ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ปี 2016 นี้ถือว่าเป็นปีสำคัญของวงการการ์ตูนในญี่ปุ่น เพราะครบ 70 ปีนับตั้งแต่ปรมาจารย์แห่งวงการนี้เปิดตัวครั้งแรกในฐานะนักเขียนการ์ตูน บุคคลผู้นั้นคือเทะสึกะ โอะซะมุ (手塚治虫; Tezuka Osamu) ผู้ชื่นชอบแมลงเป็นชีวิตจิตใจและได้สร้างมิติใหม่ให้แก่การ์ตูนญี่ปุ่น ทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในด้านความน่าสนใจและความลึกซึ้ง ในโอกาสนี้ “ญี่ปุ่นมุมลึก” จึงขอชี้ชวนมาร่วมมองย้อนรากเหง้าแห่งการ์ตูนในฐานะวัฒนธรรมญี่ปุ่น และคุณูปการที่เทะสึกะ โอะซะมุสร้างไว้ให้แก่ลูกหลานและวงการจนถึงปัจจุบัน
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “การ์ตูน” คนไทยมักนึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ นั่นไม่ได้หมายความว่าคนในโลกตะวันตกเขียนการ์ตูนไม่เก่ง เรื่องดังๆ ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีก็มีหลายเรื่อง เช่น สไปเดอร์แมน แบตแมน แต่ถ้าพูดถึงความคุ้นชินและจำนวนเรื่องที่เข้าถึงเด็กๆ ได้ง่ายโดยเฉพาะในเอเชียด้วยกัน คงต้องยกให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้า
สิ่งที่อยากย้ำในเบื้องต้นคือ ในสังคมญี่ปุ่น การ์ตูนไม่ใช่ของสำหรับเด็กเสมอไป เพราะสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นการ์ตูน เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคโบราณและเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่วาดให้ผู้ใหญ่ด้วยกันดู ซึ่งได้แก่ภาพชวนหัวที่ปรากฏในเอกสารของศาสนสถานสมัยนะระ (ค.ศ. 710-794) และถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการของการ์ตูนญี่ปุ่น หรือถัดมาในสมัยคะมะกุระ (ค.ศ.1185-1333) ก็มีภาพเกี่ยวกับนรกที่วาดให้แลดูตลกด้วย เป็นต้น ทว่ายุคสมัยที่นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งพัฒนาการของการ์ตูนจริง ๆ คือ สมัยเอะโดะ (ค.ศ.1603-1868) ซึ่งเป็นช่วงที่มีภาพชวนหัวปรากฏออกมามากมาย และภาพเขียนประเภทที่เรียกว่า “ฟูโซะกุงะ” (風俗画;Fūzoku-ga) หรือภาพเขียนที่ถ่ายทอดบรรยากาศชีวิตประจำวัน ก็แพร่หลาย
ผู้ใหญ่ในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มที่จะคิดว่าการ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระ เสียเวลา และเป็นเรื่องของเด็ก พ่อแม่บางคนถึงกับห้ามไม่ให้ลูกอ่านและให้เอาเวลาไปอ่านหนังสือเรียนแทนเสียดีกว่า ในเมื่อผู้ใหญ่วาดให้ผู้ใหญ่ด้วยกันดูมาช้านานแล้ว การจะปิดกั้นไม่ให้เด็กดูไปเสียทั้งหมดอาจโหดร้ายเกินไป เด็กก็มีโลกของเด็ก ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจจุดนี้ แทนที่จะห้าม แต่นำมาประยุกต์ด้วยการปรับเนื้อหา หรือสอดแทรกสิ่งที่เป็นประโยชน์ลงไปด้วยอย่างที่ญี่ปุ่นทำมาตลอด ตลาดการ์ตูนไทยโดยฝีมือคนไทยก็คงจะพัฒนามากกว่านี้ เพราะจริงๆ แล้วการ์ตูนคือสื่อที่ทรงพลังมาก โดยเฉพาะในด้านความคิดสร้างสรรรค์ การส่งเสริมจิตนาการ แรงบันดาลใจ หากนำมาส่งเสริมให้ถูกทางอย่างจริงจังจะยิ่งเสริมสร้างความคิดให้ผู้อ่าน และทำให้เรื่องยากๆ เป็นที่เข้าใจได้โดยง่ายดังจะได้ยกตัวอย่างต่อไป
