xs
xsm
sm
md
lg

มังงะ (2) : ญี่ปุ่นในฐานะเจ้าแห่งการ์ตูน

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


จากประเด็นที่ว่า “มังงะ” หรือ “การ์ตูน” ของคนญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดอยู่ในหมู่เด็กๆ แต่กินวงกว้างไปถึงผู้ใหญ่ด้วยนั้น ก็มาถึงเรื่องที่ว่าทำไมญี่ปุ่นจึงเป็นเจ้าแห่งการ์ตูน ทั้งในแง่การผลิตและการตอบรับในระดับโลก ตลอดจนเรื่องฝีมือของนักวาดการ์ตูนญี่ปุ่น

สำหรับคำตอบง่ายๆ คือ ก็เพราะนักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นฝีมือดีและการ์ตูนญี่ปุ่นน่าสนใจ จึงมีคนติดตามมาก คำตอบเช่นนี้อาจจะตื้นเล็กน้อย ดังนั้น ในครั้งนี้ “ญี่ปุ่นมุมลึก” จะนำเสนอเสนอภาพกว้าง ๆ ของตลาดมังงะก่อน และจะพยายามตอบคำถามให้ลึกยิ่งขึ้นว่า ฝีมือของคนญี่ปุ่นมาจากไหน และในครั้งหน้าจะขยายความต่อไปว่าความน่าสนใจของการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่ตรงไหน ซึ่งจุดเหล่านี้ได้นำพาญี่ปุ่นไปสู่ความเป็นเจ้าแห่งการ์ตูนในระดับโลก

ในเบื้องต้น เมื่อมองภาพกว้างของตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นในปัจจุบันจะพบว่า โดยทั่วไปแบ่งประเภทโดยใช้กลุ่มเป้าหมายเป็นเกณฑ์ หลักๆ คือ มังงะสำหรับเด็กผู้ชาย และมังงะสำหรับเด็กผู้หญิง ถ้าเป็นการ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชายวัยประถมศึกษาจนถึงประมาณมัธยมปลาย ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โชเน็ง-มังงะ” (少年漫画;shōnen manga) ถ้าเป็นการ์ตูนเด็กผู้หญิงวัยเดียวกัน เรียกว่า “โชโจะ-มังงะ” (少女漫画;shōjo manga)

และด้วยเหตุที่ว่าผู้ใหญ่ก็อ่านการ์ตูนด้วย ในภาษาญี่ปุ่นจึงมีคำว่า “เซเน็ง-มังงะ” (青年漫画;seinen manga) คำว่า “เซเน็ง” นั้น แปลว่า “เยาวชน” ทว่าตามความเข้าใจในเชิงธุรกิจการ์ตูน มักหมายถึงผู้ใหญ่วัยตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจนถึงปลาย 30 ปี แต่หากใครจะจำคำนี้ไปพูด ก็ควรระมัดระวังสักหน่อย เพราะมีคำที่ออกเสียงใกล้เคียงกันคือ “เซจิง-มังงะ” (成人漫画;Seijin manga) แปลตามตัวอักษรได้ว่า “การ์ตูนผู้ใหญ่” ซึ่งหมายถึงการ์ตูน ‘อย่างว่า’

การแบ่งกลุ่มแบบนี้ไม่ใช่เรื่องพิสดารแต่อย่างใด เป็นการแบ่งตามลักษณะสินค้าดังที่ธุรกิจอื่นๆ อีกมากก็ทำกัน แต่อาจเหนือความคาดหมายของคนต่างวัฒนธรรมอยู่บ้างตรงที่ว่า ในการอ่านหรือดูการ์ตูนนั้น เกิดการข้ามรุ่นและข้ามกลุ่มเป้าหมายจนแยกแยะแทบไม่ได้ว่า เรื่องนี้หรือเรื่องนั้นมีคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจริงๆ สักเท่าไร อย่างเช่นเรื่องวันพีซ ซึ่งเป็น “โชเน็ง-มังงะ” ก็มีแฟนๆ ทุกเพศทุกวัย ไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กผู้ชาย ผมเองก็เคยได้ยินผู้หญิงญี่ปุ่นวัยผู้ใหญ่คุยกันถึงการ์ตูนเรื่องนี้บนรถไฟหลายครั้ง

