xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมญี่ปุ่นจึงมี "ฮิคิโคโมริ" เป็นล้านคน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://note.com/
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”



สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าและคุณภาพชีวิตที่ดูดีเลิศอย่างญี่ปุ่นนั้น ยังมีเหรียญอีกด้านหนึ่งซ่อนไว้ หนึ่งในนั้นได้แก่ “ฮิคิโคโมริ” (引きこもり) หรือคนที่ถอนตัวออกจากสังคมและอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานาน ซึ่งอาจกินเวลาหลายสิบปีสำหรับบางคน ปัจจุบันฮิคิโคโมริมีจำนวนกว่าล้านคนในญี่ปุ่น และปัญหาลักษณะคล้ายกันยังเริ่มปรากฏในประเทศอื่น ๆ ด้วย

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นให้คำจำกัดความของ “ฮิคิโคโมริ” ว่าหมายถึงคนที่ตัดขาดตัวเองจากสังคมภายนอกเป็นเวลาหกเดือนขึ้นไป และปฏิสัมพัทธ์เพียงแค่กับคนในบ้านเท่านั้น รัฐบาลคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นมีฮิคิโคโมริประมาณ 1.15 ล้านคน แต่อาจารย์ไซโต ทามากิ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฮิคิโคโมริและเป็นผู้คิดคำนี้ขึ้นมา คาดว่าจริง ๆ แล้วน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน (ญี่ปุ่นมีประชากรราว 126 ล้านคน ณ ตุลาคม 2563) และหากจำนวนยังคงเพิ่มต่อไปเรื่อย ๆ ก็อาจพุ่งขึ้นสูงถึง 10 ล้านคนภายใน 13 ปีเลยทีเดียว

คนที่เป็นฮิคิโคโมริจะขาดความมั่นใจในตัวเอง กลัวการปฏิสัมพัทธ์กับผู้คน และมีปัญหาด้านบุคลิกภาพ มักขังตัวเองไว้ในห้องแทบตลอดเวลาโดยไม่ยอมไปโรงเรียนหรือไปทำงาน แต่บางคนก็สามารถไปที่ที่รู้สึกปลอดภัยซึ่งไม่ต้องข้องแวะกับผู้คนนัก เช่น ห้องสมุด สถานีรถไฟ หรือร้านสะดวกซื้อ แม้จะรู้สึกสบายใจกับการอยู่ในโลกส่วนตัวมากกว่าออกไปเจอโลกภายนอก แต่พวกเขาก็มักรู้สึกเหงา กระวนกระวาย และซึมเศร้าอยู่เสมอ

แม้จิตแพทย์จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าอะไรทำให้เกิดพฤติกรรมเลี่ยงสังคมอย่างหนัก แต่จากการศึกษาบางส่วนพบว่าปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดฮิคิโคโมริของหลายประเทศอยู่ที่ความรู้สึกอับอายและล้มเหลวอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ผ่าน การไม่ได้งานที่ฝัน การออกจากงาน การตกงาน ส่วนปัจจัยอื่น ๆ อาจเนื่องมาจากการถูกรังแกในช่วงวัยเรียน การที่พ่อแม่ตามใจลูกมากเกินไป หรือกระทั่งการที่ลูกมีความบกพร่องทางพัฒนาการ (developmental disorders) มาแต่เด็กโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ ลูกจึงปรับตัวเข้ากับสังคมไม่ได้ อย่างนี้ก็มี

ภาพจาก https://toyokeizai.net/
สาเหตุที่ญี่ปุ่นมีฮิคิโคโมริจำนวนมากเป็นพิเศษถึงขนาดเกินล้านคนน่าจะมาจากสภาพสังคมของญี่ปุ่นเอง กล่าวคือการใช้ชีวิตตามกรอบอย่างเข้มงวด อีกทั้งมีค่านิยมในการทำตามกันให้เหมือนคนอื่น ๆ ให้ค่ากับความสมบูรณ์แบบ นิยมความอดทนอดกลั้น มักโทษตัวเองง่าย ซึ่งนัยหนึ่งก็เหมือนจะดีคือทำให้สังคมมีทิศทางไปในทางเดียวกัน เป็นระบบระเบียบ ได้มาตรฐานที่สูง ผู้คนมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

