คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน “ฮิคิโคโมริ” เป็นปัญหาสังคมญี่ปุ่นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะท่ามกลางประชากรที่ลดฮวบลง กลับมีคนวัยทำงานมากขึ้นที่เลือกจะเก็บตัวอยู่บ้าน อีกทั้งปัญหานี้ยังซับซ้อนและมีปัจจัยมากมายที่ส่งเสริมให้พวกเขาอยู่ในสภาพนี้ไปเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางคนที่สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ด้วยเหมือนกัน
“ฮิคิโคโมริ” หมายถึงคนที่ตัดขาดตัวเองจากสังคมภายนอกเป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป และข้องเกี่ยวเฉพาะกับคนในบ้านเท่านั้น รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่ามีประชากรฮิคิโคโมริในวัยทำงาน (15 - 64 ปี) ราว 1.46 ล้านคน ณ พ.ศ. 2566 ในขณะที่นักวิชาการเชื่อว่ามีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน เพราะมีฮิคิโคโมริเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มคนที่ลาออกจากงานกลางคัน หรือธุรกิจเจ๊งแล้วไม่สามารถฟื้นตัวได้ อีกทั้งคนที่เก็บตัวตั้งแต่สมัยประถมหรือมัธยมต้นจนตอนนี้อายุระหว่าง 40-50 ปีก็เพิ่มขึ้นด้วย
สังคมมักตัดสินว่าฮิคิโคโมริคือคนที่ “หวังพึ่งคนอื่น” หรือ “ขี้เกียจ” โดยไม่ได้ทำความเข้าใจถึงปัญหาที่พวกเขามี ฮิคิโคโมริมักสื่อสารความรู้สึกของตัวเองไม่เก่ง หรือไม่ก็เป็นคนแบบ introvert อยู่ก่อน (ชอบอยู่กับตัวเองมากกว่าเข้าสังคม) บางคนก็โดนกลั่นแกล้งที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน รวมทั้งอาจบกพร่องทางพฤติกรรม อารมณ์ หรือพัฒนาการอยู่แต่แรก เช่น เป็นออทิสติก สมาธิสั้น พวกเขาจึงรู้สึกว่าตัวเองเข้ากับคนอื่นยาก หรือบางคนก็คิดว่าตัวเองไม่เอาไหน ความกลัวการถูกตัดสินและความผิดหวังในตัวเองจึงมีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้พวกเขาหลีกเร้นจากสังคม
แต่ในขณะเดียวกันก็มีฮิคิโคโมริอีกกลุ่มที่ไม่ได้มีปัญหาเหล่านี้เลย แต่เลือกจะตัดขาดตัวเองจากสังคมเพราะเบื่อชีวิตการเรียนหรือการงาน เบื่อการคบหาผู้คน รู้สึกอยากอยู่คนเดียวมากกว่า จนในที่สุดก็กลับเข้าสู่สังคมไม่ได้
ความท้าทายในการแก้ปัญหา
ความที่สังคมญี่ปุ่นคาดหวังสูง นิยมความสมบูรณ์แบบและการทำตามกลุ่ม ทำให้ทุกคนเหมือนโดนบีบบังคับกลาย ๆ ให้ใช้ชีวิตตามมาตรฐานคนอื่นอยู่เสมอ และตัดสินคุณค่าของตัวเองด้วยสายตาคนอื่น ครั้นพอทำไม่ได้อย่างที่หวังก็ท้อแท้ และในที่สุดบางคนก็ค่อย ๆ หลีกหนีจากสังคมกลายเป็นฮิคิโคโมริ
พ่อแม่เองก็รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบจึงยอมให้ลูกอยู่บ้าน คอยหาข้าวหาปลาให้ลูกที่หมกตัวอยู่แต่ในห้องทั้งวัน บ้างก็พยายามบอกให้ลูกหาอะไรเป็นชิ้นเป็นอันทำ แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าใดนัก นอกจากนี้ความอับอายไม่กล้าบอกใครว่าลูกเป็นฮิคิโคโมริ ก็ทำให้พ่อแม่ญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แทนที่จะขอคำปรึกษาจากศูนย์ให้ความช่วยเหลือที่มีทั่วประเทศ
