xs
xsm
sm
md
lg

ไข่มุกสีเลือด (ตอนที่ 1) จากแฟ้มสืบสวนคดีฆาตกรรมอำพรางยุคปฏิรูปเมจิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากบทประพันธ์ของ Ango Sakaguchi (1906-1955)
แปลและเรียบเรียงโดย ฉวีวงศ์

1

เหตุเกิดในเดือนมกราคม ปีที่ 16 แห่งสมัยเมจิ* เมื่อ “โชริวมะรุ” เรือกลไฟเดินสมุทรขนาดบรรทุก 180 ตัน ลำใหม่ที่สร้างโดยบริษัทอุตสาหกรรมต่อเรือโตเกียวออกเดินทางครั้งแรกซึ่งเป็นการเดินเรือเที่ยวทดลองไปยังทวีปออสเตรเลีย ความที่ชื่อประเทศของญี่ปุ่นยังไม่เป็นที่คุ้นหูของผู้คนที่อยู่ห่างไกล ดังนั้นระหว่างทางไปยังพื้นทวีปไม่ว่าจะเข้าเทียบท่าที่ไหน ผู้คนจึงแห่มาดู “โชริวมะรุ” ของญี่ปุ่นกันเป็นของแปลกและให้การต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งทุกแห่งไป แต่โชคไม่ดีพอเข้าไปในน่านน้ำของเกาะโมะคุโยโตเกือบจะถึงแหลมยอร์คของออสเตรเลียอยู่แล้ว “โชริวมะรุ” ก็เกิดแล่นเกยขึ้นไปบนแนวปะการังทำให้ลำเรือชำรุดต้องหยุดซ่อมอยู่ที่เกาะนั้นราวหนึ่งเดือน

ช่วงปีที่ 12 หรือ 13 แห่งสมัยเมจิ เกาะโมะคุโยโต* แห่งนี้ได้กลายเป็นจุดสนใจของนักธุรกิจทั่วโลกหลังจากที่มีการสำรวจพบแหล่งไข่มุกคุณภาพเยี่ยม เรือของนักล่าไข่มุกและเรือพ่อค้าคนกลางนานาชาติมุ่งหน้ามาแสวงโชค แม้กระทั่งนักธนาคารก็ยังตามมาให้บริการกันอย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้เศรษฐกิจของเกาะโมะคุโยโตเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเพียงข้ามคืน จนกระทั่งปีที่ 18 แห่งสมัยเมจินักงมหอยมุกของญี่ปุ่นจึงเริ่มออกเดินทางมาแสวงโชคที่เกาะนี้กันบ้าง แต่นั่นเป็นช่วงหลังจากเหตุการณ์ที่เราจะได้ฟังกันนี้

ทีนี้พอ“โชริวมะรุ” มาเกยตื้นอยู่บนแนวปะการังจนต้องซ่อมแซมลำเรือ เหล่าลูกเรือก็พลอยติดเกาะไปด้วย วัน ๆ ไม่มีอะไรทำได้แต่ไปดูเขาเก็บหอยมุกกันจนรู้เรื่องราวรายละเอียดกันไปตาม ๆ กัน
เรือกลไฟสมัยเมจิ
ริเฮ ฮะตะเคะนะกะ กัปตันเรือ “โชริวมะรุ” เคยทำงานเป็นลูกมือหาไข่มุกน้ำตื้นเม็ดเล็กบริเวณนอกชายฝั่งคาบสมุทรทางใต้ของโตเกียวมาบ้าง จึงมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้วิธีหาไข่มุกจากคนนานาชาติเอาไว้ เพื่อที่ว่าวันหนึ่งอาจได้กลับมาเก็บไข่มุกที่นี่อันเป็นที่ยอมรับกันว่าคุณภาพล้ำเลิศกับเขาบ้าง โดยไม่สังหรณ์ใจเลยแม้แต่น้อยว่านั่นคือต้นเหตุที่ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป เป็นจุดที่โชคชะตาเริ่มผกผันและดิ่งวูบลงสู่ห้วงเหวแห่งความหายนะ

