คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน “ฮิคิโคโมริ” เป็นปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่นที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน และปัจจุบันประชากรฮิคิโคโมริจำนวนมากก็เข้าสู่วัยกลางคน ในขณะที่พ่อแม่ซึ่งคอยเลี้ยงดูพวกเขาก็แก่ชราลงมาก แล้วชีวิตของฮิคิโคโมริที่ขาดพ่อแม่ให้พึ่งพาเป็นอย่างไร จะมีทางออกอย่างไรได้บ้าง
“ฮิคิโคโมริ” (引きこもり) คือ คนที่ถอนตัวออกจากสังคมและอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานาน ซึ่งอาจกินเวลาหลายสิบปีสำหรับบางคน
ญี่ปุ่นขนานนามสภาพการณ์ดังกล่าวว่า “8050” หมายถึงพ่อแม่วัย 80 ที่จำต้องดูแลลูกวัย 50 ซึ่งเป็นฮิคิโคโมริ จากสถิติที่รวบรวมโดยรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2562 พบว่าจำนวนฮิคิโคโมริวัยกลางคนถึงวัยชรา (40-64 ปี) มีจำนวนมากกว่า 610,000 คนเลยทีเดียว
ฮิคิโคโมริไม่ได้เริ่มเป็นตอนวัยเรียนซึ่งถูกแกล้งหรือพลาดหวังจากการสอบเข้าเท่านั้น แต่ยังมีคนที่เป็นฮิคิโคโมริเมื่อเข้าสู่วัย 40 ปีขึ้นไปด้วย เหตุผลที่เจอบ่อยที่สุดคือการออกจากงาน ไม่ว่าจะเป็นการถูกให้ออกหรือออกเอง และบางคนก็ออกจากงานเพื่อมาดูแลพ่อแม่ที่ป่วยหรือชรา เหตุผลรองลงมาคือมีปัญหาความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน ถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกคุกคามทางเพศ เมื่อออกจากงานแล้วพวกเขาก็งานใหม่ได้ยาก พอไม่สามารถกลับเข้าสู่สังคมทำงานได้ ก็เริ่มขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว กลายเป็นฮิคิโคโมริไปในที่สุด
ความทุกข์ของครอบครัวที่มีฮิคิโคโมริ
ฮิคิโคโมริจะขังตัวเองไว้ในโลกส่วนตัว แทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในบ้าน บางบ้านโดนฮิคิโคโมริยึดครัวไปดื้อ ๆ จนพ่อแม่ต้องไปสร้างครัวใหม่แยกต่างหาก หรือพอพ่อแม่บอกให้หางาน พวกเขาก็จะยิ่งเครียดและหัวเสีย อีกทั้งไม่ยอมคุยเรื่องการเงินเลยว่าต่อไปจะทำอย่างไร บางทีก็พูดจารุนแรงหรือใช้กำลังกับคนในบ้าน ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่ก็เป็นห่วงและคอยหาข้าวหาปลาให้กิน
ฮิคิโคโมริอยู่ได้ก็ด้วยการพึ่งพาพ่อแม่ แม้พ่อแม่อาจมีรายได้หลักจากเงินบำนาญ แต่ก็ไม่มากนัก จึงต้องเอาเงินออมมาใช้จ่ายด้วย ซึ่งบางบ้านกระทั่งตัวพ่อแม่เองก็ยังมีเงินไม่พอค่าใช้จ่ายเลย แต่ยังต้องเผื่อมาถึงลูกด้วย นอกจากนี้พ่อแม่ก็มักป่วยออดแอดบ้าง เป็นโรคร้ายบ้าง หรือความจำเสื่อมบ้าง ทำให้ต้องรับภาระหนักอย่างยิ่งทั้งทางกายและใจ