ความแตกต่างของมังงะแต่ละประเภทข้างต้นอยู่ที่เนื้อหา โดยมีแนวโน้ม คือ “โชเน็ง-มังงะ” มักเน้นโครงเรื่องที่มีการต่อสู้ การผจญภัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแก้ปัญหาหนักๆ อันเกิดจากอดีตที่ไม่ชัดเจนของตัวเอง และตัวเอกมักเป็นผู้ชาย ไม่ค่อยเน้นเรื่องในชีวิตประจำวันและเรื่องความรักของตัวละคร ส่วน “โชโจะ-มังงะ” จะเน้นความรู้สึกของตัวละครค่อนข้างมาก เช่น ความผิดหวัง การผิดแผน นำเสนอภาพชีวิตประจำวันของตัวละครเอกกับคนรอบตัว มักนำเสนอเรื่องความรักด้วย ตัวเอกมักเป็นผู้หญิง และลายเส้นจะอ่อนช้อยกว่า ส่วน “เซเน็ง-มังงะ” มักนำเสนอเรื่องราวชีวิตของคนทำงาน มีฉากที่รุนแรงกว่าการ์ตูนสำหรับเด็ก หยิบยกประเด็นทางสังคมมาเสนอ เช่น ฉากในที่ทำงาน ฉากมหาวิทยาลัย การชิงไหวชิงพริบในเชิงธุรกิจ เป็นต้น

มังงะที่คนไทยรู้จักแพร่หลาย ส่วนใหญ่เป็น “โชเน็ง-มังงะ” หรือ “โชโจะ-มังงะ” และสำหรับ 2 กลุ่มนี้ เมื่อดูยอดพิมพ์ของ 5 อันดับแรกในแต่ละประเภท นับตั้งแต่ออกตอนแรกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบางเรื่องก็จบแล้ว บางเรื่องก็ยังไม่จบ อาจจะต้องตกใจ ในวงการสิ่งพิมพ์ของไทย ถ้าไม่นับหนังสือพิมพ์ คงไม่ต้องพูดถึงยอดพิมพ์หนังสือชุดเดียวกันต่อเนื่องถึงล้านเล่ม เพราะแค่แสนเล่มก็แทบจะหาไม่ได้

ยอดพิมพ์มังงะขายดีของญี่ปุ่น 5 อันดับแรก ประเภท “โชเน็ง-มังงะ” มีดังนี้
1. ONE PIECE 345 ล้านเล่ม (ยังไม่จบ)
2. Golgo 13 (ゴルゴ13 ) 280 ล้านเล่ม (ยังไม่จบ)
3. Dragon Ball (ドラゴンボール) 230 ล้านเล่ม
4. Black Jack (ブラック・ジャック) 176 ล้านเล่ม
5. Doraemon (ドラえもん) 170 ล้านเล่ม
(ติดตามข้อมูลภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเติมได้ที่ http://nendai-ryuukou.com/article/058.html)

ยอดพิมพ์มังงะขายดีของญี่ปุ่น 5 อันดับแรก ประเภท “โชโจะ-มังงะ” มีดังนี้
1. Hana Yori Dango (花より男子) 59 ล้านเล่ม
2. Glass Mask (ガラスの仮面) 50 ล้านเล่ม (ยังไม่จบ)
3. NANA (ナナ) 43 ล้านเล่ม (ยังไม่จบ)
4. Crest of the Royal Family (王家の紋章) 36 ล้านเล่ม (ยังไม่จบ)
5. Nodame Cantabile (のだめカンタービレ) 33 ล้านเล่ม (ยังไม่จบ)
(ติดตามข้อมูลภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเติมได้ที่ http://nendai-ryuukou.com/article/057.html)

สิ่งที่ยืนยันความเป็นเจ้าแห่งการ์ตูนของญี่ปุ่นได้ดีประการหนึ่งคือ ขนาดของตลาด ยอดพิมพ์ใน 5 อันดับข้างต้นก็พอจะชี้ชัดถึงขนาดตลาดญี่ปุ่นได้อยู่แล้ว และช่วยยืนยันได้ชัดเจนอีกว่าประเทศนี้คือเจ้าแห่งการ์ตูนอย่างแท้จริงในระดับโลก ดังที่นักวิจัยด้านการ์ตูน ศาสตราจารย์ยุกะริ ฟุจิโมะโตะ (藤本由香里; Fujimoto, Yukari) ประจำมหาวิทยาลัยเมจิ ก็เคยประเมินไว้เมื่อปี 2557 ว่า ในมูลค่าตลาดของมังงะทั่วโลกนั้น ตลาดญี่ปุ่นครองไปเสียประมาณครึ่งหนึ่ง
มังงะในร้าน
ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ผันไปเป็นดิจิทัลมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาด้านจำนวนของผู้ผลิต สมาคมเนื้อหาดิจิทัลแห่งญี่ปุ่น (Digital Content Association of Japan) ได้นับจำนวนนักเขียนการ์ตูนในญี่ปุ่นที่มีผลงานตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม และพบว่าเพิ่มขึ้นตลอดหลายปีมานี้ (มีข้อมูลถึงปี 2553)

