คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลายเดือนที่ผ่านมานี้มีข่าวดาราญี่ปุ่นฆ่าตัวตายกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดาราดังอย่าง มิอุระ ฮารุมะ และ ทาเคอุจิ ยูโกะ ซึ่งสร้างความตกใจแก่คนทั้งในและนอกวงการ จึงมีการวิเคราะห์ถึงเหตุจูงใจในการฆ่าตัวตายของเหล่าดาราไปต่าง ๆ นานา
นับแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา มีคนดังในแวดวงบันเทิงฆ่าตัวตายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 7 คน เป็นชาย 2 คน (อายุ 30 และ 80 ปี) หญิง 5 คน (อายุ 20-40 ปี) นอกจากนักมวยปล้ำหญิงที่คิดสั้นหลังถูกกระหน่ำวิพากษ์วิจารณ์ทางโซเชียลแล้ว ที่เหลือดูไม่มีวี่แววแต่อย่างใดว่าจะปลิดชีวิตตัวเอง โดยเฉพาะดาราที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงตลอดมาอย่าง มิอุระ ฮารุมะ ซึ่งมีบุคลิกร่าเริง อารมณ์ดี เป็นที่รักของเพื่อนฝูงและแฟน ๆ รวมทั้ง ทาเคอุจิ ยูโกะ นักแสดงสาวสวยที่ได้รับรางวัลด้านการแสดงมาหลายครั้ง และเพิ่งมีลูกคนที่สองไปไม่นานนี้
ว่ากันว่าสาเหตุการฆ่าตัวตายสำหรับคนคนหนึ่งมักประกอบด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างปนกัน จึงเป็นการยากที่จะระบุชัดว่าเพราะเหตุใดดาราเหล่านี้จึงคิดสั้น อย่างไรก็ตามเมื่อประมวลจากข้อมูลต่าง ๆ แล้ว อาจพอกล่าวได้ว่าปัจจัยที่น่าเป็นไปได้มีอยู่สองประการใหญ่ คือ หนึ่งมาจากภาวะทางจิตใจของคนญี่ปุ่น และสองจากสภาพแวดล้อมการทำงานในวงการบันเทิงญี่ปุ่น
ภาวะทางจิตใจของคนญี่ปุ่น
สังคมญี่ปุ่นมีค่านิยมให้คนอดทน ไม่แสดงความในใจออกมาตรง ๆ ต้องทำตามคนอื่น และไม่ทำตัวเป็นภาระใคร ค่านิยมนี้ชี้ให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นคงไม่อาจเป็นตัวของตัวเองได้ง่ายนัก และยังมีแนวโน้มที่จะเก็บซ่อนความทุกข์ไว้เพียงลำพังด้วย
ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งญี่ปุ่นกล่าวว่า สังคมญี่ปุ่นคาดหวังไม่ให้คนแสดงความอ่อนแอออกมาให้คนอื่นเห็นแม้กระทั่งกับคนใกล้ตัว ทำให้คนรู้สึกลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ไปด้วย อีกทั้งยุคนี้เป็นยุคที่คนรู้สึกเหมือนถูกกดดันให้ต้องแสดงภาพลักษณ์ที่ดีของตนผ่านทางโซเชียล ซึ่งหากชีวิตจริงไม่ได้สวยงามอย่างที่คนอื่นคาดไว้ก็จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
ยิ่งไปกว่านั้นวิกฤติโควิดยังทำให้ดารามีงานเข้ามาน้อยลงด้วย ทำให้กังวลว่าจะเสียโอกาสด้านการงานให้แก่ดาราหน้าใหม่หรือเปล่า อีกทั้งคนญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มจะโทษตัวเองแม้ในเวลาเช่นนี้ จึงอดไม่ได้ที่จะคิดว่าที่ไม่มีงานเข้ามาก็เพราะตัวเองไม่ดีพอ
อีกประการหนึ่ง อาจเป็นไปได้ด้วยว่าวิกฤติโควิดทำให้คนใช้เวลากับโลกออนไลน์มากขึ้น และยิ่งเหงายิ่งไม่สบายใจก็มีแนวโน้มจะเล่นอินเทอร์เน็ตมากขึ้น หรือพยายามเช็คความนิยมของตัวเองในโลกออนไลน์ จึงพลอยได้อ่านความเห็นทางโซเชียลที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิตตัวเอง ยิ่งทำให้เครียดเพิ่มขึ้น
สภาพแวดล้อมการทำงานในวงการบันเทิงญี่ปุ่น
