เป็นคลิปที่เชื่อว่าใครได้ดูจนจบ คงต้องเดือดแทนพ่อแม่ของเด็กรายนี้ เพราะเป็นเหตุการณ์นักเรียนชายรุมแกล้ง "เด็กพิเศษ" จนอีกฝ่ายทนไม่ไหวลุกขึ้นสู้ แต่กลับโดนรุม ทั้งรัวหมัด และกระโดดถีบไม่ยั้ง กลายเป็นคลิปสุดสะเทือนใจในโลกออนไลน์ แม้ครูจะออกมาเผยว่า เด็กถูกแกล้งประจำอยู่แล้ว เพราะอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย แต่เพจดังตั้งคำถาม ทำไมครูที่มีหน้าที่ปกป้องดูแลเด็กจึงปล่อยให้มีเหตุการณ์เช่นนี้...
ดูแล้วชวนหดหู่ใจไม่น้อย สำหรับคลิปความยาว 34 วินาที ที่เผยให้เห็นภาพเหตุการณ์นักเรียนชายกลุ่มหนึ่งรุมแกล้งนักเรียนคนหนึ่งที่ระบุว่าเป็น "เด็กพิเศษ" โดยเด็กที่ถูกกระทำได้ลุกขึ้นสู้ แต่กลับโดนรุมทั้งรัวหมัด และกระโดดถีบแบบไม่ยั้งท่ามกลางเพื่อนๆ ในห้องที่ไม่มีใครเข้ามาห้าม หรือช่วยเหลือจนสร้างความสะเทือนใจในโลกโซเชียลฯ ซึ่งหลายคนวอนขอให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล
อย่างไรก็ดี ทราบในภายหลัง พบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งหนึ่ง จ.ปราจีนบุรี โดยทางเฟซบุ๊ก "เรื่องเด่นเป็นคลิป" ได้รับแจ้งความคืบหน้าจากทางโรงเรียนว่า ทราบเรื่อง และเรียกผู้ปกครองมารับทราบแล้ว ด้านคุณครูบอกว่า เด็กที่ถูกรุมแกล้งในคลิปมักจะถูกหยอกล้อแบบนี้เป็นประจำ เพราะเป็นคนที่อารมณ์ฉุนเฉียว และหงุดหงิดง่าย แต่ทางเฟซบุ๊กดังกล่าวได้แย้งไปว่า ไม่ใช่การหยอกล้อตามปกติ ก่อนกำชับคุณครูให้ดูแลเป็นพิเศษ เพราะเกรงว่าเด็กที่ถูกกระทำอาจโดนกลุ่มเพื่อนนักเรียนชายแก้แค้นเอาคืน
ด้านพ่อแม่ของเด็กที่ถูกรุมทำร้าย บอกผ่านสื่อว่า นอกจากลูกชายจะมีปัญหาเรื่องสติปัญญาแล้ว ยังป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว ต้องพบแพทย์เป็นประจำ ก่อนแสดงความน้อยใจที่ครูใหญ่บอกให้ลูกชายตอบคนอื่นไปว่าเป็นแค่เรื่องหยอกล้อกัน ซึ่งมันไม่ถูกต้อง และไม่ใช่เรื่องที่จะต้องปกป้องเด็กที่ทำผิด
เกี่ยวกับประเด็นนี้ พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น หรือหมอมินบานเย็น แห่งเว็บเพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" ได้โพสต์แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว พร้อมตั้งคำถามไว้อย่างน่าคิดจากข่าวที่คุณครูออกมาพูดว่า เด็กรายนี้ถูกหยอกล้อแบบนี้เป็นประจำ เพราะเป็นคนที่อารมณ์ฉุนเฉียว และหงุดหงิดง่าย
"ที่พึ่งของเด็ก คือ พ่อแม่ ที่พึ่งของนักเรียน คือ คุณครู เด็กพิเศษคนหนึ่งถูกเพื่อนแกล้งประจำ มีคนถ่ายคลิปจนทำให้กลายเป็นข่าว เมื่อคุณครูตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ (อ้างอิงจากข่าว) คุณครูบอกว่า เด็กถูกแกล้งประจำอยู่แล้ว เด็กอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย สิ่งที่ครูบอกอาจจะเป็นความจริง แต่คำถามตามมาก็คือ คุณครูซึ่งควรจะมีหน้าที่ปกป้องดูแลเด็ก เพราะเหตุใดจึงปล่อยให้มีเหตุการณ์เช่นนี้ในโรงเรียน
หากเด็กทั่วไปถูกแกล้ง เขาอาจจะมีทางออกให้ตัวเองรอดพ้นจากสถานการณ์นั้น แต่กรณีนี้เป็นเด็กพิเศษ สถานที่ที่ควรจะเป็นที่ปลอดภัยที่สุดของเด็กอย่างโรงเรียน ควรหรือ ที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น มิฉะนั้น เด็กๆ จะหันหน้าไปพึ่งใคร" หมอมินบานเย็นแสดงความเห็นไว้ในเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา
ทั้งนี้ โรงเรียนดังกล่าวอยู่ในค่ายจักรพงษ์มณฑลทหารบกที่ 12 (มทบ.12) ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า พล.ต.ประวิตร ฉายะบุตร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 12 ได้ทราบเรื่องคลิปฉาวดังกล่าวแล้ว โดยจะมีการนัดแถลงข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อไป ส่วนครอบครัวของเด็กที่ถูกกระทำ ได้พาลูกชายเข้าแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน บอกไม่ได้เรียกร้องค่าชดเชยใดๆ หวังแค่ให้โรงเรียนดูแลความปลอดภัย โดยเฉพาะการอยู่ร่วมชั้นกับเพื่อนๆ
เขียนถึงเรื่องนี้ชวนให้นึกถึงคลิปเด็กพิเศษถูกรุ่นพี่แกล้งเมื่อปี 2557 โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้น เด็กที่ถูกกระทำร้องไห้ และถามอยู่ตลอดเวลาว่า "ทำแบบนี้ทำไมพี่" แต่กลุ่มรุ่นพี่กลับไม่ใส่ใจพร้อมส่งเสียงหัวเราะจนสร้างความสะเทือนใจและเป็นเรื่องราวใหญ่โต ชวนให้ผู้คนในสังคมได้เรียนรู้ และทบทวนตัวเอง ทั้งการอบรมสั่งสอนลูกหลานของพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมไปถึงการดูแลของครูในรั้วโรงเรียน
เช่นเดียวกับกรณีนี้ที่ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่กรณีแรก เพราะปัญหาเด็กพิเศษถูกแกล้งย่อมเกิดขึ้นได้ในชั้นเรียนร่วม แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ครู โดยเฉพาะครูพี่เลี้ยงต้องช่วยเหลือ และชี้แจงกับเด็กปกติให้เข้าใจ แต่ก็ต้องให้ความยุติธรรมกับเด็กปกติด้วย ไม่ใช่ว่าโอบอุ้มเด็กพิเศษอย่างเดียว
บอกเล่าได้จาก "กอบกุล ลักขณานุรักษ์" ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์โรงเรียนภัทรญาณวิทยา จ.นครปฐม หนึ่งในผู้มีประสบการณ์การสอนนักเรียนพิเศษในชั้นเรียนร่วม ที่ีเคยให้สัมภาษณ์ผ่านสกู๊ป "สัมผัสประสบการณ์เรียนร่วม ณ โรงเรียนภัทรญาณวิทยา" ในเว็บไซต์ BlueRollingDot นิตยสารออนไลน์ที่รวบรวม และนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับผู้พิการ
โดยคุณครูท่านนี้บอกไว้ตอนหนึ่งว่า "เด็กออทิสติกเขาจะโดนแกล้งบ่อยๆ เราก็ต้องสอนให้เขารู้จักควบคุมอารมณ์ให้ได้ บางทีเพื่อนแค่มา 'แอ๊ะ' (ส่งเสียงล้อเลียน) เขาก็ไม่ยอมแล้ว จะโกรธ จะร้องไห้ ก็บอกให้เขานับเลขไป หนึ่งถึงสิบ ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง กับเด็กนักเรียนปกติเราก็ต้องบอกเขาเหมือนกัน ให้เขารู้จักมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อกับเพื่อนที่พิการ เพราะไม่มีใครหรอกที่อยากจะเกิดมาเป็นแบบนี้"
นั่นแสดงให้เห็นถึงหน้าที่ของครูในชั้นเรียนร่วม ซึ่งนอกจากจะเอาใจใส่เรื่องวิชาการแล้ว การเอาใจใส่ทางด้านจิตใจและอารมณ์แก่นักเรียนที่เป็นออทิสติก หรือบกพร่องทางสติปัญญา รวมไปถึงเป็นสื่อกลางช่วยให้เด็กพิเศษอยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้อย่างไม่มีปัญหา ก็เป็นหน้าที่สำคัญ และจะมองข้ามไม่ได้ เช่นเดียวกับพ่อแม่ผู้ปกครอง นับเป็นบุคคลสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของเด็ก เนื่องจากมีเวลาอยู่กับลูกมากที่สุด
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754