รัฐบาลญี่ปุ่นและคณะกรรมการโอลิมปิกสากลยืนยันจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในปีหน้า ถึงแม้ว่ายังไม่มีแนวโน้มที่โลกจะหลุดพ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 โตเกียวโอลิมปิกจะเป็นการแข่งขันที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์
นายกรัฐมนตรีซูงะ โยชิฮิเดะ ของญี่ปุ่น และนายโธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC หารือกันที่กรุงโตเกียว ในวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน ประธาน IOC ได้เยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิก 2020 ถูกเลื่อนออกไป 1 ปีเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา
ผู้นำญี่ปุ่นกล่าวว่า มุ่งมั่นที่จะทำให้การแข่งขันโอลิมปิกในฤดูร้อนปีหน้าเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามนุษยชาติเอาชนะไวรัสนี้ได้แล้ว และแสดงให้โลกเห็นว่าภูมิภาคต่าง ๆ ของญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวใหญ่และคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2554 ฟื้นตัวแล้ว
นายโธมัส บาค กล่าวว่าเขามั่นใจอย่างมากจะสามารถเปิดให้มีผู้ชมการแข่งขันได้ใน “จำนวนที่เหมาะสม” โดยหวังว่าผู้เข้าชมจำนวนมากที่สุดจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิดก่อนที่จะมายังญี่ปุ่น แต่จะไม่บังคับให้ต้องฉีดวัคซีนจึงจะเข้าชมการแข่งขันโอลิมปิกได้ นายบาคยังบอกว่า IOC จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของวัคซีน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ
โตเกียวโอลิมปิกจัดแน่ แต่เจ๊ง ?
โตเกียวโอลิมปิกมีกำหนดเปิดฉากขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ขณะนี้ถึงแม้มีข่าวดีเรื่องวัคซีนโควิดจากหลายบริษัทผู้ผลิต แต่ประเมินกันว่าไม่สามารถการแจกจ่ายวัคซีนอย่างทั่วถึงได้ก่อนช่วงเวลาจัดการแข่งขันโอลิมปิกอย่างแน่นอน นอกจากนี้ นักกีฬาหลายประเทศยังอยู่ใต้มาตรการล็อกดาวน์ ไม่สามารถฝึกซ้อมได้ โอกาสที่จะฟิตพร้อมแข่งขันจึงแทบจะไม่มี
ในส่วนของผู้ชมยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะมีผู้ที่มุ่งมั่นเดินทางมาชมการแข่งขันที่กรุงโตเกียวท่ามกลางการระบาดของโควิด หรือแม้ว่าในกลางปีหน้าจะผ่านพ้นการระบาดได้ไม่นานก็ตาม
นอกจากนี้ สปอนเซอร์ต่าง ๆ ที่เคยสนับสนุนโตเกียวโอลิมปิก แต่เมื่อการแข่งขันถูกเลื่อนออกไป สปอนเซอร์เหล่านี้มากกว่าร้อยละ 60 ก็ยังไม่ได้ตกลงว่าจะขยายสัญญาออกไปหรือไม่
ผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่นพบว่า สาธารณชนต้องการให้เลื่อนมหกรรมโตเกียว โอลิมปิกออกไปอีก หรือยกเลิกไปเลย แต่รัฐบาลญี่ปุ่นและ IOC กลับฝืนความเห็นของประชาชน โดยอ้างเรื่องค่าชดเชยหากยกเลิกการแข่งขัน รวมทั้งเรื่องศักดิ์ศรีหน้าตาของชาติเจ้าภาพ
คณะกรรมการโอลิมปิกของญี่ปุ่นอ้างอิงความสำเร็จในการจัดแข่งขันยิมนาสติกนานาชาติเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน โดยมีนักกีฬา 4 ชาติเข้าร่วมคือ ญี่ปุ่น สหรัฐ จีน รัสเซีย
การแข่งขันกีฬานานาชาติครั้งแรกท่ามกลางโควิดใช้มาตรการเข้มงวด คณะนักกีฬาต้องกักตัว 14 วันก่อนมาญี่ปุ่น โดยเมื่อมาถึงญี่ปุ่นได้รับยกเว้นไม่ต้องกักตัว แต่มีการตรวจหาเชื้อทุกวัน และห้ามนักกีฬาออกจากพื้นที่เฉพาะในโรงแรมและสนามกีฬา ส่วนผู้ชมต้องสวมหน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิร่างกาย ผ่านเครื่องฆ่าเชื้อโรค และห้ามส่งเสียงเชียร์
แต่ทว่า การแข่งขันโอลิมปิกจะมีตัวแทนจาก 206 ประเทศ นักกีฬามากกว่า 11,000 คน และเจ้าหน้าที่อีกหลายพันคน ไม่ได้ง่ายเหมือนการแข่งขันยิมนาสติก 4 ชาติที่ผ่านมา บรรดานักกีฬาและทีมงานต้องเผชิญกับมาตรการควบคุมโรค จนเหนื่อยหน่ายกับการร่วมแข่งขัน
นอกจากนี้การจำกัดการพบปะสังสรรค์ เดินทางท่องเที่ยวของคนเหล่านี้ รวมทั้งผู้ชม ทำให้ถึงแม้จัดการแข่งขันขึ้นได้ ก็จะไม่ได้ส่งผลเกื้อกูลต่อเศรษฐกิจ ซ้ำยังจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมหาศาลจากมาตรการป้องกันการติดเชื้อ
นายโธมัส บาค ประธาน IOC ได้พร่ำบอกหลายครั้งว่า โตเกียว โอลิมปิกจะเป็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ท่ามกลางวิกฤตโควิด แต่แสงสว่างเพียงวูบเดียวนี้ถูกจุดขึ้นด้วยต้นทุนมหาศาล ซ้ำยังไม่เห็นว่าจะสร้างความหวังตอบแทนให้กับประชาชนทั่วโลกได้ นอกเสียจากรักษาศักดิ์ศรีของชาติเจ้าภาพ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล และผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น.