ชาวญี่ปุ่นทุกคนต่างเคยได้ยินนิทานเรื่อง “ข้าวร้อยกระสอบ” ซึ่งเล่าเรื่องการสร้างชาติด้วยการศึกษาและพึ่งพาตนเอง สอดคล้องกับพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเคยตรัสว่า “เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า”
ในช่วงศตวรรษที่ 19 ภูมิภาคเอเชียถูกคุกคามจากชาติตะวันตก ที่หวังล่าอาณานิคม ทำให้ญี่ปุ่นต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศเพื่อให้ทันสมัย การศึกษาของญี่ปุ่นได้รับการพัฒนาอย่างสำคัญในยุคการปฏิรูปเมจิ ด้วยหลักการ “ค่านิยมตะวันออก เทคโนโลยีตะวันตก” การให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อให้พึ่งพาตัวเองได้ของญี่ปุ่น มีตำนานมาจากเกร็ดประวัติศาสตร์เรื่อง “ข้าวร้อยกระสอบ”
ในสงครามใหญ่ยุคเมจิ แคว้นนากะโอะกะ เสียหายยับเยินจากการศึก ไม่เพียงบรรดาขุนศึกเจ้าเมือง หรือโชกุน ต้องพบกับความล่มสลาย ชาวบ้านก็อดอยากแร้นแค้นอย่างหนัก แคว้นมิเนยะมะซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน จึงได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการมอบข้าวสาร 100 กระสอบ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับชาวแคว้นนากะโอะกะ
ทันทีที่ได้รับข้าว 100 กระสอบ เหล่าขุนศึกต่างบัญชาให้รีบนำข้าวออกแจกจ่ายแก่ชาวบ้านผู้หิวโหย แต่ “โคบายาชิ โทระสะบุโร” รองเจ้าเมืองในขณะนั้นคัดค้านการแจกข้าวฟรี โดยให้เหตุผลว่า “หากข้าวร้อยกระสอบนี้ถูกแจกกินก็จะหมดไปในไม่กี่วัน แต่ถ้านำข้าวไปขายและนำเงินมาสร้างโรงเรียน ก็จะเปลี่ยนเป็นข้าวแสนกระสอบ หรือล้านกระสอบในวันหน้า”
โคบายาชิ โทระสะบุโร นำเงินจากการขายข้าวไปสร้างโรงเรียนให้การศึกษากับชาวบ้านทุกชนชั้น และช่วยให้ชาวบ้านสามารถหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองได้ในที่สุด
ตำนานเรื่อง “ข้าวร้อยกระสอบ” ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางเมื่อ “ยะมะโมโต ยูโซ” นักเขียนชื่อดังนำมาถ่ายทอดเป็นบทละครในช่วงสงครามโลกจนเป็นที่รู้จักของชาวญี่ปุ่นแทบทุกคน
นิทานเรื่องนี้ยังถูกเอ่ยอ้างในสุนทรพจน์ของอดีตนายกรัฐมนตรี จุนนิชิโร โคอิสุมิ ว่า เป็น “จิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น” นอกจากนี้ ยังถูกนำไปใช้ในการแสดงละครเวทีการกุศลในประเทศฮอนดูรัส ซึ่งขณะนั้นประสบภัยพิบัติขั้นสาหัส หลังจากนั้น นิทาน” ข้าวร้อยกระสอบ” จึงแพร่หลายไปในหลายประเทศในภูมิภาคอเมริกากลาง
พึ่งพาตัวเอง เคารพตนเอง สอดคล้องแนวพระราชดำริในหลวง ร.๙
ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นมุ่งเน้นให้นักเรียนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพราะชาวญี่ปุ่นตระหนักว่า คนที่ยืนบนลำแข้งตัวเองได้ จึงมีความ “เคารพตนเอง” ประเทศชาติจะเข้มแข็งได้โดยไม่ต้องพึ่งพานโยบาย “ประชานิยม” ให้รัฐบาลช่วยเหลือตลอดเวลา
นิทานเรื่อง “ข้าวร้อยกระสอบ” ของญี่ปุ่นสอดคล้องกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเคยตรัสเปรียบเทียบว่า ไม่ควรให้ปลา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า
“เบ็ดตกปลาใช้เวลานานหน่อย อาจได้ปลาเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่หากฝึกตกทุกๆ วัน ย่อมมีประสบการณ์ รู้ตรงไหนคือที่ที่มีปลาชุก รู้ว่าตอนไหนปลาจะมากินเหยื่อ แบบนี้จะยั่งยืนแต่ต้องรอ
เนื้อปลาได้กินทันทีจะชิ้นใหญ่ชิ้นเล็กก็อยู่ที่ว่าเขาจะแบ่งมาให้กินกันเท่าไร โชคดีได้ชิ้นใหญ่ รู้จักเอาไปแปรรูปเก็บไว้นานๆ ก็ดีไป แต่หากแปรรูปไม่เป็น กินวันสองวันหมดก็ไม่มีปลากินอีก ก็ต้องร้องเรียกเนื้อปลากันจนวุ่นวาย”