ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
คำว่า LGBT (แอล-จี-บี-ที) ปรากฏให้เห็นและได้ยินตามสื่อมากขึ้น แนวโน้มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทย แต่กลายเป็นกระแสโลก แม้แต่ในญี่ปุ่นซึ่งดูเหมือนมีพัฒนาการทางสังคมเกี่ยวกับเรื่องนี้ช้ากว่าไทยก็เริ่มให้ความสนใจจริงจังดังที่มีข่าวความเคลื่อนไหวออกมาเป็นระยะ และตอนนี้ญี่ปุ่นอาจล้ำหน้าไทยไปแล้วในหลายประเด็นหนัก ล่าสุดคือเรื่องเครื่องแบบนักเรียนที่โรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนเลือกได้ตามที่คิดว่าเหมาะกับเพศสภาพของตน ซึ่งทำให้ประเด็น LGBT เป็นที่พูดถึงขึ้นมาอีก
ในเบื้องต้น ขอขยายความสำหรับคนที่อาจยังไม่คุ้นเคยว่าคำนี้หมายถึงอะไร LGBT เป็นคำย่อที่เกิดจากอักษรต้นคำในภาษาอังกฤษ 4 คำประกอบกัน คือ Lesbian (เลสเบี้ยน), Gay (เกย์), Bisexual (รักร่วมสองเพศ), และ Transgender (คนข้ามเพศ) สามอย่างแรกเป็นการตีตราด้วยเกณฑ์ที่เรียกว่าเพศวิถีหรือความชอบทางเพศ หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นคือใช้อารมณ์ทางเพศเป็นเกณฑ์ ส่วนรายการสุดท้าย “คนข้ามเพศ” นั้น มีนัยเชิงสังคมกับกายวิภาคมากกว่า กล่าวคือ หมายถึงคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือความรู้สึกและสภาพที่ตัวเองต้องการสื่อให้ผู้อื่นรับรู้ ไม่ตรงกับลักษณะทางเพศที่ติดตัวมาแต่เกิด (ผลสุดท้ายอาจนำไปสู่การแปลงเพศ หรืออาจไม่ถึงขั้นนั้นแล้วแต่กรณี) เป็นการเรียกโดยไม่ได้มุ่งพิจารณาเพศวิถี แต่เน้นเกณฑ์ความรู้สึกภายในของเจ้าตัวว่าอยากแสดงตนออกมาเป็นแบบไหน
แม้ LBGT สื่อถึงคน 4 ประเภทอย่างเจาะจง แต่ผู้คนมักนำมาใช้ในความหมายที่กว้างกว่านั้นเพื่อชี้ถึง “คนกลุ่มน้อยทางเพศ” ซึ่งอันที่จริงคนกลุ่มน้อยที่ว่านี้มีความซับซ้อนและมีมากกว่า 4 ประเภท อย่างไรก็ตาม ตามความเข้าใจของคนทั่วไป LBGT คือ ตัวแทนคนกลุ่มน้อยทางเพศ หรือกล่าวในอีกมุมหนึ่งคือกลุ่มหลากหลายทางเพศซึ่งมีธงแถบสีรุ้งเป็นสัญลักษณ์ และปัจจุบันเป็นเหมือน “แบรนด์” ที่นำออกมารณรงค์เพื่อบอกให้สังคมตระหนักว่า คนในสังคมไม่ได้มีแค่ผู้ที่ครองรูปร่างเพศชายหรือหญิงและปรารถนาจะมีคู่เป็นเพศตรงข้ามเท่านั้น แต่มี ‘คนแบบอื่น’ ด้วย เช่น ผู้ที่มีอาจสรีระตามที่สังคมประทับตราว่าเป็น “ชาย” หรือ “หญิง” แต่มิได้มีเพศวิถีแบบที่สังคม ‘เชื่อว่า’ ชายต้องคู่กับหญิง ซึ่งเท่าที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ถูกกีดกันในหลายประเทศ ถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือแม้กระทั่งถูกทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิตเพราะอคติ
คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มน้อยในประชากรโลก การถูกมองว่าประหลาดเพราะมีจำนวนน้อยทำให้เกิดการกดขี่และการเลือกปฏิบัติ แต่การมีน้อยกว่าไม่ได้หมายความว่าเป็นมนุษย์น้อยกว่า ความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิอันเท่าเทียมกันจึงมีมาตลอด จนกระทั่งถึงยุคนี้ เมื่อเพศภาวะศึกษา (gender studies) กลายเป็นวิชาที่มีการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก จึงเกิดความเข้าใจมากขึ้น มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ และมีการนำความจริงที่ถูกกดอยู่ในห้วงความรู้สึกของคนกลุ่มน้อยทางเพศออกมาพูดอย่างเปิดเผยในศตวรรษที่ 21
ในญี่ปุ่น เท่าที่ผ่านมาโดยทั่วไปเรียกความรักร่วมเพศว่า “โดเซไอ” (同性愛;dōseiai) และเรียกคนรักร่วมเพศโดยรวมว่า “โดเซไอ-ชะ” (同性愛者;dōseiai-sha) ส่วนคำว่า LBGT ซึ่งกำลังเข้ามาแทนที่ “โดเซไอ-ชะ” ในสื่อต่าง ๆ และใช้สื่อถึงคนกลุ่มน้อยทางเพศด้วยนั้น แพร่หลายในโลกตะวันตกก่อนและค่อย ๆ เข้ามาสู่วงวิชาการญี่ปุ่น โดยเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษเช่นเดียวกับในภาษาไทย ขณะนี้แม้ว่าคนญี่ปุ่นรุ่นก่อน ๆ อีกไม่น้อยยังไม่คุ้นเคยกับคำนี้ แต่รับรองได้ว่าในไม่ช้านี้จะชินแน่นอน
นักวิชาการบางคนมองว่าการใช้คำนี้สื่อถึงคนกลุ่มน้อยทางเพศอาจไม่เหมาะ เพราะระบุไว้แค่ 4 ประเภท หากใช้คำนี้ก็เท่ากับว่ากีดกันคนประเภทอื่น และหากจะพูดให้รัดกุม ภาษาญี่ปุ่นก็มีคำว่า “เซ-เต-กิ-โช-ซู-ชะ” (性的少数者;seiteki shōsū sha) อยู่แล้วซึ่งน่าจะเหมาะกว่า อย่างไรก็ตาม แม้มีช่องว่างด้านความเข้าใจระหว่างนักวิชาการกับคนทั่วไป แต่ก็ยากที่จะห้ามไม่ให้ประชาชนคิดว่า LBGT หมายถึง คนกลุ่มน้อยทางเพศหรือกลุ่มหลากหลายทางเพศอยู่ดี
เมื่อย้อนมองในช่วงประมาณ 30 ปีของญี่ปุ่น อคติต่อคนกลุ่มน้อยทางเพศนำไปสู่การกระทบกระทั่งหลายครั้งหลายหน กรณีฟ้องร้องกลายเป็นคดีตัวอย่างก็มี เช่น เรื่องชมรม OCCUR ของคนรักร่วมเพศวัยทำงานถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้อาคารเยาวชนของทางการกรุงโตเกียว เรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 2533 เมื่อทางกลุ่มไปใช้บริการสถานที่ดังกล่าวจัดกิจกรรมซึ่งมีเยาวชนกลุ่มอื่นมาร่วมใช้สถานที่ด้วย ปรากฏว่า OCCUR ถูกสมาชิกกลุ่มอื่นพูดถากถาง
“ไอ้พวกนี้เป็นโฮโม กลุ่มโฮโมนี่หว่า”
สมาชิก OCCUR ได้ยินเช่นนั้นก็หน้าตึง แต่อดกลั้นไว้ พอถึงเวลาไปอาบน้ำ สมาชิกบางคนออกมาเล่าสู่กันฟังว่า มีนักเรียนประถมของอีกกลุ่มมาแอบดูแล้วหัวเราะเยาะ และช่วงอาหารเช้าก็ยังมีเสียงถากถางลอยมาอีก