มีฮิคิโคโมริอยู่คนหนึ่งเลิกทำงานตั้งแต่อายุ 31 ปีเพราะงานและชีวิตส่วนตัวไปได้ไม่ดี วันหนึ่งในวัย 49 ปี เขาตื่นมาไม่เจอพ่อแม่วัย 70 และพบว่าข้าวของจำนวนหนึ่งกับรถหายไป มีเพียงกระดาษโน้ตเขียนไว้ว่าให้ไปปรึกษาที่ว่าการเขตเอา
เมื่อถูกพ่อแม่ทิ้ง เขาก็เริ่มคิดได้ว่าไม่มีทางอื่นนอกจากต้องยืนหยัดด้วยตนเอง จึงไปปรึกษาที่ว่าการเขตและทำเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือ จากนั้นก็เริ่มหางาน ในที่สุดก็ได้งานชั่วคราวและไม่ต้องพึ่งเงินช่วยเหลืออีกต่อไป
วันหนึ่งขณะทำงานบ้าน เขาเจอกระดาษโน้ตแผ่นหนึ่งเขียนไว้ว่า “ถึงเราจะอยากให้ลูกหาทางทำอะไร แต่พอพูดทีไรลูกก็อาละวาดจะตบตีพ่อแม่ คนที่ทุกข์ที่สุดอาจจะเป็นตัวลูก แต่ครอบครัวเองก็เครียดยิ่งกว่าไม่รู้เท่าไหร่”
แม้จะไม่รู้ว่าพ่อแม่ไปอยู่ที่ไหน แต่ทุก 2-3 เดือนเขาจะได้รับจดหมายพร้อมเงินหลายพันเยนที่เขียนว่า “ผ่านมาปีนึงแล้ว อยู่คนเดียวได้ก็แสดงว่าอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้วนะ” เขาคิดว่าพ่อแม่คงอยากให้เขาพึ่งตัวเองได้เลยจากไป เขาไม่ได้คิดตามหาพ่อแม่ แต่ก็คิดว่าถ้าวันหนึ่งพ่อแม่กลับมา เขาจะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูพ่อแม่บ้าง
กรณีนี้ก็ยังดีที่จบลงด้วยการที่ลูกยืนหยัดด้วยตัวเองได้และคิดอยากตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ แต่บางครอบครัวก็จบลงด้วยการฆาตกรรม ไม่ว่าจะลูกฆ่าพ่อแม่หรือพ่อแม่ฆ่าลูก มีพ่อแม่หลายคนทีเดียวที่มาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และสารภาพว่ามีความคิดอยากฆ่าลูก หรือฆ่าลูกแล้วฆ่าตัวตายตาม บางคนเคยถือมีดไว้แล้วจ้องมองที่คอลูก บางคนก็ซื้อเชือก ซื้อน้ำมันมาแล้ว แสดงว่าพ่อแม่ต้องอยู่ในสภาพที่เครียดจัดและอับจนหนทางจริง ๆ มิฉะนั้นคงไม่คิดถึงขนาดนี้
ชีวิตของฮิคิโคโมริเมื่อพ่อแม่ตายจากไป
ที่ผ่านมามีข่าวเป็นระยะ ๆ ว่าฮิคิโคโมริถูกจับ เพราะพ่อแม่เสียชีวิตแต่ลูกไม่ยอมไปแจ้งตาย ปล่อยศพพ่อแม่ทิ้งไว้ในบ้าน เฉพาะใน พ.ศ. 2562 ปีเดียวก็พบกรณีแบบนี้ทั้งหมด 38 ราย
มีคนหนึ่งถูกจับข้อหาเพิ่มอีกกระทง เพราะนอกจากจะไม่ไปแจ้งตายแล้ว ยังรับเงินบำนาญของพ่อต่อไปโดยที่หน่วยงานรัฐไม่ทราบถึง 7 ปี เรื่องมาแดงเอาก็ตอนที่เจ้าหน้าที่จะมาหารือเรื่องฉลองอายุครบ 100 ปีให้พ่อ แต่เกิดความสงสัยจึงแจ้งตำรวจ
สาเหตุที่ฮิคิโคโมริเหล่านี้ไม่ไปแจ้งที่เขตหลังพ่อแม่ตาย เป็นเพราะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร บางคนก็กลัวว่าจะต้องอยู่คนเดียวถ้าเขาเอาศพพ่อแม่ออกจากบ้าน และบางคนก็กลัวว่าตัวเองจะอยู่ไม่รอดถ้าไม่มีเงินบำนาญของพ่อแม่มาเลี้ยงอย่างในตัวอย่างข้างต้น
