คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน เพียงในเวลาไม่กี่เดือนไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พิษไวรัสโคโรนาก็ทำเอาชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงเลยนะคะ ในที่สุดเมืองใหญ่ที่เคยคึกคักและอยู่ไกลเอเชียถึงอีกซีกโลกหนึ่งอย่างนครนิวยอร์ก ก็ถูกกระแสไวรัสโคโรนาซัดกระหน่ำเอาจนตอนนี้แทบกลายเป็นเมืองร้าง ในขณะที่กรุงโตเกียวซึ่งเผชิญศึกหนักรอบด้านมาแต่แรกยังเรียกได้ว่าคึกคักกว่ากันมากนัก
แม้ญี่ปุ่นจะประกาศปิดโรงเรียน พิพิธภัณฑ์ และขอความร่วมมือให้ยกเลิกงานอีเวนท์เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ซึ่งมีการเปิดสถานีรถไฟทาคานาวะเกทเวย์ ซึ่งเป็นสถานีล่าสุดของสายยามาโนเทะในกรุงโตเกียว คนก็แห่กันไปอย่างรื่นเริง ด้วยความที่สถานีนี้ไฮเทคตรงที่มีร้านสะดวกซื้อซึ่งไม่มีคนขายแต่ใช้ระบบเทคโนโลยี และยังมีหุ่นยนต์เอไออำนวยความสะดวกภายในสถานีด้วย แถมคนจำนวนมากก็อยากได้ตั๋วรถไฟระบุวันแรกที่สถานีนั้นเปิดเก็บไว้เป็นที่ระลึก แม้จะต้องรอคิวซื้อตั๋วกันสามชั่วโมงครึ่งก็มีคนยอมรอ
ก่อนหน้านั้นไม่นานในช่วงที่รัฐบาลญี่ปุ่นขอความร่วมมืองดอีเวนท์ต่าง ๆ จู่ ๆ คณะละครเพลงทาคาระซึกะอันโด่งดังก็เปิดการแสดงในจังหวัดเฮียวโงะ แฟน ๆ ก็แห่แหนกันไปดูอย่างคับคั่ง ซึ่งรวมถึงคนสูงวัยจำนวนมากซึ่งน่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อและอาการทรุดได้ง่ายด้วย แม้จะมีมาตรการเข้มงวดเช่นต้องวัดไข้ สวมหน้ากาก ทำความสะอาดมือด้วยเจลฆ่าเชื้อ แต่การเปิดการแสดงในช่วงเวลาเช่นนี้ก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแฟนคลับก็มาจากท้องถิ่นอื่นด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดการระบาดกระจายกันไปง่ายขึ้น
และแม้คนญี่ปุ่นจำนวนมากจะยังหวาดหวั่นต่อการติดเชื้อมากแค่ไหน กลัวรถไฟคนแน่นเพียงใด ภาพของผู้คนที่เบียดเสียดยัดเยียดกันอยู่บนรถไฟยามชั่วโมงเร่งด่วนเพื่อไปทำงาน ก็ยังคงปรากฏให้เห็นเช่นเคย แม้จะมีบางบริษัทที่ให้ทำงานจากบ้านได้อยู่บ้าง แต่ก็นับเป็นส่วนน้อย
ส่วนในนิวยอร์กนั้นระยะแรกที่มีข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อ พนักงานบางคนก็ขอทำงานจากบ้านเลย หรือบางแห่งบริษัทก็ขอให้ลูกทีมทำงานจากบ้านไปก่อนสักระยะหนึ่ง เพราะกลัวการแพร่ระบาด แต่ขณะที่ในญี่ปุ่นแม้จะหวั่นวิตกอย่างไร แต่ก็กลัวว่าถ้าไม่ไปทำงานที่บริษัทอาจทำให้ภาพลักษณ์ไม่ดี และเสี่ยงต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