นักวิชาการบอกว่าเป็นเรื่องยากมากที่คนซึ่งเป็นฮิคิโคโมริมาหลายปี จะกลับสู่สังคมได้ด้วยตัวเองหรือด้วยความช่วยเหลือของคนในครอบครัวเพียงอย่างเดียว และที่น่าหนักใจอีกอย่างคือบางคนไม่ได้อยากจะเลิกเป็นฮิคิโคโมริด้วย โดยการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นพบว่าฮิคิโคโมริถึง 1 ใน 3 ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐในการเยียวยาเพื่อกลับเข้าสู่สังคม
ยิ่งยุคนี้มีสิ่งสร้างความบันเทิงมากมายโดยไม่ต้องออกจากบ้าน ฮิคิโคโมริก็จะรู้สึกว่ามีตัวช่วย ไม่จำเป็นต้องออกไปสู้รบปรบมือกับโลกภายนอก เบื่อขึ้นมาก็เล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเกม อ่านการ์ตูนไป ซึ่งจากการศึกษาหลายชิ้นพบว่า แม้การเสพติดอินเทอร์เน็ตและเกมจะไม่ได้เป็นสาเหตุให้คนกลายเป็นฮิคิโคโมริ แต่ก็มีส่วนส่งเสริมการใช้ชีวิตของพวกเขา และเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้คนที่ติดเกมและอินเทอร์เน็ตยอมกลับเข้าสู่สังคมอย่างเดิม
อาจกล่าวได้ว่านอกจากสภาพสังคมญี่ปุ่นจะเอื้อให้เกิดประชากรฮิคิโคโมริจำนวนมากแล้ว การที่พ่อแม่ยอมให้ลูกอาศัยอยู่ด้วยหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ก็ส่งเสริมให้ฮิคิโคโมริสามารถอยู่ในสภาพนี้ไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งต่างจากสังคมตะวันตกที่พ่อแม่ไม่ค่อยปล่อยให้ลูกพึ่งพานาน ๆ จึงทำให้ลูกรู้ว่าต้องพึ่งตัวเอง หาทางแก้ปัญหาและใช้ชีวิตด้วยตนเอง
ที่น่าสนใจคือในทางการแพทย์ญี่ปุ่นมองว่า "ฮิคิโคโมริ" ไม่ใช่อาการเจ็บป่วย แต่เป็นสภาวการณ์ของคนที่มีปัญหาทางสังคมหรือปัญหาสุขภาพจิต และจิตแพทย์เองก็ไม่ค่อยรักษาฮิคิโคโมริอย่างเหมาะสม ทั้งที่ควรปฏิบัติเหมือนพวกเขาเป็นคนไข้ทางจิตเวช
อดีตฮิคิโคโมริคนหนึ่งเล่าว่าเขาไม่เคยเจอจิตแพทย์ที่ซักถามถึงความรู้สึกในใจเลย มีแต่สั่งยาให้อย่างเดียว ซึ่งเพื่อนฉันที่เคยไปหาจิตแพทย์เคยบอกว่า ประกันสุขภาพญี่ปุ่นจะครอบคลุมแค่ค่ายากับค่าหมอที่สั่งยา ถ้าอยากรับการรักษาด้วยจิตบำบัดก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง นี่จึงอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมฮิคิโคโมริจึงไม่ได้รับการเยียวยาอย่างที่ควรเป็น
ช่วยฮิคิโคโมริให้ปรับตัวและกลับคืนสู่สังคม
ในญี่ปุ่นมี support group สำหรับฮิคิโคโมริหลายกลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เจอผู้คนในแบบง่าย ๆ สบาย ๆ และไม่ต้องกลัวการถูกตัดสิน รวมทั้งส่งเสริมให้พวกเขาหัดทำงานง่าย ๆ หรือช่วยงานนิด ๆ หน่อย ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเองทีละน้อย เห็นคุณค่าของตัวเอง จนวันหนึ่งสามารถพึ่งพาตัวเองได้
