คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ไม่นานมานี้ฉันได้ยินมาแว่ว ๆ ว่าเมืองไทยขนานนาม “โอโตเมะเกม” (เกมที่เน้นกลุ่มผู้เล่นหญิง) ว่า “เกมจีบหนุ่ม” ชวนให้จั๊กกะจี้ในความโจ่งแจ้งของเกม ซึ่งในความเป็นจริงคงไม่ถึงขนาดนั้น นอกจากเกมชนิดนี้จะมีเอกลักษณ์ที่สร้างความน่าสนใจแก่สาว ๆ แล้ว ความนิยมในเกมยังขยับขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องให้พลอยขายได้กันไปด้วย
มาอยู่ญี่ปุ่นแรก ๆ ฉันก็ไม่รู้จัก “โอโตเมะเกม” 乙女ゲーム หรอกค่ะ บังเอิญว่าวันหนึ่งไปร้านหนังสือ และเห็นมุมหนึ่งมีหนังสือรวมภาพวาดสวย ๆ หลายเล่ม และเป็นแนวที่ชอบพอดีจึงสนใจ แต่ก็งง ๆ ว่ามันเป็นภาพประกอบของอะไรกันนะ พอลองเสิร์ชหาคำที่ดูเหมือนชื่อเรื่องที่ปรากฏอยู่บนเล่ม ก็พบว่ามันเป็น “โอโตเมะเกม” ฉันจึงไปค้นหาต่อว่าเกมที่ว่านี้มันคืออะไร สรุปได้อย่างนี้ค่ะ
“โอโตเมะเกม” เป็นเกมซึ่งมีลักษณะคล้ายกับนิยายประกอบภาพวาดสี่สี แต่มีเสียงพากย์ของตัวละครกับซาวด์เอฟเฟกต์ด้วย ส่วนเนื้อหาของเกมเหล่านี้ก็มีหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นแนววัยรักวัยเรียน ลึกลับ สืบสวนสอบสวน ย้อนยุค แฟนตาซี ผจญภัย หรือออกไปทาง Sci-fi บางเรื่องทำพล็อตเรื่องได้ดีมากและน่าติดตาม
ที่เด่นคือมีพระเอกหลายคน ทำให้มีเนื้อหาที่หลากหลายแตกต่างกันไปด้วย แต่ไม่ใช่ว่าเป็นเกมที่ผู้หญิงเที่ยวไปจีบหนุ่ม ๆ อย่างที่มีการเรียกกันว่า “เกมจีบหนุ่ม” เพราะส่วนใหญ่แล้วมักเป็นหนุ่ม ๆ มากกว่าที่มาจีบนางเอก(ผู้เล่น) เพราะฉะนั้นถ้าเรียก “โอโตเมะเกม” ว่า “เกมรักโรแมนติกสำหรับผู้หญิง” หรือ “นิยายรักโรแมนติกแบบมีภาพและเสียงประกอบ” อาจจะตรงกับลักษณะเกมมากกว่า
ระหว่างที่เรื่องดำเนินไปก็จะมีตัวเลือกมาให้ว่าในสถานการณ์อย่างนี้ ผู้เล่นจะพูดว่าอะไร ทำอย่างไร หรือจะไปที่ไหน ซึ่งตัวเลือกเหล่านี้นอกจากจะเป็นการเลือกว่านางเอกจะได้ดำเนินเรื่องไปกับพระเอกตัวใดแล้ว ยังนำไปสู่จุดจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง หรืออาจจะจบไม่สวย ไม่ก็เกมโอเว่อร์กลางคันได้ด้วย ถ้าไม่คอยเซฟไว้เป็นระยะ ๆ ก็ต้องไปเล่นใหม่ทั้งหมดแต่ต้น
ถ้าอยากเล่นโดยไม่เสียเวลาเดาผิดเดาถูกว่าจะไปสู่จุดจบแบบไหน ก็อาจหา “เฉลยเกม” ได้จากเว็บไซต์ ซึ่งมีผู้เล่นคนอื่น ๆ ลองผิดลองถูกแล้วมาเฉลยให้ว่าต้องเล่นอย่างไรหากต้องการคู่กับพระเอกคนไหน และจบแบบไหน
ส่วนใหญ่ “โอโตเมะเกม” จะไม่มีการพากย์เสียงนางเอก(ผู้เล่น) มีแค่ซับไตเติลให้ผู้เล่นอ่านตามเอาเองว่านางเอกกำลังพูดว่าอย่างไร รู้สึกอย่างไร คิดอะไรอยู่ เข้าใจว่าการที่ผู้ผลิตทำแบบนี้ ก็เพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกอินว่าตัวเองเป็นนางเอกจริง ๆ รวมทั้งอาจจะเพื่อประหยัดงบในการจ้างนักพากย์
เกมเหล่านี้มีทั้งแบบออนไลน์ซึ่งใช้ได้กับสมาร์ทโฟน และแบบที่ต้องซื้อแผ่นเกม หรือโหลดมาใช้กับเครื่องเล่นเกมชนิดนั้นโดยเฉพาะ เกมไหนที่เป็นที่นิยมมากก็จะมีการปรับปรุงเกม มีการอัพเดทเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วน กระทั่งเพิ่มพระเอกเข้ามาอีกคนสองคนให้ผู้เล่นเลือกเพิ่มได้ หรือปรับปรุงฟังก์ชั่นบางอย่างให้เล่นสะดวกขึ้น แล้วเอามาขายเป็นสินค้าใหม่ได้อีกทั้งกับผู้เล่นเดิมและผู้เล่นหน้าใหม่