ทั้งญี่ปุ่นและอเมริกาต่างก็มีเทคโนโลยีล้ำยุค ซึ่งเอื้ออำนวยให้งานหลายอย่างสามารถทำจากที่ไหนก็ได้ที่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต แต่มุมมองเกี่ยวกับการทำงานจากบ้านของคนทั้งสองประเทศนี้ต่างกัน และโครงสร้างองค์กรก็ต่างกัน จึงทำให้การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็ไม่เท่ากันไปด้วย
สังคมอเมริกันมีความยืดหยุ่นสูงกว่า และค่อนข้างเน้นผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ หากการทำงานจากบ้านไม่ได้ส่งผลลบต่องาน หรือช่วยให้พนักงานบริหารจัดการเรื่องภายในครอบครัวตามที่จำเป็นโดยไม่กระทบต่องาน การทำงานจากบ้านเป็นครั้งคราวหรือชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในหลายบริษัท
หากแต่ญี่ปุ่นกลับไม่ได้มีบรรยากาศเช่นนั้น กล่าวคือคือค่อนข้างเน้นวิธีการอย่างเคร่งครัดละเอียดลออ ต้องการควบคุมและสอดส่องดูแลได้ทั่วถึง โดยเฉพาะคนเป็นเจ้านายที่ต้องแบกภาระรับผิดชอบหากลูกน้องทำงานพลาด นอกจากนี้งานก็ต้องมาก่อนเรื่องอื่น ๆ ทั้งหมดในชีวิต
บทความสถาบันวิจัย NLI ของญี่ปุ่นกล่าวว่า ในญี่ปุ่นนั้นนอกจากจะมีธุรกิจที่นำระบบทำงานจากบ้านมาใช้น้อย(ไม่ถึงร้อยละ 30)แล้ว พนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทที่มีระบบนี้กลับไม่เคยได้นำมาใช้จริงอีกด้วย ทั้งที่งานบางอย่างก็สามารถทำจากบ้านได้
เขาคาดว่าสาเหตุที่คนไม่ค่อยจะทำงานจากบ้านกันทั้งที่ทำได้ น่าจะเป็นเพราะกลัวเจ้านายไม่พอใจ อีกทั้งยังกลัวว่าจะส่งผลลบต่อการขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง หรือการประเมินผลการทำงานด้วย ในขณะที่คนเป็นเจ้านายเองก็ไม่สบายใจถ้าไม่ได้เห็นลูกน้องทำงานให้เห็นอยู่ต่อหน้าด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้แล้ว อัตราการนำระบบทำงานจากบ้านมาใช้ก็ยังขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจด้วย คือยิ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ก็ยิ่งให้โอกาสทำงานจากบ้านมากกว่าธุรกิจขนาดเล็กกว่า อาจเป็นไปได้ว่าธุรกิจใหญ่มีการทำธุรกิจกับต่างชาติมากกว่าธุรกิจเล็ก มีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารในการทำงานมากกว่า จึงเปิดกว้างต่อแนวคิดใหม่ ๆ ในการทำงานมากกว่าก็ได้นะคะ
แต่อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมแล้วญี่ปุ่นคงยังต้องใช้เวลาในการปรับทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานจากบ้าน ซึ่งก็คงไม่ง่ายตราบใดที่คนญี่ปุ่นยังไม่กล้าเสี่ยงแหวกกรอบธรรมเนียมเดิม ๆ เพราะกลัวที่จะถูกเพ่งเล็ง และนำไปสู่การไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม
ทีนี้เราลองหันมาดูชีวิตในนิวยอร์กท่ามกลางวิกฤติโคโรนากันบ้าง ตั้งแต่เริ่มมีข่าวไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดในเมืองจีน ก็มีข่าวหญิงเอเชียถูกทำร้ายร่างกายอย่างน้อยสองรายในนิวยอร์ก ล่าสุดก็มีชายเอเชียคนหนึ่ง ถูกพ่นสเปรย์ทำความสะอาดใส่ระหว่างโดยสารรถไฟ
ที่ผ่านมานาน ๆ ทีจึงจะมีข่าวเหยียดคนเอเชียในนิวยอร์กแบบนี้สักหนหนึ่ง แต่ดูเหมือนท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ชาวเอเชียดูจะกลายเป็นผู้ร้ายหรือไม่ก็ผู้ต้องสงสัยกันไปหมด เดิมฉันเคยมองว่าชาวนิวยอร์กอยู่ร่วมกับความหลากหลายของเชื้อชาติได้ดีพอสมควร แต่ความเชื่อนี้ก็ถูกสั่นคลอนเมื่อเห็นการเหยียดคนเอเชียเริ่มปรากฏใกล้ตัว
สัปดาห์ก่อนฉันกับสามีขึ้นรถไฟใต้ดินไปเจอเพื่อนที่มาเยี่ยมจากรัฐอื่น ปกติรถไฟแถวบ้านฉันมีคนเอเชียโดยสารกันเป็นจำนวนมาก แต่คราวนี้แทบไม่เห็นเลย แล้วพอฉันขึ้นรถไฟขบวนหนึ่งจากต้นทางและได้ที่นั่ง คนอื่น ๆ ที่กรูกันขึ้นรถไฟมาต่างก็เลี่ยงที่นั่งข้างฉันรวมทั้งที่นั่งข้างคุณลุงเอเชียคนหนึ่งที่นั่งตรงกันข้าม ฉันกับคุณลุงมองหน้ากันแล้วก็ยิ้มให้กัน เอาเถอะ อย่างน้อยก็ดีที่วันนั้นก็ไปกลับบ้านโดยปลอดภัย ไม่มีใครโดนทำร้าย
ปกติคนอเมริกันไม่สวมหน้ากากอนามัยกันในชีวิตประจำวัน จึงไม่ค่อยเห็นคนสวมหน้ากากอนามัยบนรถไฟ ผู้คนหาทางป้องกันตัวโดยวิธีอื่น ๆ กันมากกว่า บางคนจับราวโดยเอาผ้าเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อวางทาบไว้ก่อน มือจะได้ไม่สัมผัสโดยตรง บางคนก็สวมถุงมือข้างเดียว คงเป็นข้างที่ถนัดและสัมผัสสิ่งต่าง ๆ บ่อย ความคิดนี้ก็น่าจะดีเหมือนกันตราบเท่าที่ไม่เอามือสัมผัสใบหน้าหรือหยิบอะไรเข้าปาก และทิ้งถุงมือนั้นไปเมื่อใช้เสร็จ
บางคนก็ทำอะไรเอิกเกริกอยู่เหมือนกันค่ะ เพื่อนฉันเอารูปที่ถ่ายเองจากรถไฟใต้ดินให้ดู เป็นชายสวมชุดคล้ายชุดอวกาศนั่งโดยสารรถไฟกับคนอื่น ๆ ดูท่าจะพยายามป้องกันการติดเชื้อสุดฤทธิ์ ฉันเห็นแล้วนึกไปถึงคนที่สวมชุดประหลาดทำตลกสร้างสีสันเวลามีแข่งวิ่งมาราธอน แต่จากรูปที่เห็นนั้นฉันเดาไม่ถูกว่าบุคคลในรูปเอาจริงหรือเอาฮา แต่ทว่าคนประหลาดในนิวยอร์กก็มีเกลื่อนเมืองเป็นปกติอยู่แล้ว
ระยะหลังนี้เริ่มเห็นคนที่สวมหน้ากากอนามัยกันประปรายทั้งคนเอเชียและคนเชื้อชาติอื่น ๆ พนักงานทำความสะอาดในอาคารบางคนถึงกับสวมหน้ากากพลาสติกแบบครอบแทบทั้งหน้าสำหรับกันฝุ่นและเคมี ความกลัวไวรัสที่มองไม่เห็นและไม่รู้จะมาทางไหนดูเหมือนจะสร้างความหวาดระแวงขึ้นเรื่อย ๆ
