คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ในที่สุดตามเมืองใหญ่ ๆ ของญี่ปุ่นก็ประกาศภาวะฉุกเฉินท่ามกลางวิกฤติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว อีกทั้งยังได้ขอให้กิจการบางประเภทปิดทำการชั่วคราวหรือเปิดช่วงเวลาสั้นลง
หนึ่งในกิจการที่เกรงว่าจะส่งผลกระทบมากและน่าเป็นห่วงได้แก่เน็ตคาเฟ่ เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของคนรายได้ต่ำและไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งซึ่งเรียกกันว่า “คนไร้บ้านในเน็ตคาเฟ่”
คำว่า “คนไร้บ้านในเน็ตคาเฟ่” (ネットカフェ難民) เป็นศัพท์ใหม่ของญี่ปุ่นที่ได้รับเลือกเมื่อปี พ.ศ. 2550 หมายถึงคนไร้บ้านกลุ่มหนึ่งซึ่งใช้เน็ตคาเฟ่เป็นที่พักหรืออยู่อาศัย คนเหล่านี้มีทั้งคนที่มีรายได้แบบหาเช้ากินค่ำไปจนถึงคนที่มีงานประจำแต่รายได้ต่ำหรือไม่มั่นคง จึงไม่สามารถเช่าบ้านซึ่งมีค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสูงและมีภาระค่าบ้านในระยะยาวได้
เน็ตคาเฟ่ของญี่ปุ่นมีอยู่ทั่วไปรอบบริเวณสถานีรถไฟโดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ สมัยก่อนเน็ตคาเฟ่เป็นสถานที่ให้อ่านหนังสือการ์ตูน นิตยสาร เล่นอินเทอร์เน็ต มีเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์บริการฟรีโดยให้ไปกดเอาเองจากเครื่อง ปัจจุบันหลายแห่งมีห้องอาบน้ำ และอาจมีเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญไว้บริการเพิ่มด้วย ซึ่งต้องชำระค่าบริการต่างหาก
ค่าใช้บริการเน็ตคาเฟ่ขั้นต่ำอยู่ที่ตั้งแต่ 200 เยนต่อครึ่งชั่วโมง หรือเป็นแพ็คเกจอย่างต่ำตั้งแต่ 3 ชั่วโมงขึ้นไปราคาประมาณ 1,000 เยน ถ้าอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงจะอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 เยน หลายแห่งจะติดราคาต่อวัน/สัปดาห์/เดือนไว้ให้ด้วย แสดงว่ามีคนอยู่อาศัยในเน็ตคาเฟ่กันจริงจัง
เน็ตคาเฟ่ทั่วไปจะแบ่งออกเป็นสองแบบคือ เป็นห้องส่วนตัวกับเป็นโต๊ะคอมพิวเตอร์นั่งในพื้นที่รวม ถ้าเป็นห้องส่วนตัวก็จะคล้าย ๆ คอกกั้น ด้านบนเปิดโล่ง พื้นที่ภายในคอกก็แคบ อาจจะพอ ๆ กับพื้นที่เตียงเดี่ยวแต่สั้นกว่านิดหน่อย มีประตูล็อกได้จากภายใน มีให้เลือกแบบเป็นเบาะทั้งห้องซึ่งพอจะนอนเอกเขนกได้ หรือแบบเก้าอี้นวมที่ปรับเอนเบาะได้
ภายในห้องมีคอมพิวเตอร์พร้อมอินเทอร์เน็ตและโทรทัศน์ แต่ต้องสวมหูฟังซึ่งจัดไว้พร้อม มีกระจกบานเล็ก ๆ อยู่บนโต๊ะ รวมทั้งโคมไฟตั้งโต๊ะซึ่งสว่างพอแค่สำหรับพื้นที่แคบ ๆ นั้น ดูแล้วก็ออกจะสลัวมืดทึมอยู่เหมือนกัน แต่ภายในห้องก็สะอาดดี เสียแต่ว่าเหม็นกลิ่นบุหรี่อบอวลไปทั่วบริเวณ
