xs
xsm
sm
md
lg

อุ๊ย! นึกว่าไม่เป็นไร แต่ผิดมารยาทญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ใช้มือรองอาหารเป็นมารยาทที่ผิด ภาพจาก magazine.aruhi-corp.co.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งนะคะ วันนี้หยิบยกเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหารญี่ปุ่นที่บางทีคนญี่ปุ่นบางคนเองก็ไม่ทราบมาเล่าสู่กันฟังค่ะ ดูๆ ไปแล้วก็คิดว่าคนไทยหลายคนอาจจะไม่ทราบด้วยเหมือนกัน เพราะความเคยชินของบ้านเราไม่เหมือนเขา เลยคิดว่าอาจจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย

ในภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า “โจฮิง” (上品) กับ “เกะฮิง” (下品) ซึ่งบ่อยครั้งจะใช้เป็นคำชมหรือตำหนิกิริยามารยาท หรือพฤติกรรมของคน โดย “โจฮิง” จะหมายถึง ความสูงส่ง สง่า ดูงาม มีรสนิยม มีราคา มีมารยาท ส่วน “เกะฮิง” หมายถึง ความต่ำทราม หยาบคาย ไร้รสนิยม ไม่มีมารยาท หรือดู low-class

ลักษณะของคนที่ญี่ปุ่นมองว่า “เกะฮิง” ได้แก่ คนที่ขาดมารยาทบนโต๊ะอาหาร เช่น รับประทานเสียงดังจุ๊บจั๊บ เท้าข้อศอกบนโต๊ะระหว่างรับประทาน ทำโต๊ะสกปรกเลอะเทอะ ถือตะเกียบผิดวิธี รวมถึงคนที่เดินเสียงดัง เปิดปิดประตูเสียงดัง วางข้าวของเสียงดัง แต่งตัวโดยไม่ดูกาลเทศะ คุยโทรศัพท์บนรถไฟหรือรถเมล์ (เพราะแยกแยะไม่ออกระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัว) หรือพูดคำหยาบ เป็นต้น

ภาพจาก hint-pot.jp
การใช้ตะเกียบทั้ง 4 แบบตามรูปเป็นมารยาทที่ไม่ดี : ซ้ายบนคือใช้ตะเกียบลากจานเข้าหาตัว วางตะเกียบพาดไว้ที่ชาม ใช้ตะเกียบส่งอาหารให้กัน ใช้ตะเกียมจิ้มแทงอาหารเหมือนส้อม

เรื่องหลังนี้ทำให้นึกถึงเพื่อนชายชาวญี่ปุ่นเจ้าเสน่ห์คนหนึ่ง เขาเคยเล่าว่าเกลียดผู้หญิงที่พูดคำหยาบ เลยได้รู้ว่าแม้ชายเจ้าเสน่ห์จะมีผู้หญิงมารุมตอมอยู่เสมอ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะอ้าแขนรับสาวๆ หมดทุกคน ถ้าผู้หญิงคนไหน “เกะฮิง” เพราะพูดคำหยาบ ชายเจ้าเสน่ห์ก็หมดเยื่อใยและถอยหนีเหมือนกัน

บทความหนึ่งของญี่ปุ่นกล่าวว่ายิ่งเป็นผู้หญิงก็ยิ่งไม่อยากถูกมองว่า “เกะฮิง” และวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงได้ก็คือ ให้ระวังเรื่องมารยาทในการรับประทานเอาไว้ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกมองว่า “เกะฮิง” ได้ง่ายที่สุด อาจเพราะอย่างนี้ญี่ปุ่นจึงมีมารยาทบนโต๊ะอาหารละเอียดยิบ โดยเฉพาะเวลาที่อยู่กับผู้ใหญ่กว่ายิ่งต้องระมัดระวัง เพราะผู้ใหญ่เห็นคนมาเยอะ เลยยิ่งเพ่งเล็งเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหารเป็นพิเศษ ถึงกับมีคนที่มองว่า “คนที่ไม่รู้มารยาทบนโต๊ะอาหาร คงไม่ได้รับการอบรมมาจากครอบครัวที่ดีนัก”

