xs
xsm
sm
md
lg

สธ.จัดทำมาตรฐานบริการฉบับเฉลิมพระเกียรติ เผยเป็นคัมภีร์ดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.จัดทำมาตรฐานบริการสาธารณสุขฉบับเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ฉบับสมบูรณ์แบบ ให้ทุกโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพชุมชนและสถานีอนามัยใช้เป็นแนวปฏิบัติทางเดียวกัน กำหนด “บริการ” ที่ผู้ป่วย ญาติ ประชาชนและสังคมต้องได้รับ 10 กลุ่ม เพื่อให้ได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพและพึงพอใจสูงสุด และเตรียมผลิตฉบับประชาชน คาดจะแจกจ่ายในปลายปีนี้

วานนี้ (7 ม.ค.) นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบประกาศเกียรติคุณแก่โรงพยาบาล จำนวน 235 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพบริการตามมาตรฐานบริการสาธารณสุข ในปีงบประมาณ 2550 และ 2551 ในการสัมมนาวิชาการเรื่อง มาตรฐานบริการสาธารณสุข ฉบับเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคล 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และมอบนโยบายการพัฒนาคุณภาพบริการประชาชน ให้แก่ผู้ตรวจราชการ อธิบดี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารโรงพยาบาล วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยการสาธารณสุข แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ ในสังกัดทั่วประเทศ ประมาณ 1,200 คน เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติภายใต้มาตรฐานบริการเดียวกันทั่วประเทศ

นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ในปี 2551 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายมุ่งเน้นให้สถานพยาบาลที่อยู่ในสังกัดทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพชุมชนและสถานีอนามัย รวมทั้งหมด 10,587 แห่ง พัฒนาคุณภาพบริการประชาชนที่เจ็บป่วย ให้หายป่วยหรืออาการป่วยทุเลาลงหลังจากที่เข้ารับบริการแล้ว ซึ่งต่อปีมีผู้ใช้บริการรวมกว่า 80 ล้านครั้ง โดยได้จัดทำเป็นมาตรฐานบริการของกระทรวงสาธารณสุข ทดลองใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2547 มี 2 ระดับ คือ ระดับโรงพยาบาลและระดับศูนย์สุขภาพชุมชนหรือสถานีอนามัย ขณะเดียวกันได้ระดมความคิดเห็นจากกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนผู้รับบริการ กลุ่มผู้แทนผู้ให้บริการ ผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนอื่น ผนวกจนเป็น คัมภีร์ฉบับสมบูรณ์แบบ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยได้รับอนุญาตจากสำนักพระราชวัง ในการอัญเชิญตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติประดับหนังสือดังกล่าว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะส่งให้สถานบริการสุขภาพนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

ทั้งนี้ สาระบริการหลักตามมาตรฐานบริการสาธารณสุข ที่ประชาชนผู้รับบริการจะได้รับจากสถานบริการสุขภาพ ประกอบด้วย 10 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผลการตรวจ 2.ผลการวินิจฉัยเบื้องต้นหรือข้อสันนิษฐาน 3.ความเห็นและคำแนะนำจากบุคลากร 4.การฝึกทักษะที่สำคัญและที่จำเป็นให้ผู้ป่วยเมื่อกลับไปอยู่บ้าน 5.การเฝ้าระวังดูแล ขณะที่อยู่ในสถานพยาบาล ขณะเคลื่อนย้ายและขณะส่งต่อ 6.ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่ให้ต้องมีสภาพดี ไม่เสื่อมคุณภาพ มีฉลากอธิบายชัดเจน 7.สิ่งที่ได้กระทำต่อผู้ป่วย เช่น ทำแผล ฉีดยา ให้น้ำเกลือ จะต้องกระทำโดยผู้ที่ผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดี 8.บริการอื่นๆ ที่บุคลากรทางการแพทย์ให้ เช่น การจัดคิว การรับรองสิทธิ 9.สิ่งของหรือสถานที่จัดให้ผู้รับบริการ และ 10.มาตรฐานที่มีผลกระทบต่อชุมชน สังคม เช่น บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความต้องการของผู้ป่วยและญาติที่ไปใช้บริการที่สถานบริการสุขภาพ หากได้รับบริการที่ดี ความทุกข์กังวลจะคลี่คลายลงได้ ตั้งเป้าในปี 2551 นี้ จะสร้างความพึงพอใจประชาชนทั่วประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85

นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนผู้ใช้บริการทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทำการตรวจประเมินคุณภาพสถานบริการสุขภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานบริการสาธารณสุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการจำนวน 505 แห่ง และผ่านการตรวจประเมิน ได้รับประกาศเกียรติคุณโรงพยาบาลคุณภาพตามมาตรฐานบริการสาธารณสุข (Hospital Care Quality Award : HCQA) จนถึงปัจจุบัน จำนวน 335 แห่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งพัฒนาทีมผู้ตรวจประเมินเพิ่มให้เพียงพออีก 30 ทีม ขณะเดียวกันจะจัดทำมาตรฐานบริการสาธารณสุขฉบับประชาชน ให้ประชาชนสามารถอ่านทำความเข้าใจว่าเมื่อไปรับบริการที่สถานบริการสุขภาพ ควรรู้อะไร ควรทำอะไร และจะต้องได้รับสิ่งใดบ้าง คาดว่าจะสามารถแจกจ่ายได้ในปลายปีนี้

ด้านนพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในการตรวจประเมินเพื่อรับรองคุณภาพสถานพยาบาล จะเน้นหนักตรวจความพร้อมของโรงพยาบาลที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย 2 ส่วน ประกอบด้วย การสุ่มตรวจความพร้อมการให้บริการ 10 จุดบริการ ได้แก่ ตึกผู้ป่วยนอก ห้องฉุกเฉิน ห้องคลอด หอผู้ป่วยใน ห้องผ่าตัด ทันตกรรม ห้องยา ฝ่ายเวชกรรม/ส่งเสริมสุขภาพ ห้องปฏิบัติการ ห้องเอกซเรย์ รวมจำนวน 183 รายการ พบว่าส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 และส่วนที่ 2 สุ่มตรวจผู้รับบริการหรือญาติ ว่ามีความเข้าใจเรื่องบริการ คำแนะนำ และความรู้ที่ได้รับ พบว่ามีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 เช่นกัน

ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะปรับปรุงมาตรฐานบริการสาธารณสุขทุก 3 ปี เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้อง เหมาะสมกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ครอบคลุมสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และค่านิยมของประชาชน ผู้รับบริการ โดยรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รวมทั้งการติดตามตรวจสอบผลงานและวิเคราะห์ปัญหาด้านคุณภาพบริการ และความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้มาตรฐานบริการสาธารณสุขด้วย โดยคาดว่าจะสามารถตรวจรับรองสถานพยาบาลได้ครอบคลุมทุกแห่งภายใน พ.ศ.2554
กำลังโหลดความคิดเห็น