แต่อีกทางหนึ่งค่านิยมที่ขาดความยืดหยุ่นเช่นนี้ก็ทำให้คนที่แตกต่างหรือไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว รู้สึกถูกปฏิเสธตัวตนและไร้ที่ยืนในสังคม เมื่อความเครียดเพิ่มมากเข้าจนบีบคั้นให้อยากหนี ในที่สุดจึงเดินออกจากวงโคจร ซึ่งสำหรับสังคมญี่ปุ่นแล้วหากหลุดออกไปครั้งหนึ่งก็จะกลับเข้าไปใหม่ได้ยากเย็นยิ่ง คล้ายกับรถไฟที่ตกออกจากราง

นอกจากนี้ครอบครัวยังอาจมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ลูกกลายเป็นฮิคิโคโมริได้เช่นกัน เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นมีค่านิยมที่จะรับผิดชอบเรื่องของตนเอง เมื่อในครอบครัวมีคนเป็นฮิคิโคโมริก็คิดว่าต้องแก้ปัญหากันเอง พ่อแม่จึงรับผิดชอบด้วยการดูแลลูกของตนอยู่กับบ้านไปเรื่อย ๆ ต่างกับสังคมตะวันตกบางส่วนที่นิยมให้ลูกยืนหยัดด้วยตัวเอง และให้ออกจากบ้านไปรับผิดชอบชีวิตตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ

แม้ในช่วงแรกของการหนีสังคมอาจทำให้รู้สึกสบายใจที่ไม่ต้องเจอสิ่งกระตุ้นความเครียดโดยตรง แต่ยิ่งเวลาผ่านไปนานโดยไม่หาทางแก้ปัญหา สุขภาพจิตก็จะยิ่งแย่ลง แถมยิ่งอยู่ติดบ้านนานก็ยิ่งไม่ได้พบเจอผู้คน จึงขาดทักษะในการเข้าสังคม ยิ่งไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็ยิ่งขาดโอกาสทำสิ่งที่เสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง และรู้สึกด้อยคุณค่าไปเรื่อย ๆ ความนับถือตัวเองจึงยิ่งลดลงเป็นลำดับ

ภาพจาก https://gp.dmkt-sp.jp/
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือฮิคิโคโมริมักได้รับความช่วยเหลือช้ามาก คือเฉลี่ยแล้วใช้เวลาถึง 4.4 ปี สาเหตุหลักเป็นเพราะคนในครอบครัวไม่ทราบว่าควรจัดการกับปัญหาอย่างไร รวมทั้งยังรู้สึกอายสังคมที่ในบ้านมีคนเป็นฮิคิโคโมริ ครอบครัวจึงพลอยค่อย ๆ หลีกเร้นสังคมไปด้วย และปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังไปทั้งอย่างนั้น อีกทั้งฮิคิโคโมริที่เป็นฝ่ายขอความช่วยเหลือด้วยตัวเองก็มีน้อย หากไม่มีปัจจัยภายนอกมากระตุ้นให้ฮิคิโคโมริยอมเปิดใจและค่อย ๆ เดินออกจากโลกส่วนตัวมาสู่โลกภายนอก ก็ยากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่พวกเขาได้

แม้ว่าองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่นจำนวนมากจะมีศูนย์ให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่มีฮิคิโคโมริ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง และมักเน้นไปที่การช่วยกระตุ้นให้ฮิคิโคโมริออกจากห้องตัวเองและกลับเข้าสู่สังคมทำงาน โดยที่ปัญหาทางด้านจิตใจอาจจะยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งจิตแพทย์บางส่วนมองว่าไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมและไม่ได้ผลดี