เดิมทีนึกว่าเกมอย่างนี้จะขายได้เฉพาะในญี่ปุ่น แต่เดี๋ยวนี้เห็นมีแปลเกมออกมาหลายภาษา และเป็นที่นิยมในต่างประเทศมากพอสมควรทีเดียวค่ะ แต่จะว่าไปก็คงไม่แปลก เพราะถ้าหนังสือการ์ตูนหรือแอนิเมชันเป็นที่นิยมไปทั่วโลกได้ เกมเหล่านี้ก็น่าจะเป็นที่นิยมได้เช่นกัน
แต่ส่วนที่เป็นฉากโรแมนติกนั้น หลายครั้งจะพบว่าคำพูดของฝ่ายชาย "โอเว่อร์" มากถึงมากที่สุดจนบางทีชวนให้อยากหากระโถนสักใบพร้อมยาดมด่วนจี๋
คือพระเอกมักบอกรักนางเอกโดยใช้คำว่า “愛してる” (ไอ-ชิ-เตะ-หรุ) แทนคำว่า "好き” (สุ-กิ) ในชีวิตจริงส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นจะใช้คำหลัง ส่วนคำแรกนั้นให้ความหมายลึกซึ้งมาก อาจจะเหมาะกับคนที่ดูใจกันมานาน ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาพอสมควรแล้วมากกว่า ขืนอยู่ดี ๆ มีหนุ่มมาบอกรักว่า “ไอชิเตะรุ” แม้จะเป็นหนุ่มที่แอบชอบก็อาจชวนให้สาวโกยอ้าวได้
ที่สำคัญคือพระเอกยังมักพูดความรู้สึกทั้งหมดอย่างไม่ปิดบัง และหวานเยิ้มหยดย้อยแบบที่ในชีวิตจริงคงไม่มีใครพูดอะไรกันแบบนั้น กระทั่งนิยายก็ยังไม่ขนาดนี้ นี่จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้รู้สึกว่าโอโตเมะเกมจำนวนมากขาดความสมจริงตอนท้ายเรื่อง บางทีเนื้อเรื่องชวนติดตามมาตลอด จะมาเซ็งก็ตอนพระเอกพูดจาราวโดนเสน่ห์ยาแฝดเอาตอนจบนี้เอง
ขืนในโลกความเป็นจริงมีหนุ่มคุณสมบัติเลิศเลอ เสน่ห์แพรวพราว แถมยังพูดจาหวานหูมิรู้หายแบบนั้น แนวโน้มที่เป็นไปได้มากคือเขาน่าจะทำแบบเดียวกันกับผู้หญิงคนอื่นด้วย และสาว ๆ อาจมีโอกาสน้ำตาเช็ดหัวเข่ามากกว่าจะแฮปปี้เอนดิ้งตลอดกาลเหมือนในเกม
นอกเหนือไปจากตัวเกมเองแล้ว ความชื่นชอบในผลงานของนักวาดภาพประกอบ ผู้กำกับ และนักพากย์ก็ยังมีส่วนอย่างยิ่งในการทำให้มีแฟนคลับคอยติดตามเกมอื่น ๆ ต่อไปด้วย แต่สุดท้ายแล้วเนื้อหาและการดำเนินเรื่องของเกมเองจะเป็นจุดหลักว่าเกมนั้นจะขายดีหรือไม่
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อโอโตเมะเกมได้รับความนิยมอย่างคึกคัก การขยับขยายต่อไปยังอุตสาหกรรมทุกแวดวงที่เกี่ยวเนื่องจึงเกิดขึ้น อันเป็นลักษณะแบบ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” สไตล์ญี่ปุ่นซึ่งเห็นได้บ่อยยามเกิดกระแสฮิตอะไรขึ้นมาในประเทศนี้ แต่แทนที่ว่าจะเป็นแบบทำอะไรตามกันเป็นแบบแผนเดียวเช่นขายอะไรเหมือน ๆ กัน ญี่ปุ่นจะมีลักษณะออกไปในทางต่อยอดจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้หลากหลาย
ตัวอย่างที่เด่นชัดได้แก่ การทำสินค้าเกี่ยวกับเกมนั้น ๆ วางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นพวงกุญแจ แฟ้มใส่เอกสาร ผ้าเช็ดหน้า เข็มกลัด การ์ดภาพ ซีดีเพลงหรือดนตรีประกอบ หนังสือรวมภาพประกอบ นิตยสารโอโตเมะเกม และอื่น ๆ อีกสารพัด หรือบางทีร้านขายอาหารหรือเครื่องดื่มกับบริษัทเกมก็จับมือกันขายอาหาร ขนม เครื่องดื่ม โดยใช้ธีมของเกมก็มี