อาจารย์และจิตแพทย์ญี่ปุ่นท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า อาชีพดาราเป็นอาชีพที่ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวทางใจได้ง่าย แม้จะแวดล้อมด้วยคนมากมายหรือเป็นที่รักแค่ไหน ใจก็ยังรู้สึกว้าเหว่จนในที่สุดป่วยเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมาโดยที่คนอื่นมองไม่ออกเลย
นอกจากนี้ ลักษณะของงานยังกำหนดไว้ว่าดาราจะต้องมีอิมเมจหรือภาพลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ปัญหาด้านการงานสำหรับดาราแต่ละคนต่างกัน จะปรึกษาพ่อแม่ เพื่อนฝูง หรือเพื่อนดารา ก็หาคนเข้าใจได้ยาก หรือไม่อย่างนั้นบางทีเพื่อนดาราเองก็เป็นคู่แข่งกันเรื่องงาน ทำให้แม้มีเรื่องไม่สบายใจก็ปิดไว้ไม่แสดงทีท่าอ่อนแอให้อีกฝ่ายเห็น
ไม่เพียงเท่านั้น ดารายังต้องระวังรักษาภาพลักษณ์ให้ดีไว้เสมอด้วย กระทั่งเป็นโรคซึมเศร้าก็ต้องปิดบังไม่ให้สื่อรู้ เพราะหากสื่อเล่นข่าวในแง่ลบขึ้นมา ดาราคนนั้นก็จะเสียภาพลักษณ์ไปตลอดกาล งานที่จะมีเข้ามาจะหายวับไปในพริบตา และเสียอาชีพการงานไปทันที
ยิ่งเป็นดาราที่ใครต่อใครรู้จักแล้ว ยิ่งรู้สึกกดดันที่จะต้องทำตัวอยู่ในกรอบเพราะมีสายตาจ้องมองมาทุกทิศทาง ยิ่งประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกกดดันที่จะต้องเป็นอย่างที่คนอื่นอยากให้เป็น ยิ่งได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวเท่านั้น เพราะรู้สึกว่ามีคนที่ไม่เข้าใจเขาเพิ่มขึ้น นำไปสู่ความโดดเดี่ยวทางใจขึ้นทุกที ๆ
ในจดหมายลาตายของ มิอุระ ฮารุมะ ส่วนหนึ่งกล่าวไว้ว่า มีเรื่องที่ทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกปฏิเสธตัวตนโดยสิ้นเชิง ทำให้ซึมเศร้าและหมดอาลัยตายอยากขึ้นมา และด้วยความที่ไม่อยากให้คนที่สนิทกันรู้ว่าเขาอยากตาย ก็เลยแสร้งทำเป็นร่าเริง ซึ่งมันก็ทำให้เขาทุกข์ที่ต้องคอยเสแสร้งอยู่ทุกวัน
คุณหมอยกตัวอย่างคนไข้ดาราหญิงชื่อดังคนหนึ่ง ซึ่งอนุญาตให้นำเรื่องมาเล่าได้โดยไม่เปิดเผยตัวจริงเพื่อเป็นกรณีศึกษา ตอนแรกดาราคนนี้ก็มีความรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างยิ่งจากการมีเรื่องทุกข์ใจซึ่งไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้ พอบริษัทสังเกตเห็นความผิดปกติเมื่อเธอลางานและสอบถามเรื่องราว เธอจึงเล่าให้ผู้จัดการส่วนตัวฟัง และได้เข้ารับการรักษาในที่สุด
ปัญหาของเธอในเวลานั้นคือถูกบริษัทคัดค้านแผนการแต่งงาน ซึ่งทำให้เธอไม่สามารถปรึกษาคนในบริษัทได้ อีกทั้งเรื่องภายในแบบนี้จะนำไปปรึกษาเพื่อนในวงการก็ไม่ได้ นอกวงการก็ไม่เหมาะอีก นอกจากนี้เธอยังมีปัญหาไม่สามารถแยกแยะเวลางานกับเวลาส่วนตัวออกจากกันได้ หรือบางทีก็ติดอารมณ์ด้านลบมาจากบทบาทตัวละครที่ตัวเองเล่น ในที่สุดเมื่อหลายปัญหาประดังเข้ามาและไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหนดี จึงคิดจะฆ่าตัวตาย
และอันที่จริงแม้งานของเธอจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่เธอกลับมองว่าตัวเองแสดงไม่เก่งและไม่ได้เป็นที่ต้องการ พอรู้สึกอย่างนั้นก็พยายามเช็คความนิยมของเธอในโลกออนไลน์เพื่อให้รู้สึกดีขึ้น ซึ่งแม้ผู้คนจะมีความเห็นต่อเธอในแง่ดีมากกว่า แต่เธอกลับให้ค่าต่อความเห็นแง่ลบที่มีจำนวนน้อยกว่า และรู้สึกแย่กับตัวเอง