เมื่อการซ่อมแซมเสร็จสิ้นก็ได้เวลาติดเครื่องกางใบเรือ “โชริวมะรุ” ออกเดินทางจากเกาะโมะคุโยโตมุ่งหน้ากลับญี่ปุ่น แต่แทนที่จะเดินเรือตามเส้นทางที่วางแผนไว้คือกลับไปทางสิงคโปร์และเลียบตามแนวทวีปขึ้นไป กัปตันริเฮกลับเลือกใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมาคัสซาลที่ขนาบด้วยเกาะบอร์เนียวกับเกาะเซเลเบส แล้วเลียบชายฝั่งเกาะบอร์เนียวขึ้นไปทางเหนือ ขณะที่เรือแล่นเลียบเลาะเกาะแก่งอยู่แถบเหนือสุดของเกาะบอร์เนียวและกำลังจะเข้าไปในน่านน้ำทะเลซูลูนั้นเอง“โชริวมะรุ” ก็เกยขึ้นไปบนแนวปะการังอีกครั้ง ดีที่ลำเรือไม่ชำรุดเหมือนครั้งก่อนแต่ถึงอย่างนั้นลูกเรือก็ต้องระดมกำลังกันกู้สถานการณ์ด้วยความทรหดอดทนอยู่สองวันสองคืนจนกระทั่งสามารถตั้งลำได้ และพอน้ำขึ้นก็พาเรือหลุดพ้นออกมาจากแนวปะการังโดยสวัสดิภาพ ระหว่างการต่อสู้กับโขดหินปะการังอย่างเอาเป็นเอาตายนั้นเอง กัปตันและลูกเรือของเขาได้ค้นพบแหล่งหอยมุกอุดมสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยได้ยินได้ฟังมา มีทั้งหอยมุกขาวและดำนอนก่ายกองทับถมกันเป็นแนวไปทั้งแถบ ประมาณแล้วมหาศาลกว่าที่เกาะโมะคุโยโตหลายเท่านัก

แม้ว่าในเวลาต่อมทะเลซูลูจะได้กลายเป็นแหล่งหอยมุกที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญแห่งหนึ่งของโลก แต่ตอนที่“โชริวมะรุ”แล่นผ่านไปนั้นยังไม่มีผู้ใดล่วงรู้ว่ามีขุมสมบัติอันยิ่งใหญ่ซ่อนเร้นอยู่ อย่างไรก็ตามแหล่งหอยมุกในทะเลซูลูที่กัปตันริเฮและลูกเรือพบครั้งนี้นั้นเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของแหล่งหอยมุกเลอค่ามหาศาลที่ปรากฏในบันทึกในเวลาต่อมาของกัปตัน
ริเฮและโยะชิมิสึ อิมะมุระ ล่ามประจำเรือ แต่น่าเสียดายที่ชาวทะเลทั้งสองไม่ได้ทิ้งหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอยู่ตรงจุดไหนในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ดังนั้นขุมสมบัติอันยิ่งใหญ่จึงยังกบดาลสงบนิ่งอยู่ใต้แนวปะการังของทะเลซูลูเรียบชายฝั่งเกาะบอร์เนียวเขตรกร้างไร้คนอยู่อาศัยโดยไม่มีใครแตะต้อ และคงจะอยู่ไปเช่นนั้นตราบกาลอวสาน...แล้วเราก็จะได้รู้กันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

