xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำรับ “ยารักษาโควิด” ที่ญี่ปุ่นใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก ฟูจิทีวี
กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรับรองให้ใช้ยา 4 ชนิดเพื่อรักษาโรคโควิด-19 และกำลังจะรับรองยา “โซโทรวิแมบ” เพิ่มเติม ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ หรือ อาวิแกน ที่ใช้กันในหลายประเทศนั้นไม่อยู่ในบัญชียาที่ได้รับการรับรอง

ยารักษาโควิดที่กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรับรองให้ใช้รักษาผู้ป่วยได้นั้น ทั้งหมดไม่ใช่ยาสำหรับโรคโควิด-19 โดยตรง แต่นำยาสำหรับโรคอื่นมาประยุกต์ใช้เพื่อยับยั้งการขยายตัวของเชื้อไวรัส และป้องกันไม่ให้เชื้อลงปอด ไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดหนักลง และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะค่อย ๆ กำจัดเชื้อไวรัส จนผู้ป่วยฟื้นตัวได้

ยา 4 ชนิดที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในญี่ปุ่น ได้แก่

1. เรมเดซิเวียร์
ยาเรมเดซิเวียร์เป็นยาต้านไวรัสที่ได้รับการรับรองเพื่อใช้เป็นกรณีฉุกเฉินเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2563 ถือเป็นยาชนิดแรกที่ผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลญี่ปุ่น ยาเรมเดซิเวียร์ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยจะใช้วิธีการหยดยาผ่านสายเข้าหลอดเลือด ยานี้จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เช่น ผู้ที่กำลังใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือผู้ที่ใช้เครื่อง ECMO เพื่อพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ แต่เมื่อเดือนมกราคมปี 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับรองให้ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการระดับปานกลาง ซึ่งเกิดอาการปอดอักเสบ


2.  เดกซาเมทาโซน
ยาเดกซาเมทาโซนได้รับการรับรองให้ใช้กับผู้ป่วยโควิดเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 เป็นยากลุ่มสเตียรอยด์ ที่บรรเทาอาการแพ้และอักเสบ ยานี้เดิมใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และอาการปอดอักเสบรุนแรง

การทดลองทางคลินิกในอังกฤษได้พิสูจน์แล้วว่า ยาเดกซาเมทาโซนช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19
ที่มีอาการหนัก ในญี่ปุ่นใช้ยานี้ร่วมกับยาเรมเดซิเวียร์อย่างกว้างขวาง การรักษาแบบนี้ช่วยให้ลดอัตราการเสียชีวิตลงอย่างมากในช่วงการระบาดระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563

3.  บาริซิทินิบ
ยาบาริซิทินิบได้รับการรับรองให้ใช้กับผู้ป่วยโควิดเมื่อเมื่อเดือนเมษายนปี 2564 เป็นยาต้านการอักเสบที่ใช้สำหรับรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ยาบาริซิทินิบอนุญาตให้ใช้ร่วมกับยาเรมเดซิเวียร์เท่านั้น เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรืออาการหนัก

การทดลองทางคลินิกในระดับนานาชาติพบว่า ยาบาริซิทินิบเมื่อใช้ร่วมกับยาเรมเดซิเวียร์ ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็วขึ้น 1วันโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับการใช้ยาเรมเดซิเวียร์เพียงอย่างเดียว
ยาทั้ง 3 ชนิดนี้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง-หนัก คือเชื้อไวรัสลงปอดและมีอาการปอดอักเสบแล้ว เกือบทั้งหมดต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล


4. ค็อกเทลแอนติบอดี
การรักษาด้วยค็อกเทลแอนติบอดีได้รับการรับรองเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2564 ผู้ป่วยจะได้รับยาสร้างสารภูมิต้านทาน 2 ชนิดร่วมกัน ได้แก่ ยาคาซิริวิแมบ และ อิมเดวิแมบ โดยจะให้ยาผ่านทางเส้นเลือด ยาทั้ง 2 ชนิดจะหยุดยั้งการขยายตัวของเชื้อไวรัส และป้องกันเชื้อเข้าสู่เซลล์

ค็อกเทลแอนติบอดี เป็นการรักษาแรกที่ได้รับการรับรองในญี่ปุ่นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก ผลการทดลองทางคลินิกพบว่า ช่วยลดความเสี่ยงของการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตลงราวร้อยละ 70 หากมีการใช้ยาดังกล่าวกับผู้ป่วยในระยะแรก ๆ ของอาการป่วย

คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ หรือ FDA อนุญาตให้ใช้การรักษาเช่นนี้เป็นกรณีฉุกเฉินเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2563 โดยระบุว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิผลป้องกันผู้ป่วยไม่ให้อาการทรุดลง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้นก็รักษาตัวด้วยค็อกเทลแอนติบอดี

เดิมกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นได้จำกัดการใช้ค็อกเทลแอนติบอดี เฉพาะผู้ป่วยในโรงพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง แต่การติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ทางกระทรวงจึงแก้ไขแนวทางเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมเพื่อให้สามารถใช้ค็อกเทลแอนติบอดีแก่ผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ที่โรงแรมและสถานที่ชั่วคราว แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการติดตามผลข้างเคียงอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

อ่านเพิ่มเติม:  ญี่ปุ่นใช้สูตรรักษาโควิดล่าสุด “ค็อกเทลแอนติบอดี” กู้ชีวิตได้สูง 70%


“โซโทรวิแมบ” ยาใหม่เข้าคิวรอรับรอง

นี่คือยาที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างแรก พัฒนาโดยบริษัทแกล็กโซ สมิทธไคลน์ หรือ GSK ของอังกฤษ และบริษัทวีไออาร์ ไบโอเทคโนโลยี ของสหรัฐอเมริกา ยานี้ให้ผ่านสายเข้าสู่หลอดเลือด คุณสมบัติของยาจะลอกเลียนแบบสารภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นสำหรับต่อต้านกับการติดเชื้อต่างๆ ในกรณีนี้ยาจะเลียนแบบสารภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในร่างกายเมื่อติดเชื้อโควิด-19

ข้อจำกัดการใช้ยาคือ ใช้ในผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีอาการปานกลาง แต่เป็นผู้ป่วยที่มีแนวโน้มอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น แต่ห้ามใช้กับผู้ป่วยโควิดที่อาการหนัก หรือผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ

นอกจากยาเหล่านี้แล้ว บริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐ และบริษัทชิโอโนงิของญี่ปุ่น ก็กำลังทดลองยารักษาโควิดชนิดกิน ซึ่งจะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ผู้ป่วยจะกินยาได้เอง โดยไม่ต้องให้ยาเข้าสู่เส้นเลือดเหมือนยาที่ใช้อยู่ในตอนนี้

นอกจากนี้ จีน ก็กำลังวิจัยยาแบบพ่นจมูกที่จะสกัดกั้นเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าสู่ร่างกายผ่านทางการหายใจ

อ่านเพิ่มเติม ญี่ปุนเร่งวิจัยยารักษาโควิดสูตรใหม่ “ฟาวิพิราเวียร์” ทำหญิงมีครรภ์เสี่ยงแท้ง

รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่า การมียาที่รักษาโรคโควิด-19 โดยตรง และใช้ได้สะดวกกับผู้ป่วยทั่วไป โดยไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้ทั่วโลกก้าวข้ามการระบาดของโรคร้ายนี้ได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น