xs
xsm
sm
md
lg

ชาติตะวันตกกำลังมองมาที่จีน !/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครบหนึ่งเดือนที่เจ้าลูกชายคนโตของดิฉันเดินทางไปเรียนต่อที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และได้เขียนบทความส่งมาให้พ่อแม่อ่าน เป็นไปตามที่ได้รับปากพ่อแม่ว่าจะพยายามเขียนเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตในต่างแดนให้อ่านเป็นประจำ

ฉบับนี้ขออนุญาตนำเรื่องราวประสบการณ์ของเด็กหนุ่มวัย 18 ปี ชื่อว่า “สรวง สิทธิสมาน” หรือ “เฉินเทียนอี้” ที่ต้องไปใช้ชีวิตในดินแดนมังกรมาแบ่งปัน เพราะอยากสะท้อนวิธีคิดของเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งมีแง่มุมที่เขาพบว่าผู้คนในชาติตะวันตกหันมาให้ความสนใจประเทศจีนอย่างมาก แล้วทำไมจึงตรงข้ามกับสิ่งที่เขาประสบในบ้านเราเหลือเกิน !

นี่คือเรื่องเล่าจากจีน…
…………………………………………
วันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2559 เป็นหนึ่งในวันสำคัญที่สุดของชีวิตผม

วันนั้น นอกจากจะเป็นวันเกิดครบรอบ 17 ปีของน้องชายแล้ว ยังเป็นวันที่ผมต้องตีตั๋วเครื่องบินจากกรุงเทพฯสู่มหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ถึงแม้ว่าในชีวิตนี้ผมจะเคยนั่งเครื่องบินมาหลายสิบรอบแล้ว แต่ในขณะที่เครื่องกำลังขึ้น ผมกลับรู้สึกตื่นเต้นแบบไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองมาก่อน อาจเป็นเพราะเที่ยวบินครั้งนี้ ผมได้ตั๋วแบบขาไปเที่ยวเดียว ไม่มีขากลับ…

ขณะที่เครื่องบินกำลังลอยอยู่เหนือระดับพื้นดินหลายหมื่นฟุต ผมนั่งมองออกไปนอกหน้าต่างพลางคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างแดน 5 ปีหลังจากนี้

จะว่าไปแล้วนี่ก็เหมือนเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพราะสถานที่ที่จะไปอยู่นั้นค่อนข้างแตกต่างจากบ้านเกิดที่จากมาพอสมควร ทั้งอาหารการกิน ทั้งสุขอนามัย รวมถึงวัฒนธรรม และภาษา

หลังจากเดินทางมาถึงมหาวิทยาลัย 华东师范大学 หรือ East China Normal University ที่จะเป็นสถานที่ศึกษาหาประสบการณ์ด้านภาษาวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตให้กับผม หอพักที่ผมได้รับการจัดสรรให้เข้าไปพำนักเป็นหอพักสำหรับนักศึกษาต่างชาติ พอถึงห้องก็พบว่าเพื่อนร่วมห้องเป็นชาวญี่ปุ่น อายุ 21 ปี และชาวรัสเซีย อายุ 23 ปี มาเรียนภาษาจีนเช่นเดียวกัน พอผมเข้าไปแนะนำตัวกับรูมเมทชาวญี่ปุ่นเป็นภาษาจีน ปรากฏว่า เขากลับฟังไม่รู้เรื่องและบอกให้ผมพูดเป็นภาษาอังกฤษแทน นั่นทำให้สิ่งที่ผมกังวลเกี่ยวกับระดับภาษาของตัวเองว่าจะสื่อสารภาษาจีนกับรูมเมตหรือเพื่อนชาวต่างชาติไม่รู้เรื่องหายไปในทันที เพราะอย่างน้อยก็มีคนที่ระดับภาษาจีนอ่อนกว่าผมแล้ว อย่างน้อยก็ 1 คนละ แถมยังได้ฝึกภาษาอังกฤษไปในตัวอีกด้วย

หลังจากที่ลงทะเบียนเรียน ก็ได้มีกิจกรรมมากมายที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้นเพื่อต้อนรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาใหม่ ทำให้เริ่มรู้จักเพื่อนใหม่ ๆ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นชาวต่างชาติ ในที่นี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวยุโรป ทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี นักศึกษาทางซีกโลกตะวันออกส่วนใหญ่จะเป็นชาวเกาหลีขวัญใจคนไทยทั้งหลาย ทำให้ผมได้ฝึกฝนการใช้ภาษาจีนและภาษาอังกฤษปน ๆ กันไป โดยส่วนมากจะใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับนักศึกษาต่างชาติกันเอง และใช้ภาษาจีนในห้องเรียนและในชีวิตประจำวัน นั่นก็ทำให้ผมได้เห็นวัฒนธรรมหลายรูปแบบจากทั่วทุกมุมโลก เช่น ชาวญี่ปุ่นจะต้องรอให้ทุกคนบนโต๊ะมีอาหารพร้อมก่อน จึงจะเริ่มลงมือรับประทานพร้อมกัน หรือ สำหรับคนเกาหลี รูปลักษณ์ภายนอกนั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะผู้หญิง จึงจำเป็นต้องแต่งหน้าทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน หากไม่ได้แต่งหน้าจะถูกมองว่าไร้มารยาท