ฮิคิโคโมริอีกคนหนึ่งอยู่คนเดียวในบ้านที่เต็มไปด้วยกองขยะหลังพ่อแม่ตายจากไป 10 ปีก่อน ร่างกายเขาทรุดโทรมมาก เพื่อนบ้านกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพยายามยื่นมือช่วยเหลือ โน้มน้าวให้ไปหาหมอหลายครั้ง แต่เจ้าตัวไม่ยอมไป จนในที่สุดเขาก็เสียชีวิตลงเพราะขาดสารอาหารในวัย 56 ปี
และก็มีฮิคิโคโมริบางคนเช่นกันที่ฆ่าตัวตายหลังพ่อแม่ไม่อยู่ให้พึ่งพิงอีกต่อไป
สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่
ที่ปรึกษาด้านการเงินสำหรับฮิคิโคโมริแนะว่า ระหว่างที่พ่อแม่ยังอยู่ควรคำนวณเรื่องค่าใช้จ่ายและปรับวิถีชีวิตให้ประหยัดขึ้น เช่น ย้ายไปอยู่บ้านเล็กลง จ่ายค่าประกันบำนาญให้ลูกไว้ เปลี่ยนชื่อคนจ่ายค่าน้ำค่าไฟเป็นชื่อลูกและให้ตัดเงินจากบัญชีของลูก รวมทั้งฝึกให้ลูกทำอาหารเป็น โดยประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายไว้ที่เดือนละแสนเยน โดยเฉพาะหากมีค่าเช่าบ้านด้วย
ที่ต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้เป็นเพราะฮิคิโคโมริหลายคนไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรกับเรื่องค่าน้ำค่าไฟ บางคนก็อยู่ต่อไปโดยที่บ้านถูกตัดน้ำตัดไฟหมดแล้ว แล้วไปอาศัยห้องน้ำจากสวนสาธารณะใกล้ ๆ
อันที่จริงก็มีศูนย์ให้ความช่วยเหลือฮิคิโคโมริในจังหวัดหรือในท้องถิ่น ซึ่งสามารถช่วยพวกเขาในการหางานได้ นอกจากนี้ฮิคิโคโมริยังสามารถติดต่อรับเงินช่วยเหลือในการดำรงชีวิตได้ด้วย และหากไม่ได้ทำงานเพราะมีความบกพร่องทางพัฒนาการก็สามารถรับเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไปได้ด้วยเช่นกัน แต่ดูเหมือนหลายคนจะไม่ทราบว่าสามารถขอความช่วยเหลือเหล่านี้ได้ หรือบางครอบครัวทราบแต่ไม่อยากให้เป็นภาระต่อสังคมก็มีอีกเหมือนกัน
ทำไมปรากฏการณ์เช่นนี้จึงไม่เกิดในประเทศตะวันตก
ได้ยินว่าคนยุโรปรู้สึกแปลกใจกับปัญหาฮิคิโคโมริในญี่ปุ่น มีคนญี่ปุ่นเล่าถึงประเทศเยอรมนีไว้ว่า คนเยอรมนีจะมองว่าพออายุ 18 ก็ถือว่าโตแล้ว เด็กจะอยากออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง และพ่อแม่ก็รอเวลาให้ลูกไปด้วยเหมือนกัน เพราะอยากมีชีวิตส่วนตัวบ้าง ขืนลูกคนไหนยังอยู่กับพ่อแม่ก็จะโดนเพื่อนล้อเลียนว่าเป็นลูกแหง่
นอกจากนี้หากเด็กไม่ไปโรงเรียนจะต้องมีใบรับรองแพทย์ และถ้าพ่อแม่ไม่สามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลว่าทำไมลูกไม่มาโรงเรียน ตำรวจจะมาดูที่บ้านว่าเกิดไรขึ้นกับเด็ก ไม่เหมือนที่ญี่ปุ่นซึ่งพอเด็กไม่ไปโรงเรียน ก็อยู่บ้านต่อไปเรื่อย ๆ ได้