“โชริวมะรุ”กลับสู่มาตุภูมิโดยสวัสดิภาพ ก่อนที่เรือจะเทียบท่าไม่นานกัปตันริเฮเรียกประชุมลูกเรือแล้วกล่าวคำปราศรัยว่า “การที่เรือของเราไปเกยแนวปะการังที่เกาะโมะคุโยโตนั้นทำให้เราต้องติดอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานและได้เรียนรู้การเก็บหอยมุกกันอย่างครบขั้นตอน อีกทั้งระหว่างการเดินทางขากลับเรายังค้นพบแหล่งหอยมุกที่มีหอยมุกทั้งดำและขาวมากมายมหาศาล เหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นไม่อาจอธิบายเป็นอื่นได้นอกจากจะบอกว่านั่นคือพระประสงค์ของเทพเจ้าแห่งท้องทะเล น่าเสียดายที่เรายังไม่พร้อมที่จะดำลงไปเก็บไข่มุกกันในครั้งนี้ได้แต่เราจะต้องกลับมาที่นี่อีกแน่นอน พอดีฉันเองก็เป็นลูกทะเลคนหนึ่งที่เติบโตแถวท่าเรือบนคาบสมุทรด้านใต้ของเมืองหลวง ที่นั่นฉันรู้จักนักดำน้ำเก่งฉกาจสองคนคือคิจิ กับ มะสึ ฉันเคยเห็นฝีมือของเขามากับตาจึงบอกได้เต็มปากว่าเก่งกว่านักดำน้ำทุกคนที่เราเห็นที่เกาะโมะคุโยโต เรียกได้ว่าเทียบกันไม่ได้แม้แต่ปลายเล็บ ทะเลรอบ ๆ เกาะโมะคุโยโตลึกราว 40 ถึง 50 เมตรเห็นจะได้แต่ทะเลบริเวณแนวปะการังที่เราพบแหล่งหอยมุกตื้นกว่ามาก ลึกแค่ 20 ถึง 30 เมตร แต่ไม่ต้องห่วงเพราะบนแผ่นดินใกล้เคียงกับแถบนั้นยังรกร้างปลอดผู้คน เรือก็แทบจะไม่แล่นผ่านไปมา จึงนอนใจได้เลยว่าจะไม่มีใครรู้และลอบเข้ามาเก็บหอยมุกมีค่าพวกนั้นของเราไปได้แม้แต่คนเดียว ฉันจึงคิดว่าพอกลับถึงบ้านจะตรงไปหาคิจิกับมะสึเป็นอย่างแรก ชวนมาร่วมผจญภัยล่าไข่มุกกันให้สนุก จึงอยากขอให้พวกเราเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ”

กัปตันริเฮเป็นชาวทะเลใจกล้าอย่างหาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง แหล่งหอยมุกที่ค้นพบครั้งนี้ปลุกวิญญาณนักผจญภัยของเขาให้หึกเหิมมากกว่ากระตุ้นกิเลส มันทำให้หัวใจของเขาเต้นแรงด้วยความตื่นเต้นเมื่อคาดหมายถึงการผจญภัยอันยิ่งใหญ่ที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า

ทุกชีวิตบนเรือลำนี้ได้พบเห็นความรุ่งเรืองของธุรกิจไข่มุกบนเกาะโมะคุโยโตกันมาแล้วด้วยตาตนเอง อีกทั้งยังเคารพนับถืออุปนิสัยความเป็นผู้นำของกัปตันริเฮกันทุกคน จึงเชื่อฟังแต่โดยดี เมื่อเรือเทียบท่าบ้านเกิดต่างคนต่างต้องระงับจิตใจที่เต้นระทึกและวางสีหน้าให้เป็นปกติไม่ให้มีพิรุธ แต่พอเรือเข้าอู่ซ่อมลูกเรือก็ไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่นนอกจากสะละวนอยู่กับการทำหน้าที่ของตนไปพลางเฝ้าคอยการติดต่อจากกัปตัน

กัปตันริเฮยื่นคำร้องต่อทางการขอนำเรือ “โชริวมะรุ” ออกเดินทางไปสำรวจเส้นทางการเดินเรือในมหาสมุทรอินเดียผ่านเกาะซีลอนไปยังบอมเบย์ และพอได้รับอนุญาตให้นำเรือออกจากท่าได้อีกครั้ง เขาก็รีบรุดไปยังท่าเรือเล็ก ๆ ที่บ้านเกิดอย่างลับ ๆ เพื่อปรึกษาหารือกับยะโซะคิจิหรือที่เขาเรียกสั้น ๆ ว่าคิจิ กับคิโยะมะสึหรือมะสึ นักดำน้ำเก่งฉกาจของท้องถิ่น

