สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว ช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของคนทั่วไปเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลายอย่าง ที่ญี่ปุ่นก็เองเช่นกัน เช่นเรื่องของระบบการทำงานก็ต้องมีการปรับตัว มีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมใหม่ มีการทำงานโดยใช้ระบบ remote work หรือการทำงานระยะไกล ที่ไม่ต้องเข้ามาเจอหน้ากัน ไม่ต้องเข้า Office อาจจะทำงานอยู่ที่บ้านหรือนอกสำนักงาน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการรับส่งงานและติดต่อสื่อสารกัน หรือเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ซึ่งจะเป็นลักษณะของการโต้ตอบซึ่งกันและกันแบบสองทางหรือพูดง่าย ๆ ก็คือระบบประชุมทางไกล ซึ่งทำให้มีเรื่องราวน่าสนใจเกิดขึ้นหลายประเด็นเลยทีเดียว
การที่ต้องใช้ระบบรองรับการทำงานที่บ้าน หรือการประชุมทางไกลนั้น ทุกคนต้องทำงานผ่านระบบเน็ตเวิร์ค เชื่อมต่อสัญญาณในการประชุมร่วมกัน แต่มีเรื่องขำๆ เกิดขึ้นเพราะความที่เป็น 日本っぽい Nihon poi ! หรือลักษณะใดๆ ที่บ่งบอกว่ามีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบญี่ปุ๊นญี่ปุ่น คือแม้ว่าจะประชุมทางไกลแต่ยังต้องเคารพตามลำดับความอาวุโส และระดับตำแหน่งในหน้าที่การงานเหมือนตอนที่ทำงานปกติ มีการร้องขอเรื่องการจัดการระบบเพื่อให้สามารถรองรับให้แต่ละคนทำงานได้อย่างราบรื่น เช่น ให้มีป้ายชื่อและตำแหน่งของคนที่เข้าร่วมประชุมทางไกล คนที่เป็นหัวหน้าก็น่าจะมีลำดับระบุไว้ว่านี่คือหัวหน้าฝ่าย หัวหน้าส่วนต่างๆ ต้องเรียงลำดับตั้งแต่ระดับที่มีตำแหน่งสูงลงมา หรือพนักงานทั่วไปก็ให้เป็นรูปเล็กๆ แล้วก็อยู่ด้านล่างของแถบรายชื่อ
ตัวอย่างเช่น ปกติถ้านัดประชุมทางไกลกันเวลา 14:00 น. คนที่เป็นระดับพนักงานต้องเข้ามาล็อกอินรอตั้งแต่ 13:30 น. ห้ามมาช้า ห้ามมาสาย ทำให้เหมือนการประชุมจริงตามปกติ และเมื่อหัวหน้าเริ่มเข้ามา โดยเฉพาะหัวหน้าใหญ่ที่จะเข้ามาล็อกอินที่เวลาประมาณ 14:05 น. คนที่เข้ามาก่อนต้อง Log out ออกไป แล้ว Log in เข้ามาใหม่ เพื่อให้รายชื่อเลื่อนลงไปอยู่ในตำแหน่งด้านล่าง ตามลำดับการทำงาน ซึ่งลักษณะแบบนี้นี่เองที่เรียกว่าเป็นเรื่องแบบญี่ปุ๊นญี่ปุ่นจริงๆ ด้วยความที่สังคมให้ลำดับความสำคัญของผู้ที่เป็นหัวหน้างาน คนที่เป็นหัวหน้าหรือมีความอาวุโสจะทำงานหรือไม่ทำงาน เก่งหรือไม่เก่งไม่เป็นไร แค่ให้รู้ว่าเขาเป็นหัวหน้างานก็พอ ถ้าประชุมทางไกล แบบมีองค์กรอื่นเข้าร่วมด้วย จะต้องทำให้รู้ว่าท่านใดคือผู้บริหาร ท่านใดใหญ่ ณ ที่นี่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นในองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญมาก
ลักษณะเช่นนี้เปรียบได้กับคำว่า "ซารุยามะ" 猿山 ที่หมายถึงกลุ่มลิงฝูงใดๆ อาจจะในสวนสัตว์ ในโซนที่มีลิงอยู่ ที่จะมีผู้นำหรือจ่าฝูงอยู่ในตำแหน่งด้านบน ไล่เรียงลงมาตามลำดับชั้นเหมือภูเขาฐานกว้าง ผู้ชายญี่ปุ่นก็เหมือนกันระดับหัวหน้าในที่ทำงานของบริษัทญี่ปุ่นใดๆ ก็เหมือนกันก็คือไล่เรียงตามตำแหน่งสูงลงมา ที่จริงแล้วคนทั่วไปก็ไม่ได้อยากเป็นระดับหัวหน้ามากนักหรอก แต่ในเมื่อสังคมคาดหวัง ให้ความสำคัญว่าใครเป็นหัวหน้าใครเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดจึงทำให้บางคนต้องยกระดับตัวเองให้ขึ้นสูงสู่ระดับหัวหน้าหรือผู้บริหาร เพราะว่าเป็นเรื่องที่สังคมจับตามอง และให้ความสำคัญนั่นเอง
