MGR Online - บช.ก.เปิดปฏิบัติการ “Black Eagle” ลุยค้น 7 จุด รวบหนุ่มคองโกร่วมกับสาวไทยสร้างอีเมลปลอมหลอกบริษัทสิงคโปร์โอนเงินค่าสินค้า 9 ล้านบาท ซ้ำสวมรอยเป็นหนุ่มฐานะดีหลอกรักออนไลน์ ขอแต่งงานกับหญิงไทย สร้างสารพัดเรื่องลวงให้ส่งเงินให้
เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (3 ส.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.กรเอก เพชรไชยเวช พล.ต.ต.อภิชาติ ศิริสิทธิ์ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต. ชาญ วิมลศรี รอง ผบช.ก. รรท. ผบก.ป. พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย ผบก.ปอท. พ.ต.อ.สมพร แดงดี รอง ผบก.ปอท. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป. บก.ทท.และ บก.ปอท. แถลงผลกรณีตำรวจสอบสวนกลางเปิดปฏิบัติการ “Black Eagle” กวาดล้างกลุ่มมิจฉาชีพชาวแอฟริกัน เป็นการผสานกำลังตำรวจจาก บก.ปอท., บก.ทท. และ บก.ป. เข้าทำการตรวจค้นแหล่งกบดานผู้ต้องหา 7 จุด ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1. นายแดดดู มาซิมังด์ คินซิ (Daddu Masimangd Kinzdnzi) สัญชาติคองโก อายุ 36 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 3075/2558 ลง 27 พ.ค. 2558 ข้อหาร่วมกันเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ (แฮก) ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน,มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 2. น.ส.กรรัตน์ จันทะนาม อายุ 47 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน 3. นางเพ็ญประภา นิลฉาย อายุ 40 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และ 4. น.ส.ธวัลรัตน์ คำนิล อายุ 21 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน พร้อมของกลางคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ รวม 87 รายการ หนังสือเดินทาง 2 เล่ม บัตรเอทีเอ็ม 21 ใบ สมุดบัญชีธนาคาร 30 เล่ม คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 5 เครื่อง แท็บเล็ต 1 เครื่อง โดยจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ที่ซอยประชาชื่น 29 แขวงและเขตจตุจักร ซอยงามวงวาน 23 อ.เมืองนทบุรี ถ.รามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกระปิ,ซอยลาดพร้าว 85 แขวงวังทองหลาง เขตลาดพร้าว และ ถ.เพชรเกษม 52 แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม.
พล.ต.ท.ฐิติราชกล่าวว่า พฤติการแห่งคดีนี้ บริษัท โด เอเซีย ประเทศสิงค์โปร์ ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ต่อตำรวจว่าได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท เอ็มที ที่ประเทศเวียดนาม ปรากฏว่าเมื่อเดือน ก.พ. 2559 ได้มีกลุ่มคนร้ายปลอมอีเมลของบริษัทผู้ขายแสดงตัวเป็นบริษัทผู้ขายหลอกลวงให้ผู้เสียหายว่าเปลี่ยนเลขบัญชีรับโอนเงินชำระค่าสินค้า และหลอกให้โอนเงินประมาณ 9 ล้านบาทไปยังบัญชีของกลุ่มคนร้ายอันเป็นบัญชีเงินฝากในประเทศไทย จากการสืบสวนปรากฏว่านายแดดดูใช้เอกสารในชื่ออื่นไปเปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าว และเป็นผู้เบิกถอนเงินด้วยตนเอง โดยร่วมกับบุคคลอื่นกระทำการในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่จึงได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับ และจากการสืบสวนติดตามทราบว่านายแดดดูหลบซ่อนตัวอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ในซอยเพชรเกษม 52 จึงได้ขอหมายค้นต่อศาลและเข้าตรวจค้นจับกุม
พล.ต.ท.ฐิติราชกล่าวอีกว่า สำหรับผู้ต้องหาซึ่งเป็นหญิง 3 ราย ได้ร่วมกับกลุ่มคนร้ายชาวแอฟริกันตะวันตกที่ใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หลอกลวงหญิงไทยโดยสวมรอยเป็นบุคคลอื่นที่มีบุคลิกและฐานะทางสังคมดี หลอกจะแต่งงานมาใช้ชีวิตอยู่กับหญิงไทย หรือหลอกว่าส่งสิ่งของมาให้หญิงไทย หลังจากนั้นผู้ร่วมขบวนการจะติดต่อให้หญิงไทยโอนเงินชำระค่าขนส่ง ค่าธรรมเนียม หรืออื่นๆ รวมทั้งหลอกลวงด้วยวิธีการอื่นๆ ในลักษณะหลอกลวงให้หลงรักทางออนไลน์ (Romance Scram) อยู่เสมอ โดยติดต่อทางเว็บไซต์หาคู่ ส่งอีเมลหรือข้อความทางเฟซบุ๊กติดต่อขอเป็นเพื่อนเพื่อเป็นช่องทางในการหลอกลวง จากการตรวจสอบได้ความว่าเป็นกรณีกลุ่มคนร้ายชาวต่างชาติเป็นผู้กระทำการดังกล่าว บางกรณีได้ร่วมกระทำผิดกับชาวไทยบางคน โดยชาวต่างชาติส่วนหนึ่งได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อยักย้ายเงินที่ได้จากการหลอกลวงออกไป จึงได้ทำการสืบสวนพบว่าผู้ต้องหาร่วมกระทำผิดในลักษณะขบวนการ
“จึงได้สั่งการให้ บก.ปอท., บก.ทท., บก.ป.ร่วมกันวิเคราะห์กลุ่มองค์กรคนร้าย และสถิติการก่อเหตุย้อนหลัง 1 ปี พบว่ากลุ่มคนร้ายชาวไนจีเรียดังกล่าวมีการกระทำผิดเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานอย่างเป็นระบบ โดยการใช้กลอุบายหลอกเหยื่อด้วยวิธีการใช้ Email Scam และ Romance Scam เพื่อหลอกให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่กลุ่มคนร้ายจัดหาไว้ จากนั้นกลุ่มคนร้ายก็จะทำการโอนเงินผ่านระบบ E-Banking หรือ การฝากเงินสดผ่านตู้ CDM ส่งต่อเข้าบัญชีคนร้ายที่มีหน้าที่บริหารจัดการ ยักย้าย ถ่ายโอนการเงินในองค์กร เพื่อทำการฟอกเงินโดยผ่านบริษัทที่เปิดไว้บังหน้า ในรูปแบบบริษัทนำเข้า หรือส่งออก เสื้อผ้า อาหาร สินค้าต่างๆ หรือผ่านพ่อค้าการเงินนอกระบบ หรือตัวแทนหักบัญชี เพื่อจ่ายเงินให้กับผู้รับเงินในประเทศปลายทาง (โพยก๊วน) ซึ่งเป็นพฤติการณ์ฟอกเงินในกลุ่มองค์กรคนร้าย จากการตรวจสอบพบว่าภายในระยะเวลา 6 เดือน มีเงินหมุนเวียนในกลุ่มคนร้ายร่วม 100 ล้านบาท” ผบช.ก. กล่าว