ใช้ตะเกียบอย่างไรให้ดูงามตา

ถ้าไปรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น เวลาจะดึงตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งให้แยกออกมาเป็น 2 แท่ง หลายคนจะคุ้นเคยกับการถือตะเกียบแนวตั้ง แล้วค่อยดึงตะเกียบแยกออกจากกัน แต่โดยมารยาทญี่ปุ่นแล้ว มีคนอธิบายว่าวิธีนี้อาจทำให้เรากางศอกออกไปกระแทกคนข้างๆ ได้ ทางที่ดีควรถือตะเกียบในแนวนอนเหนือตักตัวเอง แล้วใช้โต๊ะซ่อนให้คนอื่นไม่เห็นตะเกียบ จากนั้นจึงค่อยดึงตะเกียบออกจากกันในแนวบนล่าง

ถือตะเกียบขึ้นพนมมือก่อนรับประทานอาหาร ก็ผิดมารยาท : ภาพจาก hotpepper.jp
เพื่อนผู้อ่านอาจเคยเห็นภาพครอบครัวชาวญี่ปุ่นยกตะเกียบขึ้นพนมมือ แล้วกล่าวคำว่า “อิตาดาคิมัส” ก่อนลงมือรับประทานอาหาร แต่แท้จริงแล้วนี่ก็เป็นมารยาทที่ไม่ถูกอีกเช่นกัน ที่ถูกคือให้วางตะเกียบไว้แล้วค่อยยกมือขึ้นพนม พอจะรับประทานค่อยหยิบตะเกียบ มีคนอธิบายว่าที่คนมักทำผิดคงเป็นเพราะครอบครัวสมัยนี้ไม่ค่อยจะใช้ที่วางตะเกียบกันเท่าไหร่แล้วนั่นเอง 

ระหว่างรับประทานอาหาร เรายังไม่ควรใช้ตะเกียบจิ้มอาหาร คีบอาหารส่งต่อกัน หรือกระทั่งใช้ตะเกียบช้อนอาหารขึ้นมา ต่อให้เป็นเต้าหู้ที่คีบยากก็ยังต้องคีบเอาเท่านั้น มีอยู่วันหนึ่งฉันรับประทานข้าวราดเต้าหู้ทรงเครื่อง สังเกตดูเลยเพิ่งรู้ว่าตัวเองก็ใช้ตะเกียบช้อนข้าวขึ้นมาเหมือนกัน พอลองใช้วิธีคีบดูพบว่ามันคีบได้ทีละน้อยมาก แต่ทำให้กิริยาท่าทางในการรับประทานดูเรียบร้อยกว่ากันมาก และไม่เผลอโซ้ยคำโตจนหกเลอะเทอะด้วย

นอกจากนี้ เวลาคีบอาหารด้วยมือขวา ผู้หญิงญี่ปุ่นหลายคนมักเอามือซ้ายมารองใต้อาหารแทนจาน (ตามรูปแรกสุดของบทความ) เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำหยดหรืออาหารตกหล่นเลอะเทอะบนโต๊ะ ซึ่งดูเผินๆ อาจดูเป็นมารยาทที่ดี แต่ที่จริงผิดมารยาท เพราะถ้าหกเลอะมือขึ้นมา ต้องมานั่งเช็ดทำความสะอาดกันอีก ทำให้ดู “เกะฮิง” ไปแทน

ไม่ควรใช้ตะเกียบรองอาหารเสมือนเป็นช้อนแบบนี้ แต่ควรคีบเป็นคำเล็กๆ แทน : ภาพจาก cinq.style
คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยคุ้นเคยกับการวางตะเกียบเป็นแนวนอนไว้เหนือจานชามใส่อาหาร ซึ่งถือเป็นมารยาทที่ไม่ดีไม่ว่าจะยังรับประทานไม่เสร็จหรือเสร็จแล้วก็ตาม ที่ถูกคือหากยังรับประทานอยู่แต่จำต้องวางตะเกียบ ก็ให้วางบนที่วางตะเกียบ หรือถ้าไม่มีก็ให้ใช้ขอบของถาดอาหารด้านซ้าย หรือขอบจานเล็กๆ แทน หรือไม่ก็เอาซองใส่ตะเกียบหรือกระดาษมาพับเป็นที่วางตะเกียบเตรียมไว้แต่ต้นเลย

