xs
xsm
sm
md
lg

“ด้านมืดของเบ็นโตะ” ปัญหาที่ซ่อนอยู่หลังความสวยงาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เบ็นโตะ” เป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่สังคมคนญี่ปุ่นมานานนับร้อยปี มีจุดเริ่มต้นจากการสร้างสรรค์วิธีการพกพาอาหารของกลุ่มชนชั้นสูง จนกลายเป็นกระแสความนิยมทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ โดยเห็นได้จากบล็อกต่างๆ ที่กลายเป็นพื้นที่โชว์ผลงานการสร้างสรรค์เบ็นโตะให้สวยงามน่ากิน อย่างไรก็ตาม ความนิยมนี้ก็ได้ก่อให้เกิดผลในแง่ลบเช่นกัน

เบ็นโตะสวย = พ่อแม่ที่ดี?

การทำเบ็นโตะที่สวยงามน่ากิน ได้ถือเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่แม่บ้านคนญี่ปุ่นพึงมีตามบรรทัดฐานของสังคมญี่ปุ่น ซึ่งผลของการทำเบ็นโตะออกมาได้ไม่ดีนั้น ไม่ได้จบอยู่ที่แค่ความผิดหวังของเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสายตาของคนรอบข้างที่จะมองว่าไม่ตั้งใจทำเบ็นโตะ ไปจนถึงถูกมองว่าเป็นผู้ปกครองที่ไม่ดีได้ พูดง่ายๆ คือ พ่อบ้านแม่บ้านที่ทำเบ็นโตะได้ไม่ดีจะถูกมองว่าเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีหรือไม่รักลูกนั่นเอง

ทั้งนี้เพราะการเตรียมเบ็นโตะให้เด็กๆ ถือเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ เพราะต้องคำนึงถึงทั้งสารอาหารและความสวยงามในการจัดวางอาหารไปพร้อมๆ กัน โดยอาจกินเวลาในการเตรียมถึง 20-45 นาทีด้วยกัน นอกจากนี้ บรรดาแม่บ้านมักใช้เวลาเป็นชั่วโมงไปกับการเปิดดูนิตยสารเกี่ยวกับเบ็นโตะ และหาซื้ออุปกรณ์ตกแต่งเบ็นโตะให้สวยงามอีกด้วย

เบ็นโตะคือการแข่งขัน?

ปัจจุบันเริ่มมีความเห็นว่า วัฒนธรรมการสร้างสรรค์เบ็นโตะได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมที่นำไปสู่การหลงตนเอง (Narcissism) ซึ่งเห็นได้จากพฤติกรรมของกลุ่มแม่บ้านบางกลุ่ม ที่มักทำเบ็นโตะแล้วถ่ายรูปโพสต์ออนไลน์เพื่อให้ได้รับคำชม จึงไม่แปลกที่เพื่อนๆ อาจได้เจอกับแม่บ้านบางคนที่ตื่นเช้าตั้งแต่ตีสี่ตีห้าเพื่อเตรียมเบ็นโตะให้สวยที่สุด

เบ็นโตะดี = การศึกษาที่ดี?

นักเขียนชาวญี่ปุ่น อิโต้ มากิโกะได้เขียนไว้ในหนังสือ “The Just Bento Cookbook: Everyday Lunches To Go” ว่าการแข่งขันทำเบ็นโตะในกลุ่มแม่บ้านนั้น มักพบได้ในกลุ่มคุณแม่ของเด็กอนุบาล ทั้งนี้เพราะหากพ่อแม่อยากจะให้ลูกได้เรียนโรงเรียนอนุบาลดีๆ ก็ต้องทำเบ็นโตะให้ตรงตามมาตรฐานของโรงเรียน ซึ่งหากเป็นโรงเรียนที่ดีก็จะมีมาตรฐานสูง ทำให้พ่อแม่ต้องพยายามทำเบ็นโตะออกมาให้ดีที่สุดเพื่อให้ทางโรงเรียนยอมรับ เพราะทั้งการเลี้ยงดูของทางบ้านและตัวเด็กจะถูกตัดสินจากเบ็นโตะนี่เอง และแม่บ้านที่ไม่สามารถทำเบ็นโตะให้ตรงตามมาตรฐานได้ ก็จะถูกมองว่าเป็นแม่ที่ไม่ดีไปโดยปริยาย

นอกจากนี้นักเรียนเองก็จะถูกเพื่อนๆ และครูตัดสินจากเบ็นโตะด้วย โดยเด็กที่เบ็นโตะไม่สวยเหมือนคนอื่นจะถูกเพื่อนมองว่าเป็นคนที่ไม่เหมือนชาวบ้านหรือครอบครัวมีปัญหา และจะถูกกีดกันหรือล้อเลียน ทั้งนี้ยังมีกรณีที่ทางโรงเรียนโทรศัพท์ไปแจ้งทางบ้านเรื่องหน้าตาของเบ็นโตะว่าดูไม่ดีเช่นกัน

ปัญหาทั้งสามอย่างที่ยกมานี้ ไม่ได้มีแค่ในกลุ่มแม่บ้านคนญี่ปุ่นด้วยกันเท่านั้น แต่แม่บ้านชาวต่างชาติที่ส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนของญี่ปุ่นก็เจอกับปัญหาในทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน แม้ว่าในกลุ่มแม่บ้านคนญี่ปุ่นจะปฏิเสธว่าการทำเบ็นโตะไม่ใช่การแข่งขัน แต่ปัญหาการถูกแกล้งในโรงเรียนและความกดดันในการทำเบ็นโตะให้ออกมาสวยงาม ก็ยังมีให้เห็นกันอยู่ทั่วไป ซึ่งการที่เบ็นโตะพัฒนาจากการบรรจุอาหารลงกล่อง จนกลายมาเป็นตัวชี้วัดสถานะ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก นอกจากนี้ยังน่าติดตามต่อไปว่า ในสังคมญี่ปุ่นจะมีการแก้ปัญหานี้อย่างไรต่อไป

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ anngle.org

กำลังโหลดความคิดเห็น