xs
xsm
sm
md
lg

บรรยากาศในญี่ปุ่นกับไวรัสโคโรนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://www.fnn.jp/
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน สถานการณ์ไวรัสโคโรนาในญี่ปุ่นเวลานี้เป็นที่จับตามองกันไปทั่วโลกนะคะ เพราะนอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้โดยสารเรือไดมอนด์พรินเซสแล้ว ยังมีผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับชาวจีนที่ติดเชื้อในทางใดทางหนึ่ง รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่ติดเชื้อโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับทั้งสองกรณีที่กล่าวมาด้วย มาตรการในการควบคุมโรคของญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายพากันให้ความสนใจอย่างยิ่ง

แม้จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในญี่ปุ่น แต่โดยภาพรวมแล้วดูเหมือนผู้คนส่วนใหญ่จะไม่ได้ตื่นตระหนกเกินเหตุ หากแต่ก็หมั่นติดตามสถานการณ์ ระมัดระวังที่จะป้องกันตัวเอง และป้องกันไม่ให้คนอื่นติดเชื้อที่ตัวเองอาจมี โดยใส่หน้ากากอนามัยในที่มีคนจอแจ กลั้วคอบ่อย ๆ หมั่นล้างมือ หรือไม่ก็ทำความสะอาดมือด้วยเจลหรือน้ำยาแอลกอฮอล์ ความพยายามดูแลตนเองเช่นนี้ส่งผลดีที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ ปีนี้มีผู้เป็นไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่นน้อยกว่าปกติ

บรรยากาศในกรุงโตเกียวดูเหมือนจะเงียบเหงาลง คงเพราะจำนวนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ลดลง รวมทั้งคนจำนวนหนึ่งก็หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเทหรือคนพลุกพล่าน บางบริษัทก็อนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ หรืองดเว้นการไปดื่มหลังเลิกงาน งานสังคมและอีเวนท์หลายอย่างก็ระงับไป

ตามร้านรวงต่าง ๆ พยายามสร้างมาตรการเพื่อให้ลูกค้าสบายใจในการเข้าร้าน อย่างร้านทำผมบางแห่งก็จะให้ลูกค้าให้ความร่วมมือในการใส่หน้ากากอนามัย พอลูกค้าทำผมเสร็จออกจากร้านไป พนักงานก็จะฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อตามโต๊ะเก้าอี้ที่ลูกค้านั่ง ร้านราเม็งบางแห่งก็ใช้วิธีฆ่าเชื้อเช่นเดียวกันทุก ๆ หนึ่งชั่วโมง แม้จะสร้างความรู้สึกแปลกอยู่บ้าง แต่ก็มีลูกค้าบอกว่าทำให้สบายใจที่จะมาใช้บริการ และทางร้านเองก็ตั้งใจว่าจะทำอย่างนี้ไปจนกว่าสถานการณ์ไวรัสโคโรนาจะดีขึ้น

ส่วนในบ้านพักคนชราซึ่งมีความน่าเป็นห่วงเพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายนั้น บางส่วนก็รับมือด้วยการให้เจ้าหน้าที่สวมหน้ากาก ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดมือบ่อยครั้ง รวมทั้งพกติดตัวไว้ตลอดด้วย อีกทั้งยังใส่ยาฆ่าเชื้อไว้ในเครื่องทำไอน้ำในห้องรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันไวรัสแพร่กระจาย

ภาพจาก https://www.gifu-np.co.jp/news/
เพื่อนฉันในญี่ปุ่นหลายคนไม่มีท่าทีกังวลเท่าใดนัก นอกจากคอยปฏิบัติตนเหมือนป้องกันไข้หวัดใหญ่คือ สวมหน้ากากอนามัย กลั้วคอ ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ แล้ว การใช้ชีวิตโดยทั่วไปก็ปกติ เพื่อนคนหนึ่งที่มีลูกอยู่โรงเรียนประถมบอกว่าการใช้ชีวิตที่โรงเรียนยังเหมือนเดิมทุกอย่าง

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาก็มีรายงานว่ามีเด็กประถมสองคนในฮอกไกโดติดเชื้อ หลังจากเด็ก ๆ เข้าโรงพยาบาลไม่กี่วัน ทางโรงเรียนก็เร่งฆ่าเชื้อภายในโรงเรียนกันยกใหญ่ ตามมาด้วยกระทรวงศึกษาธิการขอให้คณะกรรมการการศึกษาจังหวัดฮอกไกโดพิจารณาประกาศปิดโรงเรียนหรือให้หยุดเฉพาะบางชั้นเรียน ซึ่งนี่ก็คงจะสร้างความตระหนักให้โรงเรียนทั่วประเทศมีการเฝ้าระวังมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเด็กอายุต่ำกว่าชั้นประถมอีกคนที่ติดเชื้อ เด็กคนนี้กลับจากเมืองอู๋ฮั่นพร้อมคุณพ่อโดยเครื่องบินที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดไปรับ พอมาถึงญี่ปุ่นแล้วตรวจไม่พบเชื้อจึงให้ทั้งคู่กักบริเวณอยู่บ้าน จากนั้นประมาณสิบวันก็พบว่าคุณพ่อติดเชื้อ และถัดจากนั้นมาอีกสิบวันลูกก็ติดเชื้อด้วย

