xs
xsm
sm
md
lg

“บันไซ” กับจักรพรรดิญี่ปุ่นใต้รัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกฯ ชินโซ อาเบะ ถวายพระพรสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นด้วยคำว่า “บันไซ” หรือ “ทรงพระเจริญหมื่นปี” ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่าการกระทำเช่นนี้สอดคล้องกับสถานะของพระจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ?

ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ นายกฯ ชินโซ อาเบะ ได้เป็นต้นเสียงกล่าวคำว่า “บันไซ” 3 ครั้ง เพื่อถวายพระพรสมเด็จพระจักรพรรดิ แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่า การที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศญี่ปุ่น เปล่งเสียงถวายพระพรพระจักรพรรดิเช่นนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ

คำว่า “บันไซ” 万歳 มีความหมายว่า “หมื่นปี” มีที่มาจากประเทศจีน ที่ในอดีตใช้ถวายพระพรฮ่องเต้ และญี่ปุ่นได้นำไปใช้เพื่อถวายพระพรพระจักรพรรดิ แน่นอนว่า คำว่า “บันไซ” แฝงไว้ด้วยคติของการเป็นสมมุติเทพ เพราะไม่มีมนุษย์ปุถุชนใดที่จะมีอายุยืนยาวถึง “หมื่นปี” อย่างแน่นอน

ชาวญี่ปุ่นเมื่อเปล่งเสียง “บันไซ” ยังยกมือทั้ง 2 ข้างขึ้นเหนือศีรษะ เหมือนหนึ่ง “น้อมกายถวายชีวิต” หรือ “ศิโรราบ” ตอกย้ำสถานะที่สูงส่งดั่งเทพของพระจักรพรรดิ

บาดแผลจากลัทธิทหาร

ในญี่ปุ่น “บันไซ” ยังถูกใช้อย่างกว้างขวางในสมัยสงครามโลก จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “บันไซ ชาร์จ” คือ เมื่อทหารญี่ปุ่นจะรบแบบพลีชีพ เช่น ตอนที่ฝูงบินกามิกาเซ่บุกเพิร์ลฮาร์เบอร์ หรือทหารที่ถือดาบซามูไรตะโกน “บันไซ” แล้ววิ่งเข้าหาคู่ต่อสู้แบบยอมสละชีวิต ยอมตายดีกว่ายอมแพ้

ทหารญี่ปุ่นยังมักจะร่วมกันตะโกนว่า “เท็นโนเฮกะ บันไซ” หรือ “สมเด็จพระจักรพรรดิทรงพระเจริญหมื่นปี” เพื่อแสดงความเคารพเทิดทูนพระจักรพรรดิ และปลุกขวัญ ให้กำลังใจตัวเองว่ากำลังทำสงครามพลีชีพเพื่อพระจักรพรรดิ ผู้เป็นดั่งเทพ

ดังนั้น “บันไซ” จึงไม่เพียงเชื่อมโยงกับสถานะสมมุติเทพของพระจักรพรรดิ และยังรวมถึงลัทธิทหารอีกด้วย

หากแต่สถานะเช่นนี้ของพระจักรพรรดิสิ้นสุดลงตั้งแต่หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 พระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะมีพระราชดำรัสต่อปวงประชาชนว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนธรรมดา มีเลือดเนื้อ มิใช่เทพ”

รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นระบุว่า “พระจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ และความสมานฉันท์ของประชาชน พระราชอำนาจของพระองค์มาจากประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” จึงมีผู้วิจารณ์ว่าหากนายกรัฐมนตรียืนอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าพระจักรพรรดิ และยังเปล่งถ้อยคำแสดงความจงรักภักดีเช่นนี้แล้ว สถานะของผู้นำประเทศตามรัฐธรรมนูญกับสถานะของพระจักรพรรดิ ใครอยู่เหนือกว่า ?

การใช้คำถวายพระพรเช่นนี้ยังอาจทำให้แขกต่างชาติ ที่มีวัฒนธรรมและมีสถานะที่หลากหลาย มีทั้งที่เป็นสมาชิกราชวงศ์และผู้นำต่างชาติบางคนรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ให้คำแนะนำในการเข้าร่วมพิธีว่า แขกต่างชาติไม่จำเป็นต้องโค้งคารวะ และไม่ต้องเปล่งเสียง “บันไซ”ก็ได้

ในพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ก่อน คือพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เมื่อ 30ปีก่อน เดิมทีนายกฯ โทชิกิ ไคฟุ ปฏิเสธเป็นผู้นำการเปล่งเสียง “บันไซ” โดยให้เหตุผลว่า “เราต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า ญี่ปุ่นเป็นชาติประชาธิปไตย ของประชาชน เป็นประเทศที่แตกต่างจากช่วงก่อนสงคราม”

แต่ในวันพิธีนายกฯ โทชิกิ ไคฟุกลับได้เปล่งเสียง “บันไซ” แต่ได้ให้เหตุผลว่าเพื่อแสดงความยินดีต่อวโรกาสขึ้นครองราชย์ของพระจักรพรรดิ ไม่ใช่การถวายพระพรต่อองค์จักรพรรดิโดยตรง.


กำลังโหลดความคิดเห็น