คุณหมออธิบายว่าดารามีตัวเองเป็นจุดขาย ดังนั้นพอถูกประเมินเรื่องงานก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าถูกประเมินคุณค่าความเป็นตัวตนไปด้วย เช่น ถ้ามีคนบอกว่าชอบหรือไม่ชอบ “การแสดง” ของเขา เขาจะรู้สึกว่าคนบอกว่าชอบหรือไม่ชอบ “ตัวตน” ของเขา ดังนั้นหากถูกติเรื่องงานก็จะรู้สึกว่าถูกปฏิเสธตัวตนไปด้วย
แม้ความโดดเดี่ยวทางจิตใจจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ควรทำความเข้าใจและเร่งแก้ไขในสังคม แต่วงการบันเทิงญี่ปุ่นก็ยังมีท่าทีระแวดระวังไม่ให้คนภายนอกล่วงรู้หากดาราในสังกัดตนมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งคุณหมอก็บอกว่าจริง ๆ ควรให้ความสำคัญกับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่ความรู้สึกว้าเหว่จะก่อตัวใหญ่ขึ้น เพราะที่จริงความรู้สึกโดดเดี่ยวทางจิตใจก็เป็นอาการชั่วคราวที่สามารถรักษาให้หายได้
อย่างดาราหญิงคนไข้ของคุณหมอก็อาการดีขึ้นมาก โดยคุณหมอใช้วิธีบำบัดความคิดและพฤติกรรมซึ่งเป็นวิธีที่ดีสำหรับคนที่มักมองตัวเองในแง่ลบ เช่น เธอคิดว่าตัวเองแสดงไม่เก่งหรือไม่มีใครต้องการ หมอก็จะถามว่า “งั้นทำไมมีงานเข้ามาล่ะ?”
เป็นต้น อาศัยการฝึกตระหนักถึงความเป็นจริงบ่อย ๆ เช่นนี้จึงทำให้เธอเปลี่ยนความรับรู้ที่มีต่อตนเองและคิดในแง่ลบน้อยลง คุณหมอบอกว่าแม้นิสัยจะเปลี่ยนกันยาก แต่ความรับรู้เปลี่ยนกันได้ นอกจากนี้คุณหมอยังให้เธอฝึกแบ่งเวลางานกับเวลาส่วนตัวออกจากกันอย่างเหมาะสม ไม่เอามาปะปนกัน ซึ่งก็ช่วยให้เธอทำงานได้ดีขึ้นด้วย
ฉันนึกไปถึงเรื่องที่ครูบาอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า หลายปีก่อนมีคนเห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินร้องไห้ผ่านหน้าบ้านไปโดยที่เท้าลอยอยู่จากพื้นคืบหนึ่ง วันต่อมามีข่าวว่าเพื่อนบ้านผู้หญิงฆ่าตัวตาย ก่อนนั้นเธอมีกำลังทรัพย์ไม่พอแต่อยากซื้อบ้านโดยที่สามีไม่เห็นด้วย ต่อมาเมื่อไม่มีเงินส่งและบ้านกำลังจะโดนยึด สามีก็โกรธว่าห้ามแล้วไม่ฟังจึงหนีเธอไป ฝ่ายภรรยาจึงคิดสั้นด้วยหวังว่าจะลืมความทุกข์ หารู้ไม่ว่าเมื่อพ้นสภาพความเป็นมนุษย์ไปแล้ว เธอยังคงจมอยู่กับความเศร้าต่อและเฝ้าฆ่าตัวตายซ้ำ ๆ อยู่ในภพผีนั้นเอง ครูบาอาจารย์ท่านว่าอีกหน่อยพอได้กลับมาเกิดเป็นคนก็จะจิตใจอ่อนแอ เจอปัญหาทีก็จะฆ่าตัวตายอีกหลายร้อยชาติ
ท่านจึงสอนเสมอว่ามีปัญหาอะไรอย่าฆ่าตัวตาย ให้อดทน ไม่กี่ปีความทุกข์มันก็จางลงไป แต่ถ้าไปฆ่าตัวตายแล้วจะยิ่งทุกข์ยาวนานกว่าเดิมมาก
การมีชีวิตอยู่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะตอนที่รู้สึกว่าไร้ทางออก ที่จริงทางออกอาจมีอยู่มากมาย แต่ไม่เห็นเพราะมัวแต่มองอยู่ที่จุดเดิม บางทีถ้าลองเดินออกจากจุดที่ยืนอยู่ แล้วมองไปรอบด้านเหมือนเป็นคนวงนอก อาจจะพบหนทางที่แต่เดิมเคยคิดว่าไม่มีอยู่ก็ได้นะคะ เหมือนกับทางเดินขึ้นภูเขาซึ่งไม่ได้มีทางเดียว แต่สามารถขึ้นได้รอบทิศด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน
ขอให้เพื่อนผู้อ่านฝ่าฟันทุกอุปสรรคในชีวิตได้ด้วยดีนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.