เอเอฟพี - สหรัฐฯ เรียกร้องนานาชาติเร่งหามาตรการป้องกันการพังทลายของเขื่อนขนาดใหญ่ในเมืองโมซุลทางตอนเหนือของอิรัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดหายนะด้านมนุษยธรรมครั้งรุนแรงระดับ “มหากาพย์”
ช่วงไม่กี่เดือนมานี้เริ่มมีความกังวลว่า เขื่อนโมซุลซึ่งสร้างกั้นแม่น้ำไทกริสและเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในอิรักอาจอยู่ในภาวะไม่เสถียร และหากเขื่อนแห่งนี้แตกจะทำให้เกิดคลื่นสูงถึง 14 เมตรถาโถมเข้าใส่เมืองโมซุล และไหลท่วมไปถึงกรุงแบกแดด โดยมีประชาชนเกือบ 1.5 ล้านคนที่อยู่ในข่ายเสี่ยงภัย
ซาแมนธา เพาเวอร์ เอกอัครราชทูตผู้แทนสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น เรียกร้องให้รัฐสมาชิกยูเอ็นหามาตรการป้องกันภัยพิบัตินี้โดยด่วน หลังจากที่ได้ประชุมร่วมกับ โมฮาเหม็ด อาลี อัล-ฮากีม เอกอัครราชทูตผู้แทนอิรักประจำยูเอ็น เพื่อหารือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากเขื่อนโมซุลแตก
“รัฐสมาชิกยูเอ็นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบความรุนแรงของปัญหานี้ และหาทางป้องกันหายนะด้านมนุษยธรรมซึ่งอาจร้ายแรงระดับมหากาพย์” เพาเวอร์ กล่าว พร้อมระบุว่า ข้อมูลโดยสรุปจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค วิศวกร และผู้แทนจากองค์กรบรรเทาทุกข์และการพัฒนาของยูเอ็น เป็นสิ่งที่ “น่าตื่นตระหนก”
เขื่อนโมซุลสร้างขึ้นบนฐานรากที่ไม่เสถียรและเกิดการสึกกร่อนอย่างต่อเนื่อง และการที่เขื่อนแห่งนี้เคยถูกกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ยึดไว้ชั่วคราวในปี 2014 ก็ทำให้โครงสร้างที่เปราะบางอยู่แล้วขาดการซ่อมบำรุงที่จำเป็น
“ในกรณีที่เขื่อนแตก มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดคลื่นสูงถึง 14 เมตรซัดทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นผู้คน รถยนต์ ระเบิดที่ยังไม่ทำงาน ขยะ รวมถึงวัสดุอันตรายอื่นๆ และจะส่งผลกระทบถึงย่านใจกลางเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น” เพาเวอร์ ระบุในถ้อยแถลงของยูเอ็น
เธอเรียกร้องให้มีการซ่อมบำรุงเขื่อนแห่งนี้โดยเร็วที่สุด และแจ้งเตือนชาวอิรักให้ทราบเส้นทางอพยพที่เหมาะสมที่สุดในกรณีฉุกเฉิน
บริษัท เตรวี (Trevi) ของอิตาลีได้รับเลือกให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการซ่อมบำรุงเขื่อนโมซุล ซึ่งเวลานี้อยู่ในความคุ้มกันของกองกำลังเคิร์ดเปชเมอร์กา
ยูเอ็นประกาศระดมเงินทุนช่วยฟื้นฟูอิรักเป็นเงิน 861 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าจนถึงขณะนี้เพิ่งจะได้รับเงินสนับสนุนมาเพียง 8%