ความทันสมัยทำให้ของหลายอย่างเลือนหายไป หนึ่งในนั้น คือ “ลูกคิด” ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือคำนวน แต่เป็นเบื้องหลังที่ทำให้ญี่ปุ่นสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งเป็นรากฐานแนวคิดของชาวญี่ปุ่นด้วย
ทุกเช้าวันเสาร์ ณ หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งโอซากา ชาวต่างชาติหลายสิบคนจดจ่ออยู่กับการคำนวนด้วย “ลูกคิด” อุปกรณ์โบราณที่กลายเป็นของล้าสมัยและถูกละทิ้ง แต่ที่ญี่ปุ่นอาจเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ยังมีการเรียนลูกคิดอย่างกว้างขวาง เด็กๆหลายคนสามารถคิดคำนวนเลข 4-5 หลักได้อย่างรวดเร็วเหลือเชื่อ บางคนฝึกฝนจนถึงระดับ “จินตคณิต” ไม่ต้องดีดลูกคิดจริงแต่สามารถคำนวนได้เร็วไม่แพ้เครื่องคิดเลข
ฟื้นฟูความเป็นมนุษย์ที่ถูกเทคโนโลยีกลืนหาย
ในยุคคอมพิวเตอร์ ปลายนิ้วที่เคยดีดลูกคิดเปลี่ยนมากดปุ่มเครื่องคิดเลขและจิ้มหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว ลูกคิดจึงกลายเป็น “ของตกยุค” ที่เด็กรุ่นใหม่อาจไม่เคยเห็น แม้แต่ประเทศจีนที่เป็นต้นกำเนิดของลูกคิดก็แทบไม่มีการใช้งานแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการเรียนดีดลูกคิดซึ่งทั้งโรงเรียน, ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนไม่เห็นความจำเป็นอีกต่อไป
ถึงแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังคงมีการเรียนลูกคิดอย่างจริงจัง โดยมีโรงเรียนสอนวิชาลูกคิดเป็นการเฉพาะ แต่จำนวนโรงเรียนลูกคิดที่เคยมีมากกว่า 25,000 แห่งก็ต้องปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนเด็กญี่ปุ่นที่เคยเรียนลูกคิดมากกว่า 1.2ล้านคนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ลดลงเหลือเพียง 6แสนคนเท่านั้น
ขณะที่ในโรงเรียนประถมที่เคยใช้ลูกคิดเป็นอุปกรณ์หลักในวิชาคณิตศาสตร์ก็ถูกยกเลิกไป ลูกคิดกลายเป็นเพียง “วิชาเสริม” ที่เด็กญี่ปุ่นได้เรียนรู้เพียงแค่ปีละ 6-8 ชั่วโมงเท่านั้น
“เคน โมริโตโม” ชายวัยเกษียณที่เรียนลูกคิดมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบจึงริเริ่มจัด “ห้องเรียนลูกคิดสำหรับชาวต่างชาติ” โดยหวังจะกอบกู้ประดิษฐกรรมล้ำค่านี้ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา
“ในยุคคอมพิวเตอร์ ผู้คนไม่เพียงแต่คิดน้อยลงเพราะชีวิตสะดวกสบาย แต่ยังรับผิดชอบน้อยลงด้วย เมื่อเกิดปัญหาก็โทษว่าเป็นความผิดพลาดของเครื่องจักร คนทุกวันนี้มุ่งแต่ “ผลลัพธ์” โดยไม่ใส่ใจ “วิธีการ” การเรียนลูกคิดไม่ใช่เพียงแค่เรียนคิดเลข แต่เป็นการจัดระบบความคิดใหม่ และฟื้นฟูความเป็นมนุษย์ด้วย”
เทคโนโลยีทำให้เด็กรุ่นใหม่มีประสาทสัมผัสที่ช้าลง สมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อทำอะไรได้นานๆ รวมทั้งขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ ใจเร็วด่วนได้ ไม่คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ
การใช้ลูกคิดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ พัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาอย่างสมดุล ยกระดับความอดทน ความสามารถในการตัดสินใจ การมีสมาธิ และยังช่วยให้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ด้วย
เรียนฟรีที่เดียวในโลก ฝรั่งทึ่ง อินเดียจองขอเรียน
ห้องเรียนลูกคิดสำหรับชาวต่างชาติที่ “เคน โมริโตโม” ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1986โดยบรรดาครูอาสาสมัครที่สละเวลามาสอนให้ฟรีแบบตัวต่อตัวด้วยภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่น ตลอด 30 ปีที่ผ่านมามีชาวต่างชาติสนใจเข้าร่วมจาก 95 ประเทศ จำนวนกว่า 1170 คน กลุ่มที่สนใจมากที่สุด คือ ชาวอินเดียและฝรั่งตะวันตก ขณะที่นักเรียนชาวไทยมีเพียงแค่ไม่ถึง 10 คน
ชาวตะวันตกที่ได้สัมผัสลูกคิดต่างบอกว่า วิธีการคิดแตกต่างจากที่พวกเขาเคยเรียนรู้อย่างสิ้นเชิง ปลายนิ้วที่ดีดลูกคิดส่งความคิดไปยังสมองและประมวลผลลัพธ์ออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ เสียงลูกคิดกระทบกันและความรู้สึกที่จับต้องได้จริงเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์
ผู้ปกครองชาวต่างชาติที่ให้ลูกหลานมาเรียนลูกคิด ต่างบอกว่า เด็กที่เคยเป็น “ลูกลิง” นิ่งขึ้นอย่างน่าแปลกใจ และยังมีพัฒนาการที่ดีขึ้นด้วย
เทคโนโลยี “ง่ายจนโง่”
สมัยเป็นนักเรียนไม่ว่าคุณจะชอบหรือเกลียดวิชาคณิตศาสตร์ แต่ในชีวิตประจำวันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับตัวเลขตั้งแต่เวลา, การใช้เงิน จนถึงการวางแผนต่างๆ โดยทุกวันนี้เพียงแต่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาก็สามารถคิดคำนวนได้อย่างง่ายดาย ถึงขนาดที่หลายคนคิดเลข 2หลักในใจไม่ได้
ชาวญี่ปุ่นมีประเพณีการดีดลูกคิดรับปีใหม่ ที่เรียกว่า ฮาจิคิโซเมะ はじき初め และการจรดพู่กันที่เรียกว่าคาคิโซเมะ 書き初め สะท้อนถึงการให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา เพราะถึงแม้ทุกวันนี้ลูกคิดและพู่กันจะแทบไม่มีการใช้งานแล้ว แต่ที่ญี่ปุ่นของทั้ง 2 สิ่งกลับไม่ใช่สิ่งที่ “ล้าสมัย” ของทั้ง 2 อย่างถึงแม้ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น หากแต่ ณ แดนอาทิตย์อุทัยทั้งพู่กันและลูกคิด คือสัญลักษณ์ของปัญญา
ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือเป็นเหมือนอวัยวะชิ้นหนึ่ง คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ แต่เมื่อแบตเตอรีหมดหรือไฟฟ้าดับ ชีวิตและการทำงานก็แทบจะหยุดนิ่งไปด้วย เราพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างมากจนลืมไปว่าในอดีตมนุษย์สามารถแก้ปัญหาอันซับซ้อนได้ด้วยเพียงปลายนิ้วมือ.
นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเรียนรู้การใช้ลูกคิดฟรี โปรดติดต่อ อ.“เคน โมริโตโม” ที่อีเมล์ (ใช้ภาษาอังกฤษได้) ken_moritomo@nifty.com