“เฮ้ย พวกตุ๊ดอีกแล้วว่ะ” สิ้นประโยคนั้น ก็เกิดเสียงหัวเราะดังลั่น
ชมรม OCCUR ขอให้ผู้ดูแลสถานที่ดำเนินการอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับทัศนคตินั้น จึงมีการเรียกหัวหน้ากลุ่มมาประชุมกัน หัวหน้าของกลุ่มศาสนาคริสต์ที่ใช้สถานที่อยู่ด้วย ยกเนื้อความในคัมภีร์ไบเบิลพันธสัญญาเดิมมาอ้าง
“ชายใดนอนกับชายดังที่ทำกับหญิง ผู้นั้นทั้งสองกระทำการอันควรถูกรังเกียจ จึงต้องถูกฆ่า”
ทาง OCCUR ไม่ยอมรับทัศนคติเช่นนั้นและกล่าวโต้แย้ง ส่วนผู้ดูแลสถานที่ประกาศปรามว่า “หยุดได้แล้ว...ถ้าขืนพูดอะไรอีกจะไล่กลับ”
หลังจากไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยในปีนั้น ปีถัดมากลุ่ม OCCUR ขอใช้สถานที่อีก แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า “จะส่งผลอันไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าถูกต้องต่อการถ่ายทอดความรู้อันดีงามแก่เยาวชน”
ชมรม OCCUR จึงฟ้องร้องทางการกรุงโตเกียวด้วยถูกปฏิเสธโดยไม่มีเหตุผลอันควรและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ผลปรากฏว่าทางกลุ่มชนะคดี นอกจากคดีนี้แล้ว ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ LGBT ในญี่ปุ่นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าแนวคิดอนุรักษ์นิยมยังคงเป็นกระแสหลักอยู่ก็ตาม เหตุการณ์เด่น ๆ ที่ควรระบุไว้ในช่วงสามทศวรรษนี้นอกจากคดี OCCUR ได้แก่
ปี 2537จัด “โตเกียวเลสเบี้ยน เกย์ พาเหรด” เป็นพาเหรด LGBT ครั้งแรกในญี่ปุ่น
ปี 2538สมาคมจิตเวชศาสตร์และประสาทวิทยาแห่งญี่ปุ่นประกาศเคารพเจตนารมณ์ขององค์การอนามัยโลก (2537) ที่ลบความรักร่วมเพศออกจากรายการที่ต้องรักษา
ปี 2543กลุ่มเด็กหนุ่มรุมซ้อมชายรักร่วมเพศจนเสียชีวิต
ปี 2546
- อายะ คามิคาวะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาเขตเซตางายะในโตเกียว เป็นหญิงข้ามเพศคนแรกในตำแหน่งการเมืองท้องถิ่น
- ตรากฎหมายที่บัญญัติให้เปลี่ยนคำระบุเพศได้สำหรับ “บุคคลผู้มีภาวะผิดปกติด้านอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ” (กฎหมายมีผลในปีถัดไป)
ปี 2550 กระทรวงแรงงานและทางการกรุงโตเกียวเริ่มสนับสนุน Tokyo Pride Parade อันเป็นกิจกรรมเด่นของ LGBT ผู้ว่าการเขตชิบูยะและชินจูกุส่งข้อความเข้าร่วมงาน
ปี 2556คานาโกะ โอสึจิ เป็นเลสเบี้ยนคนแรกของญี่ปุ่นที่ได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก (ก่อนหน้านี้เคยเป็นสมาชิกสภานครโอซากะ)
ปี 2560 โทโมยะ โฮโซดะ ชายข้ามเพศคนแรกในโลกที่เปลี่ยนคำระบุเพศจากหญิงเป็นชายในสำมะโนครัว และทำงานตำแหน่งสาธารณะในฐานะสมาชิกสภาเขตในจังหวัดไซตามะ