อีกอย่างคือที่ญี่ปุ่นนั้นมักมองกันที่ “กลุ่ม” มากกว่า “ปัจเจก” ดังนั้นเวลาใครมีปัญหาหรือก่อปัญหา สังคมก็จะมองว่าครอบครัวนั้น หรือกลุ่มที่คนคนนั้นสังกัดอยู่ไม่ดีไปด้วย ดังนั้นเมื่อในบ้านมีฮิคิโคโมริ ครอบครัวจะรู้สึกอาย กลัวสังคมรู้ กลัวว่าจะเสียชื่อ กลัวว่าจะส่งผลกระทั่งถึงสถานะทางสังคมของสมาชิกคนอื่นในบ้าน ซึ่งก็มีคนให้ความเห็นว่าดูแล้วเหมือนเป็นห่วงสายตาคนภายนอกว่าจะมองมาที่ครอบครัวตนอย่างไร มากกว่าจะให้ความสำคัญกับการรักษาเยียวยาสมาชิกในบ้านที่เป็นฮิคิโคโมริเสียอีก
ความอับอายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่ติดต่อขอความช่วยเหลือ แต่บางคนก็ไม่ทราบว่าต้องติดต่อขอความช่วยเหลือจากที่ไหนอย่างไร บางบ้านก็คิดว่าเป็นหน้าที่ของตนที่ต้องรับผิดชอบลูกที่เป็นฮิคิโคโมริ ทำให้หลายครอบครัวพยายามแก้ปัญหากันเอาเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบว่าควรจะรับมืออย่างไร ทำให้ปัญหาบานปลายจนเป็นเรื่องใหญ่และแก้ไขยากขึ้น อีกทั้งสังคมเองก็เหมือนจะมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ฮิคิโคโมริจะอยู่กับพ่อแม่ไปเรื่อย ๆ ได้
ถ้าเป็นประเทศตะวันตกก็มีโอกาสมากที่พ่อแม่จะเชิญลูกที่โตแล้วออกจากบ้าน เพราะพ่อแม่ไม่ต้องการรับเลี้ยงไปตลอดชีวิต อย่างในอเมริกาก็ได้ยินว่ามีที่พ่อแม่ยื่นคำขาดให้ลูกออกจากบ้านภายในสองสัปดาห์ แต่ลูกเฉยเมย พ่อแม่จึงฟ้องศาลและชนะคดี ลูกถึงยอมออกไป ซึ่งกรณีแบบนี้ก็คงพบได้ยากในญี่ปุ่น อย่างแรกคือคงไม่มีพ่อแม่ฟ้องลูกให้เห็นในกรณีแบบนี้ อีกอย่างคือพ่อแม่อาจรู้สึกอับอายสังคมด้วยถ้าไม่รับผิดชอบลูก
อาจกล่าวได้ว่าสภาพสังคมและทัศนคติของคนญี่ปุ่นเอง ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ฮิคิโคโมริเป็นปัญหาคาราคาซัง และการพึ่งพาพ่อแม่ไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะยิ่งทำให้พวกเขายืนหยัดด้วยตัวเองยากขึ้นไปด้วย
สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับฮิคิโคโมริ ฉันเคยเขียนไว้แล้วบทความ ทำไมญี่ปุ่นจึงมี "ฮิคิโคโมริ" เป็นล้านคน ลองอ่านดูนะคะ
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณเพื่อนผู้อ่านทุกท่านที่ติดตาม แลกเปลี่ยนความรู้ และให้กำลังใจนะคะ ในฐานะนักเขียนแล้ว ไม่มีอะไรที่ฉันจะดีใจมากไปกว่าการได้ทราบว่าผู้อ่านได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เขียน แม้บางคราวจะเหนื่อยกับการค้นคว้าบ้าง กังวลเวลาหมดมุกบ้าง แต่กำลังใจจากเพื่อนผู้อ่านก็เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันสู้ต่อได้เสมอ ขอบคุณจากใจอีกครั้งค่ะ.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.