xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังการทำงานที่ได้ "ผลิตภาพต่ำ" ของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://blog.gaijinpot.com/working-past-the-time/
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ว่าเป็นประเทศที่คนทำงานหนัก ทำงานกันจนดึกดื่น และมีผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปให้ได้ยินเป็นคราว ๆ แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะพยายามหามาตรการลดชั่วโมงการทำงานลงแล้ว แต่คนญี่ปุ่นจำนวนมากก็ยังคงทำงานล่วงเวลากันเป็นปกติ ที่สำคัญคือผลิตภาพยังต่ำอีกด้วย

เวลาพวกเพื่อนชาวญี่ปุ่นนัดรับประทานข้าวเย็นกันเป็นกลุ่มทีไร มักจะมีใครสักคนที่มาไม่ได้หรือมาสายกว่าคนอื่นมากเพราะยังทำงานไม่เสร็จ บางคนก็มีช่วงที่งานหนักมาก เลิกงานหลังเที่ยงคืนหลายวันต่อกันจึงไม่มีรถไฟวิ่งแล้ว ต้องค้างโรงแรมแคปซูลใกล้ที่ทำงานแทน

เพื่อนคู่หนึ่งซึ่งเป็นสามีภรรยากันต่างทำงานบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นด้วยกันทั้งคู่ เพื่อนผู้หญิงอยู่บริษัทโทรคมนาคม ยังเลิกงานไม่ดึกมาก กลับบ้านประมาณ 2-3 ทุ่ม ส่วนฝ่ายชายทำงานบริษัทโฆษณากลับดึกกว่าเพราะบางทีต้องถ่ายทำโฆษณากันนาน ฉันถามว่ากลับกี่โมงละ? 4 ทุ่ม? 5 ทุ่ม เขาบอกว่า “แหม อย่างนั้นเขาเรียกว่ากลับเร็ว อย่างผมน่ะได้กลับหลังเที่ยงคืนประจำ ตีสองอะไรอย่างนี้” สภาพการทำงานเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติและเข้าใจได้สำหรับคนญี่ปุ่น

ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน

ในรายงานของ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นมีชั่วโมงการทำงานต่อปีต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ใน OECD ซึ่งถ้าดูข้อมูลแค่นี้ก็อาจจะประหลาดใจ และเข้าใจผิดว่าชั่วโมงการทำงานของญี่ปุ่นไม่ได้ยาวนานเป็นพิเศษเลย

ภาพจาก https://theculturetrip.com/asia/japan/
แต่เมื่อดูคำอธิบายของ OECD แล้ว ก็จะพบว่าตัวเลขนี้รวมคนทำงานทุกประเภท ทั้งงานประจำ พาร์ทไทม์ ธุรกิจส่วนตัว และงานเสริม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าญี่ปุ่นมีคนทำงานพาร์ทไทม์เป็นจำนวนมาก และชั่วโมงการทำงานก็มักสั้น จึงอาจเป็นตัวแปรที่ทำให้ค่าเฉลี่ยของชั่วโมงการทำงานในญี่ปุ่นต่ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างกินเงินเดือนส่วนใหญ่ต่ำไปด้วย

และ OECD เองก็ยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ลูกจ้างในญี่ปุ่นที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนานมากนั้น มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของประเทศกลุ่ม OECD ด้วย นอกจากนี้ ลูกจ้างที่ทำงานเต็มเวลายังให้เวลากับการดูแลตัวเอง (เช่น การรับประทานอาหาร การนอนหลับ) และพักผ่อนหย่อนใจ (อยู่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง ทำงานอดิเรก หรือทำอะไรเพลิดเพลิน) น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม OECD อีกเช่นกัน

จากรายงานของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นระบุว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 59) ทำงานล่วงเวลา คือทำงานเกิน 40 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ และประมาณ 1 ใน 5 ของคนญี่ปุ่น (ร้อยละ 21) ทำงานสัปดาห์ละมากกว่า 49 ชั่วโมง นอกจากนี้ หลายแห่งยังไม่จ่ายค่าล่วงเวลาหรือจ่ายน้อยกว่าที่ควรจะได้รับตามจริงอีกด้วย

สาเหตุของชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และการทำงานหนัก

ลูกจ้างที่ทำงานล่วงเวลาหลายชั่วโมงเป็นปกติมักกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “งานที่ต้องทำมีปริมาณมากจนล้นมือ” การทำงานในบริษัทของลูกจ้างเหล่านี้ยังมักเป็นไปในลักษณะที่ มีงานด่วนเข้ามากระทันหันอยู่บ่อย ๆ กำหนดส่งงานก็กระชั้นชิด และการกระจายงานไม่เท่ากัน ทำให้บางคนงานเยอะกว่าคนอื่น เป็นต้น

