แพทย์ชาวญี่ปุ่นทดสอบพบว่า หน้ากากผ้าไม่สามารถสกัดกั้นเชื้อไวรัสโควิดที่แพร่ทางอากาศได้ แต่ “ยังดีกว่าไม่ใส่” เพราะช่วยลดการแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสและฝอยละอองจากการไอจามได้
รองศาสตราจารย์ คาซูนาริ โอนิชิ จากมหาวิทยาลัยนานานาชาติเซนต์ลุค ในญี่ปุ่น ทำการทดสอบหน้ากากประเภทต่างๆ จากประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่เชื้อผ่านทางอากาศ หรือ airborne และพบว่า หน้ากากผ้ามีอัตราผ่านของเชื้อโรคได้ 100% ทั้งเชื้อโรคที่ลอดผ่านผ้าที่ทำหน้ากาก และผ่านช่องว่างระหว่างหน้ากากกับใบหน้า
ส่วนหน้ากากอนามัยที่ทำจากแผ่นใยสังเคราะห์ที่ไม่ถักทอ มีอัตราผ่านของเชื้อโรค 50% ถ้าหากใส่กระชับแนบสนิทหน้า แต่ถ้าใส่อย่างหลวมๆ เชื้อโรคก็จะผ่านได้ 100%
การทดสอบประสิทธิภาพการปกป้องของหน้ากาก ทำโดยวัดจำนวนอนุภาคขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมโครเมตรในอากาศ เทียบกับจำนวนอนุภาคในพื้นที่ระหว่างหน้ากากกับใบหน้า โดยทดสอบกับหน้ากากหลายประเภททั้งหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยใยสังเคราะห์ หน้ากากกันฝุ่น หน้ากากมาตรฐาน N95 รวมทั้ง “หน้ากากอาเบะ” ที่รัฐบาลญี่ปุ่นแจกให้กับทุกครัวเรือน
รศ.โอนิชิ กล่าวว่า ความแตกต่างของหน้ากากแต่ละประเภทนอกจากเพราะวัสดุที่ใช้แล้ว สิ่งสำคัญคือ วิธีการสวมใส่
หน้ากากมาตรฐาน N95 มีเชื้อไวรัสลอดผ่านได้เพียง 1% ถ้าใส่อย่างถูกต้อง แต่ถ้าใส่ไม่ถูกต้องเชื้อไวรัสจะลอดผ่านได้ 6%
หน้ากากอนามัยแบบไม่ถักทอ ซึ่งผ่านการทดสอบประสิทธิภาพของแผ่นกรอง มีโอกาสที่ไวรัสลอดผ่านได้ 52% แต่หน้ากากที่ไม่มีการทดสอบแผ่นกรอง มีโอกาสที่ไวรัสลอดผ่านได้ 81% แต่ถ้าสวมใส่แบบหลวมๆ ไม่กระชับใบหน้าจะสกัดกั้นเชื้อไวรัสไม่ได้เลย การสวมหน้ากากอย่างถูกต้องมีความสำคัญมากไม่ว่าจะเป็นหน้ากากแบบไหนก็ตาม จุดที่สำคัญคือต้องไม่มีช่องว่างระหว่างหน้ากากกับใบหน้า
อย่างไรก็ตาม รศ.โอนิชิ บอกว่า ถึงแม้หน้ากากผ้าไม่สามารถป้องกันไวรัสที่แพร่ผ่านทางอากาศได้ แต่การสวมหน้ากากสามารถป้องกันการติดเชื้อจากฝอยละอองจากการไอ จาม และยังช่วยให้ผู้สวมไม่ใช้มือไปจับจมูกและปาก ลดการติดเชื้อจากการสัมผัสได้
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ย้ำว่า ถึงแม้จะสวมหน้ากากแล้วก็ต้องไม่ประมาท คิดว่าหน้ากากจะป้องกันเชื้อไวรัสได้ทั้งหมด เราก็ต้องไม่ละเลยในการรักษาสุขอนามัย เช่น ล้างมือสม่ำเสมอ ไม่จับต้องสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็น