ปี 2550 -5,063 คน
ปี 2551 - 5,248 คน
ปี 2552 - 5,494 คน
ปี 2553 - ประมาณ 7,200 คน

บรรยากาศเช่นนี้บ่งชี้สถานภาพของมังงะในญี่ปุ่นได้โดยสังเขป ซึ่งยังไม่ได้รวมถึงมูลค่าต่อเนื่องอันเกิดจากการผลิตเป็นภาพเคลื่อนไหวและการขายลิขสิทธิ์ให้แก่ต่างประเทศ ทำให้อนุมานได้ว่า การ์ตูนญี่ปุ่นต้องมีอะไรดีแน่ๆ ถึงได้รับความนิยมทั้งในและนอกประเทศ และนั่นนำไปสู่คำตอบข้อต่อมาคือ นักวาดฝีมือดีและการ์ตูนญี่ปุ่นมีคุณภาพสูง จึงมีคนติดตามล้นหลาม และคำถามต่อไปคือ ฝีมือนั้นมาจากไหน?

ดังที่ได้เกริ่นก่อนหน้านี้ว่า คนญี่ปุ่นเองก็ไม่ค่อยรู้สึกตัวว่าคนต่างชาติมองว่าคนญี่ปุ่นวาดการ์ตูนเก่ง เพราะการวาดการ์ตูนดูเหมือนกลายเป็นเรื่องธรรมดามากในสังคม จนคนญี่ปุ่นเองก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมถึงทำได้ดี แต่ในฐานะคนต่างชาติ ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นเพราะระบบประมวลผลในสมองของคนญี่ปุ่นมองสิ่งรอบตัวเป็นภาพอยู่เป็นประจำ จึงชำนาญต่อการถ่ายทอดความคิดหรือจินตนาการออกมาเป็นภาพ และสิ่งนี้คงได้รับอิทธิพลมาจากภาษา

คำอธิบายสำหรับข้อสันนิษฐานนี้คือ การใช้ตัวอักษร “คันจิ” ญี่ปุ่นรับอักษรชนิดนี้มาจากจีนตั้งแต่โบราณ เป็นตัวอักษรที่ถ่ายแบบมาจากภาพที่มนุษย์เห็นตามธรรมชาติรอบตัว เช่น คำว่า “ไฟ” เขียนว่า 火 (เมื่อแลดูดี ๆ ก็จะเห็นเปลวไฟที่ลุกวูบวาบ) เป็นต้น นี่คือสัญลักษณ์ที่สื่อภาพตามที่ตาเห็น ระบบประมวลผลของคนญี่ปุ่นจึงเป็นการเห็นภาพในอัตราส่วนสูง แล้วแปลงเป็นเส้น จากนั้นจึงแปลงเป็นเสียง มีคนญี่ปุ่นมากมายที่ “อ่านไม่ออก แต่เข้าใจ” หมายความว่า เมื่อเห็นตัวอักษรยากๆ และอ่านออกเสียงไม่ได้ แต่ก็เข้าใจว่าอักษรตัวนั้นหมายถึงอะไร

ในทางตรงกันข้าม หากเทียบกับภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ เมื่อเห็นตัวอักษร เรามักจะอ่านออก แต่อาจจะไม่เข้าใจ ระบบประมวลผลในจุดนี้จึงต่างกัน คนญี่ปุ่นนึกเป็นภาพ แต่คนไทยนึกเป็นเสียง จริงอยู่ที่ว่าอาจไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป แต่ธรรมชาติของภาษาที่ล้อมรอบตัวคนญี่ปุ่นได้หล่อหลอมสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว และหากใครเคยไปญี่ปุ่น ถ้าลองสังเกตให้ดี ก็จะพบว่าคนญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะใส่ภาพประกอบลงไปในเอกสารหรือป้ายต่างๆ ตลอดเวลา ประมาณว่าถ้าชีวิตนี้ขาดภาพประกอบ สิ่งรอบตัวจะขาดชีวิตชีวาไปทันที
Glass Mask (หน้ากากแก้ว)
อีกส่วนหนึ่งที่ผมมองว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย คือ ลักษณะความถ่อมตัวของคนญี่ปุ่น คงมีหลายคนสงสัยว่า เอ๊ะ...เกี่ยวกันอย่างไร? กล่าวคือ คนญี่ปุ่นถ่อมตัว ไม่อายที่จะบอกว่าตัวเองโง่หรือหัวไม่ดี และเมื่อจะทำสิ่งใดก็มีแนวโน้มที่จะพยายามทำให้เข้าใจง่ายโดยนึกถึงผู้รับสารด้วย จากจุดนี้ คนญี่ปุ่นจึงพยายามแปลงแทบทุกอย่างที่เป็นตัวหนังสือให้เป็นภาพเท่าที่จะทำได้ตามความเหมาะสม หรือไม่ก็หาภาพประกอบมาใส่ ซึ่งทำให้เข้าใจง่ายกว่าตัวหนังสือยิบๆ และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการเสียศักดิ์ศรีที่จะต้องเสพของง่ายๆ นิยายจึงกลายเป็นการ์ตูน หรือในนิยายก็มีภาพการ์ตูนประกอบ หรือแม้แต่หนังสือเรียนก็มีภาพวาดประกอบ วิชาความรู้หลายแขนงก็ได้รับการนำเสนอเป็นการ์ตูน