ฉันเคยใช้บริการเน็ตคาเฟ่เป็นครั้งคราวเหมือนกันค่ะ เช่น เวลาไปธุระตอนบ่ายแล้วเจอเพื่อนอีกทีตอนเย็น บางทีมีเวลาว่างคั่นหลายชั่วโมง ครั้นจะกลับบ้านไปก่อนแล้วออกมาอีกทีก็เสียเวลา ถ้าไม่ได้มีแผนจะไปไหนเป็นพิเศษ บางทีฉันก็จะไปนั่งอ่านหนังสือการ์ตูนหรือนิตยสารในเน็ตคาเฟ่ เพราะมีที่ให้เลื้อยไปมาหรือนอนเอกเขนกได้ พร้อมมีเครื่องดื่มบริการฟรีตลอด
เคยมีเหมือนกันที่ฉันเพิ่งเดินทางมาจากอเมริกาถึงญี่ปุ่นแต่เช้า โรงแรมที่จองไว้ยังไม่รับเช็คอิน และร้านรวงก็ยังไม่เปิด ฉันก็เอากระเป๋าไปฝากโรงแรมไว้ แล้วอาศัยเน็ตคาเฟ่เป็นที่งีบไปก่อนเพราะเหนื่อยจากการเดินทาง ฉันเลือกห้องที่เป็นเบาะทั้งห้อง พอตั้งนาฬิกาปลุกวางไว้ข้างตัวเสร็จ ก็ผล็อยหลับไปอย่างง่ายดาย
ดูเผิน ๆ แล้วเน็ตคาเฟ่ก็ให้ความสบายและความเป็นส่วนตัวได้ระดับหนึ่ง คล้ายกับการนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บนเตียงนอนตัวเองโดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่รอบตัว อาจจะเพราะความสะดวกสบายและเป็นส่วนตัวในระดับหนึ่งเช่นนี้จึงทำให้คนจำนวนหนึ่งหันมาอาศัยอยู่ในเน็ตคาเฟ่ในระยะยาวเสียเลย
จากข้อมูลของกรุงโตเกียว ณ ปี พ.ศ. 2561 พบว่ามีคนไร้บ้านในเน็ตคาเฟ่ของกรุงโตเกียวไม่ต่ำกว่า 4,000 คนต่อวัน ส่วนใหญ่ 74.7% ทำงานไม่เป็นหลักแหล่ง, 4.4% เป็นพนักงานประจำ, 5.2% ประกอบธุรกิจส่วนตัว และ 15.7% ไม่มีรายได้
สาเหตุที่เกิดกลุ่มคนไร้บ้านในเน็ตคาเฟ่ขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะการตกงาน ลาออกจากงานประจำ มีหนี้สิน มีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือมีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้คน โดยบางคนก็มีวุฒิการศึกษาสูงระดับปริญญา เคยทำงานประจำ แต่เกิดปัญหากับเจ้านายที่ใช้อำนาจกดขี่ หรือเหนื่อยล้ากับการทำงานล่วงเวลาเกินร้อยชั่วโมงต่อเดือน เมื่อทนไม่ได้จึงลาออก หลายคนทีเดียวที่บอกว่าไม่อยากกลับไปทำงานประจำหรือต้องวุ่นวายเรื่องคนอีก
ระหว่างที่อยู่อาศัยในเน็ตคาเฟ่นั้น บางคนดื่มเครื่องดื่มฟรีในเน็ตคาเฟ่ประทังชีวิตเป็นมื้อ ๆ ไป ซึ่งก็มักเป็นเครื่องดื่มน้ำตาลสูงจนทำให้บางคนฟันผุไปทั่วปาก หรือซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ้าง ขนมขบเคี้ยวเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างรับประทานแทนอาหาร นาน ๆ อาบน้ำเสียทีหนึ่ง และใส่เสื้อผ้าตัวเดิมหลายวันก่อนซัก เวลาว่างก็เล่นมือถือ ดูโทรทัศน์ไปวัน ๆ บ้างก็ใช้เงินที่หามาได้ไปกับเหล้าเบียร์และบุหรี่ บางคนรอให้เงินหมดแล้วค่อยหางาน ช่วงไหนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเน็ตคาเฟ่ก็อาศัยนอนตามข้างทางเอา