ในขณะเดียวกันองค์กรและกลุ่มอิสระบางแห่งเน้นไปที่การเสริมสร้างทักษะทางสังคม ด้วยการดึงให้ฮิคิโคโมริเข้าร่วมกิจกรรม เช่น ทำสวน เล่นกีฬา เล่นดนตรี เป็นอาสาสมัคร เพื่อบ่มเพาะความมั่นใจในตัวเองของฮิคิโคโมริขึ้นทีละน้อยจนสามารถกลับไปทำงานหรือเรียนหนังสือได้ หรือสร้างแนวทางให้ฮิคิโคโมริใช้ความสามารถและพรสวรรค์ที่ตนมีในทางที่เป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น อดีตฮิคิโคโมริคนหนึ่งที่ใช้ศิลปะและการเคลื่อนไหวทางสังคมในการบำบัดตัวเอง เป็นต้น

ภาพจาก https://camp-fire.jp/
และเนื่องจากครอบครัวเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาฮิคิโคโมริได้ ปัจจุบันจึงมีแนวคิดในการบำบัดร่วมกันทั้งครอบครัว เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะในการสื่อสารระหว่างคนในบ้านกับฮิคิโคโมริ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการทดลอง

ปัญหาใหญ่สำหรับญี่ปุ่นในเวลานี้คือ จากสถิติของทางการแล้วมีฮิคิโคโมริเกินครึ่งที่อยู่ในวัย 40-64 ปี ในขณะที่พ่อแม่ของพวกเขาก็อยู่ในวัยชราหรือเสียชีวิตไป โดยที่ลูกซึ่งเป็นฮิคิโคโมริยังไม่สามารถดูแลตัวเองหรือกลับเข้าสู่สังคมได้ ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับคนกลุ่มนี้ยังมีน้อยมาก บางแห่งมีการจัดทำคู่มือสำหรับฮิคิโคโมริเพื่อให้แนวทางปฏิบัติตนหากพ่อแม่เสียชีวิต ซึ่งสอนวิธีการดูแลตัวเองแบบเข้าใจง่าย แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนกลุ่มเป้าหมายไม่ค่อยจะอ่านกันเท่าใดนัก

ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มจำนวนของฮิคิโคโมริอย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนประชากรญี่ปุ่นที่กำลังลดลงเรื่อย ๆ ก็เป็นเรื่องน่ากังวลยิ่ง เพราะจำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลง ประชากรสูงอายุมากขึ้น และประชากรที่น่าจะเป็นความหวังของสังคมแต่ไม่สามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ก็เพิ่มขึ้น

ภาพจาก https://gp.dmkt-sp.jp
อย่างไรก็ดี การป้องกันและแก้ไขปัญหาฮิคิโคโมริในญี่ปุ่นก็ยังมีความท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้นตอของปัญหาอยู่ที่ค่านิยมของสังคมและสภาวะทางจิตใจของคนญี่ปุ่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากและใช้เวลานาน แต่จิตแพทย์บางส่วนก็กล่าวว่าหากสังคมมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับฮิคิโคโมริ ก็น่าจะช่วยให้ปัญหาคลายตัวลงได้ไม่มากก็น้อย

ปัจจุบันพบว่ามีฮิคิโคโมริเกิดขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวของประเทศอื่น ๆ ด้วยทั้งในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในสังคมที่ลูกในวัยผู้ใหญ่ยังคงอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งสำหรับประเทศที่มีค่านิยมเรื่องปัจเจกชนสูงอย่างสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษจะไม่ค่อยมีฮิคิโคโมริมากนัก แต่ในทางกลับกันก็จะมีคนหนุ่มสาวไร้บ้านมากกว่าญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตามปัญหาฮิคิโคโมริที่เกิดขึ้นในแต่ละวัฒนธรรมก็อาจจะต่างกันไปตามปัจจัยแวดล้อม ทำให้สาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาอาจไม่เหมือนกันด้วย

ผู้เชี่ยวชาญแนะว่าถ้ามีคนในบ้านมีอาการแบบฮิคิโคโมริ ก็ควรจะรีบปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแต่เนิ่น ๆ เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาได้ทันท่วงที และจะได้ทราบว่าพ่อแม่ควรปฏิบัติกับลูกอย่างไร ไม่ปล่อยให้กลายเป็นปัญหาที่แก้ยากเกินไปในภายหลัง

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.



กำลังโหลดความคิดเห็น