ถ้าพูดถึงปรากฏการณ์ประหลาดๆเกี่ยวกับฝนแล้ว หนึ่งในนั้นคงไม่พ้น “ฝนตกแดดออก” หรือภาษาญี่ปุ่นคือ “โซบาเอะ (日照雨)” ปกติแล้วเวลาฝนตก บรรยากาศต้องเย็นๆ มืดๆ ครึ้มๆ อึมครึมด้วยเมฆฝน แต่นี่แดดออก ซึ่งคนญี่ปุ่นเรียกว่า “งานวิวาห์จิ้งจอก (狐の嫁入り) ” ทำไมต้องวิวาห์จิ้งจอก? ติดตามได้เลย
ถ้าพูดถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับจิ้งจอกในวัฒนธรรมญี่ปุ่นแล้ว นับว่ามีเยอะมาก ซึ่งภาพลักษณ์ของจิ้งจอกในเรื่องเล่าส่วนใหญ่มักจะเป็นตัวละครที่ไปหลอกคนโน้นทีคนนี้ที โดยสรุปคือมีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เรื่องเล่าที่มาของชื่อเรียก “งานวิวาห์จิ้งจอก” นี้ ถือว่าเป็นเรื่องเล่าที่นำเสนอภาพลักษณ์ของจิ้งจอกในแบบที่ต่างออกไป
เรื่องแรก: นางจิ้งจอกถูกใช้เป็นเครื่องสังเวย
ในอดีตมีหมู่บ้านแห่งหนึ่งกำลังประสบภัยแล้งอย่างหนัก ชาวบ้านจึงตกลงกันว่าจะหาเครื่องสังเวยมาถวายแด่เทพเจ้าเพื่อขอฝน โดยวางแผนว่าจะหลอกจับจิ้งจอกมาใช้เป็นเครื่องสังเวย และที่ใกล้ๆ หมู่บ้านนี้เองก็มีนางจิ้งจอกตัวหนึ่งที่ปลอมเป็นมนุษย์ผู้หญิงอาศัยอยู่ ชาวบ้านจึงส่งชายหนุ่มคนหนึ่งไปขอจิ้งจอกตัวนั้นแต่งงานตามแผนที่วางไว้ว่าเมื่อถึงวันส่งตัวจะจับจิ้งจอกตัวนั้นฆ่าสังเวยเสีย แต่ระหว่างนั้นทั้งจิ้งจอกและชายหนุ่มต่างก็มีใจให้กันขึ้นมาจริงๆ และแม้ว่าจิ้งจอกจะรู้ถึงแผนการของชาวบ้านแต่ก็ยังยอมสละตัวเองเป็นเครื่องสังเวยเพื่อความอยู่รอดของหมู่บ้าน ว่ากันว่าน้ำตาของนางจิ้งจอกนั้นได้กลายเป็นฝนเม็ดใหญ่ที่ตกลงมาช่วยหมู่บ้านไว้
เรื่องที่สอง: ขบวนเจ้าสาวของจิ้งจอกซ่อนตัวจากมนุษย์
เรื่องนี้น่าจะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายพอสมควร เรื่องมีอยู่ว่ามีขบวนเจ้าสาวของจิ้งจอกที่ต้องเดินทางผ่านหมู่บ้านของมนุษย์ในตอนกลางวัน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านจับได้ ขบวนจิ้งจอกจึงทำพิธีขอฝนให้ฝนตกแค่เฉพาะรอบๆ ขบวนเพื่อใช้พรางตัวระหว่างเดินทาง จึงเป็นที่มาของปริศนาของชาวบ้านที่ว่าทำไมฝนตกทั้งที่ฟ้าใสอยู่
นอกจากทั้งสองเรื่องนี้แล้ว ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่แม้จะไม่ได้เกี่ยวกับฝน แต่ก็เกี่ยวกับงานวิวาห์ของจิ้งจอก เล่ากันว่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีธรรมเนียมเดินขบวนเจ้าสาวในตอนกลางคืนโดยจะจุดโคมไฟเวลาเดินขบวน วันหนึ่งมีประกาศเกี่ยวกับการเดินขบวนเจ้าสาวในหมู่บ้าน แต่พอถึงคืนที่กำหนด กลับมีแสงโคมไฟปริศนาส่องแสงอยู่ในป่า และแสงโคมนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีใครเห็นคนเดินในขบวนนั้นแม้แต่คนเดียว มีเพียงโคมไฟลอยเป็นขบวนอยู่ในป่า ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าเป็นขบวนของจิ้งจอก
อีกเหตุผลหนึ่งที่คาดว่าเป็นที่มาของชื่อเรียกฝนชนิดนี้ว่า “งานวิวาห์จิ้งจอก” นั้น น่าจะมาจากวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่เชื่อว่าจิ้งจอกเป็นสัตว์ที่มีความเชื่อมโยงกับเทพเจ้า ดังนั้นฝนที่เปรียบเสมือนพรจากเทพเจ้า จึงถูกนำมาผูกกับจิ้งจอกไปโดยปริยาย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ anngle.org