ยะโซะคิจิอายุ 28 กับคิโยะมะสึอายุ 26 เกิดและเติบโตในครอบครัวชาวประมงที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคนในท้องถิ่นนั้นไม่รู้ว่าตั้งแต่ยุคใดสมัยใด ทั้งสองเป็นนักดำน้ำที่ได้ชื่อว่าเก่งที่สุดในหมู่บ้าน โดยเฉพาะการงมหอยเป๋าฮื้อ ถ้าเป็นบริเวณน้ำลึกประมาณ 30 เมตรละก็เขาสามารถดำน้ำตัวเปล่า ๆ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลย สมัยนั้นญี่ปุ่นมีชุดดำน้ำแบบหมวกครอบที่นำเข้าจากอังกฤษใช้กันแล้ว และญี่ปุ่นเองก็มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่เกาะสึกิชิมะผลิตอุปกรณ์ดำน้ำแบบเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นขึ้นมาใช้กันภายในประเทศตั้งแต่ปีที่ 5 แห่งสมัยเมจิ เพื่อใช้สำหรับดำลงไปจับหอยเป๋าฮื้อเป็นส่วนใหญ่

กล่าวกันว่านักดำน้ำเก่งที่สุดคือชาวอาหรับรองลงมาคือชาวโอกินาวา ชายฝั่งทะเลอาหรับด้านอ่าวเปอร์เซียได้ชื่อว่าเป็นแหล่งไข่มุกคุณภาพดีที่สุดในโลก และการล่าหอยมุกเป็นอาชีพหลักของชาวอาหรับที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล แม้จนทุกวันนี้นักดำน้ำชาวท้องถิ่นแถบนั้นยังดำน้ำตัวเปล่าไม่ใช้อุปกรณ์ใด ๆ กันอยู่ บางคนดำลงไปถึงก้นทะเลลึกระดับ 60 กว่าเมตรอย่างหน้าตาเฉยเลยทีเดียว

แม้ว่าคิจิกับมะสึดำจะน้ำตัวเปล่าได้ไม่ลึกขนาดนั้นแต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นนักงมหอยเป๋าฮื้อมือหนึ่งในคาบสมุทรด้านใต้ของเมืองหลวง ถ้าใช้อุปกรณ์ดำน้ำก็จะสามารถทำงานอยู่ใต้ทะเลลึก 30 ถึง 40 เมตรได้นานถึงหนึ่งชั่วโมงโดยไม่เกิดอาการผิดปกติเนื่องจากถูกแรงกดดันของน้ำหรือที่เรียกว่าโรคน้ำหนีบ นอกจากโครงสร้างร่างกายอันเป็นพรสวรรค์แล้วนักดำน้ำทั้งสองยังมีจิตวิญญาณของความเป็นนักสู้ชีวิตที่แข็งแกร่งไม่มีใครสู้ หมั่นเสริมสร้างพลังกายให้แข็งแรงบึกบึนอยู่เสมอ แต่ที่เหนือกว่าอื่นใดก็คือความรักที่เขามีต่อท้องทะเล
นักงมหอยมุก
กัปตันริเฮใช้วาทศิลป์เกลี้ยกล่อมจนหนุ่มวัยฉกรรจ์ผู้เกิดและเติบโตมากับทะเลอย่างคิจิกับมะสึรู้สึกฮึกเหิมที่จะไปงมหาไข่มุกเม็ดใหญ่มันวาวแจ่มจรัสที่ซุกซ่อนอยู่ก้นทะเลใต้อันไกลโพ้นขึ้นมาให้ดูกันเป็นขวัญตา โดยไม่พรั่นพรึงว่าอาจต้องผ่านด่านปลาปีศาลหรืองูพิษที่ขวางทางอยู่ แม้ทั้งสองจะตกลงร่วมมือกับแผนผจญภัยของกัปตันริเฮด้วยความกล้าหาญชาญชัยอย่างไร้เทียมทาน แต่ชาวทะเลย่อมไม่ประมาท ทะเลลึก20-30 เมตรแถบนี้เขาดำตัวเปล่าได้สบาย แต่ถ้าลึกกว่านั้นทั้งยังเป็นน่านน้ำที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนก็น่าจะต้องต้องเตรียมตัวเอาไว้เพราะไม่รู้ว่าจะประสบอุปสรรคอะไรบ้าง จึงขอให้กัปตันริเฮเตรียมอุปกรณ์ดำน้ำเอาไว้ให้พร้อม