การทำงานหนักยังเป็นค่านิยมที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วย ดังจะเห็นได้จากรายงานของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นที่ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งลูกจ้างคนไหนทำงานล่วงเวลามาก ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมองเจ้านายที่ทำงานล่วงเวลาในแง่บวก เช่น มีความขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบสูง ทำงานเก่ง สมควรได้รับการประเมินดี และเป็นที่คาดหวัง แต่ยิ่งลูกจ้างคนไหนทำงานล่วงเวลาน้อย ก็ยิ่งมีแนวโน้มมองเจ้านายที่ทำงานล่วงเวลาในแง่ลบไปแทน เช่น ไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน อยากได้เงินค่าล่วงเวลา หรือไม่ก็คงไม่มีอะไรอย่างอื่นทำ

ภาพจาก https://theculturetrip.com/asia/japan/
ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63) รู้สึกผิดหากจะใช้สิทธิ์วันลาหยุด เพราะอดคิดไม่ได้ว่าวันธรรมดาคือวันทำงาน ถ้าตนเองลา คนอื่นก็อาจเดือดร้อนต้องทำงานแทน หรือไม่อย่างนั้นตนเองก็ต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อกลับมาทำงานแล้ว บางคนพอจะขอนายลาหยุด ก็โดนนายถามว่าทำไมถึงลา ทำให้ไม่กล้าขอลาหยุด

การที่สังคมให้คุณค่ากับการทำงานหนัก รวมทั้งการรู้สึกผิดหากไม่แสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนเองมีความมุมานะขยันทำงาน จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการทำงานล่วงเวลาต่อไปเรื่อย ๆ โดยปริยาย บางคนที่รู้สึกรับผิดชอบต่องานมากก็ยอมกระทั่งทำงานล่วงเวลาโดยสมัครใจและไม่รับค่าล่วงเวลา หรือไม่ก็หอบงานกลับไปทำที่บ้าน ในขณะที่บางคนทำงานเสร็จแล้วอยากจะกลับบ้านก็ไม่กล้า ด้วยกลัวสายตาเจ้านายว่าจะมองเขาอย่างไร

ทำงาน “หนัก” แต่ผลิตภาพต่ำ

ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนการทำงาน “หนัก” ของญี่ปุ่นเช่นนี้จะไม่ได้ก่อให้เกิดผลิตภาพที่สูงเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้ว่าคนทำงานในญี่ปุ่นหนึ่งคนสามารถสร้าง GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ต่อชั่วโมงการทำงานได้ต่ำสุดในกลุ่มประเทศ G7 และในขณะที่ค่าเฉลี่ย GDP ต่อชั่วโมงการทำงานของกลุ่มประเทศ G7 อยู่ที่ 65.4 เหรียญสหรัฐฯ ของญี่ปุ่นอยู่ที่เพียง 46.8 เหรียญสหรัฐเท่านั้น

ภาพจาก https://jopus.net/en/news/
เป็นไปได้ว่าผลิตภาพที่ต่ำของญี่ปุ่นอาจมาจากสองสาเหตุ สาเหตุแรกคือ แสร้งว่าทำงานแต่ทำไปงั้น ๆ คือมีหลายคนที่อยู่ในที่ทำงานจนดึกดื่นไปอย่างนั้นเองเพราะนายยังไม่กลับ หรือบางคนก็คิดว่าอย่างไรตนก็ถูกคาดหวังให้ทำงานล่วงเวลาอยู่แล้ว ระหว่างชั่วโมงการทำงานปกติ จึงไม่ขยันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่

สาเหตุที่สองได้แก่ การให้ความสำคัญกับงานที่ไม่จำเป็น คนจำนวนมากระบุว่ามีงานหลายอย่างซึ่งสามารถเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นหรือทำงานจากที่ไหนก็ได้ แต่บริษัทกลับไม่ยอมลงทุนเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ กลับใช้แรงงานคนแทน อีกทั้งคนญี่ปุ่นก็มักเน้นการประชุมซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีการสื่อสารกันได้ดีขึ้น แต่ก็มีผู้ที่เห็นว่าไม่มีประโยชน์จริงเท่าใด รวมทั้งบางเรื่องก็กำหนดแน่นอนไปแล้วก่อนมีการประชุมเสียด้วยซ้ำ

มาตรการในปัจจุบันและผลลัพธ์

กฏหมายปฏิรูปการทำงาน
กฎหมายนี้ห้ามมิให้ทำงานล่วงเวลาเกิน 45 ชั่วโมงต่อเดือน และไม่เกิน 360 ชั่วโมงต่อปี เว้นแต่จะมีช่วงที่มีความจำเป็นพิเศษจะทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 100 ชั่วโมงต่อเดือน และไม่เกิน 720 ชั่วโมงต่อปี บังคับใช้กับบริษัทขนาดใหญ่ตั้งแต่เมษายนปีนี้ (2562) และจะบังคับใช้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมเดือนเมษายนในปีถัดไป (2563)

“ไม่เอาการทำงานยาวนานหลายชั่วโมงอีกแล้ว” ภาพจาก https://tokyogeneralunion.org/
แต่ปรากฏว่าแม้ที่ทำงานบางแห่งจะบังคับให้ลูกจ้างเลิกงานเร็วขึ้น คือกลับไม่เกินเวลาที่บริษัทกำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการดับไฟอัตโนมัติ หรือปิดคอมพิวเตอร์อัตโนมัติก็ตาม สิ่งเหล่านี้กลับไม่เป็นผลดีต่อลูกจ้างบางส่วน เนื่องจากว่าปริมาณงานมีอยู่เท่าเดิม พอถูกไล่ให้กลับบ้านก็ทำงานไม่เสร็จ ต้องหอบกลับไปทำต่อที่บ้านบ้าง หรือไม่ก็ต้องมาทำงานแต่เช้าในวันต่อไป

