xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive! เรียนรู้จากญี่ปุ่น “ต้องรอด” แม้ภัยมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดคุมะโมะโตะนับว่ามีความรุนแรงมาก หากแต่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับน้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น การเอาตัวรอดของชาวญี่ปุ่นยามเกิดภัยพิบัติไม่ใช่ “โชคช่วย” แต่เกิดจากการฝึกฝนเรียนรู้จนเป็น “สัญชาติญาณ”

นักศึกษาคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากเหตุหอพักของมหาวิทยาลัยพังถล่ม ที่เมืองอะโซ ในจังหวัดคุมะโมะโตะ เล่าว่า ทันที่ที่รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว เขารีบลุกจากเตียงนอนไปปิดแก๊สและคว้าโทรศัพท์มือถือ นักศึกษารายนี้ใช้สัญชาติญาณหาทางออกจากที่พักจนรอดชีวิตได้ท่ามกลางความมืดมิดเพราะไฟฟ้าดับลงทั้งหมด

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญภัยพิบัติมากที่สุด หากแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกลับน้อยมาก โดยเฉพาะการสูญเสียชีวิต เนื่องจากชาวญี่ปุ่นถูกฝึกฝนตั้งแต่เด็กให้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ นอกจากนี้ความร่วมจากชุมชนและกฎระเบียบก็เป็นส่วนสำคัญที่ลดความสูญเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พ่อแม่สอนลูกหลาน “ต้องรอด” แม้ภัยมา

เด็กๆชาวญี่ปุ่นจะได้รับการฝึกฝนให้เรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ ไม่เฉพาะที่โรงเรียน แต่ชุมชนที่พักก็มีการฝึกซ้อมอยู่เสมอ สถานีดับเพลิงซึ่งเป็นศูนย์กลางปฏิบัติการยามเกิดภัยต่างๆ มักจัดกิจกรรม “เปิดบ้าน” ให้ผู้ปกครองพาลูกหลานมาเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดยามเกิดภัย ทั้งแผ่นดินไหวหรือไฟไหม้


เจ้าหน้าที่จะสาธิตวิธีรับมือเมื่อเกิดภัย และให้เด็กๆทำกิจกรรม เช่น ทดลองใช้หัวฉีดน้ำดับเพลิง, โรยตัวลงมาจากที่สูง รวมทั้งสวมชุดนักผจญเพลิงหรือถ่ายรูปกับรถดับเพลิง เพื่อให้เด็กๆตระหนักว่า ไม่ต้องกลัว แต่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ

จุดประสงค์สำคัญ คือ ให้เด็กๆคุ้นเคย และไม่ตื่นตระหนกเมื่อเกิดภัย เพราะความตื่นกลัวไม่เพียงก่ออันตรายถึงชีวิต แต่ยังทำให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือยากลำบากด้วย...จะเป็นเช่นไรถ้าเด็กเอาแต่ร้องไห้และดิ้น ในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังช่วยเหลือออกจากสถานที่เกิดเหตุ?

พ่อแม่ที่พาลูกหลานมาร่วมชมการสาธิต ระบุว่า ถึงแม้เด็กเล็กอาจช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ความคุ้นเคย จะทำให้มี “สติ” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้รอดชีวิตเมื่อเกิดภัยพิบัติ


ชุมชนร่วมมือ ป้องกันภัย
ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีกฎหมายป้องกัยภัยพิบัติที่เข้มงวดและการเตรียมพร้อมที่ดี แต่ความร่วมมือของผู้คนในชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยป้องกันเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ละชุมชนจะมี “คณะกรรมป้องกันภัยพิบัติ” โดยคัดเลือกตัวแทนชาวบ้านเป็นหัวหน้าและผู้ช่วย เพื่อให้มีผู้นำที่ชัดเจนในการสั่งการและประสานงานยามเกิดภัย หัวหน้าและผู้ช่วยคณะกรรมป้องกันภัยพิบัติประจำชุมชนจะได้รับการแต่งตั้งจากสถานีดับเพลิงในพื้นที่ และมีป้ายติดที่หน้าบ้านอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ที่หน้าบ้านของชาวญี่ปุ่นมักจะมี “ถังแดง” วางไว้ ถังนี้จะใส่น้ำเพื่อใช้ดับเพลิง น้ำในถังเล็กๆนี้อาจไม่เพียงพอสำหรับการดับไฟ แต่นี่คือการเตรียมพร้อม ไม่ใช่รอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เท่านั้น


ตามกฎหมายของญี่ปุ่นยังกำหนดให้ อาคารที่พักหรือสถานที่มีผู้คนจำนวนมากจะต้องติดตั้งระบบเตือนภัย เป็นเครื่องที่จะส่งสัญญาณแจ้งเหตุไปยังสถานีดับเพลิงที่ใกล้ที่สุดแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะต้องมีป้ายบอกสถานที่ติดตั้งที่ชัดเจน รวมทั้งต้องตรวจสอบสม่ำเสมอว่าใช้งานได้

ชาวต่างชาติมักชื่นชมชาวญี่ปุ่นที่มีระเบียบวินัยและเข้มแข็งอย่างยิ่งยามเกิดภัย หากแต่สังเกตให้ดีแล้ว จะพบว่ารอบๆตัวและชุมชมที่พักในญี่ปุ่นมีการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างรอบคอบ

ตามถนนหนทางไม่เพียงมีเครื่องดับเพลิงติดตั้งไว้ แต่ยังมีป้ายบอกด้วยว่าเครื่องดับเพลิงอยู่ห่างจากจุดนี้ไปกี่เมตร? ถังแดงเล็กๆที่ตั้งไว้หน้าบ้านมีน้ำเต็มเปี่ยมเสมอ หรือ เด็กที่สนุกสนานกับการถ่ายรูปกับรถดับเพลิง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ช่วยให้รอดชีวิตได้ดียิ่งกว่าเทคโนโลยีหรือกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากมาย.

กำลังโหลดความคิดเห็น