ในองค์กรของบริษัทญี่ปุ่นนั้นอาจจะมีบ้างที่ผู้หญิงมีลักษณะเฉพาะตัว มีความงอแงหรือเอาแต่ใจตัวเอง แต่ในส่วนของผู้ชายแล้วส่วนใหญ่จะคิดแบบมุมมองของซารุยามะ 猿山 และอาจมีบ้างที่ผู้หญิงบางคนอยากจะเข้ามาอยู่ในสังคมแบบ 猿山 เฉกเช่นผู้ชายแต่ค่อนข้างจะน้อยมาก เพราะว่าเรื่องสังคมระดับซารุยามะ 猿山 นั้นผู้ชายจะสนใจเป็นผู้นำมากกว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่จะไม่มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นหัวหน้าหรืออยากจะเข้ามาสู่ระดับสูงสุดแบบสังคมซารุยามะ 猿山 จึงมีผู้นำผู้หญิงน้อยมากหรือไม่มีเลย ซึ่งเป็นเรื่องจริง ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ
อาทิตย์ที่แล้วผมยกตัวอย่างถึงองค์กรที่ผมเคยทำงานว่า 70% ของคนที่ทำงานที่นั่นจะมีความรู้สึกว่าอยากมีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน อยากไต่เต้าไปสู่ระดับที่สูงขึ้น กระนั้นก็มีไม่น้อยที่คนที่สามารถไต่เต้าขึ้นไปเป็นระดับผู้จัดการหรือว่ามีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต แต่ไม่สามารถที่จะทนความเครียดความกดดันและปริมาณงานและการรับผิดชอบได้ ก็ร้องขอที่จะกลับมาอยู่ในตำแหน่งพนักงานดังเดิม และเรื่องความเหนื่อยยากของอาชีพครูบาอาจารย์ ตำแหน่งที่สูงและเป็นระดับผู้บริหารก็จะมี 2 ตำแหน่ง คนที่อยากมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานก็มีอยู่บางส่วน ส่วนคนที่ไม่อยากจะไต่เต้าขึ้นอยู่ตำแหน่งสูงก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะไม่มีใครอยากเป็นตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียน ที่นอกจากต้องสอนหนังสือ ทำงานบริหารแล้วยังต้องรองรับและแก้ไขปัญหาเด็กเกเรอีก ดังนั้นความยากลำบากและหน้าที่อันสูงส่งและรับผิดชอบมากของรองผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นส่วนใหญ่โรงเรียนประถม และโรงเรียนมัธยมต้นก็จะไม่มีผู้หญิงในตำแหน่งนี้เลย ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้ง่ายๆ ถึงแม้ว่าเธอจะมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากเพียงใดก็ตาม
ตอนที่ผมเป็นเด็ก มีคุณครูผู้ชายท่านหนึ่งอายุเกือบจะ 60 ปีละเกือบจะเกษียณอายุราชการ แต่ว่าท่านทำงานแค่ลำดับพนักงานที่ไม่ได้เลื่อนขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าเดิมสักที ตามปกติของระบบการทำงานของญี่ปุ่นแล้วจะต้องมีการไต่เต้าตามลำดับอาวุโสและยิ่งทำงานนานก็จะยิ่งไต่เต้าสูงขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่ว่าท่านจะอายุ 60 ปีแล้วยังอยู่ในตำแหน่งเดิมน่าจะมีเหตุผลอะไรบางอย่าง ซึ่งกรณีแบบนี้บางทีก็ใช่ว่าจะดีเพราะว่ามีเพื่อนครู หรือนักเรียนบางคนถึงแม้ว่าจะไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีการดูถูกหรือกลั่นแกล้งโดยตรงแต่หลายคนอาจจะมองว่า ทำไมคุณครูจึงไม่ไต่เต้าขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงขึ้น ทว่าในความคิดของผมเองตอนที่ผมเป็นเด็กผมก็รู้สึกชอบคุณครูคนนี้และเมื่อผมโตเป็นผู้ใหญ่ผมมองกลับไปอีกที ผมก็รู้สึกว่าถ้าผมเป็นเขาผมก็ทำแบบเขาเหมือนกัน