ข้อสันนิษฐานของผมค้างอยู่แค่นั้น และ ณ จุดนี้คงมีหลายท่านสงสัยว่า อ้าว...ถ้าอย่างนั้น คนจีนซึ่งก็ใช้อักษรที่มาจากภาพเหมือนกันคงวาดการ์ตูนเก่งด้วยสิ? ผมก็คิดเช่นนั้น และพอพยายามหาความกระจ่าง ก็พบแนวคิดที่น่าจะช่วยอธิบายได้มากขึ้น ซึ่งเสนอโดยคนญี่ปุ่น โดยกล่าวเชิงวิทยาศาสตร์ลึกลงไปกว่าที่ผมคิดไว้ขั้นหนึ่ง

แนวคิดนี้อยู่ในหัวข้อ “ภาษาญี่ปุ่นกับลักษณะเด่นของมังงะญี่ปุ่น” ในหนังสือ Manga wa naze omoshiroi no ka (マンガはなぜ面白いのか) โดยฟุซะโนะซุเกะ นะสึเมะ (夏目房之介;Natsume, Fusanosuke) ระบุถึงภาษาญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งอักษรที่ใช้แสดงเสียง (“ฮิระงะนะ” กับ “คะตะกะนะ”) และอักษรที่ใช้แสดงความหมาย (“คันจิ”) ว่า คำคือสิ่งที่เกี่ยวโยงกับ “เวลา” ส่วน ภาพคือสิ่งที่เกี่ยวโยงกับ “พื้นที่” เมื่อรับฟังหรืออ่านคำที่สื่อเสียง สมองส่วนที่ควบคุมการได้ยินจะถูกกระตุ้น เมื่อเห็นภาพ สมองส่วนที่ควบคุมการมองเห็นก็จะถูกกระตุ้น ในประโยคภาษาญี่ปุ่น จะมีทั้งอักษรที่สื่อเสียงและสื่อความหมาย (ภาพ) ทำให้สมองสองส่วนนี้ทำงานประสานไปด้วยกันตลอดเวลา คือ ระบบการรับรู้ด้านเวลาและพื้นที่จะสอดคล้องกันไป จุดนี้ทำให้จินตนาการพัฒนา และนำมาซึ่งทักษะการเล่าเรื่องกับทักษะการวาด

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คือข้อสันนิษฐานของนักวิชาการเพื่อพยายามอธิบายว่า ทำไมคนญี่ปุ่นจึงโดดเด่นด้านการวาดการ์ตูนในระดับโลก จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีคำอธิบายที่ดีกว่านี้เกิดขึ้น แต่ที่แน่ๆ คือ คำอธิบายนี้คงจะไขความกระจ่างได้ส่วนหนึ่งในประเด็นว่าด้วยตัวอักษรจีน คือ ภาษาจีนใช้ตัวอักษรจีน (ภาพ) สื่อความหมาย แต่ไม่ได้ใช้อักษรสื่อเสียงมาผสมเมื่อเขียนประโยคต่อเนื่องกันไป ซึ่งต่างจากภาษาญี่ปุ่น
 สินค้าต่อเนื่องจากการ์ตูนโปเกมอน
เมื่อยกเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมเชิงวัฒนธรรมว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้คนญี่ปุ่นวาดการ์ตูนเก่ง คนไทยก็ไม่ควรคิดว่านั่นคือพรสวรรค์ติดตัวคนญี่ปุ่น เพราะจริงๆ แล้วสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงส่วนเดียวที่เอื้อให้คนญี่ปุ่นเก่ง แต่ปัจจัยที่ทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นน่าสนใจยังมีอะไรมากกว่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยก็สามารถศึกษานำมาเป็นแบบอย่างเพื่อพัฒนาวงการการ์ตูนของไทยต่อไปได้ สำหรับเรื่องที่ว่าทำไมมังงะญี่ปุ่นจึงน่าสนใจ...มาต่อกันตอนหน้า

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น