที่สุด ซึ่งรัฐบาลจีนหวังจะใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันเศรษฐกิจ รวมไปถึงการก้าวไปอีกขึ้นของสังคมจีนในยุคที่เปิดเสรีทางการค้าและทำให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ดินแดนมังกร

ภายหลังที่ นครปักกิ่ง ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมนุษยชาติ ด้วยเสียงอันเป็นเอกฉันท์ทั้งสองรอบ (44, 56) เหนือเมืองคู่แข่งอย่าง โตรอนโต ปารีส อิสตันบูล และ โอซาก้า คณะกรรมการทางฝ่ายจีนก็เริ่มทำงานทันทีพร้อมกับแนวคิดที่ต้องการให้ ปักกิ่ง 2008 คือการประชาสัมพันธ์ประเทศครั้งใหญ่ที่จะช่วยให้ภาพของนครปักกิ่ง อันเปรียบเสมือนตัวแทนของสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งประเทศ ในสายตาของนักลงทุนชาวต่างชาติดีตามไปด้วย

สนามกีฬาที่จีนได้จัดเตรียมเพื่อการณ์นี้มีด้วยกันทั้งหมด 35 แห่งแบ่งเป็นสนามสร้างใหม่ 15 แห่ง และสนามที่ปรับปรุงรวมไปถึงใช้ชั่วคราวอีก 15 แห่ง ซึ่งพวกเขาเริ่มต้นทำงานทันทีที่ได้รับเลือกให้เป็นเมืองเจ้าภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามกีฬากลาง “ปักกิ่งเนชั่นแนล สเตเดี้ยม” หรือที่ เรียกกันว่า “รังนก” ด้วยรูปลักษณ์โครงสร้างที่นำเอาท่อเหล็กมาสอดประสานกันจนมีลักษณะดังคำเรียกดังกล่าว และการก่อสร้าง “รังนก” นั้นกำลังจะเสร็จสมบูรณ์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ขณะที่สนามอื่นต่างก็ทยอยเสร็จตามกำหนด จนครั้งหนึ่งที่ ฌากส์ โรกก์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้เดินทางไปตรวจสนามถึงกับเอ่ยปากว่า “ปักกิ่ง” เป็นเจ้าภาพที่พร้อมมากที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นมา

นอกจากนี้คณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกแห่งกรุงปักกิ่งนั้นยังถูกรณรงค์ภายใต้หัวข้อ ‘โอลิมปิกไฮเทค’ ซึ่งหมายถึงการบุกเบิกทางด้านเทคนิควิทยาการ ซึ่งดูเหมือนจะเข้าทางของ All Light ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญระบบควบคุมไฟฟ้ามานานกว่า 30 ปี และนับเป็นวิทยาการซึ่งก่อเกิดด้วยมันสมองของคนไทย ที่ทำให้มีการใช้ทรัพยากรบุคคลน้อยแต่ได้ประสิทธิภาพมาก ในทางกลับกันยังช่วยควบคุมการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองในทางอ้อมได้อีกด้วย

2.

คณะผู้บริหารของทีมงาน All Light นั้นกล่าวได้อย่างน่าสนใจในบทสัมภาษณ์ช่วงหนึ่งว่า “อันที่จริงแล้ว ทางบริษัทฯคิดค้นระบบควบคุมไฟฟ้าแบบนี้มาได้นานแล้วและมีการจดสิทธิบัตรอย่างถูกต้อง เพียงแต่การทำตลาดในประเทศนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะดูเหมือนคนไทยจะไม่ค่อยเชื่อฝีมือคนไทยด้วยกันเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบของเราใช้งบประมาณน้อยมาก เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ทำให้เราต้องหันไปบุกตลาดต่างชาติก่อน โดยมีบริษัทของญี่ปุ่นเป็นตัวแทนจำหน่ายให้”

ผลงานของระบบควบคุมไฟฟ้าภายในสนามกีฬาของ All Light นั้นปรากฏให้เห็นประสิทธิภาพอย่างชัดเจนในสนามกีฬา 700 ปีเชียงใหม่ซึ่งใช้ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 18 ซึ่ง ในครั้งนั้นสนามกีฬาที่มีความจุไม่ได้น้อยหน้ากว่าสนามใหญ่ในกรุงเทพฯ มีระบบไฟฟ้าที่สามารถควบคุมชนิดรวมศูนย์ไม่ต้องเปลืองทรัพยากร บุคคล เพราะสามารถสั่งเปิดปิดได้จากจุดศูนย์กลาง นอกจากผลงานในระดับชาติที่สนามสมโภช 700 ปีเชียงใหม่แล้ว การติดตั้งระบบควบคุมไฟในอาคารสำนักงานหรือบ้านพักก็ยังเป็นงานที่ทาง All Light ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทเอกชน

ในส่วนของตลาดต่างประเทศนั้นภายใต้ตราสัญลักษณ์ทางการค้าซึ่งมีต้นกำเนิดจากเมืองไทยดูจะไม่เป็นที่เชื่อถือสักเท่าไรนัก ทางผู้บริหารจึงตัดสินใจให้ บริษัทใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าของญี่ปุ่นเป็นตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับเทคโนโลยีควบคุมระบบเปิดปิดไฟฟ้าของคนไทย

จุดเด่นของเทคโนโลยีที่ควบคุมระบบเปิดปิดไฟฟ้าที่เชื่อมโยงจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถรวมให้การทำงานสามารถเสร็จสิ้นเพียงจุดเดียว เป็นนับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดทั้งทรัพยากรบุคคล และ พลังงาน เมื่อผนวกเข้ากับการตลาดอันเข้มแข็งของบริษัทตัวแทนสัญชาติญี่ปุ่น ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิก 2008 ที่มีแนวนโยบายที่จะให้ การเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้คือ “โอลิมปิก ไฮเทค” ผลงานของคนไทยจึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับมหกรรมกีฬาแห่งมนุษยชาติครั้งที่ 29 ในสี่สนามสำคัญ

3.

ทั้ง 4 สนามที่บริษัทผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้าสัญชาติไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมนั้นประกอบไปด้วย สนามบีช วอลเล่ย์บอล สนามฝึกซ้อมสองสนาม และ สนามแข่งกีฬาหลัก อันได้แก่ ฟุตบอล ยิงปืน ขี่ม้า ซึ่งการติดตั้งทั้งหมดนั้นเป็นหน้าที่ของบริษัทคาวามูระ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายและมีสำนักงานประจำอยู่ที่เมืองปักกิ่ง

การดำเนินงานในช่วงแรกเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดการแข่งขันนั้น ผู้บริหารของ All Light เปิดเผยให้ฟังว่า “อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่าเรามี บริษัทญี่ปุ่นเป็นตัวแทนจำหน่ายในตลาดต่างประเทศซึ่งก็คือ คาวามูระ เมื่อนครปักกิ่งได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2008 พวกเขาได้เสนอตัวเพื่อทำหน้าที่ดูแลระบบไฟฟ้าของสนามกีฬา และได้นำเอาเทคโนโลยีควบคุมการเปิดปิดของเราเข้าไปผนวกด้วย ทำให้ทางฝ่ายจัดการแข่งขันมีความสนใจเป็นอย่างยิ่งและเลือกให้ คาวามูระ เป็นผู้ดูแลในสนามกีฬาทั้ง 4 แห่ง”

“แม้ว่าการเสนอตัวในครั้งนี้ทาง All Light จะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ด้วยผลงานของเรา รวมไปถึงความไว้วางใจจาก บริษัทคาวามูระ ที่เป็นเทคโนโลยีของคนไทยว่ามีประสิทธิภาพในระดับสากลเขาจึงเอางานของเราผนวกรวมเข้าไปด้วย ซึ่งกลายเป็นโอกาสอันสำคัญของบริษัทฯในการมีส่วนร่วมกับมหกรรมกีฬาระดับโลกเช่นนี้”

เทคโนโลยีที่ใช้ในการติดตั้งระบบควบคุมเปิดปิดไฟฟ้าของสนามกีฬาทั้ง 4 แห่งนั้นผู้บริหารของ All Light ได้เปิดเผยว่า “สำหรับกล่องควบคุมระบบเปิดปิดไฟในสนามที่ปักกิ่งนั้นเป็นระบบเดียวกับที่ใช้ในสนามสมโภช 700 ปีเชียงใหม่ ระบบการควบคุมของเราคือใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นศูนย์กลางในการทำงาน ซึ่งแรงงานคนที่จะใช้สำหรับงานนี้มีเพียงคนตั้งเวลาเท่านั้น แต่ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินหรือไฟดับก็สามารถเปลี่ยนระบบมาใช้แรงงานคนในการเปิดปิดได้เช่นกัน ซึ่งจำนวนการติดตั้งระบบควบคุมของเราที่ปักกิ่งนั้นใช้ทั้งหมด 58 กล่อง ซึ่งสามารถควบคุมได้ทั้ง 4 สนามโดยผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งทางเราได้ฝึกเจ้าหน้าที่จากบริษัทคาวามูระ ให้เป็นผู้ติดตั้ง”

แน่นอนว่าการแข่งขันกีฬาระดับโอลิมปิกนั้นหลายคนอาจจินตนาการถึงห้องควบคุมไฟฟ้าว่าต้องเป็นห้งอที่มีขนาดใหญ่เต็มไปด้วยคอมพิวเตอร์ควบคุมระบบไฟทั้งหมด หากแต่ในความเป็นจริงที่ทีมผู้บริหารและคณะทำงานที่ปักกิ่งได้แสดงให้ทีมข่าวกีฬาดูนั้น มีเพียงคอมพิวเตอร์ไม่กี่เครื่องกับพื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่สามารถควบคุมระบบเปิดปิดไฟได้ทั้งสนาม

ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีคำอธิบายที่น่าสนใจว่า “การติดตั้งของสนามกีฬาแตกต่างจากธุรกิจอื่นคือความกว้างของพื้นที่ อย่างสนามกีฬามีพื้นที่มากหากจะเปิดปิดด้วยแรงงานคนก็จะใช้เวลาและแรงงานมาก แต่อุปกรณ์ของ All light ทำให้ควบคุมและลดขนาดแรงงานให้มาอยู่เพียงจุดเดียว และสามารถต่อพ่วงเข้ากับระบบอินเทอร์เนต กับผู้ที่ใช้อุปกรณ์ได้ หรือต้องการเอาสนามกีฬาทั้งหมดมารวมศูนย์แล้วควบคุมอยู่ด้วยกัน ระบบนี้จะช่วยประหยัดทั้งทรัพยากรบุคคล และ พลังงานที่สำคัญทำให้การเปิดปิดไฟเป็นไปตามตารางที่ใช้งาน เพราะถ้าใช้แรงงานคนนั้นมีความเป็นไปได้น้อย ที่สำคัญระบบของ All Light ยังสามารถส่งคำสั่งผ่านระบบอินเทอร์เนตเข้ามาได้ด้วย”

4.

ผลงานที่ถือว่าเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทตัวแทนจำหน่ายสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง “คาวามูระ” กับเทคโนโลยีที่คิดค้นและผลิตขึ้นโดยฝีมือคนไทยภายใต้ตราสัญลักษณ์ทางการค้า “All Light” ได้สร้างผลงานอันน่าให้กับคณะกรรมการโอลิมปิกจีนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังได้มีการนำเอาเทคโนโลยี ในการควบคุมระบบไฟฟ้าของ All Light ไปใช้ในสำนักงานธุรกิจที่ เซี่ยงไฮ้ จนทำให้บริษัทคาวามูระได้รับประกาศนียบัตรจากสำนักงานพลังงานแห่งนครเซี่ยงไฮ้ในฐานะ “ผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานแห่งนครเซี่ยงไฮ้”
นอกจากนี้ คณะผู้บริหารของAll Light ยังได้กล่าวถึงผลงานต่อเนื่องที่มาจากความพึงพอใจและไว้วางใจจากคณะกรรมการโอลิมปิกที่จีนว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานและสำนักงานในประเทศจีนหลายแห่งที่สนใจระบบควบคุมไฟฟ้าของทางบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันกำลังทำการติดตั้งให้กับโรงพยาบาล 301 อันเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดของนครปักกิ่ง

ขณะเดียวกันคณะผู้บริหารของ All Light ได้ตั้งข้อสังเกตถึงตลาดในเมืองไทยว่า “อันที่จริงเทคโนโลยี ของเรานั้นพัฒนาไปได้มากแล้ว เพียงแต่ต้องการการยอมรับจากลูกค้าเท่านั้นซึ่งการร่วมมือระหว่าง All Light และ คาวามูระ ทำให้บริษัทได้ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ สำหรับเมืองไทยนั้นก็มีภาคเอกชนหลายแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการประหยัดพลังงาน อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ปัจจุบันได้ติดตั้งระบบควบคุมไฟฟ้าของเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากจะเป็นงานในภาพใหญ่อย่าง โอลิมปิก หรือ ระดับประเทศอย่างสนามสมโภช 700 ปีเชียงใหม่ ผลิตภัณฑ์ควบคุมระบบเปิดปิดไฟฟ้าของ All Light ที่มีต้นกำเนิดของเทคโนโลยีมาจากความต้องการประหยัดพลังงาน และ ทรัพยากรบุคคล รวมไปถึงสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นภายในที่พักอาศัย ยังคงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อใช้งานในระดับครัวเรือน โดยมีสนนราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนักและถ้าคนไทยหันมาใช้ระบบควบคุมการเปิดปิดไฟฟ้าในลักษณะนี้มากขึ้น ตัวเลขของการประหยัดพลังงานในประเทศน่าจะลดลงได้ไม่น้อย

ในยุคสมัยที่คนทั่วโลกกำลังพูดถึงภาวะโลกร้อน การประหยัดพลังงาน นวัตกรรมของระบบควบคุมการเปิดปิดไฟฟ้าของ All Light นั้นได้รับการพัฒนาจนมิได้เป็นเพียงแค่สวิตช์ไฟ หากแต่เป็นวิวัฒนาการของการควบคุมที่ช่วยให้การใช้งานให้เกิดไฟฟ้าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขานั้นเข้ากับยุคสมัยเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ แนวคิดของคนไทยกลุ่มนี้เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนอันเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีใครสนใจเรื่องประหยัดพลังงานเฉกเช่นปัจจุบัน

โดยทีมข่าวกีฬาผู้จัดการรายวัน








กำลังโหลดความคิดเห็น