แต่ที่ญี่ปุ่นเองถ้าพูดถึงบรรยากาศของคนที่เป็นหัวหน้าและดูเหมือนจะมีความแตกต่างกันหัวหน้าที่เมืองไทยมากอย่างหนึ่งคือ ตำแหน่งเท็นโจ Tencho 店長 ถ้าพูดถึงร้านค้าก็คือผู้จัดการร้าน ครั้งนี้ขอยกตัวอย่างเป็นร้านอาหารนะครับ ซึ่งถ้าพูดถึงผู้จัดการร้านอาหารที่ประเทศไทยก็อาจจะมีหน้าที่ควบคุมภาพรวมของร้าน วางแผนการทำงานให้พนักงาน เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของเจ้าของร้าน ส่วนใหญ่อาจจะนั่งอยู่ในออฟฟิศหรือไม่ค่อยมาทำงานด้านการปฏิบัติการหน้าร้านเหมือนน้องๆ เด็กเสิร์ฟหรือพนักงานทั่วไปนัก อาจจะใส่เสื้อผ้าที่ดูดีหรือบางคนก็จะใส่สูทผูกเน็กไทด้วย เมื่อมีลูกค้าต่างชาติมาหรือมีปัญหากับลูกค้าต่างชาติก็อาจจะมาคอยช่วยเหลือให้บริการเป็นกรณีไป
แต่ผู้จัดการร้านอาหารของประเทศญี่ปุ่นนั้นจะบอกว่าทำงานหนักจนแทบเรียกว่าหนักที่สุดในร้านและเหนื่อยแทบตายก็ว่าได้ ก่อนที่จะโรคโควิดระบาด เศรษฐกิจของญี่ปุ่นและร้านอาหารก็ยังดีอยู่ และตื่นตัวดีอยู่ แต่ด้วยความที่เด็กพนักงานรุ่นใหม่ๆ มีน้อยลงเมื่อหาพนักงานไม่ได้ ผู้จัดการร้านก็ต้องทำงานแทนทุกหน้าที่ ปกติแล้วบางบริษัทอาจจะให้ผู้จัดการร้านหยุดได้เดือนละ 3 วัน แต่กลายเป็นว่าส่วนใหญ่แล้วผู้จัดการร้านจะต้องมาทำงานที่ร้านทุกวัน คือรู้สึกว่าคนที่มีตำแหน่งสูงในร้าน จะทำงานเหนื่อยมากที่สุด นั่นก็คือผู้จัดการร้านนั่นเอง การที่ผู้จัดการร้านต้องทำงานเหนื่อยและหนักมากขนาดนั้นคงเป็นเพราะว่ากฎหมายแรงงานมีช่องโหว่ที่แทบจะไม่ได้มีการคุ้มครองในส่วนของหน้าที่นี้เลย เพราะว่าเทียบเป็นตำแหน่งผู้บริหารและจัดการ ทั้งๆ ที่ทำงานหนัก ทำงานล่วงเวลาจึงไม่ได้ค่าแรงการทำงานนอกเวลาเหมือเด็กๆ แม้เหนื่อยยากแต่ทำไมคนอยากเป็นผู้จัดการร้าน คงเพราะว่าระบบจูงใจให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตำแหน่งที่มีความเท่ห์ นั่นเอง เป็นถึงผู้จัดการร้านเชียวนะ เท่ห์มาก การใช้แรงจูงใจแบบนี้เรียกว่าให้ทำงานแบบระบบ やりがい搾取 Yarigai sakushu
ระบบ やりがい搾取 Yarigai sakushu คือลักษณะที่จูงใจให้คนทำงานนึกถึง "ความท้าทาย" แทนรางวัลทางการเงิน เพื่อให้ให้คนทำงานนั้นยอมอุทิศตน ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมและทํางานค่าจ้างต่ำหรือชั่วโมงการทํางานนาน
ตัวอย่างองค์กรที่มีแนวโน้มที่จะโน้มน้าวให้พนักงานยอมทำงานแบบ やりがい搾取 Yarigai sakushu คือ
●งานเกี่ยวกับสวัสดิการและการดูแลพยาบาล
●ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม (ผู้จัดการร้าน )
●อุตสาหกรรมดูแลเด็กและการศึกษา (เช่น ครูผู้ดูแลเด็กและครูในโรงเรียน)
●อุตสาหกรรมสวนสนุกและอะนิเมะ และอุตสาหกรรมการผลิตเกม
●กิจกรรมอาสาสมัครและให้สมัครใจมีส่วนร่วมในโครงการ
●งานที่บังคับให้พนักงานทําในระดับเดียวกันกับทํางานภายใต้ข้ออ้างของการฝึกงาน
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงในสังคมญี่ปุ่น ผมอยากแนะนำมังงะเรื่องหนึ่งชื่อ 恋は雨上がりのように ชื่อภาษาอังกฤษว่า "After the Rain" เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นชุดที่เขียนโดย Jun Mayuzuki มีผู้จัดการร้านอาหารแฟมิลี่เรสเตอรองท์ หรือร้านอาหารสำหรับครอบครัว หนุ่มผู้จัดการร้านอายุ 45 ปี เป็นพ่อม่าย เคยแต่งงานแล้วเมื่อหย่าร้างกับภรรยาเก่าก็ทำให้มีลูกติดอีก 1 คน จากนั้นก็มีเด็กสาวมัธยมปลายมาสมัครทำงาน part time ที่ร้าน และสาวตกหลุมรักผู้จัดการร้านนั่นเอง จึงเกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้น อาจจะมีทั้งมิตรภาพระหว่างเพื่อน ความรักต่างวัย และความฝัน แต่ถ้าอยากรู้ว่าผู้จัดการร้านอาหารญี่ปุ่นทำงานหนักและเหนื่อยแค่ไหนต้องลองไปอ่านหนังสือการ์ตูนมังงะเล่มนี้ดูครับ นำเสนอออกมาได้ดีมากทีเดียว วันนี้สวัสดีครับ