ที่น่าสนใจคือเกินครึ่งของคนไร้บ้านในเน็ตคาเฟ่ของกรุงโตเกียวมีรายได้เฉลี่ย 110,000-150,000 เยน ดูแล้วก็น่าจะเช่าบ้านอยู่ได้ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ค่าเช่าบ้านญี่ปุ่นตอนแรกเข้าอาจสูงเกือบ 5-6 เท่าของค่าเช่าบ้านรายเดือน เพราะต้องมีค่ามัดจำ ค่าขวัญถุงซึ่งเป็นเงินให้เปล่าแก่เจ้าของบ้าน (แต่เดี๋ยวนี้น้อยลงแล้ว) รวมทั้งค่านายหน้าหาบ้านด้วย บางแห่งยังต้องมีคนค้ำประกันหรือจ้างบริษัทค้ำประกันในการเช่าบ้าน และยังต้องทำสัญญาเช่ากันเป็นรายปี แถมยังมีค่าน้ำค่าไฟค่าแก๊สต่างหาก คนที่รายได้ต่ำหรือไม่แน่นอนจึงหันไปอยู่เน็ตคาเฟ่แทน
บางคนก็ไม่ได้อยากมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเพราะมีหนี้สินติดตัว หรือบางคนก็ไม่มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านจึงเช่าบ้านไม่ได้ หรือบางคนที่อายุน้อยไม่เคยเช่าบ้านอยู่เองมาก่อนจึงไม่รู้ว่าต้องเช่าบ้านอย่างไรก็มี ในความเป็นจริงแล้วเรื่องเหล่านี้พอมีหนทางแก้ไข เช่น หากมีปัญหาหนี้สินก็มีหน่วยงานด้านกฎหมายที่ให้คำปรึกษาฟรี หากไม่มีทะเบียนบ้านก็ไปปรึกษาที่สำนักงานเขตได้ แต่ด้วยความที่แต่ละคนก็ตัวคนเดียวจึงไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ได้แต่ถอดใจแต่แรกเพราะคิดว่าไม่มีหนทาง จึงไม่มีกระทั่งความคิดว่าจะขอรับคำปรึกษาจากที่ไหนไปด้วย
เมื่อไม่มีบัตรประจำตัว ไม่มีทะเบียนบ้าน จึงหางานดี ๆ ยากไปด้วย บางคนต้องไปทำงานกลางคืน หรือได้งานค่าแรงต่ำ นอกจากนี้ยังไม่ได้รับสวัสดิการอย่างคนญี่ปุ่นทั่วไปที่จ่ายภาษีและค่าประกันสังคม ไม่มีอนาคต ไม่มีความหวัง ไม่มีเป้าหมายในชีวิต แต่ละวันที่ไม่ได้ทำงานก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรหรือไปไหน ยิ่งใช้ชีวิตแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็ยิ่งออกจากสภาพเช่นนี้ไม่ได้เสียที
แม้ว่าเน็ตคาเฟ่อาจให้ความสะดวกสบายในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต เกม การ์ตูน เครื่องดื่ม อาหารรองท้อง ห้องอาบน้ำ เครื่องซักผ้า และที่นอน แต่ตราบใดที่ยังอาศัยอยู่ในเน็ตคาเฟ่ คนเหล่านี้ก็ยังอยู่ในสถานะคนไร้บ้านอยู่ดี หากขาดรายได้เข้ามากระทันหันก็ได้แต่ต้องออกไปนอนข้างถนนอย่างเดียว
อีกอย่างที่น่าเป็นห่วงคือภายในเน็ตคาเฟ่ไม่มีอากาศถ่ายเท อีกทั้งยังเต็มไปด้วยกลิ่นบุหรี่คละคลุ้ง ยิ่งมีคนมาอยู่อาศัยในพื้นที่แบบนี้ทั้งระยะสั้นระยะยาว ก็ยิ่งง่ายที่เน็ตคาเฟ่จะกลายเป็น "แหล่งเพาะเชื้อโรค"
ยิ่งคนไร้บ้านที่นอนไม่พอ รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ สุขภาพย่ำแย่ ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะป่วย อีกทั้งส่วนใหญ่ก็ไม่มีประกันสุขภาพด้วย หากไปหาหมอก็มีค่าใช้จ่ายสูงจึงไม่ได้ไปรับการรักษา จึงเป็นที่กังวลว่าในช่วงเวลาที่โรคทางเดินหายใจแพร่ระบาด เน็ตคาเฟ่จะเป็นแหล่งแพร่และติดต่อเชื้อโรคได้ง่ายยิ่ง
ช่วงนี้ซึ่งญี่ปุ่นหันมาขอร้องแกมบังคับให้กิจการหลายประเภทปิดชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า เน็ตคาเฟ่ก็เป็นหนึ่งในกิจการที่อยู่ในข่ายด้วย แรก ๆ มีหลายฝ่ายกังวลว่าคนไร้บ้านในเน็ตคาเฟ่จะไปอยู่ที่ไหน
