คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ยุคนี้ที่ญี่ปุ่นมีนักเรียน นักศึกษา และคนวัยทำงานจำนวนไม่น้อยที่กลัวการกินข้าวคนเดียวให้ใครเห็น จนถึงกับต้องหลบหน้าคนอื่นไปแอบกินข้าวกลางวันอยู่ในที่ปลอดคน แม้กระทั่งในห้องสุขา เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีอะไรจะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาได้บ้าง
ตัวอย่างเด็กมัธยมต้นที่ไปกินข้าวในห้องสุขา
นักเรียนหญิงมัธยมต้นอีกคนหนึ่งตกอยู่ในภาวะไม่มีเพื่อนกินข้าวเที่ยงด้วย เพราะวันนั้นเพื่อนอีก 3 คนที่ปกติกินข้าวเที่ยงด้วยกันเกิดหยุดเรียนขึ้นมา ด้วยความกลัวว่าใครจะเห็นเธอกินข้าวอยู่คนเดียว เธอจึงแอบเอาข้าวกล่องไปนั่งกินในห้องสุขา ระหว่างกินไปก็รู้สึกว่ากินข้าวในห้องสุขาก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลยนี่นา ห้องสุขาก็สะอาดดี ข้าวก็รสเดิม แต่พอตอนจะกลับไปห้องเรียน เธอรู้สึกแย่กับตัวเอง และรู้สึกผิดต่อแม่ที่อุตส่าห์ทำข้าวกล่องให้ ถ้าแม่รู้คงเสียใจ
เธอบอกว่าถึงปกติจะไม่ได้กินข้าวในห้องสุขา แต่การมีประสบการณ์เสียแล้วทำให้เธอเสียความมั่นใจ และคิดว่ามันจะตามหลอกหลอนเธอไปตลอดชีวิต ทว่าต่อจากนี้ไปอาจจะมีวันที่เพื่อนไม่มาแล้วตัวเองต้องอยู่คนเดียวแบบนี้อีก เธอจึงถามในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งว่าควรทำอย่างไรดี ก็มีคนมาตอบให้ดังนี้
“ฝึกตัวเองให้เข้มแข็งไว้ ให้ชินกับการไม่แคร์สายตาคน หรือท้าทายตัวเองด้วยการไปขอคนอื่นร่วมวงกินข้าวด้วยก็ได้ ถ้าเป็นผมนะ ถ้าถึงกับต้องกินข้าวในห้องสุขาล่ะก็ ผมเลือกอร่อยกับข้าวกล่องอย่าง ‘โดดเดี่ยว’ โดยที่คนอื่นรอบตัวเขากินข้าวกันอย่างสนุกสนานดีกว่า”
“ถ้าคนอื่นเขาเห็นว่าเรากินข้าวคนเดียว ก็อาจจะชวนมากินด้วยกันก็ได้นะ”
“คนอื่นในห้องเขาก็รู้ว่าอีก 3 คนไม่มาเธอเลยกินข้าวคนเดียว แต่เธออุตส่าห์แอบไปกินข้าวเงียบๆ คนเดียวไม่ให้คนอื่นเห็นนี่น่าเศร้ากว่าอีก”
“กินข้าวคนเดียวไม่เห็นจะแปลกอะไรเลย คิดมากไปไหม คนอื่นเขาจะคิดยังไงก็ช่าง เราทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าเหมาะสมเถอะ คนอื่นเองเขาไม่ได้มาสนใจเราเท่าตัวเราเองหรอก”
ไม่เพียงในโรงเรียนมัธยมเท่านั้น มีข่าวว่ากระทั่งมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยโตเกียว และมหาวิทยาลัยวาเซดะ ก็ยังติดป้ายในห้องสุขาว่า “ห้ามกินข้าวในห้องสุขา” และในที่ทำงานบางแห่งก็พบขยะอาหารหรือกล่องข้าวพลาสติกในถังขยะของห้องสุขาเช่นกัน
ในต่างประเทศมีทั้งเด็กนักเรียนและคนวัยทำงานที่เคยกินข้าวในห้องสุขาด้วยเหตุผลแบบเดียวกัน คือ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีเพื่อนบ้าง กลัวที่จะกินคนเดียวบ้าง หรือไม่ก็รู้สึกสบายใจที่จะอยู่คนเดียวมากกว่า
