xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนญี่ปุ่นจึงกลัวที่จะแตกต่างจากคนอื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://nihongokyoshi-net.com
⬆️ สำนวนญี่ปุ่น "出る杭は打たれる" (เด-หรุ-คุย-วะ-อุ-ตา-เร-หรุ ) แปลว่า “ตะปูที่ยื่นออกมาจะถูกตอกลงไป” หมายถึง คนที่ทำตัวเด่นจะเป็นที่รังเกียจของผู้อื่น

คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน คนญี่ปุ่นนั้นมีลักษณะเด่นอยู่อย่างหนึ่งคือกลัวที่จะแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งน่าจะมาจากค่านิยมที่เน้นการทำตามกลุ่มอย่างเข้มงวดเหนือความต้องการส่วนตัว ในทางหนึ่งก็ช่วยสร้างความเป็นปึกแผ่นและความสามัคคีกัน ทำให้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงหนึ่งหลังสงครามโลก แต่ในอีกทางหนึ่งค่านิยมทำตามกลุ่มก็ปฏิเสธความเป็นปัจเจกชนอย่างยิ่ง นำมาซึ่งปัญหาสังคมรุนแรงให้ญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

สาเหตุที่ต้องทำตามกลุ่มอย่างเข้มงวด

สิ่งหนึ่งที่อาจอธิบายได้ว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงทำตามกลุ่มอย่างเข้มงวด น่าจะเป็นเรื่องของ “กิริ-นินโจ” (義理-人情) โดยในบทความหนึ่งซึ่งเขียนโดยนิตยสารศิลปวัฒนธรรม อธิบายไว้ดังนี้

"กิริ (Giri) เป็นพันธะทางสังคมซึ่งทำให้สมาชิกในสังคมต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่สังคมคาดหวังเพื่อให้ถูกรับรู้ว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์" ส่วน “นินโจ (Ninjo) คืออารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกต่อผู้อื่นซึ่งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น ความรัก ความเศร้า ความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจกัน ฯลฯ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น “มนุษยธรรม” เป็นความรู้สึกจากใจ”

ถ้าสรุปให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็อาจกล่าวได้ว่า “กิริ” คือ พันธะหน้าที่ทางสังคมที่ต้องทำตาม ส่วน “นินโจ” คือ ความรู้สึกส่วนตัวนั่นเอง

“อย่างไหนสำคัญกว่าหา? - ครอบครัว VS งาน” ภาพจาก https://www.kyoeikasai.co.jp/
กิริและนินโจที่ฝังรากลึกในสังคมได้หล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นโดยทั่วไปรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนที่มีต่อกลุ่มต่าง ๆ ที่ตนสังกัด (เช่น ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ชมรม) รู้กฎระเบียบและมารยาทสังคมว่าควรต้องทำอย่างไรในโอกาสไหน แม้ว่าหลายอย่างจะไม่มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการได้รับมาแล้วต้องให้ตอบ การไม่ลืมบุญคุณของอีกฝ่าย ความระมัดระวังไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน การทำตัวให้กลมกลืนกับคนอื่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม “กิริ” และ “นินโจ” มักจะขัดแย้งกันเสมอ ตัวอย่างเช่น ตามกฎหมายแล้วพนักงานชายสามารถลาไปช่วยภรรยาที่เพิ่งคลอดเลี้ยงลูกได้ แต่พนักงานส่วนใหญ่ไม่กล้าขอลาหยุด เพราะรู้สึกว่าตนมีพันธะหน้าที่ต่อบริษัท(กิริ) ซึ่งในกรณีนี้คือการมาช่วยกันทำงานตามหน้าที่ แทนที่จะทำตามความต้องการที่แท้จริงที่อยากจะลาไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูก (นินโจ)

การไม่ทำตามพันธะหน้าที่ทางสังคมที่ถูกคาดหวังยังเสี่ยงต่อการถูกลงโทษด้วย โดยเฉพาะการถูกโดดเดี่ยว ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นยิ่งในสังคมที่ผู้คนสามารถมีตัวตนได้ด้วยการสังกัดกลุ่มเช่นนี้

เด็กที่ต่างจากคนอื่นไม่เป็นที่ยอมรับ

นักวิชาการกล่าวว่า เด็กที่เติบโตมาในวัฒนธรรมกลุ่มจะมีความอดทนต่ำต่อความแตกต่าง และมีแนวโน้มที่จะกีดกันคนที่ไม่เข้าพวกออกไป การศึกษาชิ้นหนึ่งยังพบว่าเด็กญี่ปุ่นไม่ค่อยยอมรับคนอื่นที่ต่างจากตัวเองเข้ามาเป็นพวกด้วย การยอมรับความแตกต่างได้ยากเช่นนี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การกลั่นแกล้งเกิดขึ้นทั่วไปในสังคมญี่ปุ่น ทั้งในโรงเรียนและสังคมทำงาน

