ผลการสำรวจพบว่า ความเท่าเทียมทางเพศของญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 121 จาก 153 ประเทศทั่วโลก และมีอันดับลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนสถานะของผู้หญิงในญี่ปุ่นยังคงเป็นรองผู้ชายอย่างมาก
World Economic Forum ได้เปิดเผยผลการสำรวจ “ความเท่าเทียมทางเพศ” ประจำปีนี้ โดยสำรวจ 153 ประเทศทั่วโลก และญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 121 เกือบรั้งท้าย และยังได้อันดับลดลงจากปีที่แล้ว ที่ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 110 จาก 149 ประเทศ
การสำรวจนี้จัดอันดับโดยใช้ 14 ตัวชี้วัดใน 4 หมวด คือ โอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ, บทบาททางการเมือง, การได้รับการศึกษา และ สุขภาพและการใช้ชีวิต
ญี่ปุ่นได้อันดับที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง สัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงมีเพียงร้อยละ 10.1 และในคณะรัฐมนตรี 19 คนก่อนการปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน มีรัฐมนตรีหญิงเพียงแค่คนเดียว
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ถูกวิจารณ์ว่า “ดีแต่พูด ” เพราะเขาเป็นผู้เสนอนโยบายเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง แต่ทั้งในคณะรัฐมนตรี และในพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP ที่เขาเป็นผู้นำพรรค กลับมีส่วนร่วมของผู้หญิงน้อยมาก
พรรค LDP มี สส. ในสภาผู้แทนราษฎรมากถึงร้อยละ 60 แต่มี สส. หญิงเพียงแค่ร้อยละ 7 ส่วนการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พรรค LDP ก็ส่งผู้สมัครหญิงเพียงแค่ร้อยละ 15
การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่กฎหมายใหม่ ได้กำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งชายและหญิงในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน โดยให้ทยอยดำเนินการ แต่พรรค LDP ก็ไม่ได้ประกาศแผนที่จะเพิ่มจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิงให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างไร
เมื่อเทียบกับพรรคฝ่ายค้าน สัดส่วนของผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิงในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกครั้งล่าสุดแตกต่างอย่างชัดเจน พรรคประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญมีผู้สมัครหญิงร้อยละ 45 พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชนอยู่ที่ร้อยละ 36 และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งญี่ปุ่นมีผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิงถึงร้อยละ 55
ในเรื่องการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงญี่ปุ่นก็แทบไม่มีที่ทางเช่นกัน ทั้งในเรื่องสัดส่วนผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงที่น้อย รายได้ของผู้หญิงน้อยกว่า และอัตราค่าจ้างของผู้หญิงในญี่ปุ่นก็น้อยกว่าผู้ชายในงานประเภทเดียวกัน
มีเพียงเรื่องของการศึกษาและสุขภาพและชีวิต ที่ความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงญี่ปุ่นถือว่าดี
ความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 121 ถือว่าด้อยกว่าประเทศไทยที่อยู่ในอันดับที่ 75 จีนอันดับที่ 106 เกาหลีใต้อันดับที่ 108
เกาหลีใต้มีพัฒนาการขึ้นอย่างโดดเด่น จากผลงานของประธานาธิดีมุนแจอิน ที่แต่งตั้งรัฐมนตรีหญิงถึง 5 ตำแหน่ง และยังให้คำมั่นว่า จะแต่งตั้งรัฐมนตรีหญิงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีของเขา ส่วนในรัฐสภาของเกาหลีใต้ มีสส.หญิงถึงร้อยละ 16.7 ขณะที่ในสภาญี่ปุ่นมี สส.หญิงเพียงร้อยละ 10.1
ทั้งนี้ ประเทศที่มีอันดับความเท่าเทียมทางเพศด้อยกว่าญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นประเทศโลกมุสลิม ซึ่งผู้หญิงถูกจำกัดบทบาทและกีดกันอย่างมากด้วยเหตุทางศาสนา.
ติดตามรายละเอียดผลการวิจัยที่ http://www3.weforum.org/docs/WEF_GGGR_2020.pdf