อย่างบ้านพักแห่งหนึ่งก็ให้ฮิคิโคโมริมาอาศัยอยู่ร่วมกัน (โดยมีค่าใช้จ่าย) ผลัดเวรกันทำอาหารและความสะอาด พอทำได้แล้วก็ให้ไปช่วยงานที่ยากขึ้น ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้จะมีเจ้าหน้าที่ นักให้คำปรึกษา และคนท้องถิ่นมาคอยสอนหรือดูแล ทุกเดือนจะมีกิจกรรมสังสรรค์ เช่น ไปคาราโอเกะ ชมดอกซากุระบาน หรือไปทัศนศึกษา
ฮิคิโคโมริคนหนึ่งได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนฮิคิโคโมริอีกคนที่ทำแกงกะหรี่เก่งเลยอยากทำได้บ้าง เขาเริ่มค้นหาสูตรอาหารที่ชอบแล้วหัดทำไปเรื่อย และยังทำงานพาร์ทไทม์ช่วยดูแลผู้ป่วยในละแวกใกล้เคียงด้วย และแล้วการเป็นเวรทำอาหารให้คนอื่นกินและทำงานพาร์ทไทม์ ก็ทำให้เขาค่อย ๆ เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบและรู้ว่าตัวเองเป็นที่พึ่งพาแก่คนอื่นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน
มีกลุ่มหนึ่งเปิดรับฮิคิโคโมริผู้หญิงโดยเฉพาะ เขาจะแบ่งกลุ่มย่อยแล้วให้แต่ละคนเล่าถึงปัญหาของตัวเอง เช่น เรื่องงานหรือความสัมพันธ์กับลูก โดยมีกฎว่าคนอื่นที่ฟังห้ามวิพากษ์วิจารณ์ บางคนที่มาร่วมก็ค่อย ๆ อาการดีขึ้น ร่าเริงขึ้น เพราะรู้สึกว่าสามารถเล่าความกังวลใจให้คนอื่นฟังได้โดยไม่ถูกตัดสิน
คนก่อตั้งกลุ่มนี้ก็เคยมีอดีตเป็นฮิคิโคโมริเช่นกัน เธอเล่าว่าผู้หญิงหลายคนรู้สึกว่าตัวเองต้องสมบูรณ์แบบอย่างที่สังคมคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นภรรยาที่ดี แม่ที่ดี ลูกสาวที่ดี คนในสังคมที่ดี แต่พอไม่สามารถเป็นอย่างนั้นได้ก็รู้สึกแย่กับตัวเอง จนแล้วจนรอดก็เลยหนีสังคม ดังนั้นหากคนเราจะสามารถมีที่ซึ่งอยู่แล้วสบายใจ เป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ต้องเครียดก็คงช่วยได้มาก
คำแนะนำจากอดีตฮิคิโคโมริ
อดีตฮิคิโคโมริคนหนึ่งแนะว่า “ถ้าฮิคิโคโมริไม่สามารถยอมรับได้ว่า ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องใหญ่โตและเป็นเรื่องปกติ ก็จะออกจากวังวนนี้ไม่ได้ เพราะงั้นให้ยอมรับความจริงว่าเราไม่ใช่คนที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาดเลย แล้วฮึดสู้ ทำให้ดีกว่าเดิม ให้พ่อแม่หรือเพื่อนชมเรา ถ้าพลาดก็ไม่เป็นไร เอาใหม่สิ ใครเขาจะหัวเราะเยาะที่เราทำพลาดก็ช่างเขาเถอะ เราให้ความสำคัญกับคนที่รักเราดีกว่า
อยู่ในสังคมเราอาจต้องเจอกับความผิดหวังหลายหนนะ อย่างที่ทำงานบางที่อาจจะบอกว่าเราแย่มากไม่เอาไหนเลย แต่วันต่อมาอีกที่หนึ่งอาจจะชมว่าเราใช้ได้ก็ได้ หรือถ้าเขาเกลียดเราก็ถามเหตุผลไปเลย เช่น ผมทักทายคุณนะ ทำไมคุณไม่ทักตอบล่ะ มีอะไรหรือ อะไรอย่างนี้ ผมเองก็เจออย่างนี้เรื่อย ๆ เลยได้ข้อสรุปว่ามันแล้วแต่สถานที่ มันแล้วแต่คนว่าเขาจะมองเรายังไง มันไม่ได้มีด้านเดียวแน่นอน ก้าวแรกมันยากนะ แต่ค่อย ๆ อดทนก้าวต่อ ๆ ไปแล้วจะมันจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เอง”