ปี 2561
- (เมษายน) โรงเรียนมัธยมต้นแห่งหนึ่งในจังหวัดชิบะอนุญาตให้นักเรียน ใส่เครื่องแบบชายหรือหญิงก็ได้โดยไม่จำกัดว่าเพศสภาพของนักเรียนจะเป็นอย่างไร หญิงจะใส่กางเกงก็ได้ ชายจะใส่กระโปรงก็ได้
ด้วยความเคลื่อนไหวข้างต้น การสำรวจเกี่ยวกับ LGBT ก็มีถี่ขึ้น ทำให้เห็นได้ชัดว่าสังคมญี่ปุ่นตระหนักเรื่องนี้กว่าเมื่อก่อน อย่างเรื่องการสำรวจก็มีมาหลายครั้งโดยองค์กรที่ต่างกันในช่วงปี 2557-2559 และมีตัวเลขออกมาชัดเจนว่า LBGT ในญี่ปุ่นมีประมาณ 6-8% ของประชากร จะว่าน้อยก็ไม่เชิงเพราะหากคิดคร่าว ๆ ว่าญี่ปุ่นมีประชากร 120 ล้านคน เท่ากับว่ามี LGBT 7-9 แสนคน ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อย เมื่อดูในรายละเอียดของปี 2558 จากสถาบันวิจัย LGBT แห่งญี่ปุ่นที่สำรวจประชากรอายุ 20-59 ปีประมาณ 1 แสนคน พบว่าญี่ปุ่นมี LGBT 5.9% แยกเป็น L 1.7%, G 1.94%, B 1.74%, T 0.47% นอกนั้นมีลักษณะเป็นแบบอื่น
จากพัฒนาการเหล่านี้ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าแม้บรรยากาศทางสังคมด้านความเป็นมิตรต่อ LGBT ในญี่ปุ่นอาจสู้ไทยไม่ได้ แต่ในเรื่องจริงจังอย่างกฎหมายนั้น ญี่ปุ่นเดินหน้าไปแล้ว คือยอมให้เปลี่ยนคำระบุเพศได้หลังจากผ่านกระบวนการพิจารณาทางศาล ซึ่งก็สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติเพราะในเมื่อสภาพร่างกายไม่มีสัญลักษณ์บ่งชี้เพศสภาพตามเดิมแล้ว คำระบุเพศก็ควรจะเปลี่ยนไปด้วย (จริง ๆ แล้วเรื่องแบบนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับไทยมากกว่าเพราะคนไทยนำหน้าชื่อด้วย “นาย”, “นาง” หรือ “นางสาว” ทั้ง ๆ ที่บางท่านไม่มีสภาพร่างกายตรงกับคำนำหน้า ในขณะที่คนญี่ปุ่นไม่ใช้คำนำหน้าชื่อที่บ่งชี้เพศ เพียงแต่เขียนชื่อ และระบุในช่องอื่นว่าเป็นชายหรือหญิง)
นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวเรื่องเครื่องแบบนักเรียนก็สะท้อนว่าสังคมในระดับที่ใกล้ชิดกับครอบครัวเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น และกำลังสร้างความตระหนักให้เด็กเรียนรู้ที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้มีแค่ผู้ชายกับผู้หญิง เป็นการพยายามลดอคติต่อ LGBT อย่างอาจหาญ เรียกได้ว่าก็ให้อยู่กันจนชินตั้งแต่เด็ก ความแปลกแยกจะได้กลายเป็นความหลากหลาย และความแตกต่างจะได้กลายเป็นสีสัน เมื่อญี่ปุ่นก้าวมาถึงตรงนี้ได้ ย่อมเป็นที่เชื่อได้ว่ากฎหมายแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันก็ไม่น่าจะเป็นเพียงความฝัน
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com