xs
xsm
sm
md
lg

"โควิดโนมิกส์” ท้า “อาเบะโนมิกส์” ฟื้นญี่ปุ่นจากอัสดง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายชินโซ อาเบะ อำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอย่างกะทันหันเพราะปัญหาสุขภาพ ช่วงเวลากว่า 8 ปีในฐานะผู้นำญี่ปุ่น นโยบายเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” คือผลงานที่เขาภาคภูมิใจที่สุด เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัย ให้พ้นจากอัสดง

นโยบาย “อาเบะโนมิกส์” มุ่งจะพลิกเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซาต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ด้วยลูกศร 3 ดอกคือ การผ่อนคลายทางการเงินขนานใหญ่, การใช้จ่ายของภาครัฐ และการปฏิรูประบบการทำงาน

ในวันที่ 26 ธันวาคม 2555 ซึ่งรัฐบาลอาเบะสมัยที่ 2 จัดตั้งขึ้น ดัชนีตลาดหุ้นนิกเกอิอยู่ที่ 10,230 เยน แต่ในวันนี้ดัชนีนิกเกอิเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ทะลุระดับ 20,000 เยน อัตราการจ้างงานดีขึ้น บริษัทต่าง ๆ มีผลกำไรมากขึ้น สร้างรายได้จากเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น

นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาญี่ปุ่นอย่างคึกคักจากนโยบาย “ฟรีวีซ่า” ภาคธุรกิจและประชาชนชาวญี่ปุ่นต่างเฝ้ารอการเป็นเจ้าภาพกีฬา “โตเกียวโอลิมปิก” ที่เดิมมีกำหนดจัดขึ้นในปีนี้

การเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้นายอาเบะครองตำแหน่งได้อย่างยาวนาน พรรคเสรีประชาธิปไตยของเขาชนะเลือกตั้ง ครองที่นั่งในสภาอย่างท่วมท้น รัฐบาลอาเบะอ้างว่า เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องยาวนานที่สุดหลังสงครามโลก “อาเบะโนมิกส์” ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด

นายทาโร อาโซ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ถึงกับประกาศว่า “บริษัทที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะบริหารไม่ได้เรื่อง หรือโชคไม่ดี”


เศรษฐกิจดีจริงหรือแค่ภาพลวงตา 

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งชี้ว่า “อาเบะโนมิกส์” ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้มแข็งขึ้นจริง พิสูจน์ได้เมื่อไวรัสโคโรนาระบาด เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ทรุดตัวลงอย่างมาก ไม่อาจจะต้านทานแรงกดดันได้เหมือนราคาคุยของรัฐบาล

ผู้ที่ได้ประโยชน์จาก “อาเบะโนมิกส์” คือธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำกำไรได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ ค่าแรงพื้นฐานเพิ่มขึ้นจริง แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า ทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนไม่ได้เพื่มขึ้นแต่อย่างใด จำนวนมหาเศรษฐีมีเพิ่มมากขึ้น แต่บรรดามนุษย์เงินเดือนและชาวบ้านยังไม่ได้รับประโยชน์จาก “อาเบะโนมิกส์”

ลูกศรดอกที่ 3 คือ การปฏิรูประบบการทำงานแทบไม่เป็นผล จนกระทั่งการระบาดของโควิดบังคับให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับการทำงานแบบออนไลน์ ซึ่งก็ใช้เวลานานมากกว่าจะมะงุมมะงาหรา

ในยุคที่เศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีไอที บริษัทญี่ปุ่นที่เคยบุกเบิกนวัตกรรมกลับไล่ตามสหรัฐและจีนไม่ทัน ปี 2532 บริษัทญี่ปุ่นติดอันดับบริษัทยักษ์ใหญ่ 10 อันดับแรกของโลกมากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ตอนนี้ มีเพียงแค่ โตโยต้า มอเตอร์ ที่รั้งอันดับไว้ได้


โควิดกระแทกเศรษฐกิจดุจสึนามิ 

ความฝันของนายอาเบะที่จะพลิกฟื้นแดนอาทิตย์อุทัยต้องสะดุดลง เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นักท่องเที่ยวหายไปจนหมดสิ้น ร้านค้าต้องปิดทำการ ประชาชนเก็บตัวอยู่กับบ้าน เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ “โตเกียวโอลิมปิก” ต้องเลื่อนการจัดการแข่งขันออกไป ท่ามกลางความวิตกว่า ในปีหน้าจะสามารถจัดการแข่งขันได้จริงหรือ ?

โควิด ได้ล้างมหัศจรรย์แห่ง “อาเบะโนมิกส์” จนหมดสิ้น และทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นถอยกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อ 7 ปีก่อน

รัฐบาลคาดการณ์ว่า รายได้จากภาษีในปีนี้จะลดลงเป็นประวัติการณ์เหลือเพียง 63 ล้านล้านเยนหรือน้อยกว่านั้น ซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ภาษีเมื่อ 6 ปีก่อน แต่รัฐบาลอาเบะขึ้นภาษีผู้บริโภค หรือ VAT มาแล้วถึง 2 ครั้ง ปัจจุบันอยู่ที่ 10% จึงไม่อาจจะขึ้นภาษีได้อีก

นอกจากนี้ จะมีคนตกงานหรือถูกเลิกจ้างมากกว่า 45,000 คนจากพิษของโควิด แต่ก็สะท้อนความจริงอีกด้านหนึ่งว่า การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นจากนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานแบบชั่วคราว ที่ลูกจ้างจะถูกเลิกจ้างได้อย่างง่ายดายเมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบ


อัดเงินกู้วิกฤต หนี้สินเพิ่มพูน

วิกฤตโควิดทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อพยุงเศรษฐกิจ รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณเสริมแล้ว 2 ครั้งเป็นมูลค่ากว่า 160 ล้านล้านเยน แต่ว่าธุรกิจที่หยุดนิ่งและล้มหายไปจากวิกฤตโควิดจะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง

ดังนั้น วิธีการหารายได้มาใช้จ่ายก็คือ ต้องออกพันธบัตรอีกกว่า 90 ล้านล้านเยน ขณะนี้งบประมาณประจำปีมีอัตราส่วนหนี้สินสูงเป็นประวัติการณ์ 56.3% หมายความว่า รายได้ของรัฐบาลญี่ปุ่นมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากการก่อหนี้

ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นถูกจับตาว่า จะดำเนินมาตรการผ่อนปรนทางการเงินขนานใหญ่ตามแนวทาง “อาเบะโนมิกส์” ได้ต่อไปหรือไม่ เพื่อพยุงให้ค่าเงินเยนอ่อนตัว และทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นต่อไป

“อาเบะโนมิกส์” ที่เคยเป็นความหวังฟื้นแดนอาทิตย์อุทัย วันนี้ต้องเผชิญกับโรคระบาดที่คาดไม่ถึง แต่วิกฤตนี้ก็อาจเป็นโอกาสให้ธุรกิจของญี่ปุ่นต้องปรับตัวอย่างจริงจัง เพื่อสร้างรูปแบบการทำงาน เทคโนโลยี ตลอดจนวิถีชีวิตใหม่บนฐานของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน หรืออาจเรียกว่า “โควิดโนมิกส์”.


กำลังโหลดความคิดเห็น