คิจิกับมะสึมีเมียแล้วทั้งสองคน นางเมียเป็นคนถือเชือกช่วยชีวิตอยู่บนเรือเวลาผัวของหล่อนดำน้ำลึก ตามปกติผู้หญิงที่ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำหน้าที่สำคัญนี้ไม่ได้ แต่สำหรับเมียของสองหนุ่มนี้ไม่ต้องห่วงเพราะนางเองเป็นนักดำน้ำมาตั้งแต่เกิด รู้จักพื้นที่ใต้ทะเลดีกว่าย่านการค้าในเมืองเสียอีก นางทั้งสองจับความเคลื่อนไหวของผัวได้แม่นยำจากความตึงความหย่อนของเชือกที่ผูกไว้กับตัวคนดำน้ำและพร้อมช่วยชีวิตทันทีที่เกิดเหตุ ดังนั้นคิจิกับมะสึจึงขาดเมียไม่ได้

นักดำน้ำก็มีแล้วคนถือเชือกช่วยชีวิตก็มีแล้ว ที่ยังขาดอยู่ก็คือนายเรือดำน้ำที่คุ้นเคยและเข้าขากันดีกับนางเมียคนถือเชือก คือนายเรือผู้นี้จะต้องไวกับคำสั่งของนางและหันหัวเรือไปในทิศทางที่ต้องการได้ทันใจ

นอกจากนั้นการส่งนักดำน้ำลงไปใต้ทะเลลึกมาก ๆ จนต้องใช้อุปกรณ์ดำน้ำนั้นจะต้องจัดเตรียมคนหนุ่มแรงดีถึง 15-16 คนไปช่วยปั๊มอากาศ และต้องเตรียมเรือเล็กที่นักดำน้ำคุ้นเคยดีบรรทุกเรือใหญ่ไปด้วย สำหรับคนหนุ่มแรงดีนั้นสามารถใช้ลูกเรือที่มีอยู่แทนได้ แต่ที่ต้องพาไปด้วยแน่ ๆ ก็คือทะเกะโซ นายเรือดำน้ำ นางคินเมียของคิจิ กับนางโทะกุเมียของมะสึ พร้อมทั้งเรือเล็กของทะเกะโซสำหรับออกไปดำน้ำ

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วชายหญิงห้าคนก็พากันออกเดินทางจากคาบสมุทรทางใต้ของเมืองหลวงไปลงเรือโชริวมะรุ โดยบอกกับผู้คนในหมู่บ้านว่ามีคนว่าจ้างไปดำน้ำที่ทะเลโทะซะตามที่กัปตันริเฮออกอุบาย และแล้ว “โชริวมะรุ” ก็เคลื่อนลำออกจากท่าไปอย่างสง่างามโดยไม่มีผู้ใดสงสัยว่ากำลังมุ่งหน้าไปเผชิญโชคที่แหล่งหอยมุกอันมหาศาลในทะเลใต้

*

โบราณว่าหญิงเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับเรือเดินสมุทร และกัปตันริเฮเองก็หวั่นใจอยู่ลึก ๆ เหมือนกันที่พาผู้หญิงลงเรือมาด้วยถึงสองคนครั้งนี้ แต่เขาไม่มีทางเลือกเพราะนักดำน้ำทั้งสองยืนกรานว่าจะต้องพาไปด้วยเพราะไม่ไว้ใจให้ใครถือเชือกช่วยชีวิตนอกจากนางเมียของตน