เรื่องนี้คล้ายกับกรณีที่มีการอนุญาตให้ผู้โดยสารเรือไดมอนด์พรินเซสบางส่วนกลับบ้านได้ ผู้โดยสารต่างชาติซึ่งกลับประเทศโดยเครื่องบินที่รัฐบาลของประเทศตนจัดมารับนั้น หลังจากถึงสนามบินปลายทางแล้วก็ต้องมีการกักกันเพื่อเฝ้าระวังต่ออีกสองสัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ พบว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่มนี้ 18 คน และออสเตรเลียพบ 2 คน (ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563)

ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่นไม่ได้มีมาตรการกักกันเพิ่มเติมโดยทันทีต่อชาวญี่ปุ่นที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากเรือ ผู้โดยสารส่วนใหญ่อาศัยพาหนะโดยสารสาธารณะกลับบ้าน จึงเป็นที่โจษจันกันภายในญี่ปุ่นต่อมาตรการควบคุมโรคที่หละหลวมนี้ แม้ว่าภายหลังจะมีผู้โดยสารคนหนึ่งให้ข่าวว่าหลังกลับมาบ้านสองวันก็ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ว่าให้อยู่บ้านเพื่อสังเกตอาการไปก่อน

ทางกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้จัดตั้ง “ศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ผู้กลับจากต่างประเทศ และผู้ที่ได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ” ซึ่งมีอยู่ตามสถานีอนามัยทุกจังหวัดทั่วญี่ปุ่น เกณฑ์ในการโทรสอบถามศูนย์ดังกล่าวนั้น จะต้องมีอาการเหล่านี้คือ

- มีไข้สูงตั้งแต่ 37.5 องศาขึ้นไปติดต่อกัน 4 วันขึ้นไป
- ร่างกายอ่อนเพลีย
- หายใจลำบาก
- แต่หากเป็นสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวซึ่งได้แก่ เบาหวาน ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ (เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง) รับการฟอกไต ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน รับคีโมบำบัด หากมีอาการต่อเนื่องตั้งแต่ 2 วันขึ้นไปก็ให้ติดต่อศูนย์ได้ทันที

ซึ่งถ้าพบว่ามีความเสี่ยงก็จะให้รับการรักษาในสถานพยาบาลที่กำหนดไว้เฉพาะต่อไป

ภาพจาก https://toyokeizai.net
แต่ที่เป็นปัญหาในปัจจุบันคือ นอกจากศูนย์ดังกล่าวจะโทรติดยากแล้ว เกณฑ์ในการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาก็ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์เท่าใดนัก ตัวอย่างเช่น มีกฎห้ามไม่ให้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาหากผู้ต้องการตรวจไม่แสดงอาการ ดังนั้นผู้ที่ความเสี่ยงว่าอาจติดเชื้อก็ถูกมองข้ามไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการรถเช่าที่ต่อมาพบว่าคนขับติดเชื้อ หรือนักข่าวที่สัมภาษณ์ผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

กระทั่งผู้ป่วยบางรายที่มีไข้ ไอ และตรวจพบว่าเป็นโรคปอด แต่ไม่ได้อยู่ใน “เกณฑ์” ที่รัฐกำหนดไว้ ก็ไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นกัน แม้แพทย์ตามคลีนิคหรือโรงพยาบาลจะติดต่อขอร้องทางศูนย์ฯ ให้ก็ไม่เป็นผล คนไข้ดังกล่าวจึงได้แต่ต้องนอนโรงพยาบาลอื่นรักษาตามอาการไปก่อน

นอกจากนี้ ประชาชนยังกล่าวว่าในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องยากที่จะรอถึงสี่วันหลังมีไข้สูงก่อน แล้วจึงค่อยขอความช่วยเหลือ หลายคนจึงพึ่งสถานพยาบาลอื่นไปก่อนจนกว่าจะถึงเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนทั่วไปที่ติดเชื้อหลายรายมีเส้นทางในการรับเชื้อมาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่แสดงอาการในทีแรก จากนั้นก็พากันแพร่และรับเชื้อติดต่อกันไปสู่คนจำนวนมากขึ้นโดยไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นจากการรับประทานอาหารร่วมกัน ทำงานร่วมกัน อาศัยอยู่ร่วมกัน หรือกระทั่งจากการเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ที่ภายหลังพบว่าติดเชื้อ เป็นต้น

ดังนั้น หากมีการตรวจพบแต่เนิ่น ๆ ก็น่าจะช่วยระงับการแพร่กระจาย หรือรักษาบางชีวิตไว้ได้ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายที่อาจบานปลายในระยะยาวด้วย แนวทางปฏิบัติดังกล่าวของรัฐที่มองข้ามคนหลายกลุ่มไปจึงสร้างข้อกังขาให้แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ ปัจจุบันเจลล้างมือและหน้ากากอนามัยขาดตลาดในญี่ปุ่น แม้จะมีบางคนที่ไปยืนรอหน้าร้านขายยาตั้งแต่ก่อนร้านเปิดเพื่อหาซื้อ ก็ยังไม่สามารถหาซื้อได้ อย่างไรก็ดี รัฐได้เร่งการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศและสั่งจากต่างประเทศเข้ามา หวังว่าประชาชนจะมีหน้ากากอนามัยใช้กันอย่างเพียงพอ

