สภากาชาดญี่ปุ่นตกเป็นเป้าวิจารณ์เรื่องการใช้การ์ตูนสาวหุ่น “สะบึม” เพื่อประชาสัมพันธ์และทำเป็นของที่ระลึก แต่ผู้เกี่ยวข้องปฏิเสธว่าไม่ใช่การคุกคามทางเพศ และประสบความสำเร็จในการจูงใจให้วัยรุ่นมาบริจาคโลหิต
“พี่คะ เคยบริจาคเลือดแล้วหรือยัง ? กลัวเข็มหรือเปล่า?” อูซากิจัง สาวน้อยจากการ์ตูนดัง เชิญชวนให้ผู้คนร่วมกันบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดญี่ปุ่น แต่สิ่งที่สะดุดตามากกว่าก็คือหน้าอกสุดบึ้มจนทะลักเสื้อของเธอ ที่ปรากฏอยู่บนป้ายประชาสัมพันธ์ และแฟ้มเอกสาร ที่ผู้บริจาคโลหิตจะได้รับเป็นของที่ระลึก
แคมเปญนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีที่แล้ว และจะสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ โดยถูกวิจารณ์มาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ถึงความเหมาะสมที่องค์กรอย่างสภากาชาดจะใช้การรณรงค์ที่สื่อนัยยะทางเพศเช่นนี้ และกลายเป็นประเด็นถกเถียงทั้งคัดค้านและสนับสนุนในโลกออนไลน์ของญี่ปุ่น รวมถึงบรรดานักสิทธิสตรี ทนายความ และบรรดาโอตาคุ หรือผู้ที่หลงใหลในการ์ตูนด้วย
แต่ทางสภากาชาดญี่ปุ่นก็ไม่ได้ยกเลิกการรณรงค์นี้ โดยอ้างว่า “เป็นเพียงการมองของที่ระลึกเพื่อตอบแทนให้กับผู้มีจิตกุศลที่บริจาคโลหิต และไม่คิดว่าจะเป็นการคุกคามทางเพศ เราได้รับการสนับสนุนการผู้ผลิตการ์ตูนอนิเมะหลายรายเพื่อรณรงค์การบริจาคโลหิต และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีปริมาณโลหิตที่ได้รับบริจาคเพิ่มมากขึ้น”
ถึงแม้ว่าสภากาชาดญี่ปุ่นจะระบุว่า “น้อมรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ อย่างจริงใจ และจะนำไปพิจารณาในกิจกรรมรณรงค์ครั้งต่อไป” แต่เมื่อย้อนดูแคมเปญในปีก่อน ๆ ของสภากาชาดก็พบว่า ตัวการ์ตูนหญิงสาวเซ็กซี่ได้ถูกใช้มาหลายครั้งแล้ว
สภากาชาดญี่ปุ่นให้ช้อมูลว่า ในปี 2560 วัยุร่นอายุ 16-29 ปีร่วมบริจาคโลหิตเพียงแค่ 1 ล้านคน ลดลงถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้า ทำให้สภากาชาดต้องเพิ่มความพยายามในการดึงดูดในวัยรุ่นมาร่วมบริจาคโลหิต โดยผ่านการ์ตูนมังงะ
ตั้งแต่ปี 2554 สภากาชาดญี่ปุ่นเริ่มส่งรถรับบริจาคโลหิตไปยังงานการ์ตูนและอนิเมะขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น รวมทั้งผลิตโปสเตอร์และของที่ระลึกที่ใช้การ์ตูน โดยเฉพาะตัวละครหญิงสาว เพื่อจูงใจวัยรุ่นชายหนุ่มให้มาบริจาคโลหิต เนื่องจากวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพแข็งแรง และผู้ชายมีข้อจำกัดในการบริจาคโลหิตน้อยกว่าผู้หญิง
การรณรงค์ประสบความสำเร็จ หลายครั้งผู้บริจาคต้องรอนานกว่าชั่วโมงเพื่อบริจาคโลหิต สภากาชาดญี่ปุ่นจึงใช้การรณรงค์ในลักษณะนี้ต่อเนื่องมาหลายปี
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิทางเพศให้ความเห็นว่า ถึงแม้สภากาชาดจะใช้การรณรงค์ลักษณะนี้เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ แต่ก็ควรคำนึงด้วยว่า การแสดงออกที่สื่อนัยยะทางเพศเช่นนี้ เหมาะสมหรือไม่ที่จะอยู่ในที่สาธารณะ ซึ่งผู้คนหลายวัยจะพบเห็นได้
นอกจากนี้ยังแนะนำว่า การระงับการเผยแพร่อาจไม่เพียงพอ แต่ในกระบวนการสร้างสรรค์และพิจารณาผลงาน ก่อนที่จะนำออกสู่สาธารณะควรจะรับฟังความเห็นจากผู้คนที่หลากหลาย รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงด้วย.