เกียวโดนิวส์รายงาน (4 เม.ย.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐมนตรีการค้าจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า (G7) ตกลงที่จะร่วมมือเพื่อกำหนดการควบคุมการส่งออกสำหรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ท่ามกลางความกังวลว่าประเทศต่างๆ เช่น จีนอาจใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารและการสอดแนม
รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ระบุในแถลงการณ์ร่วมหลังจากการประชุมออนไลน์ว่า “เราขอยืนยันอีกครั้งว่าการควบคุมการส่งออกเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายพื้นฐานในการจัดการกับความท้าทายที่เกิดจากความหลากหลายของเทคโนโลยีซึ่งมีความสำคัญกับการใช้งานทางทหาร เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ ที่คุกคามความมั่นคงระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ”
G7 ซึ่งรวมกลุ่มอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา รวมถึงสหภาพยุโรป ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้ข้อจำกัดการส่งออกดังกล่าวเพื่อจัดการกับ "การใช้ในทางที่ผิด" ของเทคโนโลยีที่สำคัญและเกิดใหม่โดย "ผู้ประสงค์ร้าย" โดยไม่กล่าวถึงประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ
ญี่ปุ่นซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน G7 หมุนเวียนในปีนี้ ได้เข้าร่วมความพยายามที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อขัดขวางความสามารถของจีนในการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ระดับไฮเอนด์ ซึ่งอาจใช้สำหรับการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยและการฝึกปัญญาประดิษฐ์
จีนยังเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างกดขี่ในภูมิภาคซินเจียงของชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งกล่าวกันว่าอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังอย่างหนักผ่านกล้องที่ใช้ AI และอุปกรณ์จดจำใบหน้า
เช่นเดียวกับการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของจีนในการขอสัมปทานผลประโยชน์ ยังเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่ประเทศต่างๆ ในอินโดแปซิฟิก
ถ้อยแถลงระบุเพิ่มเติมว่า “เรายังคงทำงานร่วมกับรัฐอื่นๆ ในการเสริมสร้างการควบคุมการส่งออกที่มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ ในลักษณะที่ทันกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว”
รัฐมนตรีการค้ากลุ่ม G7 ยังแสดงความกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อแทรกแซงทางเลือกของประเทศอื่นๆ โโดยกลุ่มกล่าวว่า "คัดค้านอย่างยิ่งต่อความพยายามฝ่ายเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่โดยการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ"
G7 ได้ประณามความพยายามของรัสเซียที่จะใช้การพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของนานาชาติ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น กลุ่ม G7 ยังได้ให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับพันธมิตรที่ไม่ใช่ G7 โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา ในฐานะ "ซัปพลายเออร์ ผู้ผลิต และผู้ซื้อที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก"
“เราจะหารือถึงแนวทางกระชับความร่วมมือกับพันธมิตรเหล่านี้” รัฐมนตรีกลุ่ม G7 ระบุในถ้อยแถลง และยังกล่าวอีกว่า ความโปร่งใส ความหลากหลาย และความน่าเชื่อถือเป็นหนึ่งใน "หลักการสำคัญ" ในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง
ยาสุโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุม ว่า "เราต้องการหารืออย่างลึกซึ้งเพื่อเผยแพร่หลักการใหม่ของห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศที่มีแนวคิดเดียวกันนอก G7 รวมถึงกลุ่มประเทศใต้ (Global South)"
ผลของการหารือระดับรัฐมนตรีคาดว่าจะสะท้อนให้เห็นในการประชุมผู้นำ G7 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 19-21 พฤษภาคม ที่เมืองฮิโรชิมา ทางตะวันตกของญี่ปุ่น