xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้จากญี่ปุ่น...เอาตัวรอดอย่างไรเมื่อ “แผ่นดินไหว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แผ่นดินไหวในพม่าที่สะเทือนถึงประเทศไทย รวมทั้งธรณีพิบัติที่อิตาลี ทำให้คนไทยหลายคนอกสั่นขวัญแขวน ที่ญี่ปุ่นซึ่งเผชิญเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้งมีการเตรียมพร้อมที่น่าจะเรียนรู้เป็นตัวอย่าง

ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว หากแต่ในระยะหลังคนไทยรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในพื้นที่ใกล้เคียงได้บ่อยครั้งขึ้น โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยจึงไม่ใช่ไม่มีเลย หากแต่คนไทยมีประสบการณ์แค่ไหนหากเกิดแผ่นดินไหว?

สำหรับญี่ปุ่น แผ่นดินไหวคือภัยพิบัติที่น่ากลัวและสร้างความสูญเสียมากที่สุด เพราะไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ความสั่นสะเทือนในเสี้ยวเวลาไม่กี่วินาทีแต่สร้างความเสียหายได้อย่างมหันต์ ญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวมากเป็นพิเศษ

“เตรียมพร้อม” สำคัญที่สุด

คนญี่ปุ่นทุกคนจะได้รับ “การฝึกรับมือภัยพิบัติ” ปีละหลายครั้งมาตั้งแต่สมัยชั้นประถมศึกษา และทุกคนล้วนแต่เคยผ่านประสบการณ์เผชิญกับแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือกลาง มาบ้างตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้นเมื่อห้องเกิดการสั่นกึกกักทุกคนก็จะคิดทันทีว่า “แผ่นดินไหวหรือเปล่านะ?” และคิดได้โดยอัตโนมัติว่า “ต้องรีบไปปิดแก๊ส และต้องรีบไปเปิดประตู”

แต่ชาวต่างชาติจะไม่รู้เลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ซึ่งทำให้ตื่นตระหนกและขาดสติ ซึ่งอาจเสี่ยงถึงเสียชีวิต
ชาวญี่ปุ่นเรียนรู้วิธีสร้างที่พักชั่วคราวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
การสร้างความคุ้นเคยจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในญี่ปุ่นจะมีศูนย์รับมือภัยพิบัติอยู่แทบทุกเมือง ที่นี่จะมีเครื่องจำลองแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวระดับต่าง ๆ ซึ่งประชาชนสามารถขอทดลองประสบการณ์ได้ การได้เห็นได้สัมผัสกับของจริงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุ้นเคยและตั้งสติได้

1 นาทีแรกชี้ชะตาชีวิต
แผ่นดินไหวในช่วง 1 นาทีแรกจะมีความรุนแรงมากที่สุด และเป็นช่วงสำคัญที่จะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้รอดชีวิต

1. ปกป้องร่างกายของตนเอง มุดเข้าไปใต้โต๊ะหรือใต้เก้าอี้ เก็บแขนขาให้มิดชิด
2. ปิดแก๊ส ปิดเตาให้เรียบร้อย ป้องกันไฟไหม้
3. ใส่รองเท้าให้เรียบร้อย เพราะในห้องอาจมีเศษถ้วยชามหรือกระจกหน้าต่างที่แตก ถ้าเท้าบาดเจ็บจะทำให้การหนีภัยยากลำบากขึ้น
4. เตรียมทางหนีทีไล่ เปิดประตูหรือหน้าต่างสำหรับหนีออกไปได้ ถ้าดูแล้วไม่มีแนวโน้มของการเกิดอาคารพังถล่ม หรือเพลิงไหม้ ก็ยังไม่จำเป็นต้องรีบอพยพออกมาด้านนอก เมื่อจะอพยพให้ตรวจสอบสภาพภายนอกโดยรอบให้แน่ใจก่อน
5. เมื่อออกมานอกอาคาร ต้องป้องกันศีรษะด้วยกระเป๋าหรือเสื้อโค้ท
6. ไม่เข้าใกล้สิ่งที่อาจพังล้มหรือหักโค่น เช่น ตู้ขายของอัตโนมัติ กระจกหน้าต่าง ป้าย หรือเสาไฟ
7. พยายามไปอยู่ในที่โล่งให้ได้มากที่สุด
8. หากไฟดับ ยิ่งจะทำให้เกิดความกลัวและตื่นตระหนกได้ จนคนอื่น ๆ อาจวิ่งมาชนและทำให้เสียหลักล้มต่อเนื่องจนกลายเป็นเหตุเหยียบกันตายได้ ในเวลาเช่นนี้ขอให้รออย่างสงบ ไม่ขยับเคลื่อนที่ไปไหน จนไฟฉุกเฉินติดขึ้น


ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเตรียมป้องกันภัยพิบัติอย่างมาก แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังต้องเข้าร่วมซ้อมป้องกันภัยประจำปี เด็กนักเรียนก็เรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้ตื่นตกใจและกลายเป็นภาระของผู้ใหญ่ ขณะที่ชุมชนก็มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการป้องกันภัย” ทำให้มีบุคคลที่จะรับผิดชอบชัดเจนเมื่อเกิดเหตุ รวมทั้งมีเส้นทางอพยพและแผนการณ์ที่ชัดเจน

ภัยพิบัติเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากแต่ความไม่รู้และขาดสติน่ากลัวยิ่งกว่า เหมือนเช่นเหตคลื่นยักษ์ “สึนามิ” พัดถล่มภาคใต้ของไทยเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งคนไทยไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าสึนามิคืออะไร? และทำให้กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์
นายกฯชินโซ อะเบะ ร่วมซ้อมรับมือภัยพิบัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น