กัปตันริเฮอยู่ไม่เป็นสุขตลอดหลายวันของการเดินเรือและยิ่งใกล้จุดหมายเข้าไปเพียงไรสิ่งที่เขาหวั่นวิตกดูเหมือนจะเป็นจริงชัดเจนขึ้นทั่วไปในเรือลำนั้น ถ้าเป็นเพราะทุกคนตื่นเต้นกับการผจญภัยที่รอคอยอยู่ข้างหน้าบรรยากาศก็คงไม่อึมครึมอึดอัดอย่างที่กัปตันริเฮซึ่งออกทะเลมาหลายครั้งหลายหนไม่เคยรู้สึกมาก่อน ยิ่งวันสายตาของลูกเรือที่มองเมียสาวของนักดำน้ำทั้งสองก็ยิ่งเปลี่ยนไป ตอนนี้ความอ่อนโยนที่ชายพึงมีต่อหญิงหายไปสิ้นเหลือแค่ความดุดันเหมือนเสือร้ายที่ตั้งหน้าจ้องตะครุบเหยื่อ แววตาเช่นนั้นเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จิตใจที่เคยอาบอิ่มไปด้วยความหวังอันสูงส่งของลูกทะเลหนุ่มฉกรรจ์นั้น บัดนี้ตกจมอยู่ในความป่าเถื่อนราวสัตว์ร้ายกันไปหมดแล้ว
ภาพวาดหญิงชาวประมงงมไข่มุกที่อ่าวอิเซะ
คิน กับ โทะกุเป็นสาววัยเปล่งปลั่งอายุ 23 เท่ากัน ทั้งคู่นอกจากจะเป็นคนถือเชือกช่วยชีวิตที่เก่งกาจฉับไวแล้ว ยังดำน้ำเก่งอย่างหาตัวจับได้ยาก ตามปกตินางมีอาชีพดำน้ำงมหอยและสาหร่ายขึ้นมาขายได้เป็นกอบเป็นกำ ดังนั้นนางทั้งสองจึงมีทรวดทรงองค์เอวได้ส่วนสัดงดงาม ผิวพรรณหรือก็เต่งตึงมีน้ำมีนวลบ่งบอกถึงความมีสุขภาพแข็งแรง กิริยาพาทีร่าเริงแจ่มใสไร้จริต เป็นที่ต้องตาต้องใจชายยิ่งนัก นั่นเป็นต้นเหตุที่ทำให้กัปตันริเฮวิตกกังวลยิ่งขึ้นทุกวัน

พ่อครัวประจำเรือชื่อยะมะโตะหน้าตาท่าทีเหมือนปลาน้ำลึกที่ครองความเป็นใหญ่อยู่ใต้ท้องเรือ ยะมะโตะเป็นชาวทะเลพเนจรกินอยู่หลับนอนอยู่ในทะเลร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ สมัยเด็กยะมะโตะวางแผนลักลอบเดินทางไปกับเรือเดินสมุทรต่างชาติได้สำเร็จและตั้งแต่นั้นมาก็ใช้ชีวิตอยู่ในเรือมาตลอดด้วยการสมัครเป็นลูกเรือทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเรือสินค้าต่างชาติหรือเรือล่าปลาวาฬ ดังนั้นเมื่อพูดถึงทะเลแล้วจะหาใครที่มีประสบการณ์เท่าชาวทะเลพเนจรผู้นี้ได้ยากนัก โดยเฉพาะเมื่อเดินเรือในน่านน้ำต่างแดน แม้แต่กัปตันเองเวลานำเรือเข้าเทียบท่าก็ยังต้องพึ่งเขาในการจัดซื้อเสบียงอาหาร น้ำ เชื้อเพลิงไปจนสุราราคาถูกที่เก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย

ยะมะโตะเลือกครองตำแหน่งพ่อครัวด้วยตนเองไม่ใช่เพราะทำอาหารเก่งแต่เพราะต้องการกุมอำนาจในเรือมากกว่า ตามปกติเขาจะวางท่าเป็นพ่อครัวใหญ่ชี้นิ้วใช้ลูกเรือยืนหั่นนั่นนี่และปิ้งทอดไปตามเรื่อง โดยตัวเองไม่ทำอะไรนอกจากร่ำสุราเมามายตลอดวัน ลูกเรือคนไหนอยากดื่มเหล้าดี ๆ หรืออยากกินอะไรดี ๆ เป็นพิเศษจะต้องจ่ายเงินซื้อ และถ้าไม่มีเงินก็ต้องทำอะไร ๆ ที่มีค่าเทียบเท่ากับค่าสุราหรือของกินนั้นตามแต่เขาจะสั่ง

