xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนยุคชมแฟชั่น “สาวออฟฟิศ” ญี่ปุ่นยุคเศรษฐกิจรุ่งเรือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สาวออฟฟิศของญี่ปุ่น หรือ OL ถึงแม้จะเคยเป็นเพียง “ดอกไม้ประจำสำนักงาน” แต่พวกเธอเป็นผู้นำแฟชั่นมาตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ จนถึงทุกวันนี้ผู้หญิงญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยมีหน้าที่การงานไม่แพ้ผู้ชาย

OL เป็นศัพท์ที่ชาวญี่ปุ่นบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เรียกหญิงสาวที่ทำงานในสำนักงาน โดยหลังจากสิ้นสุดสงครามโลก ผู้หญิงญี่ปุ่นจากที่เคยเป็นแม่บ้านแม่เรือนได้ออกมาทำงานข้างนอกมากขึ้น ในยุคแรกพวกเธอมักมีบทบาทเพียงงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในสำนักงาน เช่น ชงชา, เลขานุการ หรืองานธุรการ เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นคาดว่าหญิงส่วนใหญ่จะลาออกจากงานหลังจากแต่งงาน

ในช่วงแรก สื่อมวลชนญี่ปุ่นเรียกหญิงสาวที่ทำงานในสำนักงานว่า “Bgs” ที่ย่อมาจาก Business Girls หรือ สาวนักธุรกิจ หากแต่คำว่า “Bgs” ก็ไปพ้องกับคำว่า bargirls ซึ่งสื่อความหมายถึงหญิงสาวในสถานเริงรมย์  นิตยสารผู้หญิงฉบับหนึ่งของญี่ปุ่นจึงจัดประกวดตั้งชื่อที่ใช้เรียกหญิงสาวเหล่านี้ จนได้คำว่า OL ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1963 จนกลายเป็นคำสามัญในทุกวันนี้


สาว OL ถึงแม้จะมีโอกาสก้าวหน้าทางหน้าที่การงานน้อยกว่าผู้ชาย แต่พวกเธอเป็นผู้นำแฟชั่นมาแต่ไหนแต่ไร ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูเมื่อกว่า 20 - 30 ปีก่อน หญิงสาวที่มีรายได้เป็นของตัวเองสามารถหาซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับแต่งเติมความงามให้ตัวเองได้ตามใจ

ในยุคฟองสบู่ สาว OL มักนิยมเสื้อที่เป็นชุดเข้ากัน พร้อมทั้งกระเป๋าและรองเท้าที่หรูหรา ส่วนใหญ่จะเป็นชุดที่ดูเรียบร้อย มีแบบแผน ไม่ปรากฏความเซ็กซีวาบหวิวแต่อย่างใด

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สาวญี่ปุ่นก็เริ่ม “เปิดเผย” มากขึ้น กระโปรงที่เคยยาวคลุมเข่า ก็เริ่มสั้นลง เสื้อผ้าเริ่มเข้ารูปเข้าทรงมากขึ้น ขณะที่หลายบริษัทเริ่มให้พนักงานหญิงสวมเครื่องแบบเป็นแบบแผนเดียวกัน แต่สาวออฟฟิศในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ก็ยังคงแต่งกายสุภาพและค่อนข้างมิดชิดอยู่ดี


ญี่ปุ่นได้ออกกฎหมาย “ความเท่าเทียมกันในหน้าที่การงาน” ในปี 1986 เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างพนักงานผู้หญิงและผู้ชาย โดยนายจ้างจะเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างทางเพศไม่ได้

ทุกวันนี้ผู้หญิงญี่ปุ่นทำงานนอกบ้านมากยิ่งขึ้น และทำงานสารพัดประเภทไม่แตกต่างจากผู้ชาย ตั้งแต่งานขับรถบรรทุกจนถึงเป็นหมอหรือวิศวกร

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงมีโอกาสก้าวหน้าน้อยกว่าผู้ชาย จนนายกฯชินโซ อะเบะ ต้องผลักดันนโยบายเพื่อสนับสนุนให้หญิงสาวที่แต่งงาน หรือมีลูกสามารถทำงานต่อเนื่องได้ ทั้งการสร้างสถานรับเลี้ยงเด็ก และส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆจ้างงานพนักงานหญิงเป็นพนักงานประจำเพิ่มขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น