และยิ่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พอมีข่าวว่าจะให้ปิดโรงภาพยนตร์ กาสิโน ฟิตเนส บาร์ ร้านอาหารในสามมลรัฐคือ นิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ และคอนเนคทิคัต คนก็แห่กันไปซูเปอร์มาร์เก็ตกันแทบจะในทันที ที่จริงมารวมตัวกันหนาแน่นแบบนี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อ แต่ดูเหมือนทุกคนจะลืมเรื่องนี้ไปเสียสนิท ได้แต่ง่วนอยู่กับความกังวลว่าจะมีของกินของใช้ไม่เพียงพอ คนแห่กันซื้อเนื้อสัตว์ น้ำตาล แน่นอนว่า ชั้นวางกระดาษชำระเกลี้ยง เหลือเพียงกระดาษสำหรับใช้ในครัว สเปรย์ฆ่าเชื้อทำความสะอาด ผ้าอ้อมเด็กก็ไม่เหลือ
สำหรับญี่ปุ่นแล้วสินค้าที่ขาดตลาดในระยะแรก ๆ นอกจากหน้ากากอนามัยแล้วก็ได้แก่ กระดาษชำระ ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก ไม่ทราบว่าเป็นเพราะปกติคนญี่ปุ่นมีความตระหนักเรื่องความสะอาดสูงเป็นพิเศษอยู่แล้วหรือเปล่านะคะ ทำให้สินค้าที่เกี่ยวกับการขจัดความสกปรกเป็นสิ่งที่นึกถึงกันเป็นอันดับต้น ๆ
แต่ระยะหลังสินค้าต่าง ๆ ในญี่ปุ่นก็ทยอยกลับมาอยู่บนชั้นวางตามเดิมบ้างแล้ว ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่ามีบางห้างเอากระดาษชำระมาตั้งขายเป็นจำนวนมากพร้อมติดป้ายว่าให้ซื้อได้ไม่เกินคนละ 10 ห่อ ซึ่งห่อหนึ่งก็โต ๆ หิ้วกันไม่ไหวอยู่แล้ว คาดว่าคงเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาทำให้คนเลิกตระหนกว่าสินค้าไม่พอ จะได้ไม่กักตุน
ช่วงที่ผ่านมาภาพของการกักตุนสินค้าเกิดขึ้นในหลายประเทศ แม้ความต้องการความปลอดภัยจะเป็นที่เข้าใจได้ แต่เมื่อนึกถึงคนอื่นในสังคมที่ต้องกินต้องใช้เช่นกันแต่ไม่มีของจะทำอย่างไร เราก็น่าจะซื้อเท่าที่จำเป็นก็พอ จะได้แบ่งให้คนอื่น ๆ ได้มีกินมีใช้บ้าง ถ้าเผลอซื้อตุนไปเยอะแล้ว ก็ลองมองหาคนที่ไม่มี แล้วแบ่งปันกัน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
พี่ฉันบอกว่า สงสารผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียวจะลำบากแค่ไหน คนจะไปเยี่ยมก็กลัวจะเอาโรคไปติด จะออกไปซื้อของเองก็กลัวจะติดเชื้อ ดูเหมือนคนที่คิดคล้ายกันคงมีเยอะ เพราะวันนั้นเองฉันก็ได้ทราบข่าวจากในทวิตเตอร์ว่ามีคนอเมริกันบางคนหรือบางชุมชนที่เขาอาสาไปซื้อกับข้าวแทนผู้สูงอายุ รวมทั้งบริจาคของให้คนที่ไม่มีกำลังซื้อด้วย