เด็กญี่ปุ่นที่โตในต่างประเทศและย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ถูกกลั่นแกล้งได้ง่าย สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะมีกิริยาท่าทางและบุคลิกไม่เหมือนเด็กญี่ปุ่นคนอื่น ๆ อย่างเช่น เด็กที่โตในอเมริกาจะชินกับการยกมือตอบคำถามครู กล้าแสดงความเห็นในห้องเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมอเมริกันให้คุณค่า แต่ที่ญี่ปุ่นนักเรียนจะไม่ยกมือถ้าครูไม่เรียก ไม่แสดงความเห็น เมื่อมีเด็กญี่ปุ่นโตในอเมริกาเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่ญี่ปุ่น จึงถูกเพื่อนแกล้งเพราะ “ทำตัวเด่น” และ “ไม่ปกติ”

ภาพจาก https://bunshun.jp
⬆️ “เธอคิดว่าถูกเพื่อนร่วมชั้นแกล้ง แต่ไม่ใช่หรอก พวกนั้นไม่ใช่เพื่อนร่วมชั้น แต่เป็นอาชญากรต่างหาก ทำไมเธอจะต้องอดทนด้วยล่ะ ?”

การกลั่นแกล้งในโรงเรียนยังอาจเกิดจากความต่างในเรื่องสีผิว เชื้อชาติ ส่วนสูง หน้าตา ผลการเรียน ฐานะ รวมทั้งความไม่ชอบใจส่วนตัวอื่น ๆ วิธีกลั่นแกล้งมีตั้งแต่การใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยามทั้งโดยตรงหรือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ตัดออกจากกลุ่ม เอาดอกไม้สำหรับไหว้หลุมศพใส่แจกันไปวางบนโต๊ะเรียน ปาข้าวของใส่ เอาผ้าขี้ริ้วมาเช็ดถูกหน้าตา รวมไปถึงการสร้างความอับอายทางเพศและความรุนแรงอีกนานัปการ

ที่น่าเศร้าคือบ่อยครั้งที่คนอื่น ๆ ในห้องเรียนจะร่วมวงกันรุม “เป้าหมาย” อย่างสนุกสนาน ส่งผลให้เด็กจำนวนมากไม่ยอมไปโรงเรียน กลายเป็นโรคซึมเศร้า กลัวการเข้าสังคม กลายเป็น ฮิคิโคโมริและเสียอนาคตไปทั้งชีวิตก็มีมาก อีกทั้งจำนวนไม่น้อยก็ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง สร้างความสะเทือนใจสาหัสแก่ครอบครัวต่อไปอีกทอดหนึ่ง

บทลงโทษของการไม่ทำตามกฎหมู่ในสังคม

ในสังคมทำงานญี่ปุ่นมีกฎระเบียบที่ไม่ได้ระบุไว้แต่เป็นที่รู้กัน เช่น พนักงานมักถูกคาดหวังว่าต้องให้ความสำคัญกับบริษัท (กลุ่ม) มากกว่าครอบครัว (เรื่องส่วนตัว) ต้องเคารพนบนอบผู้บังคับบัญชาโดยไม่โต้แย้ง ต้องรู้จักสังเกตท่าทีของกลุ่ม และคอยทำตามกันไม่ให้ขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้คนญี่ปุ่นต้องไปดื่มหลังเลิกงานกับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานแม้จะไม่อยากไป หรือทำงานเสร็จแล้วอยากจะกลับบ้านตอนได้เวลาเลิกงาน ก็ไม่สามารถทำได้โดยสะดวกใจหากคนอื่นยังทำงานอยู่ เป็นต้น

การกลั่นแกล้งในสังคมทำงานมีตั้งแต่การกีดกันออกจากกลุ่ม ด่าทอ ดูถูกเหยียดหยาม หรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อหน้าคนอื่น ปาข้าวของใส่ ให้ทำงานน่าเบื่อหรือไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ให้ทำงานหนักเกินไป สั่งย้ายไปทำงานแผนกอื่นหรือสาขาอื่น เป็นต้น แม้กระทั่งคนท้องก็ยังถูกตีตราได้ โดยถูกมองในแง่ลบว่าสร้างภาระให้บริษัทเพราะไม่นานก็ต้องลาคลอด

ภาพจาก https://demodori-panda.com
ที่ผ่านมามีข่าวพนักงานถูกบริษัท “ลงโทษ” ที่ไม่ทำตามกฎหมู่มากมาย เช่น พนักงานใช้สิทธิ์ตามกฎหมายลาหยุดไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูกที่เพิ่งคลอด ซึ่งเมื่อกลับมาทำงาน ก็โดนบริษัทสั่งย้ายไปอยู่แผนกอื่นหรือสาขาอื่นแทน แม้บริษัทจะอ้างว่าไม่ได้ทำเพื่อลงโทษที่พนักงานลาหยุดก็ตาม (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ จะอยู่หรือไป...เมื่อคนญี่ปุ่นต้องเลือกระหว่างงานกับครอบครัว )

ในกรณีเช่นนี้บริษัทอาจมองว่าพนักงานที่ลาหยุดนั้นเป็นคนทรยศของกลุ่ม ไม่ทำตามพันธะหน้าที่ (กิริ) ไม่มีความรับผิดชอบต่อกลุ่ม ซึ่งก็มีพนักงานที่โดนต่อว่าเช่นนี้จริง ๆ และในที่สุดก็ทนความกดดันนี้ไม่ได้จนต้องลาออกไป หรือบางคนเสียสุขภาพจิตจนทำงานไม่ได้และโดนเชิญให้ออกก็มี