บางทีบริษัทเกมเจ้าใหญ่ก็มีการจัดงานให้ความบันเทิงโดยเหล่านักพากย์ นักพากย์จะมาอ่านบทตัวละครบนเวทีให้ฟัง ร้องเพลง สนทนา หรือเล่นเกมกันบนเวที ดูคล้าย ๆ รายการวาไรตี้ เพียงแต่เป็นวาไรตี้สดที่ต้องเสียเงินค่าเข้าชม ซึ่งราคาก็แทบไม่ต่างจากบัตรคอนเสิร์ตนักร้องดัง ส่วนแฟน ๆ ที่ไปร่วมงานเหล่านี้ก็ชื่นชอบนักพากย์เหล่านี้มากจนกรี๊ดกร๊าดแบบเดียวกับเวลาได้เจอดาราคนโปรดเลยทีเดียวละค่ะ
บางเกมมีทำเป็นหนังสือการ์ตูนและแอนิเมชันเพิ่มเติม และบางเรื่องก็มีการสร้างเป็นละครเวที ซึ่งมีแค่ไม่กี่วันและไม่กี่รอบเท่านั้น ราคาบัตรเข้าชมสูงพอ ๆ กับงานของนักพากย์ คิดเล่น ๆ ว่าอยากดูอยู่บ้างเหมือนกันค่ะ เสียแต่ว่าพอเห็นโฆษณาที่มีตัวละครสวมวิกผมหลากสีและแต่งหน้าจัดทั้งหญิงชายแล้ว อนิจจา...วิกผมคงขนาดไม่ค่อยพอดีศีรษะ อีกทั้งยังชี้ฟูฟ่องโด่เด่ แถมสีสันอันฉูดฉาดเงาวับทั้งสีแดง น้ำเงิน เขียว เหลือง ที่เจตนาทำเพื่อให้เหมือนตัวละครในเกมให้มากที่สุดกลับทำให้ยิ่งขาดความสมจริง ความอยากดูจึงชักจะอันตรธานไป
มีอยู่เกมหนึ่งดังมาก เนื้อหาอ้างอิงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จึงมีการนำตัวละครจากในเกมที่มีจริงในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาใช้โปรโมทการท่องเที่ยวด้วย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือแนะนำการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์หรือพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ฉันเคยเห็นที่เขาเอาตัวละครเกมดังมาทำเป็นแผ่นตั้งพื้นขนาดเท่าคนจริง และมีแผ่นป้ายอธิบายที่มีภาพตัวละครประกอบมาอธิบายประวัติศาสตร์ช่วงนั้น ๆ นับว่าเป็นการเอาเกมมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสร้างสรรค์และน่าสนใจดี
ปัจจุบันมีโรงเรียนบางแห่งที่สอนหลักสูตรวาดภาพประกอบเกม ซึ่งบางคราวก็จะเชิญนักวาดภาพประกอบชื่อดังมาเป็นอาจารย์พิเศษด้วย นอกจากนี้ อุปกรณ์ช่วยในการวาดภาพอย่างซอฟต์แวร์สำหรับวาดภาพประกอบเกมโดยเฉพาะ หุ่นพลาสติกผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กที่สามารถดัดท่าทางต่าง ๆ ได้เพื่อช่วยให้การวาดสมจริงและง่ายขึ้น รวมทั้งหนังสือสอนเทคนิคการวาดภาพลงสีประกอบเกม ก็มีวางขายอย่างดาษดื่น
เดี๋ยวนี้ “โอโตเมะเกม” เป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่ชาวไทยมากขึ้น คงเพราะมีผู้รู้ภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น อีกทั้งพักหลังยังมีการแปลเกมออกมาเป็นภาษาไทยด้วย เดี๋ยวก็คงจะได้เห็นเกมต่าง ๆ ทยอยกันออกมาอยู่เรื่อย ๆ นะคะ
ว่าแต่ว่าถ้าเพื่อนผู้อ่านท่านไหนเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมแบบไหนก็ตาม ก็อย่าติดเกมเสียจนกระทั่งลืมใส่ใจสิ่งอื่น ๆ ที่สำคัญอย่างคนใกล้ตัวนะคะ ฉันได้ยินมาว่าบางครอบครัวมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งจนแทบจะแยกทางกัน ก็เพราะฝ่ายหนึ่งติดเกมจนปล่อยให้อีกฝ่ายเหงา ที่จริงเกมนั้นจะเล่นเมื่อไหร่ก็ได้ หมดเกมนี้เดี๋ยวก็มีเกมใหม่ ๆ มาอีก แต่คนที่เรารักและรักเราจะอยู่กับเราถึงเมื่อไหร่ไม่รู้ อย่าปล่อยให้โอกาสที่จะใส่ใจกันได้ ณ ปัจจุบันผ่านเลยไป จะได้ไม่เสียใจทีหลังนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าเช่นเคย สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.