ฉันเห็นคนขี่จักรยานซึ่งมัดขวดปั๊มเจลฆ่าเชื้อสองขวดไว้กับคันจับสองข้างในนิวยอร์ก พลางร้องไปตลอดทางว่า “เจลฆ่าเชื้อ ๆ” เข้าใจว่าคงให้ใช้ฟรีจะได้ช่วยกันลดการแพร่เชื้อ ในไทยเองก็ได้ข่าวว่าบางบ้านตั้งอ่างล้างหน้าไว้หน้าบ้านให้คนที่เดินผ่านไปมาได้ใช้ล้างมือ รวมทั้งมีคนดังอย่างคุณหมอผิง ธิดากานต์ และคุณโหน่ง วงศ์ทนง เป็นต้น ที่ยินดีแชร์พื้นที่ในทวิตเตอร์ส่วนตัวให้โฆษณาขายสินค้าและบริการ เพื่อช่วยให้คนพอมีรายได้กันในยามเศรษฐกิจซบเซา คนรู้จักฉันคนหนึ่งก็แบ่งปันหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลที่ขาดจริง ๆ ได้มีใช้ รวมทั้งเตรียมหน้ากากผ้าสาลู,ผ้ามัสลินไว้ให้เจ้าหน้าที่รถขยะ คนกวาดถนน คนนั่งขายของตามพื้น หรือคนที่อาจจะไม่มีด้วย
ยามหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ สิ่งที่ช่วยแบ่งเบาความทุกข์ใจได้ ก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่าน้ำใจและความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมสังคมนะคะ นอกจากนี้แล้วการจำกัดบริเวณตนเองและไม่ออกนอกบ้านหากไม่จำเป็นก็เป็นน้ำใจต่อสังคมอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน
อยากให้เพื่อนผู้อ่านดูวิดีโอนี้ ซึ่งอธิบายการแพร่เชื้อที่เข้าใจง่าย ทำให้เข้าใจว่าทำไมเราจึงควรจำกัดบริเวณตนเอง ขอบคุณคนที่แปลวิดีโอนี้และผู้ใหญ่ที่ส่งมาให้ดูนะคะ เป็นประโยชน์มาก
ยิ่งคนทำงานในสถานพยาบาลยิ่งมีความเสี่ยงติดเชื้อสูง การให้ความสำคัญกับบุคลากรเหล่านี้เป็นอันดับต้น ๆ เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจกันเป็นพิเศษ และช่วงนี้ก็มีภาพบุคลากรทางการแพทย์รณรงค์ให้คนอยู่บ้านกันแพร่หลายด้วยค่ะ (ดูเหมือนแนวคิดนี้จะเริ่มจากคุณหมอในมาเลเซีย)
โรงพยาบาลบางแห่งในอเมริกาก็รณรงค์แบบนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้บรรดาโรงพยาบาลและคลินิกหมอฟันที่ฉันใช้บริการในนิวยอร์กก็พากันส่งอีเมลมาว่า ปัจจุบันให้บริการเฉพาะคนไข้ที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น รวมทั้งจำกัดคนมาเยี่ยมผู้ป่วยได้เพียงคนเดียว และส่งเสริมให้ใช้เฟซไทม์แทนการมาเยี่ยมด้วยตนเอง เป็นต้น
ช่วงนี้คนเครียดกันเยอะแยะ แต่ถ้าลองนึกดูว่ามีอะไรที่จะช่วยกันคนละไม้ละมือได้บ้าง ก็น่าจะบรรเทาทุกข์กันไปได้มากทั้งผู้ให้และผู้รับนะคะ อย่างใน Good News Movement ก็มีเรื่องราวดี ๆ อบอุ่น รวมทั้งขำ ๆ จากทั่วโลกในช่วงที่ผู้คนพากันได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ลองเข้าไปดูเผื่อปิ๊งไอเดียแสนดี หรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้อมยิ้มกันละค่ะ 😄
อย่าลืมล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ ไม่ออกไปข้างนอกหรือรวมกลุ่มกันโดยไม่จำเป็นนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.