ปัจเจกชนอันไร้ตัวตน

การให้ความสำคัญกับกลุ่มก่อนสิ่งอื่นมีจุดดีตรงที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความสามัคคี และลดความขัดแย้ง และก็น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นสร้างชาติจนเจริญก้าวไกลในชั่วระยะเวลาไม่กี่ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และยังทำให้คนญี่ปุ่นมองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ระวังไม่ทำอะไรที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน ว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน ผู้คนมีระเบียบวินัย ดูภายนอกสุภาพเรียบร้อย และมีมารยาทที่ดีงาม

แต่ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมการทำตามกลุ่มก็ทำให้ความเป็นปัจเจกชนของคนญี่ปุ่นถูกมองข้ามไปด้วย นักวิชาการคนหนึ่งชี้ว่า วัฒนธรรมการทำตามกลุ่มส่งผลกระทบต่อความนับถือตัวเองของเด็กที่กำลังเจริญวัย และหล่อหลอมให้พวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ทำตามคนอื่นมากกว่าจะคิดสร้างสรรค์ แม้กระทั่งนักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียวอันเลื่องชื่อลือนามของญี่ปุ่น ในยุคนี้ก็ยังถูกมองว่าเป็นคนที่ปราศจากความคิดสร้างสรรค์ ไร้ความคิดบุกเบิก ที่พยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังก็มักเป็นเพราะทำตามสิ่งที่คนอื่นบอกว่าดี มากกว่าว่าเจ้าตัวมีเป้าหมายและทิศทางในชีวิตของตัวเอง

การแต่งตัวของนักศึกษาจบใหม่สมัครเข้าทำงาน ต้องใส่เสื้อเชิ้ตขาว สูทดำ รองเท้าดำ ภาพจาก https://freetonsha.com/
ค่านิยมทำตามแนวทางของกลุ่ม (สังคม) อย่างเคร่งครัดจึงทำให้คนไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง กลัวว่าหากไม่ได้รับการยอมรับแล้วก็อาจถูกคนอื่นมองไม่ดี และอาจถูกกีดกันออกจากกลุ่มได้ คนญี่ปุ่นจึงมักพยายามทำตัวให้ถูกมารยาทสังคม ระวังไม่ให้เด่นสะดุดตาเป็นที่เพ่งเล็ง จะได้ยังรักษาตัวตนให้เป็นที่ยอมรับและอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข

สมัยก่อนเคยมีนักวิชาการมองว่าสาเหตุที่แฟชั่นแต่งคอสเพลย์ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น ก็เพราะมันช่วยปลดแอกจากการเป็นตัวตนยามปกติที่ต้องทำตามคนอื่น นอกจากนี้การที่คนญี่ปุ่นนิยมชมชอบสิ่งที่ “โอริจินาหรุ” (オリジナル - Original) เป็นพิเศษ ก็อาจเป็นเพราะจะได้แตกต่างจากคนอื่นในแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างก็เป็นได้

(หมายเหตุ - คนญี่ปุ่นใช้คำว่า original ในความหมายแคบ กล่าวคือใช้ในความหมายว่า “ไม่เหมือนใคร” “มีชิ้นเดียวในโลก” แต่ในภาษาอังกฤษจริง ๆ ยังหมายถึง “ต้นฉบับ” “ดั้งเดิม” ได้ด้วย)

บทสรุป

แม้ค่านิยมการทำตามกลุ่มอย่างเคร่งครัดอาจมีข้อดีตรงที่เห็นผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทำให้สังคมเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ไม่ยอมรับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและความต่างที่มีโดยธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคน นำมาซึ่งผลกระทบทั้งต่อพัฒนาการของเด็ก และต่อความเป็นอยู่ของคนคนหนึ่งตลอดทั้งชีวิต โยงใยไปสู่ปัญหาสังคมหลายอย่างของญี่ปุ่นที่แก้ไม่ตกมาหลายทศวรรษ ต่อให้ญี่ปุ่นพยายามออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพให้มากขึ้นอย่างไร หากในทางปฏิบัติค่านิยมการทำตามกลุ่มยังอยู่เหนือกฎหมายเช่นนี้ ก็คงเป็นเรื่องยากที่ญี่ปุ่นจะพัฒนาต่อไปได้จริง

น่าจะถึงเวลาแล้วที่สังคมญี่ปุ่นจะหันมาตั้งคำถามว่า การทำตามค่านิยมของกลุ่มอย่างเคร่งครัดและปฏิเสธความเป็นปัจเจกชนไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ให้คุณหรือให้โทษแก่ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนมากกว่ากัน และทำให้ญี่ปุ่นเจริญรุดหน้าหรือว่าย่ำอยู่กับที่กันแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัฒน์ซึ่งนานาประเทศพากันก้าวกระโดดไปข้างหน้ามากแล้ว.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Onlineทุกวันอาทิตย์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น