xs
xsm
sm
md
lg

อวสาน “ฟาวิพิราเวียร์” ญี่ปุ่นเลิกทดลองใช้เป็นยารักษาโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัทเจ้าของสูตรยา “ฟาวิพิราเวียร์” จะยุติการทดลองใช้ยาดังกล่าวกับโรคโควิด-19 เนื่องจากความยากลำบากในการประเมินประสิทธิผลของยาที่มีต่อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน

บริษัทฟูจิฟิล์ม โทยามะ เคมีคอล ซึ่งเป็นผู้คิดค้นยา “ฟาวิพิราเวียร์” หรือในญี่ปุ่นใช้ชื่อว่า “อาวิแกน” ได้ทำการทดลองทางคลินิกใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการเบา แต่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการทรุดหนักลง

ทางบริษัทระบุว่า ในสิ้นเดือนนี้จะยุติการรับสมัครอาสาสมัครที่เข้าร้วมการทดลองดังกล่าว เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีโอกาสน้อยที่จะป่วยหนักจากการติดเชื้อ


“ฟาวิพิราเวียร์” เป็นที่สนใจในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 หลังจากนายชินโซ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่นในขณะนั้นระบุว่า จะผลักดันให้ใช้ยานี้เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิดภายใน 1 เดือน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่อนุมัติใช้ยานี้ เพราะบริษัทผู้ผลิตไม่สามารถมีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อพิสูจน์ถึงประสิทธิผลและความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีความยากลำบากในการหาอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองทางคลินิก หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นเริ่มลดลง

บริษัทฟูจิฟิล์ม โทยามะ เคมีคอล ได้ยื่นผลการทดลองบางส่วนให้กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม 2563 เพื่อขออนุมัติเป็นใช้ยารักษาโรคโควิด-19 แต่ทางกระทรวงไม่ได้อนุมัติ โดยระบุว่าขาดข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องประสิทธิผลของยา

ในเดือนเมษายน 2564 ทางบริษัทได้เริ่มการทดลองทางคลินิกอีกครั้ง แต่เนื่องจากผู้ติดเชื้อสายพันธ์โอมิครอนส่วนใหญ่อาการเบา จึงยากที่จะบอกได้ว่ายานี้สามารถช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัว หรือว่าผู้ป่วยหายป่วยได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ การทดลองยังพบความยากลำบากในการหาผู้ติดเชื้อสำหรับการทดลองควบคุมด้วยยาหลอก เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติยาหลายชนิดฉีดที่ใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อรักษาโรคโควิด หรือที่เรียกว่า “ค็อกเทล แอนติบอดี”


บริษัทฟูจิฟิล์ม โทยามะ เคมีคอล ระบุว่า จนถึงวันที่ 14 มี.ค. ยังไม่สามารถหาอาสาสมัครได้ครบ 316 คนตามเป้าหมายการทดลอง ทางบริษัทจะตัดสินใจว่าจะทำการทดลองภายใต้สภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ต่อไปหรือไม่ หลังจากพิจารณาข้อมูลในสิ้นเดือนนี้

“ฟาวิพิราเวียร์” เป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่ ที่ถูกใช้อย่างเข้มงวดในญี่ปุ่น เนื่องจากมีผลข้างเคียงอาจทำให้อวัยวะผิดรูป และหญิงมีครรภ์เสี่ยงแท้งบุตร และจนถึงขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นไม่ได้อนุมัติใช้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 แต่ในหลายประเทศกลับมีการใช้ยานี้อย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่มีผลการศึกษาว่า ยานี้ไม่ได้มีประสิทธิผลในการรักษาโรคโควิด

อ่านประกอบ : ครม.อนุมัติให้ สธ.เปลี่ยนแปลงการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยา แก้ปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ จากโมลนูพิราเวียร์เป็นฟาวิพิราเวียร์

"หมอมนูญ" วอน อภ.หยุดผลิต-นำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ ชี้ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าลดการป่วยได้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น