ผู้ร่วมรายการข่าวญี่ปุ่นคนหนึ่งได้ให้ความเห็นเป็นแนวทางไว้อย่างน่าสนใจว่า ในเมื่อมีการหาสถานที่พยาบาลชั่วคราวสำหรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนขึ้น ก็น่าจะทำแบบเดียวกันให้คนไร้บ้านในเน็ตคาเฟ่ด้วย ไม่ใช่ปล่อยพวกเขาไปตามยถากรรม รัฐควรจะหาแนวทางช่วยเหลือโดยมองว่าการปกป้องคนกลุ่มนี้ เท่ากับเป็นปกป้องสังคมไปด้วย
ไม่ทราบว่าเป็นเพราะความเห็นของเขาหรือเปล่า เมื่อปลายสัปดาห์นี้ก็ได้ข่าวว่าทางกรุงโตเกียวกำลังเร่งจัดหาสถานที่อยู่ชั่วคราวให้แก่คนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นอะพาร์ตเมนต์เอกชนหรืออะพาร์ตเมนต์ราคาถูกที่กรุงโตเกียวมีไว้ให้คนรายได้น้อยเช่า ในขณะที่จังหวัดคานางาวะซึ่งติดกับกรุงโตเกียวกำลังเตรียมพื้นที่ใน "บุโดคัง" ของจังหวัด (ปกติใช้เป็นที่ฝึกซ้อมกีฬาประเภทศิลปะป้องกันตัว และใช้เป็นที่หลบภัยยามเกิดภัยพิบัติ) เพื่อรองรับคนไร้บ้านในเน็ตคาเฟ่ด้วย ก็เป็นข่าวดีที่น่าจะทำให้คนหลายกลุ่มโล่งใจไปตาม ๆ กันนะคะ
(เตียงและผ้าห่มที่จัดเตรียมไว้ภายในบุโดคังของเมืองโยโกฮามะจังหวัดคานางาวะ )
นี่ก็เป็นอีกมุมหนึ่งของความยากจนที่เกิดขึ้นท่ามกลางเมืองใหญ่ของญี่ปุ่น และเป็นรูปแบบของคนไร้บ้านที่มองเห็นยากที่ผ่านมาพวกเขามักเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารหรือความช่วยเหลือที่จำเป็น จึงตกอยู่ในสภาพแก้ปัญหาบางอย่างไม่ได้ แต่ในเมื่อทางจังหวัดเข้าถึงตัวพวกเขา และหาทางช่วยท่ามกลางวิกฤติโคโรน่าแล้ว ก็อาจเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานต่าง ๆ จะนำข้อมูลข่าวสารที่เอื้อประโยชน์ให้แก่พวกเขาไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งอาจกระตุ้นให้พวกเขาสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองได้ในวันหนึ่งก็เป็นได้นะคะ
พูดถึงเรื่องคนไร้บ้านแล้วก็นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง The Pursuit of Happyness สร้างมาจากเรื่องจริงของ Chris Gardner คนไร้บ้านที่สู้ชีวิต จนกระทั่งกลายมาเป็นมหาเศรษฐีและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ อีกทั้งยังได้ช่วยเหลือองค์กรการกุศลอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานที่ที่เคยให้เขาพักพิงตอนสิ้นไร้ไม้ตอก รวมทั้งบริจาคให้โครงการหาบ้านสำหรับคนรายได้น้อยและสร้างอาชีพในถิ่นที่เขาเคยเป็นคนไร้บ้านมาก่อน ถ้ายังไม่เคยดู แนะนำให้ลองหามาดูค่ะ เป็นเรื่องที่น่าประทับใจและสร้างแรงบันดาลใจอย่างยิ่งเลยทีเดียว
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าสวัสดีค่ะ.
ตัวอย่างภาพยนตร์ The Pursuit of Happyness
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.