xs
xsm
sm
md
lg

“อภัยโทษ” ฉลองจักรพรรดิญี่ปุ่นครองราชย์ : คืนคนสู่สังคม VS ล้างอาญาคนบาป

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้อภัยโทษแก่ผู้ก่อเหตุอาชญากรรมราว 550,000 คน เนื่องในโอกาสที่พระจักรพรรดินารูฮิโตะเสด็จขึ้นครองราชย์ ขณะที่ผู้สูญเสียรับไม่ได้ที่คนทำผิดพ้นโทษ ส่วนนักกฎหมายวิพากษ์รัฐบาล “แอบอ้างพระราชอำนาจ”

ในโอกาสที่พระจักรพรรดินารูฮิโตะเสด็จขึ้นครองราชย์ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศให้อภัยโทษผู้ก่อเหตุอาชญากรรมราว 550,000 คน การอภัยโทษดังกล่าวจะทำให้การตัดสินโทษเป็นโมฆะ และจะคืนคุณสมบัติบางประการให้โดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล เป้าหมายก็คือการส่งเสริมความพยายามต่าง ๆ เพื่อให้อดีตผู้ต้องโทษกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

นี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปีที่มีการอภัยโทษเนื่องในโอกาสพระราชพิธีของราชวงศ์ญี่ปุ่น หลังจากในปี 2536 ที่มีการอภัยโทษในวโรกาสที่เจ้าชายนารูฮิโตะอภิเษกสมรส
ประเภทความผิดของผู้ที่จะได้รับอภัยโทษในวโรกาสพระจักรพรรดินารูอิโตะขึ้นครองราชย์
ในจำนวนผู้ที่ได้รับอภัยโทษ 550,000 คน 65.2% เป็นผู้ทำความผิดกฎหมายจราจร เช่น เมาแล้วขับ ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต หรือขับรถเกินความเร็วที่กำหนด รองลงมา 17.4% คือผู้บกพร่องต่อวิชาชีพ จนทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เช่น แพทย์ วิศวกร หรือเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ และ 11.4% ผู้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เป็นต้น

กลุ่มคนเหล่านี้เมื่อเสียค่าปรับตามกำหนดโทษ และไม่ได้ก่อเหตุอาชญากรรมใด ๆ อีกในช่วงระยะเวลา 3 ปี จะถือว่าพ้นโทษ และอาจได้คืนใบขับขี่ และใบอนุญาตวิชาชีพต่าง ๆ

รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า การอภัยโทษครั้งนี้ไม่มีการปล่อยอาชญากรออกจากคุก ส่วนใหญ่เป็นผู้ทำความผิดไม่ร้ายแรง และจำนวน 550,000 คน ถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับการอภัยโทษในตอนที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะขึ้นครองราชย์เมื่อ30 ปีก่อน ซึ่งครั้งนั้นมีผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษมากถึง 2 ล้าน5แสนคน

ผู้สูญเสียรับไม่ได้ คืนคนผิดสู่สังคม

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่กระทำความผิดจำนวนมากรับไม่ได้กับการอภัยโทษ คุณแม่ที่สูญเสียลูกสาววัย 19 ปีที่ถูกคนขับรถบรรทุกชนตาย บอกว่า “รัฐบาลอ้างว่าคืนคนดีสู่สังคม แต่ใครจะคืนลูกสาวให้ฉันได้ ?” เธอยอมรับว่าผู้ที่ทำผิดบางคนอาจผิดพลาดพลั้งเผลอ น่าเห็นใจ แต่ใครเล่าจะเห็นถึงหัวอกของผู้สูญเสีย ?

รัฐบาลของนายกฯ อาเบะ ต้องการหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ จีงไม่มีการ “นิรโทษกรรม” “ปล่อยคนออกจากคุก” หรือ “ล้างมลทิน” ในการอภัยโทษครั้งนี้ แต่ก็มีการคืนสิทธิ์ต่าง ๆ เช่น สิทธิเลือกตั้ง สิทธิในการรับตำแหน่งต่าง ๆ

รัฐบาลอ้าง “พระราชอำนาจ” อภัยโทษคนผิด?

นอกจากในมุมของผู้สูญเสียแล้ว ในด้านกฎหมายก็มีคำถามเรื่องความชอบธรรม เพราะการอภัยโทษนี้มีขึ้นโดย “มติคณะรัฐมนตรี” โดยไม่มีการเปิดเผยว่าใครเป็นผู้ริเริ่ม มีขั้นตอนการตัดสินใจอย่างไร ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ที่ได้รับอภัยโทษ มีเพียงแค่ตัวเลขรวม 550,000 คนเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามว่า พระจักรพรรดิตามรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น มีพระราชอำนาจในการให้อภัยโทษหรือไม่ ? เพราะศาลของญี่ปุ่นไม่ได้พิจารณาคดีภายใต้พระปรมาภิไธยของกษัตริย์เหมือนในบางประเทศ ดังนั้นการอภัยโทษในนามของพระจักรพรรดิ เป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ?

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า ไม่ได้คัดค้านการ “คืนคนสู่สังคม” หรือ “ให้โอกาสกลับตัวกลับใจ” แต่ชี้ว่า รัฐบาลไม่มีสิทธิ์อภัยโทษโดยอ้างพระจักรพรรดิ เพราะพระจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติ ไม่สามารถ “ให้คุณให้โทษ” ได้เหมือนเช่นในอดีต

บรรดาผู้สูญเสียจากเหตุอาชญากรรมเสนอว่า แทนที่จะอภัยโทษเฉย ๆ น่าจะมีมาตรการเพื่อขัดเกลาผู้ต้องโทษเพื่อไม่ให้ทำผิดซ้ำอีก และหากจะอภัยโทษโดยอำนาจของรัฐก็ทำได้ แต่ควรมีการเปิดเผยกระบวนการที่ชัดเจน มิใช่การอ้าง “พระมหากรุณาธิคุณ” .


กำลังโหลดความคิดเห็น