อีกสิ่งหนึ่งที่พบในนักศึกษาต่างชาติ ก็คือ คนส่วนใหญ่ที่มาศึกษาในโปรแกรมสอนภาษาจีนส่วนใหญ่จะมีอายุมากกว่าผม เฉลี่ย 21 - 35 ปี โดยเหตุผลที่นักศึกษาต่างชาติเลือกมาศึกษาที่จีนนั้น มี 2 เหตุผล

1. ศึกษาเพื่อต่อยอดธุรกิจหรือการงานที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศจีน จึงทำให้จำเป็นต้องศึกษาภาษาจีนเอาใว้

2. เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์เรียนต่างประเทศ ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีปริญญากันหมดแล้ว แต่ยังต้องการประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างแดน คนพวกนี้เหมือนมาเที่ยวมากกว่ามาเรียน และส่วนใหญ่จะเป็นชาวตะวันตก

ถึงแม้ว่าพวกเขาส่วนใหญ่จะมีอายุมากกว่า แต่กระนั้นผมก็คุยกับพวกเขาเสมือนกับเป็นเพื่อน เพราะวัฒนธรรมของเขาไม่เหมือนกับของเราที่ต้องนอบน้อมกับคนที่มีอายุมากกว่า อายุไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา หากแต่เป็นความสามารถเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขายอมรับ

นี่ก็เป็นข้อแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เราสามารถสังเกตได้จากภาษา ตัวอย่างเช่น คำสรรพนามบุรุษที่ 1, 2 และ 3 ภาษาอังกฤษมักจะมีคำเดียวหรือไม่หลากหลายนัก I, You, we, They, He, She, It แต่ภาษาไทยเราจะมีแบ่งเป็นระดับและแบ่งเป็นเพศ เช่น ผม กระผม ฉัน ดิฉัน ท่าน พี่ (ตามด้วยชื่อ) เป็นต้น แสดงถึงวัฒนธรรมการแสดงความนอบน้อมต่อผู้อาวุโสกว่า

เห็นได้ชัดว่า “ภาษา” บ่งบอกถึงพื้นฐานทาง “วัฒนธรรม” เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ภาษาก็เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมไปในตัว และวัฒนธรรมก็เป็นพื้นฐานทางความคิดและพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนชาตินั้น ๆ การเรียนรู้ภาษาจึงเป็นมากกว่าการเรียนรู้ภาษา และเป็นการเรียนรู้ถึงจิตใจของคน โดยคนที่เล็งเห็นจุดนี้ ก็จะใช้ภาษาเป็นสื่อในการเรียนรู้และพัฒนาคน นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ภาษาเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคปัจจุบัน

สิ่งที่ผมแปลกใจมากจนทำให้เกิดเป็นข้อสงสัย นั้นก็คือ ทำไมชาวต่างชาติทั้งชาวยุโรป ชาวอเมริกัน ชาวแอฟริกัน และชาวตะวันออกกลาง รวมถึงชาวเอเชียเอง ถึงได้แห่กันไปเรียนที่จีนกันมากขนาดนี้ เรียกได้ว่าในมหาวิทยาลัยที่ผมอยู่ หากมีนักศึกษาเดินมา 10 คน จะมีชาวต่างชาติสัก 5 คน คนจีน 5 คน เลยทีเดียว

และนี่ก็ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปในตอนที่ผมยังอยู่ไทย เมื่อมีคนมาถามผมว่าจบ ม.6 แล้วไปเรียนต่อที่ไหน พอตอบกลับไปว่าจะไปเรียนต่อที่จีน ผมก็มักจะเห็นอาการทางสีหน้าที่แปลกใจออกแนวงง ๆ และคำพูดที่ว่า “ห้ะ ! จีนเนี่ยนะ ทำไมไปเรียนที่จีน จีนดีตรงไหน ทำไมไม่ไปยุโรปหรืออเมริกา”

นึกแล้วก็ขำ ในตอนนี้ขณะที่ผมอยู่ที่ประเทศจีนแล้ว กลับมีเพื่อนมากมายที่เป็นชาวยุโรปและชาวอเมริกันที่สนใจ และตั้งใจมาที่ประเทศจีนเพื่อศึกษาภาษาจีนและใช้ชีวิตหาประสบการณ์ในจีน

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนไทยส่วนมากยังไม่สามารถมองเห็นแบบที่ชาวตะวันตกมองเห็น เราเพียงแต่ใช้ทัศนคติของตัวเองในการตัดสินคุณค่าและมองข้ามความสำคัญของประเทศจีนไป

คนส่วนใหญ่ในบ้านเรายังเอาแต่มองไปทางชาติทางตะวันตก แต่หารู้ไม่ว่าตอนนี้ชาติทางตะวันตกกำลังมองมาที่จีน !




ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น