คนที่พ่อครัวยะมะโตะชังน้ำหน้าที่สุดคือโยะชิมิสึ อิมะมุระล่ามประจำเรือที่อยู่ในฐานะแตกต่างจากลูกเรือทั่วไป อิมะมุระ อยู่กับเรือ “โชริวมะรุ” มาตั้งแต่สร้างเสร็จและออกทะเลไปยังต่างแดนเป็นครั้งแรก เขาเป็นคนเดียวในเรือลำนี้ที่มีคุณวุฒิสูงและมีกิริยามารยาทอยู่ในกรอบวัฒนธรรมอันดี

แม้ว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเดินเรือครั้งนี้จะอยู่ที่การบุกเบิกแหล่งหอยมุกอันเป็นความลับสุดยอด แต่ในคำร้องที่ยื่นต่อทางการนั้นระบุว่าเป็นการสำรวจเส้นทางเดินเรือในน่านน้ำต่างชาติ จึงจำเป็นต้องมีล่ามประจำเรือซึ่งก็คืออิมะมุระเดินทางไปด้วยตามระเบียบ ความจริงแล้วคนที่สนใจและกระตือรือร้นกับแผนล่าหอยมุกที่สุดอาจเป็นล่ามผู้ทรงคุณวุฒิคนนี้ก็ได้ ภาพความเจริญรุ่งเรืองของธุรกิจไข่มุกบนเกาะโมะคุโยโตยังติดตาติดใจเขาอยู่ตลอดเวลา การค้นพบแหล่งหอยมุกทำให้หมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อนกลายเป็นเมืองที่มีประชากรหลายพันคนไปในชั่วข้ามคืน นักดำน้ำชาวทะเลใต้กับครอบครัวเดินปะปนไปกับพ่อค้าคนกลางและเจ้าของเรือเดินสมุทรผู้มั่งคั่งร่ำรวยจากต่างถิ่น นักธนาคารผู้โอ่อ่าเดินสูบซิการ์อย่างดีราคาแพงเดินเชิดหน้าไปทางนั้นทางนี้โดยมีเสมียนคนหนึ่งบ้างสองคนบ้างคอยติดสอยห้อยตาม ส่วนพวกคุณนายผิวขาวผ่องที่ติดตามสามีมาจากแดนไกล และสาวงามชาวท้องถิ่นผิวคล้ำในชุดขาวบางพลิ้วนั่งบ้างยืนบ้างอยู่ใต้ร่มเงาแมกไม้ พอตกค่ำคืนสุภาพบุรุษก็จะเริงสำราญอยู่กับสาวงามทรามเชย ปลดปล่อยความเร่าร้อนราวบ้าคลั่งทั้งด้วยฤทธิพิสวาทและกิเลสตัณหาที่จะได้เป็นเจ้าของไข่มุกอันเลอค่าสักเม็ดหนึ่งในท้องทะเลแห่งนี้

หอยมุกที่พบในน่านน้ำญี่ปุ่นเป็นชนิดที่ชื่อว่าอะโคะยะไงซึ่งมีไข่มุกเม็ดเล็ก ๆ ซุกซ่อนอยู่ สำหรับไข่มุกเม็ดใหญ่อันเลอค่านั้นจะพบในหอยมุกชนิดที่ชื่อว่าชิโระโจไงหรือหอยผีเสื้อขาว หอยชนิดนี้ที่ตัวใหญ่ที่สุดจะมีขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งยิ่งเป็นหอยตัวใหญ่และอายุมากเพียงไรไข่มุกที่อยู่ในตัวหอยก็จะเม็ดใหญ่ยิ่งขึ้นเพียงนั้น เมื่อมีคนพบหอยมุกที่มีไข่มุกอยู่ภายในเข้าตัวหนึ่งที่ไหน บรรดาเรือล่าหอยมุกก็จะเฮละโลกันเข้ามากลุ้มรุมกันที่นั้นแล้วจับหอยไปจนแทบไม่มีเหลือ แล้วก็แข่งกันบุกเบิกแหล่งหอยมุกใหม่ ๆ กันต่อไปแบบใครดีใครได้