เมื่อมองในแง่วัฒนธรรมด้านภาษา คนญี่ปุ่นใช้คำว่า “มังงะ” (漫画;manga) เพื่อหมายถึง “การ์ตูน” ที่เป็นหนังสือหรือเป็นเรื่องราวเป็นตอน ๆ ที่นำเสนอด้วยภาพเคลื่อนไหวโดยออกอากาศทางโทรทัศน์ เช่น ดรากอนบอล โดราเอมอน เซลเลอร์มูน วันพีซ ซึ่งมีทั้งหนังสือและซีรีส์ทางโทรทัศน์ ถ้าเป็นการ์ตูนที่สร้างเป็นภาพยนตร์ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “อะนิเมะ” (アニメ;anime) ซึ่งเป็นการกล่าวย่อ ๆ จาก “อะนิเมชง” (アニメメーション;animēshon) มาจากภาษาอังกฤษคำว่า animation (แอนิเมชัน) เช่น ภาพยนตร์การ์ตูนของจิบลี หรือของดีสนีย์ แต่ในภาษาไทย เราเรียกทุกอย่างที่เอ่ยมานี้ว่าการ์ตูน และด้วยอิทธิพลของการ์ตูนญี่ปุ่น (ตามความหมายกว้างในภาษาไทย) ที่แผ่ไปทั่วโลก ตอนนี้คำว่า “manga” และ “anime” กลายเป็นคำที่บรรจุอยู่ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษแล้ว
สำหรับแง่มุมทางวัฒนธรรมว่าด้วยรูปแบบการใช้ชีวิต จะพบกว่าการ์ตูนรับใช้จินตนการของคนญี่ปุ่นและสะท้อนภาพชีวิตออกมาได้ดีไม่แพ้นวนิยาย ไม่ว่าจะเป็น “ซะซะเอะซัง” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของแม่บ้านและคนรอบข้างพร้อมทั้งให้แง่คิดในการดำเนินชีวิตด้วย หรือ “อิกคิวซัง” ซึ่งคนไทยรู้จักกันดี (แต่เด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่ ๆ ไม่ได้ดูกันแล้ว) หรือแม้แต่ “ชินจัง” ซึ่งเคยก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ในสังคมไทยเรื่องความประพฤติไม่เหมาะสมของเด็ก (บางส่วนก็จริงตามนั้นหากมองในมุมของสังคมไทย) แต่ก็มีมากมายหลายตอนที่ดูตลกและสอนให้ตระหนักถึงสภาพสังคมด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีอีกมากมายหลายเรื่อง
การ์ตูนญี่ปุ่นคือสิ่งที่ใกล้ชิดกับชีวิตมาแต่โบราณ จนเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไป เนื้อเรื่องของการ์ตูนหลายๆ เรื่องพัฒนาไปด้วย บางเรื่องมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ เมื่อนำมาบวกกับจินตนาการ จึงไม่ใช่สิ่งที่ไร้สาระไปเสียทั้งหมด การ์ตูนคือสื่อทางความคิดที่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ ซึ่งเป็นศิลปะชนิดหนึ่ง บางเรื่องก็สอดแทรกหาที่หนักแน่นน่าติดตาม บางเรื่องก็มีเนื้อหาซับซ้อนที่ผู้ใหญ่เองก็ยังต้องคิดตามอย่างใช้สมาธิถึงจะทำความเข้าใจได้กระจ่าง
องค์ประกอบเหล่านี้แพร่หลายมานาน ปัจจุบันก็พบเห็นได้ทั่วไปว่ามีการนำการ์ตูนไปปรับให้เป็นสื่อเพื่อสอนเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายๆ เพราะในหลายกรณี ภาพย่อยง่ายกว่าตัวหนังสือ ทางด้านวิชาการ เช่น หนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็มีฉบับการ์ตูนออกมามากมาย หรืออย่างวรรณกรรมหนัก ๆ เช่น “อาชญากรรมกับการลงทัณฑ์” (Crime and Punishment) ของนักเขียนชาวรัสเซียฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี “สงครามกับสันติภาพ” (War and Peace) ของนักเขียนชาวรัสเซียเลโอ ตอลสตอย นั้น คนญี่ปุ่นต่างก็นำเนื้อเรื่องมาย่อยพร้อมกับวาดเป็นการ์ตูนเล่มออกมา ทำให้นักอ่านรุ่นใหม่ได้รู้จักโดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระทางสมอง
การยกตัวอย่างมาเช่นนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่าการ์ตูนญี่ปุ่นคือวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่ความบันเทิงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เข้าถึงชีวิตและความคิดของผู้คนอย่างแพร่หลาย ใช้สื่อทั้งเรื่องราวและความรู้ให้แก่คนทุกระดับตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ตั้งแต่วัยประถมไปจนถึงคนจบดอกเตอร์ ผมเองไม่ค่อยอ่านการ์ตูนเท่าไรนัก และชอบดูมากกว่า แต่มีเพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เรียนจบปริญญาเอกมาด้วยกันและเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันก็ยังอ่านการ์ตูนอยู่ หรือลูกศิษย์ของผมสองคน คนหนึ่ง ซึ่งเป็นทนายความ อายุก็เกินห้าสิบแล้ว และอีกคนเป็นพนักงานบริษัท อายุใกล้ห้าสิบแล้ว ก็ยังอ่านการ์ตูนกันอยู่โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่
เมื่อโดยสารรถไฟของญี่ปุ่น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่จะได้พบเห็นผู้ใหญ่ญี่ปุ่นอ่านการ์ตูน โดยจะได้เห็นผู้ชายใส่สูทนั่งกางหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์อ่านกันเป็นล่ำเป็นสัน ปัจจุบันแม้ได้เห็นน้อยลงเพราะสื่อสิ่งพิมพ์กลายสภาพจากกระดาษเป็นดิจิทัลมากขึ้น แต่ตอนที่รถไฟแน่นๆ ยืนเบียดกัน ผมก็ยังเห็นหน้าจอสมาร์ทโฟนของคนข้างๆ เป็นการ์ตูนอยู่นั่นเอง อีกทั้งบนชั้นวางของในตู้รถไฟหรือตามสถานีก็จะพบเห็นหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ที่คนอ่านทิ้งไว้หลังจากอ่านจบแล้ว บางคนก็คงทิ้งจริงๆ เพราะกระดาษของการ์ตูนรายสัปดาห์ก็ไม่ใช่ว่าจะคุณภาพสูงนัก แต่บางคนคงทิ้งไว้เพราะอยากเผื่อแผ่ให้ใครที่ตามที่อยากอ่าน ได้หยิบกลับไปเป็นของตัวเองและอ่านเรื่องที่ตัวเองชอบด้วย และหนึ่งในคนที่เคยหยิบกลับมาอ่านต่อก็คือผมเอง
คงเพราะคนต่างชาติได้เห็นผู้ใหญ่ญี่ปุ่นอ่านการ์ตูนบนรถไฟนั่น ถึงได้เกิดคำถามว่า “ทำไมคนญี่ปุ่นชอบมังงะนัก?” อาจารย์อิซะโอะ ชิมิซุ (清水勲;Shimizu, Isao) นักวิชาการด้านการ์ตูนท่านหนึ่งตอบโดยให้เหตุผลไว้ 2 ข้อคือ 1) คนญี่ปุ่นชอบอ่านหนังสือ และร้านหนังสือที่มีภาพวาดประกอบ ซึ่งเรียกว่า “คุซะโซชิ” (草双紙;kusazōshi) ก็มีมาตั้งแต่สมัยเอะโดะ วัฒนธรรมการพิมพ์คือสิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมมังงะหยั่งรากลึก, 2) เมื่อสามสี่ร้อยปีก่อน มีศิลปินมากพรสวรรค์เกิดขึ้นในญี่ปุ่นหลายคน และได้สร้างผลงานภาพมังงะอันทรงคุณค่าไว้ เช่น คะสึชิกะ โฮะกุไซ, โคบะยะชิ คิโยะชิกะ
อาจารย์ตอบไว้แค่นั้นในฐานะนักวิชาการ แต่ผมตอบในฐานะคนอ่านว่า การ์ตูนเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย จำง่าย แลดูไม่เครียด และฝีมือคนญี่ปุ่นก็ยอดเยี่ยม คนที่ชอบการ์ตูนญี่ปุ่นจึงไม่ได้มีแต่คนญี่ปุ่นเท่านั้น คนทั่วโลกก็ชอบด้วย ทีนี้มาถึงคำถามต่อไปซึ่งสืบเนื่องมาจากคำตอบข้างต้นว่า “แล้วทำไมคนญี่ปุ่นถึงวาดการ์ตูนเก่ง”
อันนี้อาจารย์ไม่ได้ตอบไว้ และผมได้ถามคนญี่ปุ่นมาหลายคนแล้ว แต่คนญี่ปุ่นเองก็ตอบไม่ได้ คงเป็นเพราะคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องธรรมดา ไม่ได้รู้สึกว่าเก่งหรือไม่เก่ง พอมีคนสังเกตเห็นเข้าและมาถาม จึงเพิ่งฉุกคิด สรุปว่าคนญี่ปุ่นเองก็ตอบไม่ค่อยได้ แต่เดี๋ยวคราวหน้า ผมจะลองมาตอบต่อ
.
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th