ผลสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นพบว่า ชาวญี่ปุ่นร้อยละ 80 สนับสนุนให้คงโทษประหารชีวิตเอาไว้ โดยระบุว่าเพื่อชดใช้ให้กับญาติของผู้สูญเสีย และป้องกันอาชญากรรมร้ายแรง
สำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้สำรวจความคิดเห็นเรื่องการใช้บทลงโทษประหารชีวิต ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2562 โดยได้สอบถามประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป 3,000 คน มีผู้ที่ตอบแบบสำรวจนี้ 1,572 คน
ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 80.8 ระบุว่าญี่ปุ่นควรใช้บทลงโทษประหารชีวิตต่อไป ขณะที่ร้อยละ 9.0 บอกว่าควรยกเลิกโทษประหารชีวิต สถิติผู้ที่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตสูงสุดนับตั้งแต่สำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่องการใช้บทลงโทษประหารชีวิตครั้งแรกเมื่อปี 2537
ผู้ที่เห็นด้วยกับการใช้บทลงโทษประหารชีวิตร้อยละ 56.6 ระบุว่า ความรู้สึกของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุอาชญากรรมและครอบครัวของเหยื่อนั้นไม่สามารถเยียวยาได้ด้วยบทลงโทษอื่น ๆ ขณะที่ร้อยละ 53.6 ระบุว่าอาชญากรควรชดใช้ด้วยชีวิตจากการก่อเหตุอาชญากรรมที่ร้ายแรง และร้อยละ 47.4 ระบุว่าอาชญากรอาจก่อเหตุร้ายแรงขึ้นซ้ำอีก
ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ร้อยละ 58 เห็นว่า อาชญากรรมที่ร้ายแรงจะเพิ่มขึ้น หากมีการยกเลิกโทษประหารชีวิต
ส่วนผู้ที่คัดค้านโทษประหารให้เหตุผลว่า ไม่สามารถแก้ไขได้หากการวินิจฉัยของศาลมีความผิดพลาด และ ผู้กระทำผิดควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อสำนึกโทษ
ญี่ปุ่นประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ แต่นักโทษประหารจำนวนมากมีชีวิตอยู่ในเรือนจำอีกนานหลายปี จนกว่ารัฐมนตรียุติธรรมจะลงนามในคำสั่งให้ประหารชีวิต เช่น สาวกลัทธิอุม ชินริเกียว 13 คน ที่ก่อเหตุวางก๊าซพิษในรถไฟใต้ดินกรุงโตเกียว มีชีวิตอยู่ในเรือนจำนานถึง 23 ปี โดยเพิ่งจะถูกประหารไปเมื่อปี 2561
ในปีที่แล้ว รัฐมนตรียุติธรรมญี่ปุ่นได้ลงนามคำสั่งประหารชีวิตนักโทษ 3 ราย โดยเป็นปีที่ 8 ต่อเนื่อง ที่มีการลงโทษประหารชีวิต.