นั่นเป็นกรณีของเกาะโมะคุโยโตที่แม้ในช่วงที่เจริญรุ่งเรืองถึงจุดขีดสุด ก็ยังไม่มีใครเคยพบแหล่งหอยมุกที่อุดมสมบูรณ์เท่าแหล่งหอยมุกที่ “โชริวมะรุ” ค้นพบบริเวณใต้ทะเลของน่านน้ำที่แทบไม่มีใครเคยเข้าถึงมาก่อน นอกจากหอยแก่ตัวใหญ่เกือบ 30 เซนติเมตรชนิดที่ไม่มีใครเคยพบในทะเลแถบเกาะโมะคุโยโตแล้วยังมีหอยมุกดำขนาดใหญ่ไม่แพ้กันอยู่เต็มไปทั้งแถบด้วย เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าไข่มุกสีดำที่ซ่อนเร้นอยู่ในหอยตัวใดตัวหนึ่งนั้นเป็นอัญมณีมีค่าหายากและราคาสูงจนไม่มีใครสามารถกำหนดเพดานสูงสุดได้

อิมะมุระเป็นคนเยือกเย็นยึดมั่นอยู่กับความเป็นจริงไร้อารมณ์เพ้อฝัน ช่วงที่ติดอยู่บนเกาะโมะคุโยโตเขามองภาวะแวดล้อมด้วยสายตาของคนนอกโดยไม่ได้เคลิบเคลิ้มไปกับความรุ่งเรืองของธุรกิจไข่มุกที่นั่นแม้แต่น้อย ต่างจากคราวนี้ที่ตนเองเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มตัวกับกลุ่มนักผจญภัยล่าหอยมุกและกำลังเร่งรุดไปยังแหล่งหอยมุกที่คิดว่าน่าจะเลอค่ามหาศาลที่สุดในโลก จิตใจของอิมะมุระจึงหึกเหิมเร่าร้อนและหลงไหลอยู่กับภาพอนาคตอันมีมนต์ขลังเจิดจ้าอยู่ในจินตนาการจนแทบโงหัวไม่ขึ้น สาวงามผิวคล้ำเนียนทรงเสน่ห์อาบอิ่มมนต์ขลังแห่งทะเลใต้ไม่ได้อยู่ไกลเกินมือคว้าอีกต่อไป

อิมะมุระวิตกกังวลยิ่งไปกว่ากัปตันริเฮเสียอีกเมื่อได้ยินว่าจะมีผู้หญิงสองคนลงเรือไปด้วย ก่อนออกเดินทางเขาได้ไปพบกัปตันพร้อมกับข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้

“ผมเข้าใจครับว่าเราจำเป็นต้องให้ผู้หญิงสองคนนั่นลงเรือไปด้วยในเมื่อหล่อนเท่านั้นที่จะทำหน้าที่ถือเชือกช่วยชีวิตให้นักดำน้ำของเราได้ แต่ผมอยากขอให้กัปตันเลิกจ้างพ่อครัวยะมะโตะ อย่าให้ลงเรือไปกับเราเลยจะได้ไหม การมีคนกักขฬะราวกับปลาไหลทะเลพิษร้ายอยู่บนเรืออย่างนี้ ผมคิดว่าไม่ใครรับประกันได้หรอกครับว่าจะไม่เกิดเรื่องอัปมงคลขึ้นบนเรือที่มีผู้หญิงโดยสารมาด้วยถึงสองคน”

(โปรดคิดคามตอนต่อไป......)

หมายเหตุ
* ปีที่ 16 แห่งสมัยเมจิคือปี 1883
* เกาะโมะคุโยโต คือ Thursday Island
กำลังโหลดความคิดเห็น