พรีเมียมฟรายเดย์
รัฐเสนอให้ลูกจ้างเลิกงานได้ตั้งแต่บ่ายสามโมงในวันศุกร์สุดท้ายของเดือน แต่ไม่ได้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย และในทางปฏิบัติพบว่ามีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่ได้เลิกงานเร็วจริง

ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน
ปัจจุบันมีบริษัทบางแห่งที่ริเริ่มลดวันทำงานลง เพื่อให้ลูกจ้างมีเวลาไปดูแลครอบครัว เช่นบางคนอาจต้องไปดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า หรือภรรยาที่ป่วย หรือทำธุระจำเป็นอื่น ๆ โดยให้ลูกจ้างที่สมัครใจสามารถมาทำงานสัปดาห์ละ 4 วันได้ แต่ยังคงต้องทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเท่าเดิม และได้รับเงินค่าจ้างตามปกติ ในขณะที่บางแห่งก็ใช้นโยบายเดียวกัน คือทำงานเท่าเดิม จำนวนวันลดลง แต่ไม่ให้ค่าจ้างในวันที่ได้หยุด

สรุปคือลดวันทำงานไม่ได้แปลว่าลดชั่วโมงการทำงาน ต้องทำงานมากกว่าเดิมในวันอื่น ๆ แทน อีกทั้งยังอาจได้รับค่าจ้างหรือไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ได้หยุดเพิ่มด้วย ไม่ทราบว่าอย่างนี้จะทำให้คนยิ่งเครียดเพิ่มหรือเปล่านะคะ แถมการปรับแบบนี้ยังดูสักแต่ว่าสนองนโยบายรัฐไปอย่างนั้นเอง รูปแบบภายนอกอาจเปลี่ยนแต่เนื้อในก็คงเดิม ไม่ได้มองในแง่ที่จะช่วยลดภาระและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนทำงานจริงเท่าใดเลย

ฉันได้ยินมาว่าประเทศตะวันตกที่ให้ทำงานสัปดาห์ละ 4 วันนั้น บางแห่งนอกจากจะลดชั่วโมงการทำงานแล้ว ยังให้ค่าจ้างเท่าเดิมด้วย ที่สำคัญคือประเทศพัฒนาในตะวันตกมักมีความผ่อนปรนในการทำงานมากกว่า บรรยากาศการทำงานผ่อนคลายกว่า แต่กลับมีผลิตภาพสูงกว่าญี่ปุ่น (ในขณะเดียวกันเกาหลีใต้ซึ่งมีชั่วโมงการทำงานยาวนานกว่าญี่ปุ่น ก็มีผลิตภาพต่ำกว่าญี่ปุ่น และต่ำจนเกือบจะรั้งท้ายประเทศกลุ่ม OECD)

https://classy-online.jp/
การปฏิรูปการทำงานเพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะเกิดขึ้นได้จริงคาดว่าต้องเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก่อนคือภายในแต่ละบริษัทเอง ที่ผู้มีตำแหน่งระดับหัวหน้าต้องตระหนักอย่างจริงจังถึงความ “ได้ไม่คุ้มเสีย” ของชั่วโมงการทำงาน ซึ่งนอกจากจะยาวนานเกินความจำเป็นแล้ว ยังสร้างผลิตภาพต่ำและส่งผลร้ายต่อสุขภาพของพนักงานด้วย

นอกเหนือจากนี้ ญี่ปุ่นอาจต้องปรับเปลี่ยนข้อปฏิบัติที่เคยชินกันมาแต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นงานเอกสารปริมาณมาก การประชุมที่บ่อยเกินไป และหันมาใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ทำงานได้ง่ายจากทุกที่ อีกทั้งยังต้องท้าทายความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่าการทำงานหนัก ยาวนาน และใช้วันลาหยุดน้อยเป็นคุณค่าที่ควรยกย่องในยุคปัจจุบันจริงหรือไม่

หากญี่ปุ่นยังต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ท่ามกลางประชากรที่กำลังจะลดฮวบลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ญี่ปุ่นจำต้องปรับโครงสร้างการทำงานอย่างจริงจังและขนานใหญ่ ที่ไม่ได้เพียงจำกัดกรอบอยู่เพียงในกฎหมาย แต่เป็นไปในทางปฏิบัติให้เห็นชัดเจน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้น รักษาแรงงานที่มีอยู่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ความยืดหยุ่นนี้เองก็น่าจะทำให้แรงงานต่างชาติมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อการทำงานในญี่ปุ่น รวมทั้งอาจมีส่วนส่งเสริมให้ญี่ปุ่นกับต่างชาติเปิดใจในความต่างได้ง่ายขึ้น และร่วมมือกันทำงานได้อย่างกลมกลืนต่อไป

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.





"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น