ปรากฏการณ์ “lunchmate syndrome” และ “เบ็นโจะเมฉิ”
ในช่วง 20 ปีเศษที่ผ่านมานี้เริ่มมีการพูดถึง “lunchmate syndrome” ในญี่ปุ่น (หมายเหตุ - คำนี้ไม่ได้เป็นศัพท์การแพทย์) หมายถึงคนที่ไม่มีเพื่อนกินข้าวด้วยกัน และกลัวการโดนเพื่อนร่วมชั้นหรือเพื่อนร่วมงานเห็นตัวเองนั่งกินข้าวอยู่คนเดียว จึงไปแอบกินอยู่ในที่ลับตาคน ไม่ว่าจะเป็นห้องว่างในโรงเรียน ห้องสมุด หรือกระทั่งในห้องสุขา บางคนเลือกไม่กินข้าวไปเลย หรือในกรณีเลวร้ายที่สุดคือถึงกับไม่ยอมไปโรงเรียน หรือลาออกจากงาน
หากอยู่ในห้องที่มีตัวเองเพียงลำพัง คนเหล่านี้จะไม่มีปัญหาในการกินข้าว แต่พอออกไปอยู่ข้างนอกจะเริ่มระแวดระวังสายตาคนอื่น โดยเฉพาะในเวลาพักเที่ยงที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน เวลาไม่มีเพื่อนกินข้าวด้วยจะกลัวคนอื่นมองว่าเป็นคนไม่มีเพื่อน ไม่มีใครคบ ความกังวลนี้เมื่อก่อตัวขึ้นแล้วจะยิ่งรุนแรงขึ้น จนเจ้าตัวเริ่มคิดว่าถ้าต้องกินข้าวคนเดียวล่ะก็ ยอมไปกินอยู่ในห้องสุขาคนเดียวดีกว่า เลยเกิดเป็นคำว่า “เบ็นโจะเมฉิ” (便所飯) หรือ ‘ข้าวสุขา’ ขึ้นมา หรือบางคนจะพยายามส่งข้อความหรือโทรศัพท์หาใครสักคนเพื่อหาเพื่อนกินข้าวด้วยกัน ถ้าหาไม่ได้ก็จะยอมอดมื้อนั้นไปเลย
พฤติกรรมแบบนี้มีไม่น้อยในหมู่นักเรียนนักศึกษา และกลายมาเป็นปัญหาสุขภาพจิตในหมู่คนอายุน้อยในยุคปัจจุบัน จากการสำรวจหนึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนพบว่ามีคนราว 10-20% ที่มองการกินข้าวคนเดียวในแง่ลบ ยิ่งเป็นผู้หญิงจะยิ่งมีแนวโน้มแบบนี้เยอะ ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะผู้หญิงชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม และจากการสำรวจหนึ่งเมื่อ 5 ปีก่อนพบว่า คน 1 ใน 5 รู้สึกไม่สบายใจหากจะต้องกินข้าวเที่ยงคนเดียว และอีกการสำรวจหนึ่งพบว่ามีคนอายุน้อยราว 7% ที่เคยกินข้าวในสุขา
สาเหตุของพฤติกรรมแอบกินข้าวในที่ลับตาคน
อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ท่านหนึ่งอธิบายว่า ไม่ใช่ว่าคนเหล่านี้กินข้าวด้วยตัวเองไม่เป็น แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า “ไม่อยากให้ใครเห็นตัวเองตอนกินข้าวคนเดียว ไม่อยากถูกมองว่าไม่มีเพื่อน”
สื่อบางส่วนอธิบายว่าคนที่กลัวถูกคนอื่นเห็นว่ากินข้าวคนเดียวนั้น ไม่ได้มีปัญหาแค่ตอนกินข้าวกลางวันเท่านั้น แต่ปกติจะมีนิสัยอ่อนไหวยามมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในชีวิตประจำวันด้วย ยิ่งถ้าหากมีปัญหาอย่างนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กนักเรียน โตขึ้นมาต้องเจอสังคมภายนอกมากขึ้นก็จะยิ่งลำบาก เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ว่า “ก็แค่ข้าวเที่ยง” แต่เป็นเรื่องที่มีต้นสายปลายเหตุมากกว่านั้น และควรปรึกษาจิตแพทย์
