xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นผวา ไต้ฝุ่นทำ “กำแพงน้ำแข็ง” กั้นรังสีที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะละลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พายุไต้ฝุ่นที่พัดถล่มภาคเหนือของญี่ปุ่น ทำให้กำแพงน้ำแข็งที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะละลาย น้ำปนเปื้อนรังสีไหลลงสู่ทะเล ขณะที่จังหวัดอิวะเตะยังคงเสียหายหนัก โดยคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก

ชาวบ้านในเมืองอิวะอิซุมิ จังหวัดอิวะเตะ ทำสัญลักษณ์เป็นตัวอักษร SOS บนหลังคาบ้านเพื่อขอความช่วยเหลือ ที่ต้องติดค้างอยู่ในบ้านที่ถูกตัดขาด เพราะน้ำท่วมและดินถล่มหลังจากพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มเมื่อ 2 วันก่อน

คาดว่า ยังมีชาวบ้านราว 1,100 คน ยังคงติดค้างอยู่ในเมืองอิวะอิซุมิที่เสียหายยับเยิน ถนนถูกตัดขาดเนื่องจากเหตุน้ำท่วมและดินถล่ม ระบบโทรศัพท์ยังใช้งานไม่ได้ และไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอ

ไต้ฝุ่นไลออนร็อก หรือไต้ฝุ่นหมายเลข 10 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 คน ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดอิวะเตะ และเกาะฮอกไกโด และยังมีผู้สูญหายอีก 9 คน ทำให้คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอีก

นายคาซึมิ ดะเตะ นายกเทศมนตรีเมืองอิวะอิซุมิ ถูกวิจารณ์อย่างหนักที่ไม่ออกคำเตือนให้ชาวบ้านอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย จนทำให้มีผู้ประสบภัยจำนวนมาก โดยเขาได้ออกมาขอโทษ พร้อมทั้งอ้างว่า “ประเมินสถานการณ์ในแง่ดีเกินไป” ผู้ที่ติดค้างส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง ทำให้ไม่สามารถหนีน้ำที่ไหลบ่าเข้าถล่มได้ทันเวลา

“กำแพงน้ำแข็ง” ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะละลาย

ฝนที่ตกหนักจากผลของพายุไต้ฝุ่น ยังทำให้ “กำแพงน้ำแข็ง” ที่ใช้กั้นน้ำปนเปื้อนรังสีที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ หมายเลข 1 เกิดละลายบางส่วน และทำให้น้ำปนเปื้อนรังสีไหลลงสู่ทะเล

โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ หมายเลข 1 ถูกปิดตายหลังจากได้รับความเสียหายหนักจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่ม แต่บริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียวยังคงต้องสกัดกั้นน้ำปนเปื้อนรังสีที่ไหลออกจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่หลอมละลาย

เจ้าหน้าที่ประเมินว่า หากฝนตกปริมาณวันละ 15 ซม. จะทำให้ระดับน้ำบาดาลเพิ่มขึ้น และน้ำปนเปื้อนรังสีมีโอกาสรั่วไหลลงสู่ทะเล หากแต่พายุไต้ฝุ่นที่เพิ่งพัดถล่ม ทำให้มีฝนตกมากถึง 20 ซม.

บริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว ยอมรับว่า พายุไต้ฝุ่นที่พัดถล่ม 2 ลูกต่อเนื่อง ทำให้กำแพงน้ำแข็งบางส่วนละลาย เนื่องจากอุณหภูมิและระดับน้ำบาดาลที่สูงขึ้น โดยขณะนี้ทางบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียวกำลังเร่งใช้สารเคมีเพื่อแช่แข็งกำแพงน้ำแข็ง และสกัดกั้นการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี

กำลังโหลดความคิดเห็น