พิงตะเกียบไว้บนขอบจานเล็ก (กรณีไม่มีที่วางตะเกียบหรือถาดอาหาร)
เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว ให้เช็ดปลายตะเกียบที่สกปรกเสียก่อน แล้วค่อยวางลงบนที่วางตะเกียบ ถ้าไม่มีที่วางตะเกียบแต่มีถาด ให้วางไว้บนถาดในแนวนอน หรือจะวางปลายตะเกียบไว้ที่ขอบจานเล็กก็ได้ หรือถ้ามีซองใส่ตะเกียบใช้แล้วทิ้ง ก็ให้พับซองเสียหน่อยก่อนเสียบปลายตะเกียบไว้ เพื่อให้คนเก็บถาดอาหารทราบว่าซองตะเกียบนี้ใส่ตะเกียบใช้แล้ว ถ้าหากเอาซองใส่ตะเกียบมาพับเป็นที่วางตะเกียบไปแล้ว ก็ให้ซ่อนปลายตะเกียบใช้แล้วให้มิดชิดภายในที่วางตะเกียบที่พับแล้วนั่นเอง


1) พับซองตะเกียบเป็นที่วางตะเกียบ 2) วิธีดึงตะเกียบที่เหมาะสม 3) หลังรับประทานเสร็จ ให้ซ่อนปลายตะเกียบเข้าในซองตะเกียบ (ถ้ายังไม่ได้พับ ก็พับปลายซองด้วยเพื่อให้รู้ว่าใช้แล้ว) 

ว่าแต่ถ้าเป็นราเม็งล่ะ เมื่อรับประทานเสร็จแล้วจะวางตรงไหนดี ในเมื่อร้านราเม็งมักไม่มีทั้งที่วางตะเกียบ ถาด หรือกระทั่งซองใส่ตะเกียบ? ในกรณีนี้ส่วนใหญ่จะแนะนำกันว่า อนุโลมให้วางพาดในแนวนอนบนขอบชามได้ แต่ขอให้รับประทานเสร็จแล้วเท่านั้น เพราะการวางตะเกียบพาดไว้แบบนี้มีความหมายถึง “อิ่มแล้ว” “ไม่รับประทานต่อแล้ว”

แล้วทำไมถึงต้องวางตะเกียบแนวนอน ไม่วางแนวตั้ง? นั่นเป็นเพราะคนญี่ปุ่นถือกันว่าการชี้ตะเกียบเข้าหาคนอื่น (เช่นคนที่นั่งตรงข้ามกับเรา) เป็นเรื่องเสียมารยาท นี่เป็นเหตุผลเดียวกับที่ว่าทำไมเวลาดื่มซุปเต้าเจี้ยว จึงควรเอาปลายตะเกียบซ่อนไว้ในชามระหว่างยกชามขึ้นดื่ม พร้อมกับใช้ตะเกียบดันเครื่องที่อยู่ในซุปไปด้วย ไม่ควรถือตะเกียบไว้แนบชามแล้วยกขึ้นดื่มซุปอย่างที่บางคนทำกัน นอกจากนี้หากรับประทานอาหารร่วมกับผู้ใหญ่ ระหว่างพูดคุยก็ควรวางตะเกียบลงก่อน ไม่คุยไปถือตะเกียบไป

