ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนกรอบนโยบายการเงิน โดยจะควบคุมอัตราดอกเบี้ย แทนที่จะอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ตลาด
นายฮะรุฮิโกะ คุโระดะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น จะยกเลิกเป้าหมายฐานเงินของตนเอง และกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “yield curve control” ขึ้นมาแทน นั่นคือ ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว เพื่อรักษาผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นระยะ 10 ปี ไว้ที่ระดับปัจจุบัน คือ ร้อยละ 0
ที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้อัดฉีดเงินทุนจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จนทำให้มีการประเมินว่า ยอดเงินทุนที่ถูกใช้ไปอาจทะลุเพดานภายใน 1 หรือ 2 ปี จนเกิดความกังวลว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่สามารถหาเงินมาเติมเข้าสู่ระบบได้ และจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตหนัก
ถึงแม้ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นจะไม่เคยยอมรับว่าเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นเหมือน “หลุมดำที่ถมไม่มีวันเต็ม” แต่ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ยกเลิกกรอบเวลาที่กำหนดไว้ว่าจะบรรลุเงินเฟ้อให้ได้ร้อยละ 2 ภายในเวลา 2 ปี โดยหันไปบอกว่าจะมุ่งที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทั้งนี้ ธนาคารกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อนี้ขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2556 แต่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ และได้เลื่อนกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปหลายครั้ง จนต้องถอดใจยกเลิกในที่สุด
นักวิเคราะห์ทางการเงิน ระบุว่า นโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่อาจเรียกได้ว่า “ใหม่” เพียงแต่เปลี่ยนกลไกควบคุมเศรษฐกิจจากเดิมที่เน้น “ปริมาณเงิน” ไปใช้การควบคุม “อัตราดอกเบี้ย” แทน โดยในระยะสั้น ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นจะยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบที่ลบร้อยละ 0.1 ต่อไปกับบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงินที่ฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น
มาตรการ “เหล้าเก่าในขวดเดิม” ของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลงเล็กน้อย และตลาดหุ้นตอบรับในทางบวก เพราะส่งผลดีต่อบรรดาธนาคารต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างเห็นว่า เป็นเรื่องยากมากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากประชาชนไม่มีความมั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอย ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทญี่ปุ่นต้องพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งอย่างประเทศจีนและเกาหลีใต้