ต้นตอส่วนหนึ่งของพฤติกรรมเช่นนี้อาจมาจากลักษณะสังคมของญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มมาก ทำให้มีแรงกดดันทางสังคมว่าต้องเป็นเหมือนคนอื่นๆ พอตัวเองไม่มีเพื่อนกินข้าวด้วย ก็จะคิดว่าตัวเอง “ไม่เหมือนคนอื่น” เป็นแกะดำ กลายเป็นเป้าสายตาให้ใครๆ มองแง่ลบได้ง่าย และดีไม่ดีอาจถูกรังแก เลยหาทางเลี่ยงไม่ให้คนอื่นมองเห็นภาพลักษณ์แบบนั้นของตัวเอง แต่มีบางคนเหมือนกันที่สบายใจกับการกินข้าวคนเดียวในห้องสุขาเพราะรู้สึกว่าไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับใคร
พฤติกรรมนี้ยังสะท้อนปัญหาในการสื่อสารด้วย คือแม้ญี่ปุ่นจะเป็นสังคมกลุ่ม แต่ความสัมพันธ์ของผู้คนก็มีระยะห่าง คนไม่ค่อยเปิดเผยความรู้สึก คอยระวังซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้รู้สึกว่าไม่อาจไว้ใจคนอื่นได้เต็มที่ ไม่กล้าสนิทกับใครจริง และกลัวจะถูกปฏิเสธ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคนไม่เปิดเผยความรู้สึกกันอย่างตรงไปตรงมา แต่ละคนจึงได้แต่เดาเอาเองว่าอีกฝ่ายน่าจะคิดอย่างไร และในยุคที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูอย่างปัจจุบัน หลายคนก็หันไปหาการสื่อสารทางออนไลน์มากขึ้น ยิ่งทำให้คนขาดทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ ยิ่งขึ้นไปอีก
สำหรับกรณีของคนชาติอื่นที่บริบททางสังคมไม่เหมือนญี่ปุ่น ฉันคาดเดาเบื้องต้นว่าอาจเพราะเจ้าตัวมีบุคลิกภาพแบบเก็บตัวหรือชอบอยู่คนเดียว ขี้อาย ขาดความมั่นใจในตัวเอง ขาดทักษะในการสื่อสารและเข้าสังคม หรือมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ ก็เป็นได้
ทางออกต่อปัญหา
อาจารย์ และจิตแพทย์ท่านหนึ่งบอกว่า “บางคนก็เข้าสังคมเก่ง บางคนก็เข้าสังคมไม่เก่ง ไม่ได้มีอะไรดีหรือแย่ แต่อย่างไรก็ตาม การติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นน้อยมากก็ทำให้รู้สึกเหงาและว่างเปล่าได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้” และแนะนำว่าคนที่กินข้าวคนเดียวบ่อยๆ และไม่มีการสื่อสารระหว่างมื้ออาหาร อาจจะหัดสื่อสารเชิงรุกในเวลาอื่นดูบ้าง เช่น ชวนเพื่อนไปข้างนอกเป็นครั้งคราว พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน กินอาหารร่วมกับพ่อแม่บ้าง
มีบริษัทไอทีแห่งหนึ่งพบว่ามีคนในบริษัทกินข้าวเที่ยงในห้องสุขา ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลบอกว่าถึงบริษัทนี้จะมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีวันหยุดแน่นอน มีชั่วโมงการทำงานที่ไม่ยาวนานเกินไป แต่ยังมีหลายคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต และคิดว่ามีอะไรบ้างที่บริษัทจะทำได้เพื่อช่วยให้พวกเขาไม่ต้องเสียสุขภาพจิตจนถึงกับลาออก