ภาพจาก shijimibaka.com
มารยาทบนโต๊ะอาหารอื่นๆ

ฉันเคยเชิญเพื่อนสามีมารับประทานข้าวที่บ้าน วันนั้นฉันย่างปลาซัมมะโดยไม่ได้แกะเอาไส้ปลาออกก่อน เพราะไม่อยากให้เลอะเทอะและกลิ่นคาวกระจาย กะว่าตอนรับประทานค่อยเขี่ยไส้ปลาออกกันเอาเอง ปรากฏว่าพอรู้ตัวอีกทีเพื่อนคนนี้ก็รับประทานปลารวมทั้งไส้จนเกลี้ยง เหลือไว้เพียงหัวหางและก้างปลา ฉันตกใจที่เธอไม่ได้เขี่ยไส้ออก และรู้สึกผิดที่ไม่ได้แกะออกแต่แรก

อาจเป็นไปได้ว่าเธอทำแบบนั้นด้วยมารยาทคนญี่ปุ่น ซึ่งมองว่าควรรับประทานอาหารให้หมด ไม่เหลือทิ้งไว้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่ออาหารและต่อคนที่ทำอาหารให้ เว้นแต่จะปริมาณเยอะเกินไป หรือมีอาหารที่แพ้จึงเหลือไว้ได้ แต่ก็ควรบอกกับคนทำอาหารไว้ด้วยว่าอาหารอร่อย เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ และไม่ทำให้คนทำไม่สบายใจ

เวลาคนญี่ปุ่นไปรับประทานอาหารบ้านคนอื่น โดยมารยาทแล้วมักบอกกับคนทำอาหารว่าอาหารอร่อย ทว่าครั้งหนึ่งเคยมีสาวญี่ปุ่นมาร่วมโต๊ะอาหารกับผู้ใหญ่คนไทยหลายคน เธอมาโฮมสเตย์ที่บ้านคนไทยซึ่งได้รับเชิญมาร่วมโต๊ะอาหาร พวกเขาเลยพาเธอมาด้วย พอสาวคนนี้คีบอาหารเข้าปากปุ๊บ ก็ทำตาโตอย่างตื่นเต้นร้องเสียงดังว่า “โอ่อี๊ชี่!!!” (อร่อย) จนคนทั้งโต๊ะหันมามองเธอเป็นตาเดียว

ถ้าสาวคนนี้ไปบ้านเพื่อนแล้วชมคุณแม่ว่าทำอาหารอร่อย การแสดงท่าทีแบบนี้คงทำให้คุณแม่ดีอกดีใจ แต่ถ้ารับประทานอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะมีแขกเหรื่อผู้ใหญ่ร่วมโต๊ะมากมายอย่างในกรณีข้างต้น ก็อาจไม่เหมาะนัก แต่หากจะพูดด้วยเสียงเบากว่านั้นพอให้คนเชิญได้ยิน หรือบอกหลังออกจากร้านแล้ว ก็อาจจะน่าฟังกว่า

รับประทานเนื้อปลาทีละส่วนจากซ้ายไปขวา เลาะหัวกับก้างออกโดยไม่พลิกปลา : ภาพจาก chiik.jp
เรื่องที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือคนญี่ปุ่นไม่ค่อยฉีดน้ำหอมจนฉุน และดูเหมือนจะถือเป็นมารยาทด้วยเช่นกันที่เวลาไปร่วมโต๊ะรับประทานอาหาร จะระวังไม่ใช้เครื่องสำอาง น้ำหอม ผลิตภัณฑ์แต่งผม ผงซักฟอก และน้ำยาปรับผ้านุ่มที่กลิ่นแรง เพื่อไม่ให้ส่งกลิ่นรบกวนคนอื่น

อีกอย่างที่ต้องระวังเวลาไปรับประทานอาหารกับผู้ใหญ่ คือการวางสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อื่นๆ ไว้บนโต๊ะอาหาร เพราะถือว่าไม่ให้เกียรติทั้งต่อทั้งผู้ร่วมโต๊ะและทางร้านอาหาร จึงควรเก็บเอาไว้ในกระเป๋า และอย่าหยิบออกมาใช้ระหว่างนั้น เว้นแต่ถ้าจำเป็นต้องรับโทรศัพท์จริงๆ ก็ควรเดินออกไปนอกร้านก่อน

หวังว่าคงพอเป็นประโยชน์บ้างนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น