อดีตฮิคิโคโมริอีกคนที่ตอนนี้ประสบความสำเร็จในชีวิตแนะว่า “เลิกโทษตัวเองได้แล้ว ชูนิ้วกลางใส่เสียงในหัวที่มันชอบด้อยค่าเราเลย เราไม่ได้ล้มเหลวสักหน่อย หาแรงบันดาลใจให้เจอ เพราะมันอาจกระตุ้นให้เราอยากเดินออกไปจากตรงนี้ แล้วใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ”
เขาบอกว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ฮิคิโคโมริยอมออกสู่โลกภายนอกได้ คือการที่พวกเขามองเห็นคุณค่าในตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง และสิ่งที่สำคัญพอกันคือแรงสนับสนุนจากคนรอบข้างหรือคนนอก ที่จะช่วยให้พวกเขาไม่กลับไปใช้ชีวิตแบบฮิคิโคโมริอีก
สิ่งที่ฮิคิโคโมริอยากบอกพ่อแม่
ทั้งนักวิชาการและอดีตฮิคิโคโมริต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อย่าพยายามดึงตัวฮิคิโคโมริกลับคืนสู่สังคมโดยเร็วที่สุด เพราะหากปัญหาที่พวกเขามียังไม่ได้รับการสะสาง ก็จะทำให้กลับสู่สังคมไม่ได้นานอยู่ดี
ฮิคิโคโมริคนหนึ่งที่อาการดีขึ้นบอกว่า “สิ่งที่อยากบอกคนเป็นพ่อแม่ของฮิคิโคโมริก็คือ อย่าพยายามผลักดันให้ลูกเป็นปกติหรือไปทำงาน เพราะคนเป็นลูกรู้ตัวว่าทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจและรู้สึกผิดอยู่แล้ว พวกเขารู้ดีควรทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน อีกอย่างคือปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขกันเองได้ในครอบครัว เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรจะเข้ากลุ่มกับพ่อแม่คนอื่นที่มีลูกเป็นแบบเดียวกัน จะได้รู้ว่าไม่ใช่ตัวคนเดียวและสบายใจขึ้น มุมมองที่มีต่อลูกก็จะเปลี่ยนไปด้วย พอพ่อแม่เปลี่ยนความคิด ลูกก็จะรู้สึกดีขึ้นด้วยเช่นกัน”
คนก่อตั้งกลุ่มช่วยเหลือฮิคิโคโมริคนหนึ่งก็บอกเช่นกันว่า “ที่จริงฮิคิโคโมริเขาก็อยากจะยืนหยัดอยู่ในสังคมได้ เพียงแต่อาจจะในแบบที่ต่างจากคนอื่นเท่านั้นเอง แต่เขาไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ถ้าเราเข้าใจเขาได้อย่างนี้ สิ่งที่เราจะพูดกับเขาก็จะต่างไปจากเดิม”
จะเห็นได้ว่าฮิคิโคโมริเป็นปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อน และต้นสายปลายเหตุส่วนที่มาจากค่านิยมสังคมก็เป็นเรื่องแก้ไขยาก แต่หากญี่ปุ่นยอมปลูกฝังค่านิยมใหม่ที่ให้ความสำคัญกับจิตสำนึกแบบปัจเจกบุคคลแทนที่จิตสำนึกแบบกลุ่ม รวมทั้งสอนเด็ก ๆ ให้มองเห็นคุณค่าของตัวเองและคนอื่น จนมีความนับถือตัวเองที่มั่นคงพอ ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดฮิคิโคโมริก็เป็นได้.
อ่านเพิ่มเติม
ทำไมญี่ปุ่นจึงมี "ฮิคิโคโมริ" เป็นล้านคน
ชีวิต "ฮิคิโคโมริ" ที่ไร้พ่อแม่ให้พึ่งเป็นอย่างไร
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.