“...เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรให้เบ็ดตกปลา และสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า...” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช ในเรื่องความพอเพียง และการรู้จักพึ่งพาตนเอง
ซึ่งที่โรงเรียนบ้านไร่ อ.ท่าแพ จ.สตูล ได้น้อมนำเข้าสู่การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ มีทักษะอาชีพที่พึ่งพาตนเองอย่างพอเพียง ภายใต้วิถีชีวิตท้องถิ่นอาศัย และมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด
น.ส.สุชดา แซ่ตั้ง ผอ.โรงเรียนบ้านไร่ จึงได้นำการทำไซปู หรืออุปกรณ์ดักปู อาชีพหนึ่งในวิถีชีวิตชาวชุมชนบ้านไร่ เข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ภายใต้แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้นักเรียนมีทักษะอาชีพ และสืบสานวีถีชีวิตท้องถิ่นให้คงอยู่ รู้จักใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า มีความรัก และหวงแหนท้องถิ่นของตนเอง
ด้าน นายมะดาโอ๊ะ สาและ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่อาสามาช่วยสอนการทำไซปูให้แก่นักเรียน สำหรับไซปูที่สอนเป็นไซที่ใช้ดักปูดำ มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40 เซนติเมตร สูง 20-25 เซนติเมตร สามารถพับเก็บได้ง่าย ส่วนวัสดุที่ใช้ทำไซ ประกอบด้วย ลวดขนาดใหญ่ อวนเส้นใหญ่ตาขนาดกลาง ด้ายเย็บอวน และไม้ไผ่สำหรับหลักวางไซ
เมื่อนักเรียนทำไซปูได้จนชำนาญแล้ว นายมะดาโอ๊ะ จะพานักเรียนไปยังป่าชายเลน บริเวณคลองในหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากโรงเรียนบ้านไร่ มากนัก เพื่อสอนวิธีการวางไซดักปูดำ ซึ่งทำได้ไม่ยาก แค่ดูค่ำของดวงจันทร์ว่ากี่ค่ำ ซึ่งต้องเป็นช่วงน้ำใหญ่ คือ 11 ค่ำ จนถึง 5 ค่ำ เพราะน้ำเดินปูจะได้กลิ่นปลาสด ที่ใช้เป็นเหยื่อล่อดักในไซ ส่วนวิธีการวางไซ ต้องไห้ปากของไซหันไปด้านเดียวกับน้ำ เมื่อปูได้กลิ่นเหยื่อก็จะเดินเข้ากับดักที่วางไว้
สำหรับปูดำที่นักเรียนวางไซได้ จะนำไปขายให้พ่อค้าคนกลาง ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ทำให้มีรายได้ช่วยเหลือครอบครัวเฉลี่ยวันละ 200 บาท แต่การวางไซดักปูดำไม่ใช่จะทำได้ทุกวัน จะทำได้ก็เฉพาะช่วงน้ำใหญ่เท่านั้น
ขณะที่ นายคอเล็ด บังเตะ ครูโรงเรียนบ้านไร่ กล่าวว่า การสอนทำไซปู เป็นการเสริมประสบการณ์วิชาชีพนอกห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อาชีพในท้องถิ่น รู้จักใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมไปทำไซดักปู เนื่องจากชุมชนบ้านไร่ เป็นหมู่บ้านที่ติดป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ และมีลำคลองไหลผ่าน
ซึ่งนักเรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง สามารถต่อยอดเป็นอาชีพเสริมได้ในอนาคต สนองพระราชดำรัส “...เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรให้เบ็ดตกปลา และสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า...” แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช เชื่อแน่ว่า นักเรียนบ้านไร่จะสามารถประกอบอาชีพที่พึ่งพาตนเอง ด้วยวิถีชีวิตพอเพียงในท้องถิ่นได้สืบไป