พนักงานบริษัทนี้เป็นวิศวกรถึง 60% ส่วนใหญ่ทำงานโดยหันหน้าเข้าหาจอ ไม่ค่อยได้คุยกับใคร เธอจึงคิดอยากเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดความเหงาแบบนี้ และคิดว่าคงดีหากสามารถสร้างโอกาสให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับทั้งคนในและคนนอกบริษัทมากขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปิดร้านกาแฟให้เป็นพื้นที่ในการพูดคุยกัน ซึ่งไม่ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ผู้น้อย และทั้งคนในและนอกออฟฟิศก็สามารถมาใช้บริการได้ ส่วนคนดูแลร้านกาแฟคือพนักงานของบริษัทนี่เอง ซึ่งมีทั้งวิศวกร และฝ่ายบุคคลหมุนเวียนกันมาทำหน้าที่นี้เดือนละ 2-3 หนตามแต่จะสมัครใจ
เป้าหมายคือเพื่อให้พนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิศวกรและทำงานเงียบๆ คนเดียว ได้เป็นพนักงานร้านกาแฟ จะได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ บ้าง และพื้นที่นี้ยังดีสำหรับพนักงานที่ลาป่วยชั่วคราวจากปัญหาสุขภาพจิตด้วย เพราะจะได้ใช้โอกาสนี้ช่วยให้กลับมาทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย
ผลของมันหรือคะ? “มีเสียงตอบรับดีมากเลยค่ะ มีหลายคนที่บอกว่าบริษัทเราสนุกขึ้น พอได้คุยกับคนเยอะแยะโดยไม่อึดอัด ก็เลยทำงานด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย คนรอบตัวที่สีหน้าสดใสขึ้น ร่าเริงขึ้นมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ ด้วย” ทุกวันนี้ไม่มีพนักงานที่หยุดพักงานเพราะปัญหาสุขภาพจิตอีกแล้ว
นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการสร้างโอกาสให้ผู้คนได้สื่อสารกันช่วยแก้ปัญหาความโดดเดี่ยวได้ดีแค่ไหน มันช่วยให้คนที่รู้สึกโดดเดี่ยวได้เปลี่ยนมุมมองใหม่จากประสบการณ์จริง เช่น อาจจะเคยคิดว่าตัวเองเข้ากับคนอื่นไม่ได้ กังวลว่าคนนั้นคนนี้จะมองตนอย่างไร ซึ่งเหล่านี้อาจเป็นความคิดที่เกิดจากความไม่มั่นใจและขาดประสบการณ์ในการสื่อสารมากพอ ทว่าพอเห็นแล้วว่าคุยกับคนอื่นสบายๆ ได้ไม่เห็นน่ากลัวเลย ก็มั่นใจในตัวเองขึ้น คิดมากน้อยลง และไว้วางใจคนอื่นได้มากขึ้นด้วย
นึกดูแล้วปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างก็มีทางออกในแบบที่คาดไม่ถึงเหมือนกันนะคะ ถ้ามีหลายโรงเรียน หรือที่ทำงานซึ่งเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าคนที่กลัวการกินข้าวคนเดียวกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่บ้าง และเต็มที่กับการหาทางออกได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ก็คงเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากทีเดียว
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.