ภาพจาก https://www.city.koriyama.lg.jp/fukushi/kenko_iryo/
(ทางการญี่ปุ่นประกาศขอร้องไม่ให้กักตุนหน้ากากอนามัยไว้ใช้เพื่อป้องกันโรค แต่ให้ซื้อเท่าที่จำเป็นเพื่อให้คนที่สงสัยว่าเป็นหวัดหรือโรคติดต่อได้มีหน้ากากอนามัยใช้ จึงจะป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ดีกว่า ส่วนคนที่ไม่มีหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ก็ขอให้ใช้หน้ากากผ้าหรือผ้าขนหนูเวลาไอหรือจามเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย และให้ล้างมือไว้บ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนสัมผัสปากหรือจมูก)

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้ให้แนวทางว่า หากมีอาการหวัดซึ่งมีไข้ร่วมด้วย ก็ให้ลาป่วยที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน รวมทั้งให้จดอุณหภูมิที่วัดได้เอาไว้ด้วย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว บริษัทญี่ปุ่นนั้นไม่ได้ลาป่วยกันง่ายนัก บางแห่งต้องมีใบรับรองแพทย์เท่านั้นจึงจะหยุดได้ ที่ผ่านมาก็มีกรณีพนักงานบริษัทที่มีไข้สูง แต่ก็ยังขึ้นรถไฟไปทำงานตามหน้าที่เหมือนเดิม หลังจากนั้นเจ้าตัวก็พบว่าตนเองติดเชื้อไวรัสโคโรนา

การฝืนไปทำงานทั้งที่ไม่สบายหรือหิมะตกหนักจนรถไฟหยุดวิ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับคนญี่ปุ่น อีกทั้งบริษัทก็มักปล่อยให้พนักงานตัดสินใจเองว่าจะมาทำงานหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่คนก็ไม่ยอมขาดงานกัน คงเพราะการลาป่วยเป็นเรื่องยากอย่างนี้เอง เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นจึงได้ออกไฟเขียว ประกาศสั่งให้คนขับรถโดยสารและรถไฟที่เป็นไข้ลาป่วยได้

สำหรับความกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อระหว่างโดยสารรถไฟที่คนแน่นนั้น มีบางคนบอกว่าไม่อยากจับห่วงราวจับบนรถไฟจะทำอย่างไรดี แพทย์แนะว่าให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าวางก่อนค่อยจับก็ได้ หรือไม่ก็เอาแขนเสื้อ(เสื้อแขนยาว)วางพาด ไม่ให้มือไปสัมผัสโดยตรง หรือจะห้อยข้อมือกับห่วงจับโดยตรงก็ยังดีกว่าจับมือเปล่า

แพทย์ยังย้ำอีกว่าพอลงจากรถไฟแล้วไปถึงที่ทำงาน ก็ให้รีบล้างมือด้วยสบู่หรือใช้น้ำยา/เจลฆ่าเชื้อทำความสะอาดมือทันที แต่ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่หลังจากลงรถไฟแล้วเท่านั้น ก่อนขึ้นรถไฟก็ต้องทำเหมือนกัน ประเด็นคือให้คอยใส่ใจไว้ว่าจะป้องกันไม่ให้คนอื่นติดเชื้อที่เราอาจมีด้วย การคำนึงถึงคนอื่นไว้อยู่เสมอแบบนี้ช่างเป็นอะไรที่เป็นญี่ปุ่นมากจริง ๆ นะคะ


(การปฏิบัติตัวหากไอ จามในที่ที่มีผู้คน - 1. สวมหน้ากากอนามัยให้ครอบจมูกและปาก 2. ถ้าไม่มีหน้ากากอนามัย ให้ใช้ทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าแทน 3. ถ้าหยิบทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าไม่ทันให้ใช้แขนเสื้อแทน 4. อย่าไอ/จามโดยไม่ป้องกันอะไรเลย 5. อย่าใช้มือเปล่าป้องเวลาไอ จาม)

ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนในเวลานี้ก็คงเป็นการรักษาสุขอนามัยให้ดีที่สุด สวมหน้ากากอนามัยครอบจมูกและปาก ล้างมือด้วยสบู่หรือใช้เจลแอกอฮอล์บ่อย ๆ กลั้วคอเมื่อกลับเข้าบ้าน รวมทั้งคอยปิดปากปิดจมูกเมื่อจาม ไม่ว่าจะด้วยผ้าเช็ดหน้า ทิชชู่ แขนเสื้อ หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่มีคนพลุกพล่านหรืออากาศไม่ถ่ายเท ก็น่าจะพอป้องกันการแพร่เชื้อโรคทั้งจากตนเองและผู้อื่นได้ไม่มากก็น้อยนะคะ

ขอให้ผู้อ่านทุกท่านรักษาสุขภาพให้แข็งแรง แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.




"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น